กลุ่มเกษตรกรทํานาบ่อทอง จ.อุตรดิตถ์ คว้ารางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2563  

กลุ่มเกษตรกรทํานาบ่อทอง ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรต้นแบบที่เข้มแข็ง ทั้งด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การผลิต-การตลาด มีความคิดริเริ่มต่างๆ มากมาย เพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยกย่องจากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ  ประเภทกลุ่มเกษตรกรทำนาถึง 2 ปีซ้อน คือ ประจำปี 2557 และ ปี 2563

กลุ่มเกษตรกรทํานาบ่อทอง จัดตั้งเมื่อ วันที่ 1 กันยายน 2546 สมาชิกแรกตั้ง 33 คน ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวน 136 คน นายตุ้น น่วมคำ รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรทํานาบ่อทอง ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่บ้านเลขที่ 69/2 หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ รหัสไปรษณีย์ 53230 โทรศัพท์ 061-294-7002

โครงการ ราดีพิทักษ์ทรัพย์

สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มเกษตรกรทำนาบ่อทองมีอาชีพทำนา แต่มักประสบปัญหาจากโรคพืช เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคกล้าไหม้ โรคใบไหม้ และศัตรูพืช เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยแป้ง เพื่อเป็นการช่วยเหลือสมาชิก ทางกลุ่มได้ดำเนิน “โครงการ ราดีพิทักษ์ทรัพย์” เพื่อจัดอบรมความรู้เรื่องวิธีป้องกันกำจัดโรคพืชให้แก่สมาชิก โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดทำเชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อราขาว) เชื้อราเมตตาไรเซี่ยมและบิวเวอเรีย (เชื้อราเขียว) ซึ่งราทั้ง 2 ชนิด ช่วยแก้ปัญหาโรคพืชและแมลงรบกวนในนาข้าวได้ แถมช่วยลดใช้สารเคมี ส่งผลให้สมาชิกมีสุขภาพที่ดีขึ้น และรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย สมาชิกจะรวมตัวกัน ณ ที่ทำการกลุ่ม เพื่อร่วมกันทำเชื้อราดังกล่าว และแจกจ่ายให้สมาชิกใส่ในนาข้าวช่วงฤดูทำนาต่อไป

โครงการ ปุ๋ย-น้ำหมักชีวภาพ เพื่อชีวิตเกษตรกร

เนื่องจากเกษตรกรใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ส่งผลเสียต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมในชุมชน กลุ่มเกษตรกรทำนาบ่อทองจึงรณรงค์ให้สมาชิกทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี โดยได้รับการสนับสนุนความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ จากวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ จากสถานีพัฒนาที่ดินอุตรดิตถ์ เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถนำไปแจกจ่ายและใช้ได้จริงในการทำเกษตรกรรมของสมาชิกทุกคน วิธีนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตและยังส่งผลให้สมาชิกมีสุขภาพแข็งแรงดี และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำในชุมชน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสารอาหารในที่ดินทำกินของสมาชิกอีกด้วย

บริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ

ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรทำนาบ่อทอง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีโครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจน มีคณะกรรมการ 7 คน เจ้าหน้าที่ตำแหน่งพนักงานบัญชี 1 คน ผู้ตรวจสอบกิจการ 2 คน ซึ่งทุกคนมีความรู้ความสามารถ สามารถปฏิบัติหน้าที่และให้ความช่วยเหลือสมาชิกได้เป็นอย่างดี มีความเสียสละและทำงานเพื่อกลุ่มเกษตรกรฯ อย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งหวังให้กลุ่มเกษตรกรฯ เป็นที่พึ่งของสมาชิกและชุมชนได้

ปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรฯ มีทุนดำเนินงาน 5,754,231.76 บาท ทุนเรือนหุ้น 1,809,300 บาท ทุนสำรอง 1,373,570.32 บาท การดำเนินธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรฯ มี 4 ประเภท คือ ธุรกิจสินเชื่อ จำนวน 6,152,190 บาท ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย จำนวน 634,620 บาท ธุรกิจรวบรวมผลิตผล จำนวน 11,784,983 บาท และธุรกิจบริการและส่งเสริมการเกษตร จำนวน 234,300 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นธุรกิจเด่นของกลุ่มเกษตรกรฯ

