บ้านแม่ลานเหนือ เมืองลอง ต่อยอดจากศูนย์เรียนรู้ สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสโควิด-19 ในประเทศของเราตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมา จวบจนถึงปัจจุบันอาจอยู่ยาวอีกเป็นเดือน สถานการณ์เช่นนี้ทางการแนะนำให้กินร้อน มีช้อนกลางของตนเอง สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้บ่อยๆ พฤติกรรมดังกล่าวอาจจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งการดำเนินชีวิตเดิมจากอดีตทั้งการกิน อยู่ หลับนอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตพี่น้องคนไทยจำนวนหนึ่งอาจจะต้องว่างงาน กลับภูมิลำเนาบ้านเกิดตั้งต้นชีวิตใหม่ หรือต่อยอดกิจการจากที่พ่อ-แม่สร้างสมไว้ สิ่งสำคัญคือการเริ่มหรือสะสมภูมิคุ้มกันทั้งด้านคลังอาหารและทรัพย์สินเงินทอง เพราะวิถีชีวิตจะไม่เหมือนเดิม แล้วจะทำอะไร? ทำอย่างไร? เศรษฐกิจพอเพียงช่วยท่านได้

ผมแนะนำให้ท่านศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ลึกซึ้งและถ่องแท้ เมื่อศึกษาแล้วเกิดความศรัทธาก็คิดออกแบบ วางแผน ลงมือปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ชีวิตความเป็นอยู่จะมีความมั่นคงยั่งยืนอีกครั้ง

เมื่อเดือนมีนาคม ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชมงานอยู่งานหนึ่ง เป็นงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (หรือ Field Day) ที่บ้านแม่ลานเหนือ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ งานจัดที่ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเทคโนโลยีการเกษตร” เป็นศูนย์เครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลอง

ป้ายศูนย์ฯ เกษตรธรรมชาติ
งาน field day ที่คุณจรินทร์ เก่งสงวนสิทธิ์ นายอำเภอลอกล่าวเปิดงาน

ภายในงานมีกิจกรรมให้เรียนรู้ ศึกษาที่หลากหลาย เน้นการแสดงฐานเรียนรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยี ได้แก่ โรงเรือนอัจฉริยะ (การจัดการปลูกผักและระบบน้ำในโรงเรือน) การเพาะเลี้ยงไส้เดือน (การเลี้ยงไส้เดือน ประโยชน์และการนำไปใช้) การปลูกผักหวานป่า (เทคนิคการปลูกและประโยชน์) การเผาถ่านชีวมวลและการกลั่นน้ำส้มควันไม้ (เทคโนโลยีการเผาถ่าน การกลั่นน้ำส้มควันไม้ และการนำไปใช้) การจัดทำบัญชีฟาร์ม (การวางแผนและกำหนดเป้าหมายการผลิตจากตัวเลขทางบัญชี การคำนวณต้นทุนล่วงหน้า เพื่อการตัดสินใจผลิตหรือไม่ผลิต หรือการปรับเปลี่ยนพืช)

ภายในโรงเรือนอัจฉริยะมีแปลงผัก และเครื่องตั้งเวลา/ระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะ/ศึกษาดูงานโรงเรือนอัจฉริยะ/เครื่องตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ
เครื่องตั้งเวลา

เมื่อเสร็จสิ้นการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี สถานที่แห่งนี้สามารถยกระดับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรของเมืองลองได้ครับ ผมได้เดินดูรอบๆ ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ พอประเมินได้ว่าคงจะผ่านการพัฒนาและได้เตรียมการก่อนเป็นศูนย์เรียนรู้มาเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้ขอสนทนากับเจ้าของศูนย์เรียนรู้

คุณสุริยา ขันแก้ว ได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นศูนย์เรียนรู้ ได้เริ่มต้นมาจากแม่ยายของคุณสุริยา เมื่อก่อนท่านมีอาชีพปลูกผักขายมากว่า 40 ปี และได้ถ่ายทอดความรู้ในด้านการเกษตรให้กับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง จากนั้นในปี พ.ศ. 2557 ทาง กศน.อำเภอลอง จึงได้จัดตั้งให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ กศน.อำเภอลอง” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรธรรมชาติ มีคนในหมู่บ้านเข้ามาศึกษาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก

