เพาะหน่อเหรียงไว้กินเอง กับสวนสมรม

พืชผักพื้นบ้านของแต่ละภาคในประเทศเรามีความแตกต่างกัน เนื่องจากภูมิอากาศสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่างกัน โดยเฉพาะอาหารการกินที่แตกต่างกันจนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภาค เมื่อเราเห็นอาหารที่เขากินก็พอจะบอกได้ว่าเป็นคนภาคไหน

คนไทยในสมัยก่อนมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติรอบๆ ตัว มีการเรียนรู้และถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากคนรุ่นก่อนสู่รุ่นหลัง การบริโภคผักพื้นบ้านของแต่ละภาคกลายเป็นสิ่งที่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ผักพื้นบ้านถือเป็นผักสมุนไพรที่มีคุณค่าและมีความหมายเชื่อมโยงกับความเชื่อ ศาสนาและประเพณีในท้องถิ่น รวมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

ภาคใต้ เป็นภาคที่ผักพื้นบ้านมีความหลากหลายมากที่สุด ถึงจำนวน 158 ชนิด โดยการสำรวจของกองพฤกษศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร ในขณะที่ภาคเหนือมี 120 ชนิด ภาคอีสานมี 130 ชนิด อาจเป็นเพราะว่าภาคใต้พื้นที่มีความยาวกว่าและสองข้างติดทะเล มีความหลากหลายของภูมิอากาศมากกว่า

ผักพื้นบ้านภาคใต้ที่กล่าวถึงแล้วคนรู้จักกันทั่วไป คือ สะตอ เนียง เหรียง ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นในตระกูลเดียวกัน ผลของต้นไม้เหล่านี้ได้นำมาเป็นอาหารในชีวิตประจำวันของชาวใต้ ซึ่งส่งกลิ่นแรงตั้งแต่เป็นผลที่ยังไม่บริโภค และหลังจากผ่านร่างกายออกมาก็ส่งกลิ่นได้เข้มข้นกว่าเดิม ไม่เป็นที่น่าอภิรมย์สำหรับคนทั่วไป

แกะเมล็ดออกมา

เหรียง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 30 เมตร ลักษณะคล้ายต้นสะตอ แต่พุ่มใบแน่นและเขียวทึบกว่า ดอกและผลเป็นผักเหมือนสะตอ ฝักยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมล็ดมี 15-20 ต่อฝัก ไม่นิยมกินสดเหมือนสะตอ แต่จะรอให้แห้งแก่คาฝัก เมล็ดในเมื่อแก่แล้วเป็นสีดำ ชอบขึ้นตามริมชายเขา ซึ่งมีอากาศชื้น มีอายุ 10 ปีขึ้นไปจึงจะให้ผลผลิต

ที่หมู่บ้านคลองไม้แดง ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดย คุณไกรเวช และ คุณรัชฏาภรณ์ ศรีสวาท ได้ทำสวนโดยมีแนวคิดว่าให้มีผลผลิตซึ่งเป็นรายได้ตลอดทั้งปีบนวิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพตนเองและผู้บริโภค บนที่ดินทั้งหมด 7 ไร่ ที่บ้านคลองไม้แดง จากเดิมเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด หลังจากมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ประเทศลาว เห็นสวนยางพาราสองข้างทางจากเวียงจันทน์ถึงหลวงพระบาง ทำให้ฉุกคิดว่าผลผลิตยางพาราจะต้องล้นตลาดในอนาคต เมื่อกลับมาจากประเทศลาวจึงโค่นต้นยางออกไป 3 ไร่ทั้งที่ต้นยางเพิ่งเริ่มกรีดน้ำยางได้ไม่ถึง 1 ปี ถือเป็นการตัดสินใจที่เฉียบขาดอย่างแรง 

