เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ.2567
หน้าแรก เทคโนฯ เกษตร ลิ้นจี่อินทรี...

ลิ้นจี่อินทรีย์ ที่ไทรโยค ราคาดี มีบริษัทจอง

สวัสดีครับ ยินดีที่ได้พบกันผ่านคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย ช่วงนี้คนไทยทุกคนทุกสาขาอาชีพต่างก็ต้องอดทนฝ่าฟันวิกฤติโรคระบาดไปพร้อมๆ กัน ธุรกิจบางอย่างบางอาชีพอาจจะถึงขั้นสิ้นเนื้อสิ้นตัว หากยังไม่มีวัคซีนมาเอาชนะเจ้าไวรัสร้ายตัวนี้

ในส่วนของมนุษย์เงินเดือน หลายคนอาจจะนอนร้อนๆ หนาวๆ ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นมนุษย์เงินหมดจากการถูกเลิกจ้างกันหรือไม่ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องคนไทยทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน ดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้วยความมีสติและอดทน

มาเข้าเรื่องของเราครับ คิดใหญ่แบบรายย่อยฉบับนี้ ผมจะพาท่านไปพบกับเกษตรกรคนเก่งที่ขยันขันแข็งในงานการเกษตร ปลูกนี่ปลูกนั่นมากมายหลายชนิดประสบความสำเร็จแบบที่หลายคนอิจฉา ลิ้นจี่ ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เขาทำได้ดีจนมีตลาดแน่นอนมารอรับผลผลิตทุกปี

ตามผมไปชมกันครับ
สวนลิ้นจี่ ในหุบเขา

พาท่านมาพบกับ คุณอังคณา และ คุณเกียรติชัย โชสนับ 2 แม่ลูกเกษตรกรคนเก่ง ที่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 5 ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี คุณอังคณา ทำสวนผสมผสานแบบเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกพืชผักหลายชนิดและเลี้ยงสัตว์เอาไว้ร่วมกัน ที่สวนลิ้นจี่แห่งนี้ก็ปลูกลิ้นจี่ร่วมกับส้มโอ มะนาว กล้วย และส้มต่างๆ

คุณอังคณา โชสนับ

คุณอังคณา เล่าให้ฟังว่า สวนตรงนี้มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ อยู่ติดกับแม่น้ำแควน้อย และเป็นพื้นที่หุบเขาลาดเอียงหาแม่น้ำ ที่นี่จึงมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ในช่วงนี้ที่อากาศร้อน กาญจนบุรี อุณหภูมิ 38-40 องศาทุกวัน แต่ที่สวนนี้ยังเย็นสบายจนถึงหนาวในช่วงกลางดึก

ส่วนลิ้นจี่ที่ปลูกเป็นลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่คุณอังคณาบอกว่า ตัวเธอเองเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม พ่อของเธอได้ย้ายมาทำสวนที่นี่และได้นำพันธุ์ลิ้นจี่มาจากตำบลแควอ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม นำมาปลูกเอาไว้ที่สวนแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520

ซึ่งคุณอังคณา บอกว่า ลิ้นจี่ที่สวนแห่งนี้น่าจะเป็นลิ้นจี่ต้นแรกของจังหวัดกาญจนบุรี มีอายุกว่า 40 ปี และยังให้ผลผลิตได้ดี บางปีต้นอายุ 40 กว่าปีนี้ให้ผลผลิตตันกว่าๆ โดยทุกวันนี้มีลิ้นจี่อยู่ประมาณ 50 ต้น ทั้งต้นดั้งเดิมและต้นที่ปลูกเพิ่มใหม่

คุณเกียรติชัย โชสนับ

พันธุ์ค่อม ลิ้นจี่ ที่ปลูกได้                                                  ให้ผลผลิตดีในภาคกลางของไทย

สำหรับพี่น้องเกษตรกรมือใหม่หรือผู้อ่านท่านที่ยังไม่ค่อยรู้จักสายพันธุ์ของลิ้นจี่ ผมขออนุญาตบอกเล่าถึงลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่ปลูกอยู่ที่สวนของคุณอังคณาครับ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมเป็นพันธุ์ลิ้นจี่ที่ออกดอกง่าย ปลูกได้ดีในภาคกลาง