กลุ่มเกษตรกรฯ มีการจัดทำแผนดำเนินงานประจำปี และแผนธุรกิจ โดยขอมติผ่านที่ประชุมใหญ่สามัญเป็นประจำทุกปี และแจ้งแผนการดำเนินงานให้สมาชิกรับทราบ เน้นการระดมความคิด ปัญหา อุปสรรค จากสมาชิก และนำผลการดำเนินงานในปีก่อนมาพิจารณา เพื่อปรับปรุงแผนการดำเนินงานประจำปี และแผนธุรกิจในปีถัดไป ซึ่งกลุ่มสามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่กำหนดไว้

สมาชิกมีส่วนร่วมในการทำงาน

กลุ่มเกษตรกรทำนาบ่อทอง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมใหญ่เฉลี่ย ร้อยละ 90.94 คณะกรรมการเข้าร่วมประชุมเฉลี่ย ร้อยละ 91.30 สมาชิกมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจกับกลุ่มเกษตรกรฯ เฉลี่ยร้อยละ 100 และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ กับกลุ่มเกษตรกร เฉลี่ย ร้อยละ 100 โดยสมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกลุ่ม และการลงความเห็นต่างๆ อาทิ การเลือกตั้ง การจัดสรรผลประโยชน์ การจัดทำแผนงานประจำปีและแผนธุรกิจ การแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มเกษตรกรฯ อาทิ การฝึกอบรมให้ความรู้ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยความสมัครใจเป็นอย่างดีและสม่ำเสมอ

ผลประกอบการ

กลุ่มเกษตรกรทำนาบ่อทอง จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินธุรกิจ 4 ประเภท สร้างรายได้โดยรวม 18,806,093 บาท ทางกลุ่มดำเนินธุรกิจตามความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก การดำเนินธุรกิจ 3 ปีย้อนหลังของกลุ่ม มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทางกลุ่มสามารถกำหนดราคาขายล่วงหน้าจากโรงสีได้ อีกทั้งสมาชิกให้ความร่วมมือและมาทำธุรกิจกับกลุ่มทุกคน กลุ่มเกษตรกรฯ จึงมีกำไรสุทธิ 228,405.21 บาท สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิก ในอัตรา ร้อยละ 3 จำนวน 50,117 บาท และจ่ายเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนของธุรกิจ จำนวน 20,770 บาท

ผลการดำเนินงาน 3 ปี ที่ผ่านมา มีความมั่นคงและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการระดมหุ้นจากสมาชิก เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในกลุ่ม และมีทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นทุกปี กลุ่มเกษตรกรฯ มีอาคารสำนักงานเพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการสมาชิกและใช้เป็นสถานที่สำหรับการประชุม และมีอุปกรณ์การตลาดเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ เครื่องชั่ง ลานตาก อาคารเก็บปัจจัยการผลิตและผลิตทางการเกษตร และเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ โดยกลุ่มเกษตรกรฯ จัดหาเองและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

ทำงานเพื่อสังคม-ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ทางกลุ่มเกษตรกรฯ ร่วมกันกำหนดและทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์กับชุมชน และหน่วยงานราชการในโอกาสต่างๆ อยู่สม่ำเสมอ มีการร่วมสนับสนุนกิจกรรมและร่วมทำบุญกับวัดในชุมชน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ โดยกลุ่มใช้กิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนในชุมชน

ทางกลุ่มเกษตรกรฯ ให้ความสำคัญต่อการทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนเสมอ ร่วมรณรงค์การทำเกษตรอินทรีย์และลดใช้สารเคมีในการทำการเกษตรและนำวัสดุที่เหลือทางการเกษตรและในครัวเรือนมาทำปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพ

ขณะเดียวกันทางกลุ่มเกษตรกรฯ ได้จัดสรรกำไรสุทธิไว้เป็นเงินสวัสดิการเพื่อดูแลสมาชิกและครอบครัวสมาชิก ได้แก่ ร่วมทำบุญและช่วยเหลืองานศพของสมาชิก มอบทุนการศึกษาแก่บุตรของสมาชิก การฝึกอบรมให้ความรู้ต่างๆ และจัดให้มีเครื่องแบบแก่คณะกรรมการดำเนินการ

……………………………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่