เกษตรกรดีเด่น เผยเทคนิค ปลูกกล้วยหอมทอง ทำเงิน ใช้ปุ๋ยคอก ห่อถุงผ้า เลี่ยงลม รอบเดียวคืนทุน

หนองบัวลำภู จังหวัดที่แยกตัวมาจากอุดรธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 หากประเมินดูก็น่าเชื่อได้ว่า จังหวัดที่แยกตัวออกมา ควรมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ทว่าพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู กลับไม่มีระบบชลประทานรองรับเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรต้องพยายามพัฒนาระบบน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งการปลูกพืชทุกชนิด “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญ

คุณทองแดง อัมไพชา

คำสัมภาษณ์ของ คุณทองแดง อัมไพชา เกษตรกร หมู่ที่ 11 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรกรต้นแบบ สาขาพืชสวน (ปลูกกล้วยหอมทอง) อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ก็เด่นชัดเรื่องน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรที่ขาดแคลนและต้องพึ่งพาอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แม้จะแก้ปัญหาด้วยการเจาะบ่อบาดาลก็ช่วยได้ไม่มากนัก

“เทคโนโลยีชาวบ้าน” ได้พูดคุยกับคุณทองแดง ถึงการทำสวน แม้ว่าก่อนหน้านั้นคุณทองแดงจะปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชไร่ จำนวน 10 ไร่ ได้ผลผลิตไร่ละ 4 ตัน คิดเป็นรายได้ต่อปี ประมาณปีละ 40,000 บาท เมื่อหักต้นทุนที่ลงทุนไป ทำให้เห็นได้ชัดว่า รายได้ที่ได้รับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

จากซ้ายไปขวา คุณวีระศักดิ์ พริศักดิ์ เกษตรตำบลนิคมพัฒนา อำเภอโนนสัง คุณทองแดง อัมไพชา เกษตรกร คุณศุภลักษณ์ มูลตรีศรี เกษตรอำเภอโนนสัง

คุณจีระพงษ์ อัมไพชา บุตรชาย เป็นต้นคิดให้พ่อเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตร จากการปลูกพืชไร่ ราคาขึ้นลงตามราคาตลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ และการทำนา ที่หากปีไหนได้มากพอก็เหลือขาย แต่หากได้ไม่มากนักก็เก็บไว้กินในครัวเรือน คุณจีระพงษ์ชวนคุณทองแดงผู้เป็นพ่อไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกกล้วยหอมทอง ที่อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมทองมากที่สุดในภาคอีสาน

เมื่อตรึกตรองแล้ว เห็นว่า การปลูกกล้วยหอมทอง น่าจะเป็นทางสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัว จึงตัดสินใจแปลงที่ดิน 10 ไร่ ให้เป็นสวนกล้วยหอมทอง ด้วยการลงทุนซื้อหน่อพันธุ์กล้วยหอมทองจากอำเภอสร้างคอม มาจำนวน 150 หน่อ ทดลองปลูกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 และปัจจุบันปลูกกล้วยหอมทองเต็มพื้นที่ 10 ไร่

รางวัล เป็นแรงผลักดันให้ทำเกษตรด้วยใจ

การปลูกกล้วยหอม จะใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 350-400 หน่อ หน่อที่นำมาปลูกต้องเป็นหน่อจากต้นที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จึงจะเป็นหน่อที่สมบูรณ์ ราคาหน่อกล้วยที่ขาย 8-10 บาท ต่อหน่อ การให้น้ำมีทั้งปล่อยไปตามร่องและใช้น้ำหยด โดยลงทุนระบบน้ำหยด ไร่ละ 3,000 บาท ก็สามารถควบคุมการให้น้ำและความชื้นได้ การให้ปุ๋ย จะให้ครั้งแรกช่วงรองพื้นก่อนปลูกครั้งหนึ่ง โดยให้เป็นปุ๋ยคอกคลุกเคล้ากับดินบริเวณปลูก เมื่อกล้วยอายุ 1 เดือน เริ่มให้ปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 100-150 กรัม ต่อต้น เมื่อต้นอายุ 3-4 เดือน ให้สูตร 15-15-15 ในอัตรา 200-300 กรัม ต่อต้น อายุ 5 เดือน ให้ปุ๋ยสูตร 20-15-20 ในอัตรา 200-300 กรัม ต่อต้น