คุณไกรเวช และ คุณรัชฏาภรณ์ ศรีสวาท

สวนสมรม เอกลักษณ์แบบปักษ์ใต้

ส่วนพื้นที่ 4 ไร่ที่เหลือที่มีต้นยางพาราได้ปลูกพืชเสริมระหว่างแถว คือต้นลองกอง ประมาณ 60 ต้น มีบางส่วนให้ผลผลิตแล้ว ลองกองของสวนที่นี่จะใช้เมล็ดปลูก เนื่องจากคนรุ่นเก่าบอกต่อกันมาว่าต้นที่ปลูกจากเมล็ดจะมีความแข็งแรงทนทานโรคและสามารถทนแล้งได้ดีกว่าต้นลองกองที่ปลูกจากกิ่งตอน แต่จะใช้เวลามากกว่าในขณะที่ผลผลิตเท่ากัน ซึ่งจะใช้เวลา 9-10 ปีจึงจะมีผลผลิต ส่วนกิ่งตอนจะใช้เวลา 6-7 ปี พืชอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกเสริมในสวนนี้คือมังคุด มีอยู่ทั้งหมด 22 ต้น คุณรัชฏาภรณ์ บอกว่า ผลผลิตมังคุดที่ได้มีคุณภาพเกรดเอประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากที่สวนไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ ในการทำสวนเลย ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นมูลไก่ มูลเป็ด และมูลวัว โดยไม่ได้ดูแลเป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่พยายามทำให้สวนมีความสมบูรณ์อย่างธรรมชาติแบบสวนสมรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ที่สุด นอกจากนี้ ในสวนยังเสริมต้นผักเหลียงและใบชะพลูเพื่อเก็บเป็นรายได้ประจำวันอีกด้วย 

ฝักเหรียง

ปลูกพริกไทยพื้นเมือง โดยใช้ค้างต้นหมาก

ส่วนอีก 3 ไร่ที่ได้ตัดยางพาราทิ้ง ก็ได้ปลูกหมากไว้ 200 ต้น อายุได้ 4 ปีแล้ว ต้นที่ปลูกมีขนาดสูงประมาณ 2 เมตรยังไม่ให้ผลผลิต ซึ่งในฤดูฝนนี้จะปลูกพริกไทยโดยอาศัยต้นหมากเป็นค้าง อีกส่วนหนึ่งปลูกพริกไทยไว้ 100 หลักด้วยเสาปูน พริกไทยที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นบ้านปะเหลียน ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมกับภูมิอากาศทางภาคใต้ ทนร้อนและฝนได้ดีกว่าพันธุ์ซีลอนจากการปลูกเทียบสายพันธุ์ไว้ในสวน คุณ   รัชฏาภรณ์  บอกว่า พันธุ์ซีลอนให้ผลผลิต 2 รอบ ต่อปี แต่พันธุ์พื้นบ้านปะเหลียนจะให้ผลผลิตทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยเพราะจะแตกยอดใหม่ทำให้มีผลผลิต 3-4 รอบ ต่อปี คุณสมบัติเด่นอีกอย่างของพันธุ์ปะเหลียนคือช่อสั้นแต่ดกแน่น น้ำหนักดีกว่าพันธุ์ซีลอน นอกจากนี้ การผลิตอาหารหรือเครื่องแกงในภาคใต้นิยมใช้พริกไทยพันธุ์ปะเหลียนเนื่องจากจะให้ความเผ็ดร้อนและหอมมากกว่า

ต้นเหรียงในสวนนี้มีอยู่ไม่กี่ต้นขึ้นเองตามชายเขา แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเมล็ดเหรียง อายุของต้นประมาณ 60 ปีแล้ว เนื่องในช่วงยางผลัดใบในต้นปีทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ ชาวบ้านออกมาเก็บเมล็ดเหรียงเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงนำมาแบ่งขายกัน จึงทำให้เกิดความคิดที่จะทำหน่อเหรียงขาย จึงรับซื้อเมล็ดเหรียงจากชาวบ้านเพื่อเพาะให้งอกส่งขายให้แม่ค้า เนื่องจากชาวบ้านภาคใต้นิยมบริโภคหน่อเหรียงเพาะกันทุกครัวเรือน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะเป็นช่วงที่คุณรัชฏาภรณ์รับซื้อเมล็ดเหรียงเพื่อมาตุนไว้ขายตลอดทั้งปี จากชาวบ้านที่มีต้นเหรียงซึ่งส่วนใหญ่มีอายุหลายสิบปีแล้ว จึงมีผลผลิตเต็มที่ คุณรัชฏาภรณ์จะรับซื้อเมล็ดเหรียงแต่ละปีได้ปีละประมาณ 1,500 กิโลกรัม ซึ่งทั้งหมดอยู่ในตำบลปากหมากนำมาเพาะขายส่งให้แม่ค้าตลอดทั้งปี โดยมีผลผลิตประจำไม่ต่ำกว่า 20 กิโลกรัม ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 150 บาท

