“ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ของดีเมืองเพชร ปลูกดูแลง่าย ราคาดี

“ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ผลไม้เด่น ของดีเมืองเพชรบุรี ปลูกและเติบโตได้ดีบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ผลชมพู่มีสีสวย รสชาติอร่อย หวานจัดจ้าน ถูกอกถูกใจของคนชอบกินผลไม้ยิ่งนัก ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า “เพชรสายรุ้ง” เป็นชมพู่ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก เพราะมีราคาขายหน้าสวนสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท กว่าจะไปถึงมือผู้บริโภค ราคาก็ขยับสูง 400-500 บาท กันทีเดียว แม้จะมีราคาแพงสักหน่อย แต่ผู้บริโภคจำนวนมากก็นิยมซื้อชมพู่เพชรสายรุ้ง เพื่อเป็นของขวัญของฝากผู้ใหญ่ที่นับถือ และเป็นสินค้าส่งออกที่มีลู่ทางเติบโตสดใส

 จุดเริ่มต้นความอร่อย

เรื่องราวที่เล่าขานเกี่ยวกับความเป็นมาของชมพู่เพชรสายรุ้งโดยทั่วไป มี 2 ตำนาน เรื่องแรก เล่ากันว่า พระครูญาณวิมล (หลวงพ่อพ่วง) เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ของวัดศาลาเขื่อน เป็นคนแรกที่นำชมพู่เพชรสายรุ้ง มาปลูกหน้าวัดศาลาเขื่อน ตำบลตำหรุ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ในปี 2378 โดยได้รับพระราชทานต้นชมพู่ จำนวน 1 ต้น จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชมพู่ที่ปลูกให้ผลผลิตที่มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ทำให้ผู้คนที่ได้ชิมรู้สึกติดใจ และมาขอตอนกิ่งต้นชมพู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาชมพู่ต้นนี้ได้ตายลง เมื่อ ปี 2530 รวมอายุได้ 152 ปี

เรื่องที่สอง เล่าว่า นายหรั่ง แซ่โค้ว เป็นคนแรกที่นำกิ่งตอนต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง จำนวน 3 กิ่ง มาปลูกในพื้นที่ตำบลหนองโสน เมื่อปี 2438 ต้นชมพู่ปลูกในบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้ต้นชมพู่ได้รับดินดี น้ำดี มีอินทรียวัตถุอุดมสมบูรณ์ จึงเติบโตให้ผลผลิตที่ดี สีสวย และมีรสชาติอร่อย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตอนกิ่งชมพู่เพชรออกจำหน่ายในราคาสูง 200-250 บาท ก็มีผู้สนใจหาซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูกเป็นจำนวนมาก มีปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีจนถึงทุกวันนี้

คุณยุทธนา เมืองเล็ก

ผู้เขียนได้พูดคุยเพิ่มเติม เรื่อง “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” กับ คุณยุทธนา เมืองเล็ก อดีตนายก อบต. หนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โทร. (085) 191-5588 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 162 หมู่ที่ 1 ถนนเพชรบุรี-บ้านแหลม ตำบลหนองโสน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้งตำบลหนองโสน และสภาเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ได้ยกย่องให้คุณยุทธนาเป็นสัมมาชีพต้นแบบการปลูก “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ของจังหวัดเพชรบุรี

คุณยุทธนา เชื่อว่าต้นพันธุ์ดั้งเดิมมาจากแม่กลอง เพราะในสมัยก่อนมีการล่องเรือค้าขายจากลำน้ำเพชรบุรี กับแม่น้ำแม่กลอง ชาวบ้านในสมัยนั้นก็นำกิ่งชมพู่แม่กลองมาปลูกที่เพชรบุรี สภาพดินแม่กลองส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว เมื่อนำมาปลูกที่เพชรบุรี ที่มีสภาพดินฟ้าอากาศแตกต่างกัน ประกอบกับเพชรบุรีมีสภาพดินร่วนปนทราย ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ เป็น “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” มาจนถึงทุกวันนี้

