บัณฑิตแม่โจ้ ปลูกทุเรียนพันธุ์ตลาด ควบคู่อนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์โบราณ สร้างเงิน สร้างอาชีพเป็นอย่างดี

คุณมานพ อมรอรช (อาต) บ้านเลขที่ 17 เทศบาลสาย 7 ต.ขลุง อ.ขลุง จ.จันทบุรี บัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรียนจบสาขาวิชาพืชสวนประดับ กลับมาสานต่อสวนไม้ผลที่พ่อแม่อนุรักษ์ทุเรียนสายพันธุ์โบราณไว้กว่า 10 สายพันธุ์ คุณอาตเล่าว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกเรียนเกษตรเพราะจากประสบการณ์พบเห็นจากคนแถวบ้านหลายคนที่ไปเรียนไกลถึงกรุงเทพ เรียนจบจากหลากที่หลายคณะ มีทั้งจบเกษตรโดยตรงและจบจากสาขาอื่น แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมายังบ้านเกิดและลงเอยทีงานสวนอยู่ดี ด้วยสาเหตุนี้จึงตัดสินใจเรียนคณะเกษตร และพอดีตอนนั้นได้โควต้าจากมทร.ตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เรียนจบในระดับ ปวส. แล้วเข้าศึกษาต่อที่ม.แม่โจ้ ช่วงจบใหม่ๆ ได้ลองไปทำงานหาประสบการณ์ที่บริษัทจัดสวนก่อน หลังจากนั้นไปทำเกี่ยวกับเคมีเกษตร และกลับมาสานต่ออาชีพของครอบครัวในที่สุด

มรดกสวนทุเรียนจากพ่อ-แม่ 30 ไร่ สร้างเงิน สร้างอาชีพมาตลอด

พื้นที่สวนทุเรียนคุณอาตอยู่เขตตำบลซึ้ง อำเภอขลุง มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีทุเรียนกว่า 400 ต้น เป็นมรดกที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้ ตนแค่มาสวนต่อ ซึ่งคุณอาตกลับมาสานต่อการทำสวนได้เป็นเวลา 10 ปีแล้วหลังจากที่เรียนจบได้มีการไปหาประสบการณ์จากที่อื่นมา เมื่อกลับมาที่สวนตอนแรกถือว่าสภาพสวนดูรกร้างเพราะเนื่องจากเป็นสวนเก่าก็ต้องใช้เวลาปรับปรุงพื้นที่อยู่สักพัก

ทุเรียนที่พ่อแม่คุณอาตทิ้งไว้มีกว่า 10 สายพันธุ์ ล้วนแล้วแต่เป็นพันธุ์โบราณ อาทิเช่น กำปั่นทอง ชมพูศรี เม็ดในยายปราง ก้านยาวัดสัก  ทองหยิบ ชะนี หมอนทอง พวงมณี อีลีบ อีกบ แต่ละพันธุ์มีอายุต้น 20-30 ปีขึ้นไปให้ผลผลิตปีละ 30-40 ตัน

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจถือว่าดี ทุเรียนตลาด อย่างหมอนทองปีที่แล้วขายได้กิโลกรัมละร้อยกว่าบาทส่วนพันธุ์โบราณอย่างเม็ดในยายปรางขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท

สืบเนื่องจากช่วงปีหลังๆ มานี้คุณอาตบอกว่าผู้บริโภคเริ่มหันมานิยมบริโภคทุเรียนพันธุ์โบราณกันมากขึ้น ส่งผลให้สวนคุณอาตเริ่มมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วรู้จักทางเฟสบุ๊กของของสวนคุณอาตเอง

สวนทุเรียนแบบอิงธรรมชาติมีหญ้าขึ้นสูง

พาชมทุเรียนสวนคุณอาตเพลิดเพลินกับทุเรียนสายพันธุ์โบราณกว่า 10 สายพันธุ์

ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปที่สวนคุณอาตด้วยตัวเอง ในระหว่างการสัมภาษณ์คุณอาตเดินพาชมสวนทุเรียนอย่างเพลิดเพลิน ในระหว่างที่เดินชมสวนก้ต้องแปลกใจกับรูปแบบสวนทุเรียนที่แปลกตา ที่ส่วนใหญ่แล้วตามที่ได้เคยลงพื้นที่มักจะเห็นสวนทุเรียนที่โล่งเตียน แต่ที่สวนคุณอาตหญ้าขึ้นสูงถึงเข่า จึงมีความสงสัยและถามกับคุณอาตไปว่าสวนทุเรียนที่นี่แปลก หญ้าขึ้นเต็มไปหมด จึงได้คำตอบกลับมาว่าที่สวนคุณอาตปลูกทุเรียนอิงธรรมชาติ ระบบการทำสวนจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าเลย ปีหนึ่งจะตัดครั้งสองครั้ง และความห่างระหว่างต้นค่อนข้างห่างกันพอสมควรเพราะมีการปลูกไม้ผลอย่างลองกอง มังคุดแซมด้วย วิธีการดูแลแบบอิงธรรมชาติ ผลดีคือช่วงหลังอัตราการตายของทุเรียนน้อยลง สองปีแรกมีปุ๋ยมียาอยู่ในมือก็อัดใส่เข้าไปทุกเดือนผลปรากฏว่าทุเรียนตายเกือบหมด นี่จึงเป็นสาเหตุที่คุณอาตหันมาพึ่งระบบธรรมชาติ