จากนั้นในปี พ.ศ. 2558 ทาง กอ.รมน. ร่วมกับ กศน. ได้ยกระดับศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ประจำตำบล โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบลห้วยอ้อ” ทางศูนย์เรียนรู้จึงได้พัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ โดยนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับการเกษตรให้มากขึ้น เช่น การทำเครื่องตั้งเวลารดน้ำผักอัตโนมัติ, การเลี้ยงไส้เดือนพันธุ์แอฟริกัน (AF) ซึ่งมีผู้สนใจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากต่างอำเภอและต่างจังหวัด เข้ามาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

สวนเกษตรเลี้ยงชีพ

ในปี พ.ศ. 2561 ทางสำนักงานเกษตรอำเภอลอง ได้เล็งเห็นว่าศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็น ศพก.เครือข่ายได้ จึงได้จัดตั้งให้เป็น ศพก.เครือข่าย “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเทคโนโลยีการเกษตร” และสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ได้นำโรงเรือนอัจฉริยะมาตั้งให้ ซึ่งเป็นโรงเรือนปลูกผักแบบกางมุ้ง สามารถควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และตั้งเวลาแบบอัตโนมัติได้ เช่น ระบบจ่ายน้ำ, ระบบพัดลมระบายอากาศ, ระบบกล้องวงจรปิด, ระบบม่านบังแสง เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในการเกษตร

สอบถามต่อไปว่าศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีจุดเด่นอะไรบ้าง หากมีผู้ประสงค์จะขอเข้ามาเยี่ยมชม คุณสุริยา ให้ข้อมูลว่า ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีฐานกิจกรรมและแหล่งข้อมูลที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม เมื่อกลับไปแล้วอาจได้คิดตรึกตรอง วางแผนทำเกษตรกรรมตามกำลังความสามารถของท่าน ฐานกิจกรรม ประกอบด้วย

ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยหมักสูตรวิศวกรรมแม่โจ้/ฝึกอบรมการทำปุ๋ยหมัก

1. การทำปุ๋ยหมัก และนิทรรศการบอกข้อมูลวัตถุดิบ วิธีการผลิต การนำไปใช้ รวมทั้งปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม ตามวัตถุดิบที่นำมาทำปุ๋ยหมัก

ไส้เดือน/อบรมเลี้ยงไส้เดือน/ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกัน
ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกัน

2.การเลี้ยงไส้เดือน และนิทรรศการเกี่ยวกับสายพันธุ์ การเลี้ยงการดูแล การขยายพันธุ์ การผลิตมูลไส้เดือนและน้ำหมักมูลไส้เดือน การนำไปใช้ประโยชน์ในแปลงเกษตร

3.โรงเรือนอัจฉริยะ และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการแปลง เช่น การควบคุมระบบจ่ายน้ำ การเปิด-ปิด ม่านบังแสง และพัดลมระบายความร้อนในโรงเรือน โดยสามารถควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือ และตั้งเวลาแบบอัตโนมัติได้

แปลงผักเกษตรธรรมชาติ

4.แปลงผักต่างๆ ตามฤดูกาล พร้อมคำแนะนำวิธีการเตรียมดิน การเพาะเมล็ด การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิต การกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และวิธีการขาย

เตาชีวมวลและน้ำส้มควันไม้
น้ำส้มควันไม้

5.เตาชีวมวล แสดงนิทรรศการ การผลิตถ่านคุณภาพสูง และน้ำส้มควันไม้จากเตาชีวมวล ซึ่งสามารถผลิตน้ำส้มควันไม้ได้ในปริมาณมากกว่าเตาทั่วไป และมีคุณภาพของถ่านสูงกว่าเตาทั่วไป เพราะใช้ระบบน้ำวน และใช้เทอร์โมมิเตอร์ในการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งทาง กอ.รมน. ได้คิดค้นและออกแบบเตาชนิดนี้เพื่อเป็นเครื่องต้นแบบให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ รวมถึงการนำน้ำส้มควันไม้มาใช้ในการเกษตร เช่น การไล่แมลง การปรับปรุงดิน และเร่งการเจริญเติบโตให้กับพืช

