มะยงชิด-มะปรางหวาน กำแพงเพชร (ตอนที่ 1) วิจิตร ไกรสรสวัสดิ์ เดินทางไกล พบของดีมากมาย ปักหลักศึกษาและผลิต ที่เมืองชากังราว

คนรุ่นเก่า วัย 79 ปี อย่าง คุณวิจิตร ไกรสรสวัสดิ์ ที่เกิดมาในยุคการเปลี่ยนผ่านเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง หวนย้อนอดีตจากประสบการณ์ชีวิตในวัย 18 ปี ที่เป็นนักเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศิริราช ย่านบางกอกน้อย สมัยนั้นยังเวิ้งว้างหามีตึกรามบ้านช่องไม่ ริมสองฝั่งคลองบางกอกน้อยยังรกทึบเต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าและล่องสวน ผู้คนยังคงสัญจรไปมาด้วยเรือพาย เรือหางยาว มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนพาไปเที่ยวบ้านสวน ที่บางขุนนนท์ เพื่อนเด็ดผลไม้ชนิดหนึ่งมาให้กิน ทำให้เขาติดอกติดใจรสชาติ ฝังอยู่ในความทรงจำตั้งแต่นั้นมา ผลไม้ชนิดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า มะปรางเสวย  

ผมเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง พ่อแม่เขาให้เรียนแพทย์ สมัยก่อนแพทย์ต้องมาเป็น อันดับ 1 แต่การเรียนแพทย์หนีไม่พ้นต้องผ่าพิสูจน์ศพ ผมรู้สึกไม่ชอบเอาเสียเลย จึงหนีไปญี่ปุ่น ไปเรียนวิศวะไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ตั้งแต่อายุ 20 ปี จนจบด้านไฟฟ้ามา 3 สาขา ได้เป็นวิศวกรไฟฟ้ากำลัง และกลับมาทำงานในประเทศไทย ดูแลเรื่องไฟฟ้าให้กับโรงงานต่างๆ ของญี่ปุ่น” คุณวิจิตร เล่า

เมื่อได้ทำงาน เป็นนายช่างใหญ่ ชีวิตไม่เคยแวะเวียนเข้าสวนอีกเลย จนกระทั่ง โรงงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่สามารถขยายตัว ขยายฐานการผลิตได้ เพราะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทแม่ในญี่ปุ่นจึงให้เขาสำรวจหาพื้นที่ดินเพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ให้อยู่ห่างออกไปจากกรุงเทพฯ

ช่วงระหว่างนี้เองคุณวิจิตรมีโอกาสตระเวนไปทั่วสารทิศ ทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก ตระเวนสำรวจหาสถานที่สร้างโรงงาน บริษัทให้รถมา 1 คัน จะไปไหนมาไหนเบิกจ่ายได้โดยสะดวก จังหวัดเป้าหมายที่เลือกคือ ระยอง นครนายก ขอนแก่น นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร ภาคใต้ก็ไปสำรวจมาด้วยเช่นกัน

ของดีกำแพงเพชร

สุดท้ายก็มาเลือกซื้อที่ดิน 1,200 ไร่ ที่จังหวัดกำแพงเพชร ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ เหตุที่เลือกจังหวัดกำแพงเพชร เพราะเป็นเมืองน่าอยู่ ติดกับแม่น้ำปิง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไม่มีวันเหือดแห้ง มติผู้บริหารจึงเลือกจังหวัดกำแพงเพชรในการสร้างโรงงาน เช่นเดียวกับบริษัทเบียร์ขนาดใหญ่ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน บนพื้นที่ 4,500 ไร่ ซึ่งตนเองเป็นผู้สำรวจและเลือกสถานที่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

เป็นความโชคดีของจังหวัดกำแพงเพชร ที่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ชื่อว่า “เขื่อนภูมิพล” ตั้งอยู่เหนือขึ้นไปที่จังหวัดตาก เป็นเขื่อนชามอ่างยักษ์ที่ไม่มีวันแห้งเหือด ตลอดทั้งปีต้องปล่อยน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า การเกษตร การอุปโภค บริโภค เช่นเดียวกับโรงงานขนาดใหญ่ที่ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อการผลิต

“ชีวิตเรามันสั้น แต่ประวัติผมมันยาว” คุณวิจิตร ย้ำอยู่เสมอ…เสมือนสื่อให้รู้ว่าตัวเองนั้นผ่านเรื่องราวชีวิตมามากมาย ไม่อยากจะเก็บงำความรู้ไว้อยู่กับตัว ไม่รู้ชีวิตเราอยู่ได้อีกยาวนานเท่าไร…

คุณวิจิตร ย้อนถึงชีวิตการทำงาน เมื่อตอนอายุ 30 กว่าๆ ได้ซื้อที่ดินที่นครนายก คลองสิบสี่ เดินทางไปกลับบ่อยๆ อยู่ไม่ไกลจากบ้านพักที่กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้จักจังหวัดกำแพงเพชร

