เกษตรพอเพียง วิถียั่งยืน ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ตอบโจทย์สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คำพูดที่เรามักจะได้ยินจากคนยุคสมัยรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ในยุคก่อน ซึ่งในปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้หาได้ยากเต็มที อย่างที่เขาพูดกันว่า ยิ่งมีความเจริญเท่าไร ความเป็นธรรมชาติก็จะลดลง ผู้คนรักสบายมากขึ้น บวกกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น ด้านเกษตรกรรม เกษตรกรก็หันพึ่งสารเคมีในการปลูกพืชผลกันมากขึ้น และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์หายไป แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาธรรมชาติ ดังเช่น คุณพีระพงษ์ สุดประเสริฐ หันทำเกษตรแบบอินทรีย์ งดใช้สารเคมี ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักไว้กินเอง ได้สุขภาพ มีเงินเหลือเก็บ มีแบ่งปัน

คุณพีระพงษ์ สุดประเสริฐ อาจารย์พิเศษ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อดีตข้าราชการ หันยึดหลักเกษตรพอเพียง อยู่ได้แบบไม่เดือดร้อน

คุณพีระพงษ์ เล่าว่า ตนใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไปสมัยเด็กตื่นเช้าหิ้วกระเป๋าไปเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงจบปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ สาขาพืชศาสตร์ จบมาเข้าทำงานที่กรมส่งเสริมการเกษตร 1 ปี

หลังจากนั้น ย้ายมาทำที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม มีหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกร แต่คิดว่าสิ่งที่ทำไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร สิ่งที่คิดไว้กับความเป็นจริงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ครั้งตอนที่ทำงานได้มีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชหลายชนิดมาก ทั้งยูคาลิปตัส มะม่วงหิมพานต์ และพืชชนิดอื่นอีกมากมาย ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกไปดีหรือไม่ดี ได้ผลบ้างหรือเปล่า ในสมัยนั้นสอนชาวบ้านและเกษตรกรด้วยวิธีการเรียกชาวบ้านมานั่งฟังความรู้ มีทีวี 1 เครื่อง เปิดองค์ความรู้ให้ชาวบ้านดู มีวิธีการ ปลูกฝังแนวคิดให้เกษตรกรต่างๆ นานา เช่น “ถ้าคุณปลูกมันสำปะหลังก็จะจนไปเรื่อยๆ แต่ถ้าปลูกมะม่วงหิมพานต์คุณก็จะรวย” แต่พอปลูกจริงๆ แล้วไม่ได้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาทำให้ผมมานั่งคิดว่าคนที่เรียนเกษตรก็หวังว่าทำงานปลูกพืช แล้วขายเป็นอาชีพได้ดี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ สังคมเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เราเริ่มสนใจการพัฒนาองค์รวม ในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ เพราะผมใช้ชีวิตแบบพอเพียง คือไม่สร้างหนี้สร้างสิน ไม่ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย จึงกล้าตัดสินใจลาออกจากงานเมื่อปี พ.ศ. 2550 แล้วกลับมาพัฒนาที่ดินของปู่ ย่า ตา ยาย ที่ทิ้งไว้ให้จำนวน 20 ไร่

ลาออกจากงาน ทำเกษตรพอเพียง มีกิน มีใช้ ไม่ขัดสน

คุณพีระพงษ์ มีพื้นที่ในการทำเกษตรทั้งหมด 20 ไร่ แต่ไม่ได้ทำเองทั้งหมด เขาได้แบ่งไว้ทำเพียง 7 ไร่ ที่เหลือแบ่งให้เพื่อนบ้านที่อยากทำเกษตรปลูกพืชผักไว้กินเอง หรือปลูกเป็นอาชีพเสริม ถือว่าแบ่งปันกันไป

เดิมทีพื้นที่ตรงนี้ถือว่าเป็นดินชั้นดี เพราะใช้น้ำจากชลประทานอ่างเก็บน้ำบางพระ เป็นพื้นที่ที่ดีที่สุด แต่ก่อนมีพื้นที่หมื่นกว่าไร่ทำการเกษตร ในปัจจุบันเหลือเพียง 1,000 กว่าไร่ ช่วงแรกที่เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ ผมเริ่มจากการทำนา ปลูกข้าวปทุมธานีและข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผ่านมาช่วงหนึ่งต้องประสบกับปัญหาเรื่องน้ำ ตนจึงเริ่มปรับพื้นที่ใหม่จากทำนาเยอะๆ ก็เริ่มเปลี่ยนพื้นที่โดยยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งพื้นที่เป็น 30 : 30 : 30 : 10 มีน้ำ มีข้าวไว้กิน เลี้ยงปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิมไปด้วย มีพืชอื่นเยอะแยะ ได้ความสุขและไม่ต้องเสียเงินไปซื้อ ได้สุขภาพที่ดีด้วย

