นำทางฟาร์ม เกษตรบนที่ดินผืนเล็ก ที่ราชบุรี ไอเดีย หนุ่มวิศวะคอมพิวเตอร์

100 กิโลเมตร โดยประมาณ เป็นที่ตั้งของ “นำทางฟาร์ม” ที่ คุณอรรณพ ศรีเจริญชัย ก่อตั้งขึ้น และใช้ชื่อลูกสาวเป็นชื่อฟาร์ม

คุณอรรณพ ศรีเจริญชัย

ยามวิกฤติเศรษฐกิจ ท่ามกลางภัยแล้งและโรคระบาด ที่ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบถ้วนทั่วทุกพื้นที่ ยังคงเห็นว่า นำทางฟาร์ม ดำเนินต่อไปอย่างเรียบง่ายและไม่สะดุด จะมีบ้างที่ผลกระทบจากภัยแล้งทำให้สภาพพืชและแหล่งน้ำไม่อุดมสมบูรณ์อย่างที่เคย

บริเวณพื้นที่ 2 ไร่ครึ่ง ของ นำทางฟาร์ม

คุณอรรณพ เรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มองความยั่งยืนของการเลี้ยงชีพด้วยคำว่า “เกษตรกรรม” เพราะแนวคิดที่ปลูกฝังว่า เกษตร คือพื้นฐานของการดำรงชีวิต ทำให้เขาเริ่มมองหาที่ทำการเกษตรตั้งแต่แต่งงาน จากแปลงนาที่อำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ยังตอบโจทย์การทำเกษตรไม่ได้อย่างใจคิด เมื่อได้ที่ดินจากครอบครัวที่จังหวัดกระบี่ จึงเริ่มสร้างฝันที่นั่น ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ สัตว์เลี้ยง ปลูกบ้านตามแบบธรรมชาติจากไม้และดิน ทำเฟอร์นิเจอร์ใช้จากไม้และดิน ในระหว่างนั้นรับอาสาสมัครจากต่างประเทศที่ต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตเข้ามาช่วยทำสวน

กิจกรรมที่จังหวัดกระบี่ ดำเนินมาได้เพียง 6 ปี คุณอรรณพ และครอบครัว ก็ย้ายมาจังหวัดราชบุรี

แปลงผักสวนครัว

คุณอรรณพ บอกว่า ด้วยเหตุผลในการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมหลายประการ ทำให้ต้องย้ายมาจังหวัดราชบุรี แต่เพราะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง การซื้อที่ดินต้องใช้เงินทุนสูง จึงประกาศหาหุ้นส่วนทำการเกษตร บนพื้นที่ 2 ไร่ครึ่ง ด้วยเหตุผลที่จังหวัดราชบุรี อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ราคาที่ดินไม่สูง และค่าครองชีพต่ำ ทำให้ได้หุ้นส่วนรวม 4 หุ้น โดยคุณอรรณพจะเป็นผู้บริหารจัดการภายในสวน ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินกิจกรรมในสวนอย่างพอเพียง เพื่อให้ได้ผลผลิตมาพอได้กินในครัวเรือน แบ่งผลผลิตให้หุ้นส่วนตามโอกาส โดยไม่หวังผลกำไรในเชิงธุรกิจ

บ้านไม้ ออกแบบและสร้างเอง

พื้นที่เพียง 2 ไร่ครึ่ง ขุดเป็นบ่อน้ำ 2 บ่อ พื้นที่รวมประมาณ 1 งาน สำหรับเลี้ยงปลา ปล่อยพันธุ์ปลาดุก ปลานิล และปลากินพืชอีกหลายชนิดไว้ ทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง ทั้งยังเลี้ยงปลาดุกในโอ่ง เพื่อใช้เป็นอาหารในบางโอกาส

ปลีกล้วย 7 สายพันธุ์

พื้นที่ทั้งหมดไม่ได้มาก จึงปลูกพืชผสมผสานกัน ในลักษณะของการปลูกพืชผสมผสาน ไม่ได้แบ่งแปลงชัดเจน โดยพืชที่เลือกมาปลูก คุณอรรณพ เลือกพืชที่ให้คุณประโยชน์ทั้งกินและใช้ได้ เช่น กล้วยโอกินาว่า กล้วยเทพพนม กล้วยร้อยหวี กล้วยหักมุกทอง กล้วยหอมเขียว กล้วยนมสวรรค์ กล้วยส้ม กล้วยน้ำว้าดำ กล้วยพม่าแหกคุก กล้วยตานีดำ อะโวกาโด หม่อนหลายสายพันธุ์ ตะขบ ไผ่หลายสายพันธุ์ โรลลิเนีย มะพร้าว หน่อไม้ฝรั่ง และพืชสมุนไพร รวมถึงไม้ดอกบางชนิด

กล้วยนมสวรรค์

คุณอรรณพ บอกว่า ที่เลือกปลูกไม้ผลมากกว่าไม้ประเภทอื่น และเน้นไม้ผลหายาก หลากหลายสายพันธุ์ เพื่อให้มีอาหารกินภายในสวน ไม่ต้องซื้อจากภายนอก เมื่อมีหลายประเภทก็ไม่เกิดความเบื่อหน่าย และหากผลผลิตที่มีมากเกินบริโภคในครัวเรือน จะแบ่งปันไปยังเพื่อนบ้าน ส่งให้กับหุ้นส่วน และแปรรูปไว้รับประทานเอง

