สลัดคราบนักวิทยาศาสตร์สาว สู่บทบาทเกษตรกรที่ท้าทาย รับช่วงต่อดูแลสวนทุเรียน เกือบ 100 ไร่ ที่จันทบุรี

เกษตรกรสาวสวยที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เธอบอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าต้องมาเป็นเกษตรกร จากที่เคยทำงานอยู่ในห้องแล็บสวยๆ เปิดแอร์เย็นๆ กลายเป็นว่าเธอต้องลาออกจากงานเพื่อมาเป็นเกษตรกร มาดูกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับเธอบ้าง

คุณณัยศรี ผลประพฤติ หรือ คุณจี๋ อยู่บ้านเลขที่ 93 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เธอคนนี้มีดีกรีไม่ธรรมดา เรียนจบวิทยาศาสตร์เคมี จบมาเธอได้ทำงานตรงสายอาชีพ ประมาณ 3 ปี ไม่เคยมีความคิดที่อยากจะเป็นเกษตรกรมาก่อน เพราะคิดว่าร้อนและลำบาก ด้วยการถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า เรียนจบมาแล้วต้องทำงานดีๆ ได้เป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งเธอก็ได้ทำงานในตำแหน่งที่ดี มีเงินเดือนหลักหลายหมื่น ใช้ชีวิตสุขสบาย แต่ก็มีเหตุให้ต้องลาออก เพราะคุณพ่อป่วยมีโรคประจำตัว จึงต้องกลับมาดูแลท่าน

คุณจี๋ เล่าว่า แรกเริ่มคุณพ่อไม่ได้เป็นชาวสวนมาตั้งแต่แรก ท่านทำงานการไฟฟ้าแล้วเออร์ลี่รีไทร์จากงานเพื่อมาทำสวนจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่คุณพ่อทำสวนทุเรียนมา โดยช่วงแรกหลังออกจากงานเธอเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องอาหารการกินทั่วไป ยังไม่ได้ทำงานสวนจริงจัง มีเพียงการเรียนรู้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ จากคุณพ่อบ้าง เหมือนการเป็นลูกมือคุณพ่อใช้ให้ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้าแต่งกิ่งบ้าง ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ยังไม่ได้เกิดความชำนาญใดๆ แต่ก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ที่ทำให้เธอต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองสู่การเป็นเกษตรกร 100 เปอร์เซ็นต์

คุณณัยศรี ผลประพฤติ หรือ คุณจี๋

บอกเล่าเรื่องราวความท้าทายที่ต้องเจอ
เมื่อเริ่มต้นเป็นเกษตรกรมือใหม่ และควรรับมืออย่างไร

คุณจี๋ บอกว่า หลังจากที่เรียนรู้การปลูกทุเรียนจากคุณพ่อมาบ้างเล็กน้อย ยังไม่ได้มีความชำนาญ ก็ต้องมีจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตคือ การแต่งงาน…ทั้งพ่อของเธอและพ่อของแฟนจึงยกที่ให้ไปเริ่มต้นสร้างครอบครัวกันเอง โชคดีตรงที่แฟนทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว จึงมีที่ปรึกษาและเพื่อนคู่คิดที่ดี ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ในส่วนของขั้นตอนการปลูกนั้น เธออาจจะยังไม่ชำนาญมากมายนัก แต่อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์สำหรับมือใหม่ที่เธอเจอและทุกคนที่เป็นมือใหม่ก็ต้องเจอเช่นกัน

“อาชีพเกษตรกร ถือเป็นอาชีพที่ท้าทายสำหรับตัวเองมาก เริ่มแรกมาจับอะไรไม่ถูกเลย ต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่ เพราะไม่มีพื้นฐานความรู้เดิมมาก่อน แตกต่างจากวิชาที่เรียนมาโดยสิ้นเชิง ลักษณะงานที่เคยทำมาก็เป็นแบบเดิมเกือบทุกวัน ถึงเวลา 5 โมงเย็น เลิกงาน ทุกอย่างคือจบ วันรุ่งขึ้นมาทำต่อให้เสร็จวนไปเป็นวงกลม ปัญหาที่เจอก็ไม่ได้ยาก จนหาทางออกไม่ได้ หรือถ้าตอบไม่ได้ก็ไปค้นหาข้อมูลจากตำราของนักวิจัยรุ่นเก่ามาศึกษา แต่การเป็นเกษตรกรทำสวนผลไม้ จะต้องเจอกับเรื่องที่เหนือความคาดหมายอยู่ตลอดเวลา จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า วันนี้ต้นไม้เป็นอะไร ต้องการอะไร หรือปีนี้จะเจอกับโรคพืชอะไร ต้องเรียนรู้ไม่สิ้นสุด เป็นอะไรที่ท้าทายมาก ต้องหาความรู้มาสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้