ห่อเครือกล้วยด้วยผ้าแทนถุงห่อชนิดอื่น

เมื่อกล้วยอายุ 4 เดือน จะเริ่มแต่งหน่อที่แตกออกมารอบต้นออก หลังจากนั้นคอยแต่งหน่อทุก 10-15 วัน ต่อครั้ง ส่วนใบกล้วย ถ้าจะให้ดีควรเก็บใบไว้ให้มากที่สุด ตัดแต่งเฉพาะใบที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุออก โดยจะไว้ใบต่อต้นประมาณ 10 ใบ

เมื่อกล้วยเริ่มให้ปลี น้ำจำเป็นต้องให้วันเว้นวัน ปริมาณ 7-8 ลิตร ต่อต้น เมื่อปลีออกมาสุด ให้เตรียมไม้ค้ำ ทำจากไม้ไผ่ เมื่อตัดปลีออก ให้ใช้ไม้ค้ำไว้ จากนั้นใช้ผ้าห่อเครือกล้วย

ผ้าห่อเครือกล้วย เดิมทำมาจากถุงพลาสติกบ้าง ถุงปุ๋ยบ้าง แต่จากการสังเกต คุณทองแดง พบว่า การนำผ้ามาเย็บต่อกันให้อยู่ในรูปของถุง ใช้คลุมเครือกล้วย จะช่วยให้ผิวกล้วยเมื่อสุกเหลืองสวย แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามใช้ผ้าสีดำ เพราะจะทำให้ผิวกล้วยซีดออกขาว แม้จะนำไปบ่มก็ไม่เหลืองสวยตามต้องการ หลังจากตัดปลีห่อเครือกล้วยแล้ว ประมาณ 56-60 วัน ก็ตัดเครือกล้วยลงได้

หลังตัดเครือกล้วยแล้ว ให้นำไปล้างยางกล้วยออกด้วยซันไลต์ แล้วล้างซันไลต์ออกด้วยน้ำสะอาด ก่อนตัดแต่งหวีให้เหลือผลที่สมบูรณ์ พร้อมจำหน่าย

แปลงนี้เพิ่งลงปลูกได้ไม่นาน มีถังน้ำหมักชีวภาพสำหรับปล่อยไปตามท่อน้ำหยด

การจำหน่ายชั่งเป็นกิโลกรัม ราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 18 บาท เป็นราคาประกันซื้อของบริษัทจากอำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริษัทผลิตส่งจำหน่ายให้กับร้านสะดวกซื้อของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้การผลิตกล้วยหอมทองส่งจำหน่ายถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

คุณทองแดง ให้ข้อมูลว่า การปลูกกล้วยหอมทองนั้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 22,000 บาท ต่อไร่ ต้นทุนการปลูกกล้วยหอมทอง พื้นที่ 1 ไร่ (จำนวน 400 หน่อ) แยกเป็นค่าเตรียมดิน 1,700 บาท ค่าหน่อพันธุ์ 6,000 บาท ค่าแรงปลูก 1,200 บาท ค่าน้ำมันตัดหญ้า (8 ครั้ง) 1,200 บาท ค่าแรงตัดหญ้า (8 ครั้ง) 400 บาท ค่าไฟฟ้า (รดน้ำ) 1,000 บาท ค่าปุ๋ยคอก 3,200 บาท (หลักเน้นปุ๋ยคอกรองก้นหลุม หลุมละ 20 กิโลกรัม เพราะต้นกล้วยกินได้นาน) ค่าปุ๋ยเคมี 4,000 บาท (ปุ๋ยเคมี ใส่จำนวนปริมาณน้อย เพราะผลผลิตต้องได้ขนาดตามมาตรฐานกำหนด) ค่าเศษผ้าห่อเครือ 3,200 บาท ท่อ PE 20 mm. 2,400 บาท หัวน้ำหยด 400 บาท ปีที่ 1 รวมต้นทุน 22,300 บาท ต้นทุน/ต้น 55.75 บาท 22,300 (ต้นทุน)/400 (หน่อ) ปีที่ 2 ต้นทุน 10,300 บาท/400 ต้น = 25.75 บาท รายได้เฉลี่ย 56,000 บาท/ไร่ (140 บาท ต่อต้น)

ตัดแล้วนำมาแขวนเตรียมแต่งเครือ

ส่วนระบบการให้น้ำเป็นระบบน้ำหยด เป็นนวัตกรรมในการปลูกกล้วยให้ได้ผล โดยให้วันละ 8 ชั่วโมง สลับร่องแถว แถวละ 10-15 นาที พอให้ดินชุ่ม