คุณยุทธนา เล่าว่า พื้นที่ตำบลหนองโสน ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งต้นกำเนิดของต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง ปัจจุบัน แหล่งปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งที่ให้ผลผลิตคุณภาพดีที่สุด คือ ตำบลหนองโสน ตำบลบ้านกุ่ม ทุกวันนี้ ชมพู่เพชรสายรุ้งปลูกกระจายทั่วจังหวัดเพชรบุรี เช่น อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ชมพู่เพชรสายรุ้ง ถือเป็นสุดยอดผลไม้อร่อยแล้ว ยังได้รับการจดสิทธิบัตรขึ้นทะเบียนเป็นผลไม้ที่ถือกำเนิดจากจังหวัดเพชรบุรี สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองเพชร และเกษตรกรที่ทำสวนชมพู่เพชรสายรุ้งเป็นอย่างยิ่ง

 

คุณยุทธนา กับอาชีพชาวสวน

คุณยุทธนา เกิดในครอบครัวที่ทำสวนชมพู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม วัยเด็กจึงเรียนรู้ประสบการณ์ที่ต้องช่วยครอบครัวทำเกษตรร่วมกับพี่น้อง ตามวิธีการที่ได้รับถ่ายทอดและมีการพัฒนากันมาตั้งแต่ครั้งในอดีต ซึ่งบางส่วนได้ตกทอดเป็นองค์ความรู้ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในช่วงหลังมีการนำชมพู่สายพันธุ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับชมพู่เพชรสายรุ้งมาปลูกในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และสวมชื่อเป็นชมพู่เพชรสายรุ้ง และขายในราคาเดียวกัน แต่คุณลักษณะที่ต่ำกว่าทั้งรูปลักษณ์ รสชาติ และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต่างกัน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งประสบปัญหาขาดทุน ในช่วงปี 2549-2550 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งจำนวนมากตัดสินใจโค่นต้นชมพู่ทิ้ง เพราะขายผลผลิตไม่ได้ราคา

คุณยุทธนา จึงเริ่มต้นทำวิจัย ในหัวข้อ “การทดลองสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการผลิตชมพู่เพชร โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรธรรมชาติคิวเซ ร่วมกับกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (อีเอ็ม)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จนได้ผลวิจัยที่น่าพอใจ และสามารถนำมาใช้ได้จริงในสวนของเกษตรกร นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชุมชน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการยุทธศาสตร์จังหวัด 3 ปีติดต่อกัน จนได้รับเกียรติจากสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เชิญไปออกรายการถึง 2 ครั้ง

จากผลงานวิจัยดังกล่าว ได้นำเทคนิคเกษตรธรรมชาติคิวเซมาปรับใช้ในสวนชมพู่และนำเทคนิคสกัดพืชหมัก ฮอร์โมนผลไม้และสารขับไล่แมลงประยุกต์ใช้ในชุมชน จึงนำไปสู่การทำเกษตรปลอดสาร เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ทำให้ชมพู่เพชรสายรุ้งถูกผลักดันจนได้รับใบรับรองแหล่งผลิตพืช (จีเอพี) สัญลักษณ์การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร จากกรมวิชาการเกษตร และได้รับความเชื่อมั่นจากเกษตรกรนำไปสู่การจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี (อบจ. เพชรบุรี)

ชมพู่เพชรสายรุ้ง เนื้อแน่น กรอบ รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ที่ผ่านมา ชมพู่เพชรสายรุ้ง ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้งตำบลหนองโสน ได้รับใบรับรองคุณภาพแหล่งผลิตพืช (จีเอพี) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลไม้รับรองผู้นำอาเซียน ในการจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดประชุมที่อำเภอชะอำ และได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกลุ่มผู้ค้า 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เซนิท ฟรุ๊ต (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด และ 3. บริษัท เซ็นทรัลฟู๊ดซ์เทลจำกัด จำหน่ายในประเทศและส่งออก เช่น ห้างแฟร์ไฟร์ ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

 

การปลูกดูแล    

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องการปลูกดูแลต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง กับ “พี่ตี๋ หรือ คุณสำอาง ศรีนวล” หนึ่งในเกษตรกรที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้ง ตำบลหนองโสน ปัจจุบัน พี่ตี๋อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 131 หมู่ที่  1 ตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี  โทร. (094) 492-6379