6.แปลงปลูกดอกไม้และไม้ประดับ นอกจากจะปลูกเพื่อความสวยงามแล้ว ตามหลักของเกษตรธรรมชาติ ดอกไม้ยังมีคุณสมบัติในการล่อแมลงเพื่อให้แมลงตัวห้ำตัวเบียนเข้ามาอยู่ในแปลงเพื่อกำจัดศัตรูพืชของผักโดยวิธีธรรมชาติ

ผักหวานป่าปลูกโดยการเพาะเมล็ด

7.การปลูกผักหวานป่า แสดงนิทรรศการ การปลูกผักหวานป่าโดยใช้วิธีเพาะเมล็ด เริ่มจากการเตรียมเมล็ดผักหวาน การเพาะเมล็ดให้งอก การปลูกแซมกับต้นดอกแค และวิธีการดูแล ซึ่งชาวบ้านให้ความสนใจมาก เพราะตอนนี้ผักหวานในป่าเริ่มหายาก และการปลูกด้วยวิธีนี้ให้ผลดี

8. การกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี เป็นการใช้สมุนไพรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในชุมชนนำมาหมักทำน้ำยาไล่แมลง หรือใช้สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดแมลง เช่น การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย

น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย และภาพฝึกอบรม/ฝึกทำเชื้อไตรโคเดอร์มา
สูตรสมุนไพรไล่แมลง

จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วก็คือ ผู้เรียนสามารถนำความรู้กลับไปใช้ได้ทันทีในพื้นที่ของตนเอง เพราะใช้เงินลงทุนน้อย ใช้พื้นที่น้อย และใช้น้ำน้อย อีกทั้งคุณสุริยา ก็ยังเป็นแบบอย่างของคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมือง แล้วหันกลับมาทำการเกษตร เพราะหลายคนสงสัยว่าถ้าสักวันหนึ่งตนเองต้องตกงานแล้วอยากกลับไปทำการเกษตรจะทำได้หรือไม่ และสามารถดำรงชีวิตได้หรือไม่ ซึ่งที่นี่มีทั้งคำตอบ และกำลังใจให้กับทุกคนที่มาเยือน 

คนมาดูงาน รวมที่นักเรียนมาดูงาน/สาธิตวิธีการเลี้ยงปลาในนาข้าวให้กับยุวเกษตรกร

การพัฒนาศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ต่อไปในอนาคต 

คุณสุริยา บอกถึงแนวคิดในการพัฒนาว่า จะทำให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรม เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ เกิดแรงบันดาลใจและเกิดความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกร โดยคุณสุริยา บอกว่า จะพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้

1.นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม สามารถดำรงชีวิตได้จริง จัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาในหลักคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

ป้ายบัญชีฟาร์ม
ป้ายบัญชีฟาร์มและสมุดเล่มสีม่วง

2.นำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในการเกษตร เพื่อให้การเกษตรเป็นเรื่องง่าย ไม่ใช้แรงมากเหมือนสมัยก่อน ทั้งผู้หญิงและเด็กก็สามารถทำการเกษตรได้ อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการเกษตร

3.ใช้เงินลงทุนให้น้อยที่สุด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรโดยใช้เงินลงทุนไม่มาก เช่น บริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยการปลูกพืชแบบผสมผสาน และใช้น้ำอย่างประหยัดโดยการใช้ระบบน้ำหยดและการใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคน

4.พัฒนาด้านการตลาด นอกจากศูนย์เรียนรู้จะเป็นแหล่งผลิตและศึกษาดูงานแล้ว ยังจะพัฒนาต่อไปให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของคนในชุมชนด้วย โดยการจัดตั้งร้านค้าของวิสาหกิจชุมชน เมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานเพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถจำหน่ายสินค้าในชุมชนให้แก่นักท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

