พช. สร้างเครือข่าย ขยายผล ปฏิบัติการ “ปลูกผักสวนครัว” 90 วัน

‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ในสถานการณ์ ‘โควิด’ คือสิ่งที่ ‘กรมการพัฒนาชุมชน’ (พช.) ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จึงก่อเกิดปฏิบัติการ Quick Win ‘90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร’ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยปักธงรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทั่วประเทศเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ผ่านการเพาะเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าสู่ผืนแผ่นดินซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางออกของประเทศ ไม่เพียงจากภาวะโรคระบาด หากแต่รวมถึงวิกฤตภัยแล้งซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข

วันนี้นับเป็นเวลากว่า 1 เดือนของปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการ “รับรู้” และ “มีส่วนร่วม” ระหว่างภาครัฐกับประชาชน เพื่อให้ก่อเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หยั่งรากลึกถึงท้องถิ่น หมู่บ้าน ครอบครัว หน่วยเล็กๆ อันสำคัญยิ่ง โดยมีแนวคิด ‘ผู้นำต้องทำก่อน’ จึงส่งภารกิจไปให้ข้าราชการที่กระจายอยู่ในทุกตำบลอำเภอช่วยกันส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ ซึ่งปลอดภัยจากสารพิษ และยาฆ่าแมลง มีการผนึกกำลังสร้างระบบยุทธศาสตร์สวนครัวครบวงจร ขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย รวมถึงองค์กรทางศาสนา

สำหรับการดำเนินการขั้นถัดไปในระหว่างเดือนพฤษภาคม กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้าส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบ “เข้าถึงทุกครัวเรือน” ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการหมั่นเยี่ยมบ้านโดยทีมปฏิบัติการหมู่บ้านซึ่งเคาะประตูทักทายพร้อมให้คำแนะนำและกระตุ้นปฏิบัติการ เน้นย้ำประเด็น ‘พึ่งพาตนเอง’ ในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ก่อเกิดการร่วมแรงร่วมใจในลักษณะการรวมกลุ่มย่อยขนาดเล็กๆ ยึดโยงวิถีชีวิตดั้งเดิมของท้องถิ่นต่างๆ ที่มีการ ‘เอามื้อสามัคคี’ ครัวเรือนใดยังอยู่ระหว่างตัดสินใจ ทีมปฏิบัติการจะแวะพูดคุยกระตุ้นการเรียนรู้จากตัวอย่างทั้งในชุมชน เช่น บ้านผู้นำ รวมถึงชุมชนภายนอกที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จ ส่วนบ้านไหนลงมือทำอย่างแข็งขัน เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ติดตามให้กำลังใจ แวะเวียนเคาะประตูบ้านชื่นชมสวนครัวอันงอกงามพร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติม สวนครัวบ้านไหน สำเร็จงดงาม จะถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างแรงบันดาลใจสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นหยิบเมล็ดพันธุ์แรกลงสวน หย่อนกล้าต้นแรกสู่ผืนดินของตัวเอง 

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กิจกรรมการทำงานของ พช. นั้น จริงๆ แล้วก็คือวิถีชีวิตชาวบ้าน ในยามที่เกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้ พช. ก็ยังเดินหน้าเคาะประตูบ้าน ผลักดันการพัฒนาโดยเน้นย้ำการพึ่งพาตนเอง ดังเช่นกรณีศึกษาที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ อย่าง อบต.โก่งธนู “ที่โก่งธนู ลพบุรี ทั้งตำบลร่วมโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ทุกบ้านมีผักเป็น 10 ชนิด รวมทั้งตำบลมีหลายร้อยชนิด เท่านั้นไม่พอยังทำถนนหนทางสองฝั่ง ปลูกไม้ผล และไม้ยืนต้นด้วย” อธิบดี พช. กล่าว

 นอกเหนือจากการส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือนแล้ว นโยบายในเดือนพฤษภาคมนี้ ยังมีการ ‘สร้างเครือข่าย ขยายผล’ โดยเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยน แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ และต้นกล้า ในรูปแบบ “โครงการทอดผ้าป่าต้นไม้” สร้างการเรียนรู้ในลักษณะ “ชุมชนนักปฏิบัติ” ที่มีดัชนีชี้วัดเป็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมที่มองเห็นและจับต้องได้   ผักสวนครัวที่ชาวบ้านปลูกขึ้นตามปฏิบัติการนี้ ไม่เพียงถูกปรุงเป็นเมนูจานสดใหม่ไร้สารพิษให้คนในครอบครัวได้กินอย่างอิ่มหนำ หากแต่ กรมการพัฒนาชุมชน มีนโยบายการรวมกลุ่มนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคและทำบุญ ทำทานและแบ่งปันไป ‘แปรรูป’ อีกทั้ง ‘จำหน่าย’ ตามเป้าหมายของปฏิบัติการที่คาดหวังช่วยครัวเรือนลดรายจ่าย และยังเพิ่มรายได้อีกด้วย ปฏิบัติการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยมีการคัดเลือก “บุคคลต้นแบบ” และเชิดชูเกียรติ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ไม่เพียงเท่านั้น จะมีการติดตามความก้าวหน้าต่อไป แม้จบ 90 วันของปฏิบัติการ 

นี่คืออีกแนวนโยบายในโครงการสร้างสรรค์ของกรมการพัฒนาชุมชนที่คาดหวังเสริมพลังบวกทางใจ สร้างความมั่นคงทางกายภาพ แก่สังคมไทยในวันวิกฤต