นอกจากปลูกข้าวและพืชผักสวนครัวไว้กินเองแล้ว ที่สวนของคุณพีระพงษ์ยังได้มีการปลูกพืชอุตสาหกรรมหายากในปัจจุบัน อย่างเท้ายายม่อม ในปัจจุบันการทำแป้งเท้ายายม่อมเกือบจะไม่มีแล้ว เพราะถูกแป้งอุตสาหกรรมเข้ามาแทน ที่จังหวัดชลบุรีพื้นที่ที่ปลูกเท้ายายม่อมเป็นชายทะเล อ่างศิลา เหล่านี้ก็ถูกเมืองเข้ามารุกหมดแล้ว ผมจึงสนใจเอามาปลูกเพื่อศึกษา แปรรูปทำอาหาร เท้ายายม่อมขายในกิโลกรัมละ 300-400 บาท

สำหรับปุ๋ยที่ใช้ดูแลพืชผักภายในสวนจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์หาได้เองตามธรรมชาติ อาศัยหาของตามตลาดมาหมักเอง ใบไม้ เศษไม้ กากถั่วเหลือง แกลบ คลุกไว้ไม่ให้เน่า เวลาจะใช้ก็มาตักเอาไปใช้ได้เลย คุณพีระพงษ์ กล่าว

 

เท้ายายม่อมปลูกอย่างไร

เท้ายายม่อมเป็นพืชที่มีหัว มีใบ 1-3 ใบ แต่ละใบจักเป็น 3 แฉก เว้าแบบขนนก ดอกเป็นช่อยาว แต่ละช่อมีดอกย่อย 20-40 ดอก ผลกลม หัวของพืชชนิดนี้นำไปทำแป้ง ที่เรียกแป้งเท้ายายม่อม เป็นพืชในฤดู พอถึงช่วงฤดูฝนต้นจะงอก แล้วสะสมอาหาร ถึงฤดูหนาวจะยุบ ใบจะเหลือง เราก็เลือกขุดหัวใหญ่ไปใช้ เหลือหัวเล็กเอาไว้สะสมอาหารในหน้าร้อน เมื่อวนกลับมาฤดูฝนหัวที่เล็กมีการสะสมอาหารมาแล้วจะพร้อมขุดไปทำแป้งแปรรูปอาหารอีกครั้ง วันนี้เราต้องรู้ว่าพืชที่เราปลูกทำอะไรได้บ้าง ทำเป็นอะไรคนถึงจะชอบ ซึ่งที่นี่ก็มีนักศึกษามาดูงานเป็นประจำ ผมก็สอนเด็กทำอาหารจากแป้ง เขาได้ฝึกทำแป้ง ทำอาหารจากแป้งเท้ายายม่อม ลักษณะพิเศษของเท้ายายม่อมจะใสและอยู่ตัว เทียบง่ายๆ ตามท้องตลาดเป็นแป้งจากโรงงานจะอ้างสรรพคุณว่านี่คือแป้งเท้ายายม่อม แต่เมื่อไปดูส่วนประกอบไม่ใช่แป้งท้าวยายม่อมเป็นแป้งที่ทำมาจากมันสำปะหลัง วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ละลายน้ำง่าย ถ้าเป็นแป้งมันสำปะหลังจะมันๆ เมื่อนำไปทำอาหารคืนตัวเร็ว แต่ถ้าเป็นแป้งเท้ายายม่อมแท้จะคืนตัวช้า หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมเกษตรกรไม่นิยมปลูก เพราะสรรพคุณดีขนาดนี้ คำตอบคือมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องดูโรงงาน เพราะสมัยนี้มันสำปะหลังเยอะ พืชหัวไม่ได้มีเท้ายายม่อมอย่างเดียว มีหลายพืช เช่น สาคู มันนก มันเสา มากมาย แต่ก็ลดน้อยหายไปเรื่อยๆ เพราะอุตสาหกรรมเข้ามา แป้งก็ราคาถูก และกระบวนการทำที่ยาก วิธีที่ดีที่สุด ควรปลูกและหาวิธีแปรรูปเอง

คุณพีระพงษ์ พูดทิ้งท้ายอีกว่า การทำเกษตรอินทรีย์นอกจากจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้แล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องของสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างผมมีบทพิสูจน์ว่าถ้าอยากให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงต้องหันมาบริโภคผัก-ผลไม้เยอะๆ พยายามเลือกจากแหล่งหรือร้านที่ขายผลผลิตที่ปลอดสารเคมี เพราะผมเองตอนที่ออกจากงานมา ผมมากับยาลดความดัน ยาลดไขมัน ยาลดน้ำตาล แก้โรคเบาหวาน 3 ปีที่ผ่านมา ผมหันมาดูแลตัวเองมากขึ้นด้วยการทำงานออกกำลังกายทำเกษตร ขุดดิน รดน้ำ ดูแลใส่ใจเรื่องอาหารการกิน กินผักที่ตัวเองปลูก ตอนนี้ไม่ต้องพึ่งยาแล้ว พึ่งธรรมชาติดีที่สุด แค่นี้ก็คุ้มแล้วสำหรับทำเกษตรอินทรีย์ เทียบเป็นตัวเงินไม่ได้เลย