5.พัฒนาด้านมาตรฐานของสินค้า ที่ผ่านมาศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ได้รับมาตรฐานเกษตรธรรมชาติ (MOA) และมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และคาดว่าในอนาคตจะพัฒนาให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand)

6.พัฒนาจากภายในสู่ภายนอก หมายถึงพัฒนาศูนย์เรียนรู้ให้เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ และกระจายสู่ชุมชน โดยการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ให้เข้ามาร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุน เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด กศน. พช. กอ.รมน. สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นต้น โดยนำโครงการของหน่วยงานดังกล่าวเข้ามาพัฒนาชุมชน และใช้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดการเรียนรู้และทำกิจกรรมต่างๆ โดยชักชวนชาวบ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม สุดท้ายชุมชนก็จะเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ เป็นแบบอย่างที่ดีให้ชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ จากนั้นก็จะขยายผลไปสู่ระดับตำบลและอำเภอ ต่อไป 

แปลงไม้ดอกไม้ประดับ

นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วยังมีสินค้าจำหน่าย

คุณสุริยา บอกว่า เร็วๆ นี้จะมีการเปิดร้านค้าของวิสาหกิจชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร และงานฝีมือของคนในชุมชน โดยที่ร้านค้าจะตั้งอยู่บริเวณด้านตรงข้ามของศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาและผู้ที่มาเที่ยวชมสามารถซื้อของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วย

นอกจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้แล้ว ในพื้นที่ใกล้เคียงยังมีแหล่งท่องเที่ยวเครือข่ายให้ท่านได้ไปเที่ยวชม อาทิ สถานีรถไฟบ้านปิน พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ โฮงซึงหลวง น้ำตกเวียงโกศัย ถ้ำเอราวัณ และยังมีสถานที่ให้พักค้างคืนได้ มีร้านอาหารพื้นเมือง ร้านขนมจีนน้ำย้อยอันเลื่องชื่อ

“ผมต้องขอขอบคุณนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่ให้โอกาสผมในการเผยแพร่กิจกรรมของศูนย์เรียนรู้” คุณสุริยา กล่าว

ภาคการเกษตรของคุณสุริยา เคยได้รับการเผยแพร่ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2561 และได้รับการตอบรับที่ดีจากท่านผู้อ่านหลากหลายกลุ่มในการสอบถามพูดคุย ขอศึกษาเรียนรู้ และได้ต่อยอดมาเป็นศูนย์เรียนรู้สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

คุณสุริยา บอกว่า ต้องขอขอบคุณนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่ช่วยพลิกชีวิตของเขาไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนทำการเกษตรอยู่คนเดียวในสวนหลังบ้านไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อได้รับการเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย และได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรตามหน่วยงานต่างๆ ทำให้ได้ทราบความต้องการของผู้ฟัง และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ทำให้คุณสุริยา นำข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไข จากนั้นแปลงเกษตรของคุณสุริยา ก็ได้รับการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้แห่งหนึ่งของเมืองลอง

ผมจึงนำสาระดีๆ ต่อเนื่องจากเกษตรกรต้นแบบมายังท่านผู้อ่าน แม้สถานการณ์ปัจจุบันท่านได้พักอยู่บ้านหรือที่ไหนๆ ก็แล้วแต่ หากคิดจะวางแผนทำการเกษตร ท่านโทรศัพท์สนทนากับคุณสุริยา หรือจะเข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ และแปลงเกษตร คุณสุริยา บอกว่า ด้วยความยินดีและพร้อมเสมอ ติดต่อตามหมายเลขโทรศัพท์ (087) 936-4687 หรือติดตามกิจกรรมต่างๆ ของคุณสุริยา ได้ทางเฟซบุ๊ก ชื่อ Suriya khunkaew

 ………………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น!  คลิกดูรายละเอียดที่นี่