การเป็นเกษตรกรไม่มีวันหยุด ไม่มีวันลาพักร้อน ไม่สามารถไปเที่ยวช่วงหน้าหนาวได้ เพราะว่าหน้าหนาวคือ ช่วงที่ทุเรียนกำลังตั้งไข่ ต้องอยู่เฝ้าสวน ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพราะต้นไม้โตขึ้นทุกวัน บทบาทการเป็นเกษตรกรคือยากกว่าเป็นพนักงานบริษัทเยอะ ต้องทำตลอด ไม่มีการหยุดนิ่ง เสร็จตรงนี้ ไปต่อตรงนั้น รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เยอะมาก และนอกจากปัญหายิบย่อยเหล่านี้แล้ว ยังต้องท้าทายกับเรื่องดินฟ้าอากาศ เพราะไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่นตอนนี้ เจอภัยแล้งหนักเหมือนเมื่อ ปี 58 ก็ต้องสู้กับภัยแล้ง ต้องขวนขวายหาน้ำ ถ้าหาน้ำไม่ได้ก็ต้องเลือกระหว่างต้นกับลูก บางสวนก็ต้องตัดลูกทิ้งเพื่อรักษาต้น บางสวนก็ตายทั้งต้นทั้งลูกเพราะไม่มีน้ำ เป็นสิ่งที่ท้าทายกว่างานประจำเยอะมาก และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผน ถ้าวางแผนไม่ดี หรือลงทุนเกินตัวก็จบ

ทุ่มเทกับงานสวนมากๆ

การทำสวนได้เงินเป็นรายปี 1 ปี มีรายได้เข้ามาแค่ 2-3 เดือน จะต้องบริหารเงินอย่างไร ให้อยู่ทั้งปี ถ้าเป็นสวนเล็กๆ จะวางแผนเอาเงินทุนตรงนั้นมาใช้จ่ายอย่างไร หนี้สิ้นที่กู้มาลงทุนจะแบ่งใช้อย่างไร คือต้องมีการจัดวางให้ดี การเกษตรไม่ได้สวยหรูเหมือนที่วางไว้ การที่จะออกจากงานประจำแล้วทำเกษตรคือต้องมีเงินทุน ทั้งทุนเดิมและทุนใหม่ ทุนเดิมคือ ต้องมีที่มีทาง ถ้าออกจากงานมีเงินก้อนมาซื้อที่จะถือเป็นการลงทุนที่เยอะพอสมควร และจะขยับขยายต่อไปได้ยาก เพราะเงินที่มีอยู่นำไปซื้อที่หมด ทุนใหม่คือ การเริ่มต้นซื้อเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรใหม่ และยังต้องมีค่าต้นพันธุ์อีก จะบอกกับหลายคนที่เข้ามาถาม เห็นเราอายุยังน้อยยังสามารถทำได้ เราก็จะตอบกลับไปเสมอว่า เรามีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว แค่มาทำให้เป็นและต่อยอด ซึ่งตอนนี้ตัวเธอก็เหมือนคนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ใหม่ เริ่มนับตั้งแต่ทุเรียนใบแรก ไม่เข้าใจตรงไหนก็ใช้วิธีถามและจดบันทึกทุกขั้นตอน พยายามกอบโกยความรู้ให้ได้มากที่สุด เกษตรกรมือใหม่ใจต้องสู้ คนส่วนใหญ่กลัวแดด ไม่สู้แดด แต่ถ้ามาเป็นเกษตรกรแล้วคือต้องสู้ ต่อให้อยู่กลางแดดก็ต้องทนให้ได้” คุณจี๋ บอกเล่าประสบการณ์การเป็นเกษตรกรมือใหม่ที่ต้องเจอ