เมล็ดที่ได้

วิธีการเพาะ หน่อเหรียง

นำเมล็ดเหรียงมา ใช้กรรไกรตัดเล็บตัดที่ปลายทางด้านที่มีสีน้ำตาลและเป็นรอยบุ๋มลงไป หลังจากนั้นนำมาแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ 20-24 ชั่วโมง แล้วนำมาล้างเมือกที่ติดอยู่กับเมล็ดให้หมดโดยใช้มือถูเมล็ดไปมาในน้ำประมาณ 2 ครั้ง เมื่อเมล็ดสะอาดดีแล้วก็มาเตรียมตะกร้าพลาสติกโปร่ง นำผ้าขนหนูหรือผ้าหนาๆ มาชุบน้ำให้เปียกดีวางรองลงในตะกร้าที่เตรียมไว้ แล้วนำเมล็ดที่ล้างเสร็จแล้วโรยลงไปบนผ้าเปียก เกลี่ยเมล็ดให้ทั่ว อย่าให้เมล็ดซ้อนกันเพราะอาจทำให้เน่าเสียหายได้ง่าย นำผ้าเปียกอีกผืนนำมาปิดไว้ แล้วรดน้ำเช้าเย็น ก็จะได้หน่อเหรียงพร้อมรับประทาน อีกวิธีหนึ่งสำหรับคนที่มีพื้นที่มากก็จะใช้ทรายแทนผ้าขนหนู คือนำทรายมาล้างให้สะอาดเก็บเศษสิ่งสกปรกออกให้หมดแล้วมาโรยในตะกร้าหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร แล้วโรยด้วยเมล็ดเหรียงเกลี่ยให้ทั่วอย่าให้ซ้อนกัน แล้วนำทรายที่เหลือมาโรยทับหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำผ้าเปียกมาปิดวิธีนี้หน่อเหรียงจะอวบกว่าใช้ผ้าขนหนูเพียงอย่างเดียว

แช่น้ำไว้
โรยบนผ้าเปียก

หลังจากนั้น ร่อนทรายออกเอามาเฉพาะเมล็ดหน่อเหรียงที่เพาะแล้ว เอาหน่อเหรียงมาแช่น้ำเอาเปลือกเมล็ดออกทีละเมล็ดจนหมด ล้างทำความสะอาดแล้วนำมาใส่ตะกร้าผึ่งพัดลมให้สะเด็ดน้ำแล้วจึงนำมาบรรจุใส่ถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม แพ็กส่งให้ลูกค้า นอกจากหน่อเหรียงสดแล้ว คุณรัชฏาภรณ์ได้จำหน่ายเมล็ดเหรียงที่ยังไม่เพาะแก่ลูกค้าด้วย เพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปีในอุณหภูมิห้องปกติ แต่จะแบ่งเป็น     2 แบบ คือชนิดที่ตัดปลายแล้วราคากิโลกรัมละ 180 บาท กับชนิดที่ยังไม่ตัดปลาย กิโลกรัมละ 150 บาท โดยค่าขนส่งลูกค้าเป็นคนรับผิดชอบเอง

ปิดด้วยผ้าเปียก

หน่อเหรียงเพาะเป็นผักพื้นบ้านที่ปลอดจากสารเคมีใดๆ เนื่องจากต้นเหรียงเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติชอบอยู่ตามเชิงเขา มีอายุเป็นร้อยปี ผลผลิตยิ่งมากขึ้นเมื่อต้นอายุมาก ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี หน่อเหรียงสามารถนำมาบริโภคสดเป็นผักแกล้มอาหารเผ็ดของคนใต้ได้ดี และสามารถนำมาแกงกะทิกับเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ถือเป็นอาหารปักต์ใต้ที่ไม่เคยขาดครัว นอกจากนี้ หน่อเหรียงดองเป็นสิ่งที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษ สนใจชิมหน่อเหรียงเพาะหรือนำไปเพาะเอง ติดต่อได้ที่ คุณรัชฏาภรณ์ ศรีสวาท เบอร์โทรศัพท์ 085-477-6252, 093-583-4604 หรือเฟซบุ๊ก Fb.หนึ่งสาว หมากสวย พริกไทยงาม ID line: 1saokingdom

รดน้ำเช้าเย็ฯ
เมล็ดเหรียงเริ่มงอก
เมล็ดเหรียงเริ่มงอก
แกะเปลือกออก
บรรจุถุง
พร้อมเสิร์ฟ

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561