คนเก่งเมืองสี่แคว ปรับเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยว มาทำแบบผสมผสาน ปลดหนี้ได้สบาย

คุณสุพจน์ โคมณี อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองกระเจา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ 60120 โทรศัพท์ (081) 041-0911

เจ้าตัว สืบทอดการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวจากบิดา มารดา คือปลูกข้าวและทำไร่ข้าวโพดโดยใช้หลักพึ่งพาธรรมชาติ แต่ด้วยฤดูกาลที่ไม่แน่นอน บางปีน้ำหลาก บางปีน้ำแล้ง การเพาะปลูกจึงไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมการทำเกษตรผสมผสานของจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเรียนรู้แล้วคุณสุพจน์ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการทำการเกษตรกรรมจากที่เน้นเรื่องปริมาณผลผลิตเพื่อการค้าขายมาเป็นแบบพึ่งตนเองเพื่อบริโภคในครัวเรือน จากนั้นในปี พ.ศ. 2539 ได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำมาฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูก และริเริ่มทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 20 ไร่ แบ่งสัดส่วนพื้นที่เป็น 30-30-30-10 หรือนาข้าว 6 ไร่ น้ำ 6 ไร่ ไม้ผล 6 ไร่ ที่อยู่อาศัย พืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ 2 ไร่ ตั้งแต่นั้นมาชีวิตครอบครัวเริ่มดีขึ้น มีผลผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ส่วนที่เหลือนำไปจำหน่ายได้จนสามารถใช้หนี้สินที่กู้ยืมมาหมดภายใน 4 ปี

1

เป็ดที่เลี้ยง

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณสุพจน์ ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นเรื่อง การปลูกข้าวอินทรีย์ โดยมีพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมทั้งหมด 58 ไร่ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวหอมปทุมในระบบอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในการผลิตและปลอดภัยต่อผู้บริโภค สำหรับการปลูกข้าวใช้วิธีตีตารางเพื่อปักดำข้าวในแปลงนาเพื่อให้มีช่องห่างและระยะที่พอดี เพื่อให้ปลาที่เลี้ยงในนาสามารถหากินได้ง่าย โดยจะปล่อยปลา ประมาณ 500-800 ตัว ต่อไร่

4

ผักปลอดสารพิษ

สำหรับน้ำที่ใช้ในการทำนาจะเป็นน้ำบาดาลซึ่งมีสนิมเหล็กที่เป็นอันตรายต่อพืช จึงต้องทำให้ตกตะกอนเสียก่อน โดยการสูบน้ำแล้วนำมาพักไว้ในบ่อและทำทางน้ำให้น้ำไหลและม้วนตัวเป็นระยะทาง 200 เมตร เพื่อให้สนิมเหล็กตกตะกอน นอกจากนี้ ยังทำทางน้ำให้ผ่านเล้าไก่ ทำให้ในน้ำมีขี้ไก่เข้ามาผสมเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในน้ำไปในตัว ต่อจากนั้นก็ปล่อยน้ำให้ไหลไปยังโรงสูบน้ำเพื่อสูบน้ำเข้าแปลงนาที่แบ่งออกเป็นแปลงนาย่อย 8 แปลง ผลผลิตส่วนที่เหลือจากการสีข้าวจะนำมาใช้ประโยชน์ต่อ เช่น รำข้าว นำมาเป็นอาหารให้ไก่และเป็ด ส่วนแกลบสามารถนำมาปูในเล้าไก่ โดยแกลบที่ได้หลังจากปูในเล้าไก่เสร็จแล้วสามารถนำไปเป็นปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นไม้ต่อไป คุณสุพจน์เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

6

นำสิ่งเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

คุณสุพจน์ ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหลักความพอประมาณ ที่ไม่มุ่งเน้นปริมาณในการปลูกข้าว แต่มุ่งเน้นความพอดีและคุณภาพในการทำการเกษตรและการดำเนินชีวิตให้พอเพียง พอเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการ การพัฒนาความรู้ของตนเองตลอดเวลา และดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรของตนเองไม่ให้คนรอบข้างและชุมชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งมีการแบ่งปันกันภายในชุมชนอีกด้วย

5

จัดการอย่างเหมาะสม

3

อาหารทุกอย่างมาจากแปลงเกษตร

ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์