เกริ่นถึงวิธีการดูแลสวนพอคร่าวๆ ทีนี้เรามาเริ่มชมสวนดูทุเรียนหลากสายพันธุ์กันดีกว่า

พันธุ์แรก ชมพูศรี เป็นทุเรียนพื้นเมืองของจันทบุรี เป็นพันหนัก โตเต็มที่น้ำหนักอยู่ที่ 5-6 กิโลกรัม อยู่ที่เอาไว้มากหรือน้อย ต้นมีอายุ 20-30 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 80 ลูกต่อต้น ทนทานต่อโรค

จุดเด่น เนื้อเยอะ เม็ดลีบ คล้ายๆ หมอนทอง ราคาขายปีที่แล้วกิโลละ 70-100 บาท

กำปั่นทอง เนื่อสีออกจำปา รสชาติหวานมัน แต่จะไม่หวานจัด เหมาะสำหรับท่านที่ไม่ชอบทานหวานมาก

ราคาขายกิโลกรัมละ 200-250 บาท

กระดุม เป็นทุเรียนพันธุ์เบา  ขนาดผลค่อนข้างเล็ก ออกผลดก สีเนื้อเหลืองเข้ม เนื้อละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน ราคาไม่แพงกิโลกรัมละ 120 บาท

หมอนทอง เป็นทุเรียนพันธุ์ตลาด รสชาติเชื่อว่าทุกท่านคงจะรู้จักดี ขายกิโลกรัมละ 120-150 บาท

เม็ดในยายปราง ถือเป็นทุเรียนยอดนิยมอีกสายพันธุ์หนึ่ง ด้วยกลิ่นและรสชาติมีความหอมเฉพาะตัว แต่ปีนี้ติดลูกน้อย

จุดเด่น รสชาติหวานมัน เม็ดลีบ เนื้อเยอะ

ทองหยิบ ทุเรียนพื้นบ้าน รสชาติค่อนไปทางหวาน  ผู้ที่ได้ชิมบอกว่า รสชาติคล้ายนมสด หารับประทานยาก แต่ปีนี้เสียใจที่สวนคุณอาตทุเรียนทองหยิบไม่ติดลูก เพราะอากาศแปรปรวน

อีลีบ ถือเป็นพันธุ์ที่คุณอาตเจ้าของสวนโปรดปรานเป็นพิเศษ ด้วยรสชาติอร่อย เนื้อเยอะ เม็ดลีบเยื่อดี

และนอกเหนือจากขายผลแล้วคุณอาตยังทำต้นพันธุ์ทุเรียนกำปั่นทอง อีลีบ เม็ดในยายปราง ก้านยาววัดสัก จำหน่ายอีกด้วย

ทุเรียนจันทร์สี

ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่เมื่อมีปัญหาเข้ามาอย่าเพิ่งท้อ

คุณอาตฝากถึงเกษตรกรที่เพิ่งจบมาใหม่ อยากจะลองมาเป็นเกษตรกร ก่อนอื่นต้องบอกว่าอย่าไปคาดหวังเยอะ และอย่าทำตามกระแส ให้ทำตามที่ตัวเองถนัด อย่างตัวคุณอาตเรียนจบทางเกษตรพอได้คลุกคลีกับดินกับโคลนมาบ้าง แต่เมื่อลงมือทำเองจริงๆ แล้วถือว่าอาชีพเกษตรหนักเอาการ เพราะช่วงที่คุณอาตเริ่มหันมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัวเป็นช่วงที่ภาคการเกษตรเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทุเรียนเหลือกิโลกรัมละแค่สิบกว่าบาท ตอนนั้นก็คิดแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไปดีจะมีเงินใช้หนี้หรือเปล่า แต่เมื่อสู้ไปเรื่อยๆ 2-3 ปีหลังจากนั้นมาเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ดังนั้นจึงอยากให้เกษตรกรรุ่นใหม่มองปัญหาของผมเป็นแรงสู้ ความอดทนต้องมี มาถึงปัจจุบันนี้ก็คิดว่าตัวเองเลือกเรียนวิชาไม่ผิด เพราะเราก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้หลายอย่างคือ 1.ได้ความรู้มาปรับปรุงภายในสวน 2.ได้พักพวกเพื่อนฝูงคอยให้คำปรึกษากัน และทุกวิชาอื่นๆ ที่เราเรียนมา ถึงตอนนี้รู้แล้วว่าสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ทุกอย่าง ถึงแม้เราจะทำไม่ได้ทุกอย่างแต่ก็พอมีความรู้เพื่อไม่ให้โดนหลอกได้ง่ายๆ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่