บัณฑิต ป.โท แม่โจ้ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แบบมืออาชีพ สร้างรายได้ครึ่งหมื่นต่อวัน

“คนเราเกิดมาแล้ว ค้นพบความชอบของตัวเองเจอ และได้มุ่งมั่นเพื่อให้ได้ทำสิ่งนั้น ถือว่าเป็นความสุขที่สุดแล้ว”

คุณพัชรินทร์ พุทธฤทธิ์ หรือ พี่กิ่ง อยู่บ้านเลขที่ 55/3 หมู่ที่ 3 ตำบลบางบริบูรณ์ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี สาวเท่ผู้มากความสามารถ เธอคนนี้มีดีกรีไม่ธรรมดา เรียนจบปริญญาตรีและโท จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปริญญาตรีจบสาขาพืชศาสตร์ เอกพืชผัก ปริญญาโทจบสาขาการจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจุดประสงค์เพื่อที่จะนำมาสานต่อความฝัน ความชอบ ของตัวเองที่อยากจะเป็นเกษตรกรโดยเฉพาะ

คุณพัชรินทร์ พุทธฤทธิ์ หรือ พี่กิ่ง

จุดเริ่มต้นที่กว่าจะมาเป็นเกษตรกร
ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้อย่างมืออาชีพ

พี่กิ่ง บอกว่า ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ ป.โท อาจารย์เห็นแววว่าเธอน่าจะช่วยสอนรุ่นน้องได้ จึงหยิบยื่นโอกาสมาให้โดยการให้ช่วยสอนแล็บนักศึกษา ชั้น ป.ตรี และทำธีสิส ป.โท เกี่ยวกับการปลูกพืชไร้ดินมาโดยตลอด เพราะเกิดข้อสงสัยว่า ผักปลูกในน้ำโตได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีดิน จึงพยายามที่จะหาคำตอบมาตลอด ประจวบเหมาะกับที่มีโปรเจ็กต์การปลูกผักไร้ดินเข้ามาพอดี จึงรับทำโปรเจ็กต์นี้เพื่อหาคำตอบที่อยากรู้มาตลอด จนกระทั่งเรียนจบได้ไปทำงานอยู่โครงการหลวง 1 ปี ทำด้านการปลูกผัก ดูแลเรื่องการผลิตผักของโครงการหลวง หลังจากนั้นก็เปลี่ยนงานมาทำเกี่ยวกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มีหน้าที่บริการวิชาการ และส่งเสริมการปลูกผักขาย ทำอยู่นานกว่า 10 ปี เกิดจุดอิ่มตัวจึงลาออก แล้วกลับบ้านที่ปราจีนฯ เพื่อมาทำฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์เป็นของตัวเอง เมื่อ ปี’ 59

 

ผักไฮโดรโปนิกส์ ปลอดภัย
ไร้สารพิษ จริงเหรอ? หลายคนสงสัย

พี่กิ่ง บอกว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สามารถปลูกได้หลายระบบ แต่ระบบที่พี่กิ่งเลือกปลูก คือ ระบบ NFT (Nutrient Film Technique) เป็นระบบการปลูกพืชแบบรางน้ำตื้น ซึ่งสาเหตุที่เลือกปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เพราะมีข้อดีหลายอย่าง สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีคุณค่า ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรปุ๋ย และการจัดการบริหารเวลา น้ำจะใช้อย่างประหยัด เพราะเป็นระบบน้ำวน ปุ๋ยก็ให้ไปในน้ำจะมีการตรวจเช็กว่าเพียงพอสำหรับพืชไหม ให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมเพียงพอกับพืชชนิดนั้นๆ ไม่มีมากไปหรือน้อยไป เพราะถ้าหากให้ปุ๋ยมากหรือน้อยเกินไปจะกลายเป็นพิษ ถ้าน้อยไปต้นและใบจะเหลืองไม่โต ดังนั้น ก็จะมีค่าความเหมาะสมกับเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ โตไวกว่าผักที่ปลูกในดินกว่า 10 วัน เพราะพืชได้รับอาหารอย่างสม่ำเสมอ ผลผลิตที่ได้มีรสชาติดี สะอาด ปลอดภัย ไร้สารพิษ สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ มีราคาที่ค่อนข้างดีกว่าผักที่ปลูกในดิน ซึ่งที่กล่าวถึงประโยชน์มาทั้งหมดนี้ พี่กิ่งบอกว่าหลายคนคงสงสัยว่าในเมื่อการปลูกใส่ปุ๋ยเคมีแล้ว จะบอกว่าปลอดภัย ไร้สารพิษได้อย่างไร จึงอยากขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า

