เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2567
หน้าแรก เทคโนฯ เกษตร การผลิตหอมแดง...

การผลิตหอมแดง-ดอกหอมแดงนอกฤดู นวัตกรรมทำเงิน จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หอมแดง เป็นทั้งพืชสมุนไพร ที่ให้ผลผลิตทั้งการใช้ดอกในลักษณะพืชผัก และใช้หัวสดสำหรับปรุงอาหาร หอมแดง มีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เช่น ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดหลัง ปวดเอว ปวดประจำเดือน แก้หวัด คัดจมูก ขยายหลอดลม ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืดสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น

ปัจจุบัน ได้มีการนำหอมแดงไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ มากมาย ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกหอมแดงประมาณ 4 หมื่นไร่ สามารถปลูกหอมแดงได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากหอมแดงเป็นพืชน้ำน้อย ระยะปลูกสั้นแค่ 75 วัน จึงเป็นพืชทางเลือกที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากในช่วงฤดูแล้ง ทดแทนการทำนาปรัง

การเพาะปลูกหอมแดงในประเทศไทย ส่วนใหญ่นิยมเพาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ ซึ่งเกษตรกรสามารถเพาะปลูกหอมแดงได้มากถึง 3 ครั้ง ต่อปี ในช่วงฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน แต่จะมีเพียงช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ที่เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวดอกหอมแดงไปจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่มจากการขายหัวหอมแดงปกติ เนื่องจากหอมแดงจำเป็นต้องได้รับความเย็นที่เพียงพอ จึงจะสามารถแทงช่อดอกได้ และสามารถออกดอกช่วงระยะแตกกอ หรือประมาณ 45 วัน หลังการปลูก

นวัตกรรมการผลิตดอกหอมแดงนอกฤดู

แม้ดอกหอมแดงจะมีศักยภาพด้านการตลาดเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในวงกว้างก็ตาม แต่มีปัญหาด้านช่วงเวลาการผลิตให้ตรงต่อความต้องการ นับเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ซึ่งสามารถผลิตในช่วงฤดูหนาว ดอกหอมแดงมักออกดอกพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของผลผลิตดอกหอมแดงและเกิดปัญหาราคาตกต่ำตามมา

ทีมนักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขณะเดียวกันผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร ดังนั้น เพื่อลดปัญหาผลผลิตกระจุกตัว และช่วยเพิ่มมูลค่าดอกหอมแดงของเกษตรกร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้นำนวัตกรรมการผลิตดอกหอมแดงนอกฤดู โดยการใช้เทคนิคกระตุ้นตาดอกด้วยความเย็น (Vernalization) ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตดอกหอมออกสู่ตลาดได้ตามต้องการ เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตดอกหอมแดงจำหน่ายนอกฤดู ในราคากิโลกรัมละ 100-300 บาท ภายใต้การควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

นวัตกรรมการผลิตหอมแดง-ดอกหอมแดงนอกฤดู ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเกษตรเพื่ออาหารสุขภาพดีวิถีล้านนา ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน) ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เยี่ยมชมผลงานวิจัย

ดอกหอมแดงนอกฤดู ขายได้ราคาดี

ปกติ หอมแดง เป็นพืชที่เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่สามารถเจริญเติบโตและสร้างหัวได้ดี เมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น และพบการออกดอกเฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น ทีมนักวิจัยของ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย ผศ.ดร. ศิวาพร ธรรมดี ผศ.ดร. จุฑามาส คุ้มชัย และ รศ.ดร. เกวลิน คุณาศักดากุล ได้ใช้นวัตกรรมความเย็นกระตุ้นการออกดอกหอมแดงนอกฤดู และการผลิตเมล็ดพันธุ์หอมแดง โดยใช้อุณหภูมิต่ำเข้ามาช่วยในการกระตุ้น หรือบังคับให้หอมแดงเกิดการสร้างตาดอกขึ้นภายในหัว และแทงช่อดอกหลังปลูกได้ในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งบังคับให้มีการออกดอกอย่างสม่ำเสมอพร้อมกันทั้งแปลง

ดอกที่ได้มีคุณภาพสูง น้ำหนักดี สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตดอกหอมแดงนอกฤดูในราคาสูงกว่าเดิม และบางส่วนที่ไม่ได้ตัดดอกขาย เกษตรกรสามารถรอเก็บเมล็ดพันธุ์หอมแดงเพื่อใช้ในการปลูกทดแทนการใช้หัวพันธุ์เดิม เนื่องจากมีการสะสมของโรคที่ติดกับหัวพันธุ์มาเป็นระยะเวลานานจากการปลูกโดยใช้เมล็ด จะมีความสมบูรณ์และให้หัวหอมแดงมีขนาดใหญ่