คุณสำอาง ศรีนวล (พี่ตี๋)

ต้นชมพู่เพชรสายรุ้งปลูกดูแลง่าย เริ่มจากเตรียมหลุม ขนาด 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้แห้งรองก้นหลุม ปลูกในลักษณะตะแคง 45 องศา เพื่อให้ได้ทรงพุ่มที่สวยงาม ระยะห่างไม่น้อยกว่า 10 เมตร พรางแสงให้เหมาะสม ให้น้ำวันเว้นวัน หรือทุกวันในสภาพพื้นที่โล่งแจ้ง ต้นชมพู่เพชรสายรุ้งจะให้ผลผลิตเฉลี่ยปีละ 3 รุ่น โดยเริ่มออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน เมื่อออกดอกได้ประมาณ 60-70 วัน ดอกจะบานและทิ้งเกสร ทรงจะคล้ายจานและเริ่มหุ้มเป็นผล ต้องรีบห่อผลในช่วงนั้น โดยใช้ถุงสีน้ำตาล (ถุงปูน) ขนาด 8×12 นิ้ว ห่อถุงละ 2-4 ผล โดยใช้ตอกบิดพันให้แน่น ควรทิ้งช่วงห่างประมาณ 1 ฟุต เมื่อห่อเสร็จ ใช้ปุ๋ยสูตร 9-25-24 ใส่ต้นละประมาณ 2 กิโลกรัม หลังจากห่อผล 25-30 วัน ชมพู่จะเริ่มแก่และเก็บผลผลิตออกขายได้

โดยทั่วไป ต้นชมพู่เพชรจะเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่ออายุได้ 2 ปี เกษตรกรนิยมทำร้านเล็กๆ เพื่อพยุงต้นไม่ให้ล้มเมื่อลมพัดแรง อายุ 3-5 ปี จึงทำนั่งร้านมาตรฐานจนเต็มทรงพุ่ม เพื่อช่วยให้ห่อผลและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสะดวก

 ต้นทุน และผลตอบแทน

คุณยุทธนา บอกว่า ทุกวันนี้ ต้นทุนการผลิตชมพู่เพชรสายรุ้ง ส่วนใหญ่เป็นค่าทำนั่งร้าน ปัจจุบัน ใช้ไม้ไผ่นวลยาว 8 เมตร ในการทำนั่งร้าน 1 ต้น ใช้ไม้ไผ่ประมาณ 100 ลำ (ต้นขนาดใหญ่) ค่าไม้ไผ่ ลำละ 35 บาท ค่าแรงตัดไม้เหมาลำละ 15 บาท รวมเป็นเงินลำละ 50 บาท เฉพาะค่าทำนั่งร้าน ต่อ 1 ต้น ตกประมาณ 5,000 บาท มีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี

ต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง

ส่วนต้นทุนค่าห่อ การเก็บผลผลิตชมพู่ต่อ 1 ต้น จะห่อได้ประมาณ 3 รุ่น รวมค่าห่อทั้ง 3 รุ่น ประมาณ 1,000 ถุง ค่าถุงปูนสำหรับห่อ ร้อยละ 60 บาท ตอกสำหรับมัดถุงชมพู่ กิโลกรัมละ 70 บาท ค่าแรงห่อ 2 วัน ค่าแรงเก็บ 1 วัน รวม 3 วันเป็นเงิน 350 บาท ต่อคน ค่าปุ๋ย ค่ายา อีกประมาณ 500 บาท คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 1 ต้น ต่อปี ประมาณ 3,750 บาท

ด้านผลตอบแทน ชมพู่ 1 ต้น ห่อได้ประมาณ 700 ถุง จะได้ชมพู่ประมาณ 140 กิโลกรัม (รวมทั้ง 3 รุ่น) ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 80 บาท คิดเป็นเงิน 140×80 ตกประมาณ 11,200 บาท หากผลผลิตไม่เสียหาย จะได้กำไรเฉลี่ย ต้นละ 7,450 บาท ต่อปี           