เมื่อกล้วยให้ผลผลิตในปีแรก คุณทองแดงและลูกชายขายผลผลิตได้เป็นเงิน 500,000 บาท

ผลผลิตที่บริษัทมารับซื้อถึงสวน สัปดาห์ละ 2-3 ตัน

ทุกต้น ใช้ไม้ไผ่ค้ำ ช่วยรับน้ำหนักกล้วย

ไม่เฉพาะผลผลิตกล้วยหอมทอง แต่คุณทองแดงมองไปถึงการขายหน่อ ทำให้มีรายได้จากการขายหน่อเสริมเข้ามาอีก

โดยปกติ ผลผลิตต่อไร่ที่จำหน่ายได้ อยู่ที่ 4 ตัน ราคาตันละประมาณ 14,000 บาท คิดเป็นรายได้ต่อไร่ เป็นจำนวนเงิน 56,000 บาท

น้ำหนักต่อหวี 2-3 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 18 บาท (ราคาประกัน)

ล้างด้วยซันไลต์เพื่อกำจัดยางกล้วย ก่อนล้างน้ำจนสะอาด

กล้วยหอมทอง ไม่ได้สร้างรายได้ให้เฉพาะผลกล้วย แต่หน่อกล้วยก็สร้างรายได้ได้เช่นกัน

คุณทองแดง บอกด้วยว่า กล้วยหอมทอง 1 ต้น ให้หน่อพันธุ์เฉลี่ย ต้นละ 7 หน่อ ราคาจำหน่าย หน่อละ 15 บาท เท่ากับ กล้วยหอมทอง 1 ต้น สามารถจำหน่ายหน่อพันธุ์ได้ 105 บาท ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกล้วย จำนวน 400 ต้น จะได้หน่อพันธุ์ 2,800 หน่อ คิดเป็นรายได้จากการจำหน่ายหน่อพันธุ์ 42,000 บาท

ตัดตอนกล้วยสุก 90 เปอร์เซ็นต์

คุณทองแดง มีไอเดียการดูแลแปลงปลูก ซึ่งดินบริเวณดังกล่าวแร่ธาตุไม่สมบูรณ์ ทั้งยังขาดแหล่งน้ำ ดังนั้น ก่อนปลูกกล้วยหอมทอง คุณทองแดงจึงปรับปรุงดินและลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ก่อน โดยการใช้ปุ๋ยคอกและน้ำหมักชีวภาพ ผสมน้ำหมักชีวภาพไปในถังน้ำ แล้วปล่อยไปตามท่อน้ำหยด

เครือ รอการตัดแต่ง

เมื่อถามถึงปัญหาในการปลูกกล้วยหอมทอง คุณทองแดงให้ข้อมูลว่า โรคที่พบในกล้วยหอมทอง เป็นโรคใบด่าง มีผลต่อใบ แต่ไม่มีผลต่อผลผลิตมากนัก หากพบอาจทำให้กล้วยมีขนาดผลเล็กลงเท่านั้น ดังนั้น หากพบ ควรตัดใบทิ้ง ส่วนโรคอื่นยังไม่พบ น่าจะเป็นเพราะการปรับปรุงดินโดยหว่านปุ๋ยคอกและหว่านปอเทืองก่อนไถกลบก่อนลงปลูก

ล้างน้ำให้สะอาด

“ปัญหาที่พบและควบคุมได้ยาก คือ ปัญหาลม กล้วยหอมทองเป็นพืชเปราะบาง เมื่อกระทบลม การค้ำไม้ช่วยก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น วิธีการคือ การเลี่ยงลม โดยลงปลูกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม เมื่อต้นเริ่มแข็งแรง จะเป็นช่วงฤดูที่มีลมพัดแรง ต้นจะทานได้ ไม่ล้มตามลม ส่วนปัญหาอื่นยังไม่พบ”

คุณทองแดง ถือเป็นเกษตรกรต้นแบบ สาขาพืชสวน ของอำเภอโนนสัง ส่วนลูกชายก็เป็นต้นแบบของไอเดียการปลูกกล้วยหอมทองให้กับพ่อ และเป็นเสมือนฐานช่วยพ่อในการดูแลแปลงกล้วยหอมทองให้เป็นแปลงกล้วยหอมทองที่มีคุณภาพ

สอบถามหรือต้องการชมแปลงกล้วยหอมทองเพิ่มเติม ได้ที่ คุณทองแดง อัมไพชา หมู่ที่ 11 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู โทรศัพท์ 093-523-1624

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2563