 

ตลอดระยะเวลา 2 ปี กับการเป็นเกษตรกร
สร้างความรู้ ความชำนาญ และพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ

เจ้าของบอกว่า เธอพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากที่แต่งงานมาสร้างครอบครัวของตัวเอง เธอเริ่มทำเกษตรอย่างจริงจัง เริ่มต้นด้วยการปรับพื้นที่ล้มสวนปาล์มน้ำมันเก่าทิ้ง เพราะปาล์มน้ำมันราคาตกต่ำ ต้องใช้คนงานเยอะ ตัวเธอเองก็ไม่มีคนงานอยู่ในมือ และด้วยราคาที่ไม่จูงใจให้ไปหาคนงานมาเพิ่ม จึงตัดสินใจล้มปาล์มแล้วเริ่มต้นปลูกทุเรียนใหม่ ซึ่งแปลงที่กำลังจะปลูกใหม่ด้วยมือตัวเอง มีพื้นที่ 22 ไร่ จะลงมือปลูกในอีก 2 เดือนข้างหน้าช่วงฤดูฝน โดยเรียนรู้จากแปลงของพ่อและของแฟน มีการเริ่มศึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมใบ ครั้งที่ 1 เพื่อให้ต้นสมบูรณ์ ขั้นตอนการทำใบ ครั้งที่ 2 เพื่อที่จะเอาดอก จากนั้นเรียนรู้ขั้นตอนการทำดอกทุเรียน ทุเรียนเป็นลูก เริ่มคุมการให้น้ำ มีการจดบันทึกทุกขั้นตอนเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในปีหน้า

เตรียมพื้นที่ปลูกทุเรียนด้วยตัวเองครั้งแรก 22 ไร่

ซึ่งนอกจากการเรียนรู้แล้วเธอก็มีส่วนในการพัฒนาที่มรดกให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ที่จากสวนปาล์มที่มีการประเมินราคาที่ดินต่ำ แต่ตอนนี้เธอเปลี่ยนจากต้นปาล์มมาเป็นต้นทุเรียน การประเมินที่ดินก็จะสูงขึ้น และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนได้จากการขายออนไลน์ เพราะปกติพ่อทำแค่ขายให้เฉพาะพ่อค้าคนกลาง เขาให้เท่าไร ก็ต้องเอา ด้วยความที่เป็นคนรุ่นเก่าเอาเร็วเข้าว่า ไม่อยากยุ่งยาก ชอบรับเงินเป็นก้อนมากกว่าการขายทีละลูก เธอจึงใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ นำทุเรียนที่ผิวไม่สวย แต่ข้างในยังดีมาแกะขายเพิ่มมูลค่า จากเป็นทุเรียนตกเกรดเหลือลูกละ 60 บาท มาเพิ่มมูลค่าให้ได้ลูกละ 100-120 บาท และเพิ่มยอดขายด้วยการนำทุเรียนพันธุ์โบราณของที่สวนมีอยู่แล้ว เช่น พวงมณี ก้านยาว กระดุม และจันทบุรี 1 มาแกะขายเพิ่ม เพราะพันธุ์เหล่านี้ไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ตลาดไม่รองรับ ก็นำมาแกะขายสร้างมูลค่าดีกว่า ซึ่งทุเรียนแกะขายส่งออนไลน์ของสวนจะมีจุดเด่นตรงที่ตัดทุเรียนที่แก่จัด 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ป้ายน้ำยาเร่งสุก รสชาติจะดีกว่า เพราะถ้าเป็นทุเรียนป้ายยารสชาติจะซ่า ความหวานจะลดลง และสีไม่เข้มเท่าไร แต่ถ้าตัดทุเรียนแก่รสชาติจะหวานมันอร่อย