กลุ่มเกษตรกรกำลังคัดเกรดชมพู่ ก่อนส่งออก

คำแนะนำ มือใหม่หัดปลูก

ต้นชมพู่เพชรสายรุ้ง ปลูกดูแลง่าย ใช้เวลาดูแลแค่ 3 ปี ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ เนื่องจากชมพู่เพชรสายรุ้งมีราคาค่อนข้างแพง ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ สนใจนำต้นชมพู่เพชรสายรุ้งไปปลูกในท้องถิ่นของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการปลูกสักเท่าไร ส่วนหนึ่งอาจเพราะต้นชมพู่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ประการต่อมา เกษตรกรนำต้นพันธุ์ชมพู่เพชรสายรุ้งไปปลูกก็จริง แต่ไม่ได้นำองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาในการปลูกดูแลเช่นเดียวกับที่เกษตรกรชาวเพชรบุรีปลูกดูแลต้นชมพู่เพชรสายรุ้งไปด้วย จึงทำให้เกษตรกรมือใหม่ส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลวในที่สุด

มีคำแนะนำสำหรับมือใหม่หัดปลูกว่า ควรเลือกซื้อกิ่งพันธุ์ ชมพู่เพชรสายรุ้ง สายพันธุ์แท้จากแหล่งต้นกำเนิดในจังหวัดเพชรบุรีเสียก่อน เลือกซื้อกิ่งพันธุ์ที่เป็นกิ่งปานกลาง ไม่อ่อน ไม่แก่ จนเกินไป ควรปลูกต้นชมพู่ในแหล่งดินร่วนปนทราย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก นำกิ่งพันธุ์ลงปลูก ในระยะห่าง 6×6 เมตร กลบดินที่โคนต้นให้แน่น นำไม้หลักมาปักยึดป้องกันต้นชมพู่โค่นหักเอน รดน้ำให้ชุ่ม ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปีละ 2 ครั้ง ต้นชมพู่จะให้ผลผลิตรุ่นแรกเมื่ออายุ 18-24 เดือน จะได้ผลผลิตประมาณ 50 ถุง เมื่อต้นชมพู่อายุ 4-5 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิตสูงขึ้น เมื่อต้นชมพู่มีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งให้ผลผลิตมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เคล็ดลับเลือกซื้อ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง”

ทุกวันนี้ เกษตรกรผลิตชมพู่เพชรสายรุ้ง ได้น้อยกว่าปริมาณความต้องการของตลาด ทำให้มีพ่อค้าหัวใสบางรายแอบนำชมพู่ชนิดอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาหลอกขายผู้บริโภคว่า เป็นชมพู่เพชรสายรุ้ง เพื่อฟันกำไรจากการขายผลผลิตในราคาสูง จังหวัดเพชรบุรีจึงจดทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและป้องกันการลอกเลียนแบบ

ผลชมพู่เพชรสายรุ้ง เป็นทรงระฆังคว่ำ สีเขียวปนชมพู

หากใครไม่อยากถูกหลอกซื้อของปลอม คุณยุทธนาแนะนำเทคนิคการเลือกซื้อชมพู่เพชร พันธุ์แท้ดั้งเดิมว่า ต้องดูลักษณะเด่นที่ “ก้นชมพู่” มีลักษณะแคบ เนื้อหนาแข็งกรอบ มีสีเขียวอ่อนปนชมพู มีแถบสีชมพู (เส้นเอ็น) เป็นริ้ว มีเมล็ด 1-3 เมล็ด ที่สำคัญมีรสหวานกลมกล่อม เปอร์เซ็นต์ความหวาน 8-15 องศาบริกซ์ ส่วนชมพู่เพชรสุวรรณมีก้นผลกว้าง ขอบสีแดง เนื้อนิ่ม ผิวมีสีเขียวปนคล้ำ มีเส้นเอ็นสีแดงเห็นชัดเจน มีเมล็ด 1-3 เมล็ด รสชาติจืด-หวาน เปอร์เซ็นต์ความหวาน 6-11 องศาบริกซ์ เท่านั้น