รศ.ดร. เกวลิน คุณาศักดากุล โชว์ดอกหอมแดงนอกฤดู

วิธีผลิตดอกหอมแดงนอกฤดู

การคัดเลือกพันธุ์ ควรใช้หัวพันธุ์หอมแดงปลอดโรคที่เก็บรักษาไว้เป็นเวลา 2-3 เดือน หลังการเก็บเกี่ยว คัดแยกหัวพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นโรคทิ้ง จากนั้นทำความสะอาดหัวพันธุ์โดยการตัดใบและเปลือกที่แห้งออก คัดขนาดโดยใช้หัวพันธุ์ขนาดกลาง-ใหญ่ (เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.5 เซนติเมตร) ซึ่งเหมาะสมต่อการผลิตดอกและได้ดอกหอมแดงที่มีคุณภาพ การใช้ความเย็นกระตุ้นเพื่อให้หอมแดงเกิดการสร้างตาดอก สามารถทำได้โดยนำหัวพันธุ์แช่ในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 10 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อนำไปปลูก หอมแดงจะแทงช่อดอกในระยะเวลา 25-26 วัน หลังการปลูก

ปฏิทินการปลูกดอกหอมแดงนอกฤดู

ขั้นตอนการกระตุ้นตาดอกหอมแดง

การเตรียมหัวพันธุ์หอมแดง เพื่อนำไปกระตุ้นการออกดอกด้วยความเย็นในสภาพห้องเย็น ควรใช้ภาชนะที่สามารถระบายอากาศได้ดี อาจใช้ตะกร้าพลาสติกเล็กวางไว้ตรงกลางในการเพิ่มพื้นที่ระบายอากาศ เพื่อให้ความเย็นกระจายได้อย่างทั่วถึง หลังจากนั้น นำไปเก็บไว้ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อครบระยะเวลาการกระตุ้นด้วยความเย็นแล้ว อาจสังเกตได้ว่า หัวพันธุ์จะมีใบอ่อนงอกออกมา ควรตัดใบอ่อนที่งอกทิ้ง และปล่อยไว้ให้แผลแห้ง ประมาณ 1 วัน หลังจากนั้นจึงนำไปปลูก

หลังจากนำหัวพันธุ์ออกจากห้องเย็น ควรวางผึ่งในที่ร่มและนำไปปลูกภายใน 3 วัน ไม่ควรนำหัวพันธุ์ไปตากแดด เพราะจะทำให้อุณหภูมิในหัวพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจส่งผลให้การออกดอกลดลง
หัวพันธุ์หอมแดงที่ได้รับการกระตุ้นด้วยความเย็นจะงอกสม่ำเสมอกว่าหัวพันธุ์หอมแดงที่ไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยความเย็น ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 หอมแดงที่ได้รับการกระตุ้นด้วยความเย็นจะมีการเจริญเติมโตที่เร็วกว่า ซึ่งจะเห็นได้จากความสูงของต้นหอมแดงที่มากกว่า และหอมแดงที่ได้รับการกระตุ้นด้วยความเย็น ใบจะมีสีที่เข้มกว่า

แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์หอมแดง

มช. เผยแพร่งานวิจัยสู่เกษตรกร

หอมแดง ที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่มักมีโรคอยู่ภายใน เพราะหัวพันธุ์มีเชื้อไวรัสวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดโรคแทรกมากมาย ผลผลิตจึงลดลง สาเหตุที่โรคเข้าทำลายหอมแดงมากที่สุด ได้แก่

1. โรคหอมเลื้อย : C. gloeosporioides เชื้อราสาเหตุเข้าทำลายบริเวณใบหอม พบการสร้าง spore mass เป็นจุดเล็กๆ สีส้มบนใบ เกษตรกรส่วนใหญ่รู้จักลักษณะอาการของโรคหอมเลื้อย-หอมไหล (หมานอน) และโรคหัวเน่า (ตายจอย) เป็นอย่างดี เกษตรกรในแต่ละพื้นที่นิยมใช้สารเคมีในการควบคุมโรค แต่มักละเลยในการป้องกันตัวเองจากอันตรายของสารเคมี

2. โรคเน่าและเหี่ยว : F. oxysporum f.sp. cepae หัวหอมแสดงอาการลีบ เนื้อเยื่อยุบตัวบางส่วน เน่าเละ และมีเส้นใยสีขาวของเชื้อราเจริญบนบริเวณที่แสดงอาการ

3. โรคแอนแทรคโนส : C. circinans พบเชื้อราสาเหตุเข้าทำลายบริเวณกาบหอม สร้าง fruiting body เป็นจุดสีดำเล็กๆ กระจายทั่วบริเวณที่ถูกทำลาย