น้ำดื่ม ก็อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ ใช้โอ่งรองไว้ เพื่อบริโภค และการเก็บน้ำด้วยวิธีนี้ ก็ทำให้มีน้ำดื่มตลอดปี

พีนัทบัตเตอร์

พื้นที่ 2 ไร่ครึ่ง เมื่อกระจายปลูกพืชและขุดบ่อไปแล้ว ก็เหลือพื้นที่อีกไม่มาก

เรื่องที่อยู่อาศัยก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณอรรณพ จึงออกแบบบ้านให้มีรูปแบบแตกต่าง จำนวน 5 หลัง ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว 1 หลัง เป็นหลังที่มีห้องเดี่ยว 3 หลัง และหลังที่แบ่งเป็นห้องพักรวม และครัวกลางอีก 1 หลัง โดยบ้านพักที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของครอบครัว จะเปิดรับลูกค้าที่ต้องการที่พักแบบโฮมสเตย์ผ่านเว็บไซต์จองที่พัก AirBNB และใช้เป็นที่พักสำหรับอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติที่แจ้งความจำนงต้องการเข้ามาเรียนรู้การทำงาน หรือเรียนรู้ภายในสวน โดย 1 ในแรงงานก็คือคุณอรรณพ และใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น รวมถึงทำเฟอร์นิเจอร์ไว้ใช้ในบ้านแต่ละหลังด้วยตนเอง

ผักและสมุนไพร กินสด

บางโอกาส เปิดคอร์สพิเศษให้ผู้สนใจเข้ามาอบรม เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์จากงานไม้ การเพาะพันธุ์ไม้บางชนิด ในราคาย่อมเยา นอกเหนือจากนั้น ยังเพาะเมล็ดพันธุ์พืชหายากบางชนิดไว้จำหน่ายด้วย

คุณอรรณพ เล่าว่า เงินทุนจากหุ้นส่วนที่มีครั้งแรกหมดไปกับการซื้อที่ดิน ปลูกบ้าน ใช้เป็นต้นทุนการปรับสวน พันธุ์ไม้ และบำรุงรักษาพืชในพื้นที่ไปหมดแล้ว เงินทุนในการบริหารจัดการต่อมา มีรายได้จากการเปิดให้ลูกค้าเข้ามาพัก

เมนูบ้านๆ ครบ 5 หมู่ สำหรับผู้มาเยือน

คุณอรรณพ เข้าใจว่าสภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบันเปลี่ยนจากอดีตไปมาก การดำรงชีวิตโดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของรายได้ จะทำให้ขาดสภาพคล่อง และจะส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวและสวนที่ดูแลอยู่ จึงใช้ทักษะวิชาชีพที่เรียนมา รับจ้างเขียนโปรแกรมตามแต่โอกาสจะอำนวย เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ และจัดระบบการศึกษาให้ลูกแบบ โฮม สคูล หรือการเรียนการสอนที่บ้าน โดยพ่อแม่เป็นผู้กำหนดรูปแบบการจัดการศึกษา เพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่เห็น คือรอยยิ้มและความสุขของคนในครอบครัว

“ปัญหาที่พบตั้งแต่มาอยู่ที่ราชบุรี มีเพียงดินที่ไม่อุ้มน้ำ ฝนตกน้อย ทำให้ต้นไม้ช้าหรือบางชนิดไม่โต ทำให้ต้องเริ่มปลูกใหม่ หรือเลือกไม้ตระกูลมีหนาม เพื่อทนแล้งแทน”

ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่บริหารจัดการภายในสวนที่จังหวัดราชบุรี รวมอีก 6 ปี ที่ทำเกษตรกรรมในจังหวัดกระบี่ ยังไม่พบปัญหาที่หลายครัวเรือนประสบ โดยเฉพาะการขาดแคลนรายได้ หรือรายได้ไม่พอต่อรายจ่าย ความเห็นตรงนี้ คุณอรรณพ บอกว่า เพราะภายในพื้นที่ 2 ไร่ครึ่งนี้ มีความพร้อมของปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แม้ว่า “เกษตร” ไม่ได้เป็นทุกอย่างของชีวิต แต่ “เกษตร” สามารถสร้างสิ่งที่จำเป็นต้องการดำรงชีวิตได้ ฉะนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกจะเป็นอย่างไร หากบริหารจัดการเกษตรได้ ความยั่งยืนในวิถีชีวิตก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

สองพี่น้อง ช่วยกันคัดแยกไส้เดือน

ระยะทางราว 100 กิโลเมตร “นำทางฟาร์ม” มีภาพสวย และความเคลื่อนไหวให้เห็นผ่านเฟซบุ๊ก numthang permaculture – นําทางฟาร์ม ปักหมุดในจีพีเอสก็มาถึง แต่ขอให้ประสานมาล่วงหน้า ที่ คุณอรรณพ ศรีเจริญชัย โทรศัพท์ (088) 793-8587 “นำทางฟาร์ม” ยินดีต้อนรับผู้มาเยือน

นำทาง และ ทางนำ ลูกสาวของคุณอรรณพ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่