แปลงผลิต

“ปุ๋ยคือ อาหารของพืช ปุ๋ยไม่ใช่สารพิษ ปุ๋ยไม่ใช่ยาพิษ ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พืชก็เช่นเดียวกัน คือต้องกินอาหารให้ครบ 16 ธาตุ มนุษย์ถ้าทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ร่างกายก็ไม่แข็งแรง ขาดวิตามิน พืชก็เหมือนกัน

ปุ๋ย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยใดๆ ก็ตาม ที่ให้กับพืช เมื่อมีการแปรเปลี่ยนสภาพหรือย่อยสลายแล้ว พืชสามารถกินได้ในรูปของไอออนเท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยรูปไหน เมื่อมีน้ำเป็นตัวทำละลายธาตุอาหารที่ปลดปล่อยออกมา คือตัวเดียวกันทั้งหมด พืชถึงจะกินได้ ผู้บริโภคต้องเข้าใจใหม่ว่าปุ๋ยเป็นอาหารของพืช พืชต้องกินเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ถ้าขาดปุ๋ยใบอาจจะผิดรูป ลำต้นเหลืองล่างเหลืองบน ซึ่งเป็นการแสดงอาการขาดธาตุอาหาร ในไฮโดรโปนิกส์ค่อนข้างจะไม่มีอาหารเหล่านี้ เนื่องจากให้อาหารครบตามที่พืชต้องการ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าปลูกในดิน ไม่ใช่ว่าไม่ดี ถ้าให้อาหารเหมาะสมพืชก็เจริญเติบโตได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับการดูแล การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเหมือนกัน ขึ้นอยู่ที่ความสนใจของแต่ละบุคคล วิถีใครวิถีท่าน แต่ท้ายที่สุด ผู้ผลิตต้องผลิตผักที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภคก็เท่านั้น” พี่กิ่ง อธิบายถึงการใช้ปุ๋ยในผักไฮโดรโปนิกส์

 

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบมืออาชีพ
เพียง 40 โต๊ะ มีผักเก็บขายได้ทุกวัน

การวางแผนการปลูกให้มีผลผลิตออกทุกวัน เจ้าของบอกว่า ที่ฟาร์มปลูกผักสลัดทุกชนิด มีทั้งหมดประมาณ 40 โต๊ะ แบ่งเป็นโต๊ะอนุบาล 12 โต๊ะ โต๊ะเพาะกล้า 4 โต๊ะ และนอกเหนือจากผักสลัด ยังมีผักขึ้นฉ่าย ผักกาด คะน้าฮ่องกง กวางตุ้ง ผักโขม และไวลด์ ร็อกเก็ต ดูแลคนเดียวทั้งฟาร์มมีการบริหารจัดการและดูแลผลผลิตให้มีออกสม่ำเสมอทุกๆ สัปดาห์ ด้วยการดูออเดอร์และกำลังการผลิตว่าทำได้แค่ไหน ตัวอย่าง เช่น มีออเดอร์มาเท่านี้ ที่ฟาร์มมีโต๊ะปลูกจำนวนกี่โต๊ะ เพื่อแบ่งว่าในแต่ละโซนจะปลูกผักอะไร จำนวนเท่าไร ดูช่วงอายุของพืช เพราะแต่ละชนิดมีอายุสั้นยาวไม่เท่ากัน และค่อยตีกลับมาที่การเพาะกล้า แต่วางแผนปลูกผักสลัดจะง่ายมาก วางแผนเพาะทุกวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี วันละ 10 แผ่น เพื่อให้มีผักออกขายได้ตามออเดอร์

แปลงผลิต

ยกตัวอย่าง วิธีการปลูกผักสลัด

  1. ในการเพาะกล้าผักสลัดเมื่อมีเมล็ดพันธุ์มาแล้ว จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์มาใส่ในฟองน้ำที่กรีดและนวดกับน้ำมาแล้ว เนื่องจากในฟองน้ำมีรูพรุน ดังนั้น จำเป็นต้องไล่ฟองอากาศออกให้หมด เพื่อให้น้ำเข้ามาแทนที่ จากนั้นใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแตะเมล็ดพันธุ์มาวางในฟองน้ำ 1 ช่อง ต่อ 1 เมล็ด 1 แผ่น มี 96 ช่อง ปลูกได้จำนวน 96 ต้น ขั้นตอนการวางเมล็ดต้องไม่ลึกและไม่ตื้นจนเกินไป
  2. หลังจากเพาะเมล็ดเสร็จ ให้รดน้ำเช้า-เย็น สักประมาณ 1 คืน รากจะเริ่มงอกออกมาก่อน โดยถาดเพาะเมล็ดต้องวางอยู่ใต้ซาแรน 50 เปอร์เซ็นต์
  3. เมื่อได้ระยะ 3-4 วัน เริ่มมีใบ จากนั้นเริ่มกระตุ้นปุ๋ยอ่อนๆ ให้ปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 0.8-1 มิลลิซีเมนต์/เซนติเมตร
  4. เมื่อผักมีอายุได้ 14 วัน ไม่เกิน 18 วัน ให้ย้ายลงแปลงอนุบาล เพื่อทำรุ่น และให้ค่าปุ๋ยอินทรีย์ ที่ประมาณ 1.3 มิลลิซีเมนต์/เซนติเมตร ค่า pH อยู่ที่ 6.5
  5. เมื่อผักอายุครบ 30 วัน ให้ย้ายจากแปลงอนุบาลมาลงที่แปลงผลิตต่ออีก 15 วัน สรุปได้ว่า ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ใช้เวลา 40-45 วัน สำหรับผักสลัดใบเขียว แต่ถ้าเป็นผักสลัดที่มีสีแดง จะใช้ระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 50-55 วัน
ย้ายลงแปลงอนุบาล

