เกษตรกรรวมกลุ่ม ปลูกหอมหัวใหญ่แปลงใหญ่ ได้ผลผลิตคุณภาพ

หอมหัวใหญ่…เป็นพืชผักคู่ครัว ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย และโตไว ปลูกได้ 2 วิธี คือ ปลูกแบบสวนหลังบ้านเพื่อเก็บผลผลิตมาบริโภค และการปลูกในเชิงการค้า จะเน้นการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาปริมาณมากที่เพียงพอกับความต้องการของตลาด หอมหัวใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้และมีความมั่นคงในการยังชีพ วันนี้จึงนำเรื่อง เกษตรกรปลูกหอมหัวใหญ่แปลงใหญ่…ได้คุณภาพผลผลิต มาบอกเล่าสู่กัน

คุณเจริญ พิมพ์ขาล หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี เล่าให้ฟังว่า หอมหัวใหญ่หรือหอมใหญ่ (Onion) เป็นพืชผักคู่ครัว มีสรรพคุณช่วยรักษาเบาหวาน โรคหัวใจ ลดน้ำตาลในเลือด บำรุงระบบโลหิต ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือมีวิตามินซีสูงที่เสริมสร้างให้มีสุขภาพแข็งแรง

คุณเจริญ พิมพ์ขาล(ที่2 จากขวา) ส่งเสริมปลูกหอมหัวใหญ่พืชเศรษฐกิจเพิ่มรายได้

หอมหัวใหญ่ เป็นพืชผักที่ปลูกเพียง 1 ครั้ง ต่อปี เมื่อย้ายต้นกล้าอายุ 45 วัน ลงปลูกในแปลง หลังจากนั้นอีก 90-110 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยลักษณะดอกหอมหัวใหญ่จะออกเป็นช่อ แทงขึ้นมาจากลำต้นใต้ดิน กลีบดอกสีขาว หัวหอมกลมป้อม เปลือกนอกบาง มีสีม่วงแดง เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เกษตรกรที่รวมกลุ่มปลูกหอมใหญ่แปลงใหญ่ จะเป็นศูนย์กลางเพื่อรองรับองค์ความรู้ มีการปฏิบัติตามคำแนะนำทางวิชาการ ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด และพร้อมรับคำแนะนำหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก็จะผลิตได้คุณภาพ ทุกวันนี้หอมหัวใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการสูงจึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อการเพิ่มรายได้ หรือมีรายได้ต่อเนื่องตลอดปีและมีความมั่นคงในอาชีพ

คุณแสนพลอย พรมหนองแสน เกษตรอำเภอชัยบาดาล เล่าให้ฟังว่า จากฤดูแล้งที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกอ้อยมักประสบกับปัญหามีน้ำไม่เพียงพอใช้ตลอดฤดูกาลปลูก จึงทำให้การยังชีพไม่มั่นคง ปีนี้จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลือกปลูกหอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ผักสลัด กระเทียม หรือหอมแดง ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและได้ผลตอบแทนดีกว่า

คุณแสนพลอย พรมหหนองแสน ให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกหอมหัวใหญ่แบบแปลงใหญ่

ในฤดูแล้งปีนี้มีเกษตรกรรวมกลุ่มปลูกหอมหัวใหญ่แบบแปลงใหญ่ พื้นที่ 126 ไร่ สมาชิก 25 ราย เป้าหมายการปลูกหอมหัวใหญ่แปลงใหญ่เพื่อ 1. สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน 2. ให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้นรวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

คุณสมหวัง บุญยัง เกษตรกรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ เล่าให้ฟังว่า หลายปีที่ผ่านมาได้ปลูกอ้อยพื้นที่กว่า 300 ไร่ แล้วต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำไม่พอใช้ ได้ผลผลิตไม่คุ้มทุนจึงทำให้มีรายได้ไม่พอเพียงในการยังชีพ

คุณสมหวัง บุญยัง เกษตรกรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่

ต่อมาเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล กับอีกหลายหน่วยงาน ได้มาส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกหอมหัวใหญ่แบบแปลงใหญ่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรองรับองค์ความรู้นำมาสู่พัฒนาการผลิตที่ได้คุณภาพ ให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการผลิต ด้านการตลาดเพื่อการรองรับการจำหน่ายที่จะทำให้มีรายได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยแล้ว จึงตัดสินใจปลูกหอมหัวใหญ่ 20 ไร่