4. โรคเน่าแห้ง หรือ ราสีขาว : S. cepivorum หัวหอมแสดงอาการเน่าเละ แผลแห้ง ยุบตัวเป็นแอ่งลึก พบเส้นใย และเม็ด sclerotium ของเชื้อราเจริญบนบริเวณที่ถูกทำลาย

5. โรคราดำ : A. niger หัวหอมไม่แสดงอาการเน่า พบสปอร์สีดำเป็นก้อนกลมอยู่บนก้านชูสปอร์เจริญบนหัวหอม

6. โรคใบไหม้ : S. vesicarium บริเวณกาบหอม เป็นแผลสีน้ำตาล ปนเขียวขี้ม้า พบเส้นใยและสปอร์ของเชื้อสาเหตุเจริญบนบริเวณที่เข้าทำลาย

7. โรคเน่าแห้ง : S. cepivorum ต้นหอมใบเหลือง เน่าทั้งแปลง
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการแพร่ระบาดของศัตรูพืช ได้แก่ หนอนกระทู้หอม เพลี้ยไฟ และแมลงวันหนอนชอนใบ ตามลำดับ เกษตรกรยังละเลยในการตรวจแปลงเพื่อประเมินความเสียหายจากโรคและแมลง จึงก่อให้เกิดการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงขึ้น และเพิ่มต้นทุนมากขึ้นด้วย

เมล็ดพันธุ์หอมแดง

ทีมนักวิจัย มช.ได้ทดสอบสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ propineb, copper hydroxide, mancozeb และ difenoconazole ต่อการยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรค พบว่า สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา 2 ชนิด คือ สาร mancozeb และ difenoconazole สามารถยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรคหอมได้ 3 ชนิด คือ เชื้อรา F. oxysporum f. sp. cepa, S. cepivorum และ A. niger ที่ความเข้มข้นตามอัตราแนะนำ และครึ่งอัตราแนะนำ ส่วนเชื้อรา C. circinans และ C. gloeosporioides พบว่า มีเพียงสาร difenoconazole ที่สามารถยับยั้งได้ที่ความเข้มข้นตามอัตราแนะนำ และครึ่งอัตราแนะนำ และเชื้อรา Stemphylium vesicarium พบว่า สาร copper hydroxide สามารถยับยั้งได้ที่ความเข้มข้นตามอัตราแนะนำและครึ่งอัตราแนะนำ

ทีมนักวิจัย มช.ได้สร้างแปลงสาธิตเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรทั้งระบบการผลิตพืชแบบอินทรีย์ และระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ข้อมูลสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการผลิตหอมแดง ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ สภาพดิน รวมถึงขั้นตอนการผลิตหอมแดงไทย เช่น วิธีการปลูกและการดูแลรักษา การใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมี ฯลฯ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) อบรมเพิ่มศักยภาพการตลาดให้กับผู้ปลูกหอมแดง จังหวัดเชียงใหม่

เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ทดลอง การแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกแบบเดิมของเกษตรกรให้สอดรับกับการทำเกษตรในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถ่ายทอดนำนวัตกรรมที่ได้จากงานวิจัยหอมแดงถ่ายทอดแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การพัฒนาระบบการผลิตสินค้าหัวพันธุ์หอมแดงปลอดโรคเพื่อลดการใช้สารเคมีเกษตรและการปรับปรุงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดความเสียหายจากการฝ่อของหัวพันธุ์

หอมแดง พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

การส่งเสริมให้ทายาทเกษตรกรมีบทบาทในการแข่งขันด้านการตลาดสินค้าหอมแดงไทย โดยเจรจาธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสและขยายช่องทางการตลาดของสินค้าหัวพันธุ์ที่ได้รับรองคุณภาพไปสู่การเชื่อมโยงตลาดกับผู้ค้าภายในประเทศ

การสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า ผ่านระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) โดยใช้ QR Code โดยมีเกษตรกรสมาชิกโครงการเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ ในครั้งนี้ ได้แก่ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตหัวพันธุ์หอมแดงและกระเทียม อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกระเทียมและหอมแดงตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน กลุ่ม young smart farmer จังหวัดเชียงใหม่ และมีตัวแทนจากบริษัท ผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม ห้างร้าน และผู้ส่งออก เป็นต้น

หากผู้สนใจนวัตกรรมนี้ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการการผลิตหอมแดงและดอกหอมแดงนอกฤดู คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เปรียบเทียบผลผลิตหอมแดงในพื้นที่ต่างๆ

…………………………………………….

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354