เทคนิคของที่ฟาร์ม อยู่ที่ 1 สัปดาห์ ก่อนการเก็บเกี่ยวให้ลดอินทรีย์เหลือ 1 มิลลิซีเมนต์/เซนติเมตร เพื่อให้ผักมีรสชาติที่ดี ไม่ขม ซึ่งแต่ละฟาร์มก็จะมีเทคนิคที่แตกต่างกันออกไป บางฟาร์มจะนำไปแช่น้ำก่อน แต่เรามองว่าการให้น้ำเปล่าจะทำให้พืชขาดอาหาร ทำให้ใบเหลือง จึงใช้วิธีให้อินทรีย์เหลือ 1 มิลลิซีเมนต์/เซนติเมตร ซึ่งเป็นค่าที่พืชนำไปใช้ได้ รสชาติดี ไม่ขม และมีอีกปัจจัยที่ทำให้ผักขมคือ แสงแดดที่จัดเกินไป ปัจจัยเหล่านี้เกี่ยวข้องกันทั้งหมด

ผลผลิต 1 โต๊ะ ความยาว 6 เมตร โต๊ะหนึ่งมีประมาณ 300 ต้น จะได้ผลผลิตประมาณ 30-40 กิโลกรัม น้ำหนักต่อต้นประมาณ 1-1.5 ขีด ลูกค้ากำลังชอบ ราคาขายปลีกหน้าฟาร์ม ผักสลัด กิโลกรัมละ 100 บาท ตลอดทั้งปี และเป็นผักที่ขายดีที่สุด ส่วนผักชนิดอื่น เช่น ไวลด์ ร็อกเก็ต จะมีราคาสูง กิโลกรัมละ 250 บาท อันนี้จะปลูกส่งเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ถ้าเป็นผักทั่วไป คะน้า กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย ผักที่ชาวบ้านคุ้นเคยก็จะนำไปขายตามแหล่งชุมชน ขายในพื้นที่ เพราะทุกคนรับประทานผักกันอยู่แล้ว แต่จะดีมากกว่าถ้าได้ผลิตผักปลอดภัยให้กับผู้บริโภค เวลาทำขายถุงหนึ่งใส่ไป 2 ขีด ราคา 20 บาท สามารถผัดได้ 1 จานพอดี ลูกค้าก็ชอบใจ

ต้นทุนการผลิต ถ้าเทียบกันแล้ว ผักไฮโดรโปนิกส์ในระยะแรกค่อนข้างต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าปลูกผักในดิน เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว ลงทุนครั้งแรกทีเดียว คืนทุนใน 1 ปี ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่สำหรับผักในดินก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สามารถปรับปรุงดินได้ แต่เราไม่ถนัดในเรื่องของการถอนหญ้า พรวนดิน เตรียมดิน เราถนัดแบบไฮโดรโปนิกส์มากว่า เพราะทำความสะอาดแปลงง่าย ขึ้นปลูกได้เลย ไม่เลอะเทอะทำงานกับน้ำไม่เปื้อน เลยชอบตรงนี้มากกว่า

ผักสลัดกรีนโอ๊คได้คุณภาพ

จุดแข็งการตลาด ส่งผักทุกวัน วันละ 40-50 กิโล
เพราะคุณภาพของผัก และความซื่อตรงต่อลูกค้า