งานของ รศ.ดร. รวี เสรฐภักดี บอกไว้ว่า ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมเป็นลิ้นจี่กลุ่มพันธุ์ที่ต้องการช่วงความหนาวเย็นสั้น (low-chilled cultivar) จากข้อมูลที่ศึกษาเบื้องต้นคาดว่าลิ้นจี่พันธุ์ค่อมต้องการอุณหภูมิต่ำ ประมาณ 19-20 องศาเซลเซียส ในช่วงระยะเวลาประมาณ 7 วัน ก็เพียงพอสําหรับการชักนําให้ออกดอก  ต่างจากพวกลิ้นจี่พันธุ์ออกดอกยาก หรือลิ้นจี่ที่ต้องการช่วงความหนาวเย็นที่มีอุณหภูมิที่ต่ำและนานมาก (high-chilled cultivar) เช่น ลิ้นจี่ที่ปลูกในภาคเหนือ อย่างพันธุ์ฮงฮวย

ต้นลิ้นจี่ อายุ 40 ปี ยังให้ผลผลิตมากและเก็บผลได้ง่าย

ลิ้นจี่อินทรีย์

การปลูกลิ้นจี่ของคุณอังคณา จะปลูกแบบอินทรีย์ให้ธรรมชาติควบคุมกันเอง

“ในสวนของเราปลูกแบบผสมผสานปลูกพืชไว้หลายอย่างให้เกื้อกูลกัน ที่ผ่านมาเราปลูกแบบเทวดาเลี้ยง ไม่ได้ให้น้ำ ไม่ได้ดูแลลิ้นจี่มากนักแต่ด้วยสภาพอากาศ สภาพของสวน ทำเลที่ตั้งของสวน จึงทำให้พืชทุกอย่างในสวนของเราสมบูรณ์แข็งแรงไม่แพ้สวนที่ใช้การปลูกแบบเคมี ข้อได้เปรียบอีกอย่างเนื่องจากลิ้นจี่ในสวนนี้เป็นต้นอายุมากที่ขนาดใหญ่มีร่มเงาใต้ต้นมากจึงไม่มีหญ้าขึ้น นอกจากนั้นคุณอังคณาบอกว่า ด้วยสภาพธรรมชาติใบของลิ้นจี่จะมีน้ำมันมากเมื่อร่วงหล่นสู่โคนต้นจะทำให้หญ้าไม่ขึ้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องการกำจัดวัชพืช”

ส่วนการดูแลต้นลิ้นจี่ คุณอังคณา บอกว่า ไม่มีเทคนิคพิเศษอะไร เพียงแต่ให้ปุ๋ยคอกอินทรีย์อย่างขี้วัว หรือขี้ไก่ ปีละ 1 ครั้ง โดยใส่ให้ลิ้นจี่ต้นละครึ่ง ถึง 1 กระสอบ ทุกปี ในช่วงต้นฝนประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะทำให้ลิ้นจี่เจริญเติบโตได้ดี

ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ให้ผลผลิตได้ดีที่ไทรโยค

นอกจากนั้น ใบลิ้นจี่ที่ร่วงหล่นและเศษหญ้าต่างๆ ในสวน คุณอังคณาจะนำมาหมักเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ ขี้วัวที่นำมาทำปุ๋ยก็เป็นขี้วัวที่มาจากวัวที่เลี้ยงไว้เอง ทำให้มั่นใจได้ว่าเป็นอินทรีย์แท้ๆ ส่วนการตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งผลมีบ้างแต่ไม่มากนัก

คุณอังคณา บอกว่า ลิ้นจี่ที่สวนจะออกดอกในช่วงกลางเดือนธันวาคม และใช้เวลาประมาณ 110 วัน หลังจากออกดอกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ถ้าปีไหนอากาศยิ่งหนาวผลผลิตจะยิ่งเยอะ อย่างช่วงปลายปี 62 อากาศหนาวทำให้ปีนี้ผลผลิตลิ้นจี่ที่สวนมีมาก ปริมาณผลผลิตลิ้นจี่ที่ได้ในปีนี้ประมาณ 3 ตัน แต่เราก็ไม่กังวลกับเรื่องตลาดเพราะลิ้นจี่ที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ยังมีน้อยเราจึงมีตลาดที่แน่นอน

บริษัทรับซื้อลิ้นจี่ทั้งหมด ในราคาประกัน

ตลาดของลิ้นจี่จากสวนของคุณอังคณา จะมีบริษัท Blue River ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกผลผลิตเกษตรที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์มารับซื้อผลผลิตทั้งหมดเพื่อส่งออกไปขายที่ประเทศมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ และไต้หวัน คุณอังคณา บอกว่า ราคาของลิ้นจี่ปีนี้พออยู่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสองสามปีที่แล้วเคยขายได้ถึงราคา กิโลกรัมละ 100 บาท