การเพาะต้นกล้า ดินเพาะต้องย่อยให้ละเอียด กำจัดวัชพืชออกให้หมด ตากดินไว้ 7-10 วัน จัดปุ๋ยคอกแห้ง 1,500-3,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วใส่ลงไปคลุกเคล้ากับดินให้เข้ากัน เกลี่ยดินในแปลงให้เรียบ จัดแถวเพาะต้นกล้าให้มีระยะห่างกัน 10 เซนติเมตร ขุดทำเป็นร่องลึก 1 เซนติเมตร หยอดเมล็ดแล้วเกลี่ยดินกลบ ให้น้ำแต่พอชุ่ม และเมื่อเพาะได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์ อายุ 40-45 วัน ก็ย้ายลงแปลงปลูก

หัวหอมใหญ่ที่ลอยอยู่บนพื้นดินก็ใช้มือจับแล้วค่อยๆ ดึงถอนขึ้นมา

เตรียมดินปลูก ต้นหอมหัวใหญ่จะชอบดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ได้ไถพลิกดินตากแดด 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกแห้ง 2 ตัน ต่อไร่ และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ยกแปลงกว้าง 1-1.20 เมตร ปลูกระยะห่างระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 15-20 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น เกลี่ยดินกลบ ให้น้ำพอชุ่ม

การใส่ปุ๋ย หอมหัวใหญ่เป็นพืชผักที่มีระบบรากตื้นและมีรากจำนวนมาก ได้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ ร่วมกับใส่ปุ๋ยยูเรีย ในอัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต

การให้น้ำ เพื่อให้ต้นหอมหัวใหญ่เจริญเติบโตสมบูรณ์ ได้จัดการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ระยะแรกให้น้ำวันเว้นวัน และหลังจากต้นหอมหัวใหญ่เจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้ว ได้ให้น้ำ 3-5 วัน ต่อครั้ง ทั้งนี้ต้องดูความชื้นในดินด้วย

วางท่อน้ำเพื่อติดตั้งการให้น้ำระบบสปริงเกลอร์

การเก็บเกี่ยว เมื่อปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาทุกขั้นตอนดี จะได้ผลผลิตหอมหัวใหญ่ เฉลี่ย 8 ตัน ต่อไร่ หรือ 8,000 กิโลกรัม พื้นที่ 20 ไร่ ได้ผลผลิตหอมหัวใหญ่ เฉลี่ย 160 ตัน หรือ 160,000 กิโลกรัม จัดขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อที่แปลง เฉลี่ย 7 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ 1,120,000 บาท ราคาซื้อขายขึ้นลงเป็นไปตามกลไกตลาด

ต้นทุน การปลูกหอมหัวใหญ่ 20 ไร่ มีรายจ่ายที่ต้องซื้อปัจจัยการผลิตและจ้างแรงงงาน ได้แก่ จัดซื้อเมล็ดพันธุ์หัวหอมใหญ่ ซื้อปุ๋ยคอกแห้ง ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมี จ้างวางท่อน้ำเพื่อติดตั้งการให้น้ำระบบสปริงเกลอร์ จ้างไถผาน 7 หรือไถแปรละเอียด จ้างไถยกร่อง จ้างปักดำ หรือปลูก 20-30 คน จ่ายเงินค่าไฟฟ้าเพื่อนำน้ำมาให้น้ำหอมหัวใหญ่ จ้างฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช และฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช จ้างเก็บเกี่ยวหอมหัวใหญ่ 30-35 คน จ้างซ่อมบำรุงเครื่องมือเกษตรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมเป็นเงินประมาณ 400,000 บาท

จ้างเก็บเกี่ยวหอมหัวใหญ่ครั้งละ 30 35 คน

จากเรื่อง เกษตรกรรวมกลุ่ม…ปลูกหอมหัวใหญ่แปลงใหญ่ ได้ผลผลิตคุณภาพ ความสำเร็จนี้ได้จากเกษตรกรมีการรวมกลุ่ม มีการบริหารจัดการร่วมกัน มีการรวมกันผลิตและจำหน่ายที่มีตลาดรองรับแน่นอน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ได้รับผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ได้ผลผลิตคุณภาพตามมาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทำให้เกษตรกรสามารถยกระดับรายได้เพื่อก้าวสู่การยังชีพที่มั่นคง

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณสมหวัง บุญยัง เลขที่ 95 หมู่ที่ 2 บ้านแสมสาร ตำบลท่าดินดำ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โทร. 086-133-4489 หรือที่ คุณภูวิชญ์ ยิ่งเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี โทร. 087-959-5433 ก็ได้ครับ 

วบรวมนำไปวางผึ่งในที่ร่มให้แห้งสนิทก่อนส่งจำหน่าย
หอมหัวใหญ่ผลผลิตคุณภาพ ทำให้มีวิถีมั่นคง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563