เจ้าของบอกว่า จุดแข็งของฟาร์มคือ สามารถการันตีได้ว่าลูกค้าจะได้รับผักที่สด สะอาด ปลอดภัย และรสชาติที่ดีกลับไปแน่นอน อันไหนไม่ดี ไม่ปล่อยให้ลูกค้าแน่นอน หรือว่าถ้าอันไหนไม่ดีอย่างไรจะบอกลูกค้าก่อน ความซื่อสัตย์ความจริงใจกับลูกค้าถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะกว่าจะสร้างความเชื่อใจได้ มันนาน จะไม่ทำลายสิ่งที่สร้างมาด้วยเวลาเพียงชั่ววูบ ดังนั้น ลูกค้าค่อนข้างจะมั่นใจมาก ถ้ามาซื้อผักที่ฟาร์ม ส่งผลให้ทุกวันนี้มีออเดอร์ส่งผักทุกวัน เฉพาะที่ลูกค้ามารับถึงฟาร์ม ก็วันละไม่ต่ำกว่า 20-30 กิโลกรัม และยังมีขับรถส่งตามบ้าน และนำไปขายที่ตลาดนัดอินทรีย์ในตัวจังหวัด ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดอีกทาง ซึ่งเมื่อก่อนจะเน้นขายส่งเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดด้วยการเดินเข้าไปหาลูกค้าด้วยการนำผลผลิตจากฟาร์มไปขายตามตลาดนัดอินทรีย์ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ จึงต้องมีการสร้างความเชื่อใจให้เขา มีการประชาสัมพันธ์บอกกับลูกค้าว่า ฟาร์มตั้งอยู่ตรงที่ไหน สามารถไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตผักที่ฟาร์มได้ และมีอะไรที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็จะแจกพ่วงไปให้ลูกค้าลองชิมก่อน แต่ที่สำคัญต้องบอกกับลูกค้าว่า ผักที่แถมไปสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง เมื่อเขากลับไปทำแล้วชอบ เขาก็จะกลับมาซื้อเอง ถือเป็นการทำตลาดไปแบบง่ายๆ ขาดทุนคือกำไร

“เมื่อก่อนเรามองตลาดไกลตัว ตลาดส่ง ตลาดห้าง แต่พอมามองย้อนกลับไปว่า ทำไม เราไม่เอาพื้นที่ในชุมชนเราก่อน ขายในชุมชนให้ชุมชนเข้ามาในฟาร์ม ไม่ต้องออกไปขายไกลๆ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเดินทางไปได้หลายๆ อย่าง นี่คือ จุดเปลี่ยนมุมมองของเรา เมื่อก่อนเราปลูกแต่ผักสลัด ต้องส่งเข้ากรุงเทพฯ อย่างเดียว ระยะทางไกลเสียเวลา แต่ถ้าทำผักขายในพื้นที่ และขายหมดโดยที่ไม่ต้องออกไปข้างนอกก็คุ้มกว่า”

ผักสลัดสีแดง อายุการเก็บเกี่ยว 50-55 วัน

ฝากเกษตรกรทั้งมือใหม่มือเก่า
ในด้านการตลาด

“การตลาดไม่ยาก ถ้าเข้าใจว่าจุดขายของตัวเองคืออะไร และในบางครั้งต้องยอมขาดทุนเพื่อไปสร้างกำไรในภายภาคหน้า บางครั้งตลาดอาจไม่ต้องไปหาไกลจากประสบการณ์ที่เคยเจอมา คือไม่จำเป็นต้องทำตลาดใหญ่โต ส่งห้าง ส่งโรงแรมอย่างเดียว อันนั้นเป็นเครดิต แต่ถ้าอยากได้เงินสดให้มองตลาดใกล้ๆ ตัว ตลาดตามแผงผัก ตลาดที่ส่งตามบ้าน ตลาดนัดก็ได้ อะไรก็แล้วแต่ที่ได้เงินสด อันนี้จะเป็นตลาดที่ยั่งยืนที่สุดเลย และต้องมองว่าตลาดต้องการอะไร ไม่ใช่ปลูกตามใจตัวเอง แล้วตลาดไม่ต้องการ มันก็ขายไม่ได้ ดังนั้นต้องสำรวจตลาดก่อนว่า ตลาดต้องการอะไร ตัวไหน ราคาเป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่าตลาดต้องการอะไร จึงมาวางแผนการผลิต แล้วค่อยเอาสินค้าที่ปลูกไปเสนอ อย่ากลัวที่จะขาย ถ้าสินค้าเราดี ไม่ต้องกลัวเลย ความประทับใจแรกเมื่อลูกค้าติดแล้ว เขาจะมาเป็นลูกค้าประจำเราแน่นอน และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การรักษามาตรฐานสินค้า ให้มีความสม่ำเสมอ” พี่กิ่ง กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรืออยากเข้าชม “นาถนรินทร์ ไฮโดรฟาร์ม” สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-957-4196

ผักสลัดกรีนโอ๊คได้คุณภาพ

ผักสลัดกรีนโอ๊คได้คุณภาพ
ขึ้นฉ่ายไฮโดรโปนิกส์
ปลูกเองขายเองที่หน้าฟาร์ม

———————————————————————————————————

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่