“ปีนี้ราคาลิ้นจี่ที่สวนค่อนข้างต่ำ ตอนนี้ขายส่งบริษัทอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท แต่ผลผลิตบางส่วนเราจะเก็บไว้ให้ตลาดในประเทศซึ่งจะมีห้างสรรพสินค้าต่างๆ มารับซื้อ เช่น Tops สาขาในกรุงเทพฯ ปีนี้สั่งมา 300 กิโลกรัม ตลาดในประเทศจะขายปีละประมาณ 1 ตัน”

คุณอังคณา บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบการปลูกและราคาของลิ้นจี่กับพืชชนิดอื่นๆ คุณอังคณา บอกว่า ลิ้นจี่ดูแลไม่มาก ผลผลิตราคาดี ที่สวนจึงมีลิ้นจี่และส้มโอเป็นพืชหลัก แต่ปัญหาของลิ้นจี่ก็คือ เมื่อลิ้นจี่แก่แล้วไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเพราะผลจะระเบิดทำให้เสียราคา ผลผลิตลิ้นจี่ที่สวนของคุณอังคณาจะมีขายตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคมไปจนถึงช่วงสงกรานต์

แนะนำให้ขยายพื้นที่ปลูก ขายกิ่งพันธุ์

คุณอังคณา เล่าว่า หากตลาดต่างประเทศอยู่ในสภาพปกติลิ้นจี่ของที่สวนก็จะมีราคาดี แต่เพราะปีนี้มีปัญหา Covid 19 ราคาลิ้นจี่จึงตกลงมาเพราะตลาดต่างประเทศมีคำสั่งซื้อลดลง อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะเมื่อปีที่แล้วอากาศเย็นปีนี้จึงมีผลผลิตลิ้นจี่ออกมามากพร้อมๆ กัน

คุณอังคณา บอกว่า พยายามปลูกลิ้นจี่เพิ่มเติมเพื่อทดแทนต้นที่เริ่มมีอายุมากและสนับสนุนให้เกษตรกรคนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ปลูกลิ้นจี่เพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ในอำเภอไทรโยคมีไม่ถึง 10 ไร่ แต่ต้องปลูกแบบอินทรีย์จริงๆ จึงจะมีบริษัทมารับซื้อ หากเราผลิตได้แบบอินทรีย์จริงๆ รถห้องเย็นของบริษัทจะมารอรับผลผลิตของเราเลย

อาชีพเสริมของคุณอังคณาตอนนี้คือ ขายกิ่งตอนของไม้ผลในสวนของตัวเอง ทั้งลิ้นจี่ที่ขายในราคา ต้นละ 100 บาท มะนาวไข่ ต้นละ 100-150 บาท เลม่อน ต้นละ 100 บาท ทั้งหมดส่งทางไปรษณีย์ได้ ใครสนใจต้นพันธุ์ไม้ผลจากสวนของคุณอังคณา สามารถติดต่อมาได้ที่โทร. (095) 330-5012 ครับ

มุมมองกลยุทธ์การตลาด
แบบคอลัมน์ คิดใหญ่แบบรายย่อย

หากมองกันเรื่องการตลาดในแบบคอลัมน์คิดใหญ่แบบรายย่อยแล้ว คุณอังคณา ใช้กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ เพราะผลผลิตจากสวนของคุณอังคณามีจุดเด่นที่เต็มไปด้วยพลังคือ การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ที่สามารถดึงดูดใจลูกค้าจากความสะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารเคมี นอกจากนั้น คุณอังคณา ยังใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์ (Brand) ด้วยเรื่องราว (Story) ด้วยการใช้ประวัติที่ยาวนานกว่า 40 ปี ของการทำสวนมาผูกโยงให้เป็นเรื่องที่เห็นภาพได้ชัดเจนถึงความมุ่งมั่น การมองการณ์ไกลตั้งแต่รุ่นพ่อที่นำลิ้นจี่ต้นแรกมาปลูกที่จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ทำให้สวนของคุณอังคณาได้รับการยอมรับทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี

การทำสวนแบบผสมผสานในระบบเกษตรอินทรีย์ของคุณอังคณา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อยู่ในข่ายระบบการผลิตแบบยั่งยืน มีรายได้จากหลากหลายช่องทาง แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็ต้องแลกมาด้วยความขยัน ทุ่มเท เหนื่อยยากจากงานที่หลากหลายในไร่ในสวน ใครรักใครชอบใครพร้อมทำการเกษตรแบบนี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีมากๆ ครับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้ลากันไปก่อน สวัสดีครับ

เอกสารอ้างอิง

รวี เสรฐภักดี (2540) ใน http://www.lib.kps.ku.ac.th/SpecialProject/Horticulture/2546/Bs/SuphatSi/chapter2.pdf

……………………………………………………………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่