ในส่วนของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่เป็นพันธุ์สร้างรายได้หลัก จะตัดส่งล้งเพื่อขายต่อตลาดต่างประเทศเกือบทั้งหมด รวมแล้วมีพื้นที่การปลูกทุเรียนทั้งหมดกว่า 80 ไร่ ผลผลิตที่ได้ 3 ตันกว่า ต่อไร่ 1 ต้น เคยนับได้ประมาณ 80 ลูก ถ้าเป็นภาษาชาวสวน เขาเรียกว่า แบกเก่ง คือแบกลูกได้เยอะ แต่ถ้าแบกมากเกินไป ต้นจะโทรม ลูกจะเล็ก แต่ถ้าให้ปุ๋ยถึงน้ำถึง ต้นสมบูรณ์ก็สามารถแบกได้ น้ำหนักต่อผลโดยเฉลี่ย 2 กิโลกรัมขึ้นไป

ผลงานที่ได้สวยงาม

 

ปากกัด ตีนถีบของแท้

ทุเรียนไซซ์ที่ตลาดต้องการ จะต้องมีน้ำหนัก 2-7 กิโลกรัม จากประสบการณ์ที่เคยขาย ถ้าเกินลูกละ 4 กิโลกรัม ลูกค้าจะไม่ชอบ

ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มออกมีผลผลิตให้เก็บตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนมิถุนายน สามารถกำหนดไม่ให้ผลผลิตออกมาชนกับทุเรียนในฤดูได้ เพราะทำสวน 2 ที่

สวนที่ 1 สวนของพ่อ ออกเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม

สวนที่ 2 ของแฟน จะทำรุ่นหลังให้ออกปลายฤดูช่วงเดือนมิถุนายน จะได้ราคาสูงขึ้นมาอีก ซึ่งตรงนี้จะเป็นขั้นตอนถัดไปที่อยากเรียนรู้

ราคา ตัดครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ราคากิโลกรัมละ 130 บาท ถือว่าราคาดี แต่ช่วงในฤดูจะลดลงมา เหลือกิโลกรัมละ 115-125 บาท ถือว่าอยู่ได้แบบสบายๆ ขอแค่อย่าต่ำกว่า กิโลกรัมละ 80 บาท ก็พอ

ผลงานที่ได้สวยงาม

ตลาดส่งออกต่างประเทศ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์

ส่วนมากตอนนี้ยังพึ่งการส่งออกต่างประเทศเป็นหลักกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แบ่งขายออนไลน์ในประเทศเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าทางออนไลน์ส่วนใหญ่ติดตามจากที่เคยทำคลิปการลงสวนทำกิจกรรมไว้ ซื้อเพราะเห็นเราเป็นชาวสวน เห็นตั้งแต่ขั้นตอนทำลูกจนถึงเก็บเกี่ยว จึงแบ่งไว้ขายเองแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะตลาดออนไลน์ยังไม่กว้างเท่าที่ควร

สีสวย น่ารับประทาน

ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่

คุณจี๋ บอกว่า ไม่สามารถจะเป็นตัวอย่างให้กับใครหลายคนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าก็ไม่ได้ตั้งใจมาโดยตรง แต่ในเมื่อออกมาแล้ว ก็ต้องทำจุดที่ตัวเองยืนอยู่ให้ดีที่สุด ต้องสลัดคราบนักวิทยาศาสตร์ออกไป เราไม่ได้ทำงานในห้องแอร์แล้ว เรามาทำงานกลางแดดแล้ว และต้องคิดว่าเราคือเกษตรกรอาชีพ จะต้องทำตรงนี้เป็นเม็ดเงินของเราเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยอาชีพเกษตรกรรม ต้องห้ามท้อ มันจะไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่หวังไว้ตลอด สิ่งที่หวังกับความเป็นจริงมันไม่เหมือนกัน วันหนึ่งเคยท้อวันละหลายๆ รอบ เคยท้อจนกระทั่งจะกลับไปทำงานเดิม แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าสู้ต่อ ท้อได้แต่อย่าถอย ค่อยๆ แก้ไป ไม่มีใครออกมาแล้วชี้นิ้วสั่งแล้วได้ทุกอย่าง คุณจี๋ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่อยากแลกเปลี่ยนความคิดกับคุณจี๋ หรือสนใจสั่งซื้อทุเรียนออนไลน์ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 088-656-5961

สีสวย น่ารับประทาน
แกะเนื้อส่งขายทางออนไลน์

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่