ต้นมะปรางป่า อายุ 150 ปี ที่ความสูง 22 เมตร เส้นรอบวง 2.60 เมตร ที่หน้าวัดพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์

ช่วงระหว่างการสำรวจที่ดินนี้เอง ได้ตระเวนไปเรื่อยๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขยายโรงงานแห่งต่างๆ ให้กับบริษัทญี่ปุ่น จนอายุได้ 36 ปี ก็ให้นึกขึ้นมาว่า ถ้าอายุมากขึ้น แก่แล้วเราต้องมีสวน ทำสวนเกษตร เราจะทำสวนอะไร จึงคิดขึ้นมาว่า ผลไม้เมืองไทยสมัยนั้น ไม่มีอะไรน่าสนใจ เท่ากับ มะปราง มะยงชิด เพราะเคยไปลิ้มรส  มะปรางหวาน บ้านเพื่อนที่บางขุนนนท์ เมื่อตอนเป็นนักศึกษาแพทย์

“เวลามันสั้น แต่ประวัติผมมันยาว…” ฉะนั้น เรามาเข้าเรื่องจริงที่น่าจะมีประโยชน์กับเกษตรกร ต่อสังคม และประเทศชาติ ให้คนรุ่นหลังได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตัวผม ซึ่งเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์ มะปราง กับ มะยงชิด มากที่สุดของโลกกว่า 60 สายพันธุ์ จากการเดินทางนับล้านกิโลเมตรทั่วประเทศ ในการสำรวจที่ดิน และถือโอกาสแวะเข้าเยี่ยมชมสวนมะปราง มะยงชิด ไปพร้อมๆ กัน

บนถนนแห่งการค้นพบต้นกำเนิดของ มะปราง กับ มะยงชิด เริ่มมาจากไหน…?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจผลไม้อย่าง มะปรางหวาน กับ มะยงชิด… ที่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคไม่ใช่น้อย ถึงความแตกต่าง ถ้ามองด้วยสายตา ก็มีลักษณะที่คล้ายๆ กัน ทั้งต้น ผล ใบ ดอก ดูยังไงก็แยกกันไม่ออก ว่า อันไหนคือ มะปราง อันไหนคือ มะยงชิด

“จริงๆ แล้ว มะปราง กับ มะยงชิด เป็นพืชตระกูลเดียวกัน พูดให้เข้าใจง่ายๆ ต้นตระกูลดั้งเดิมมันก็คือ มะปราง นั่นเอง ไม่มีอะไรแตกต่างกัน นอกจากรสชาติ มะปราง จะหวานแหลม มะยงชิด จะหวานอมเปรี้ยว”

นี่คือ โจทย์หัวข้อที่ คุณวิจิตร ตั้งคำถามที่ต้องศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง…

ช่วงระหว่างที่ตระเวนสำรวจหาที่ดินสร้างโรงงานให้กับบริษัทญี่ปุ่น เมื่อ 40 ปีก่อน ตนเองมีต้นทุนทั้งรถทั้งน้ำมัน เบิกค่าใช้จ่ายได้อย่างสะดวก ขับรถวนเวียนอยู่แถวภาคเหนือ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก และกำแพงเพชร มากกว่าพื้นที่อื่นๆ และได้พบเห็นสวนมะปรางมากที่สุด อยู่ที่สุโขทัยและพิษณุโลก ไม่เพียงเฉพาะภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก กลาง อีสาน ก็แวะเวียนเข้าไปชิมรสชาติมาหมดแล้วเช่นกัน

ด้วยใจรักมะปราง กับรูปแบบการทำงาน จึงมีโอกาสซอกแซกได้พบเห็นพันธุ์มะปราง มะยงชิด มากมาย กับการเดินทางเป็นระยะทางนับล้านกิโลเมตร และตั้งคำถามในใจว่า จะมีใครสักกี่คน ที่ขับรถตระเวนเข้า-ออกสวนมะปราง มะยงชิด มากที่สุดเหมือนเรา

พืชพรรณชั้นยอด ที่ คุณวิจิตร รวบรวมไว้

ยิ่งเดินทาง ยิ่งค้นหา ยิ่งรู้ลึกถึงประวัติศาสตร์ ต้นกำเนิด มะปราง กับ มะยงชิด

มีหลักฐานปรากฏให้เห็นตามแถบหัวเมืองที่อยู่รายล้อมกรุงสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็น พิษณุโลก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิจิตร ยังคงมีต้นมะปรางเก่าแก่หลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง อย่างที่อำเภอเนินมะปราง อำเภอเล็กๆ ในบรรยากาศสวยงามของจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเคยเป็นราชธานีเมืองรองต่อจากสุโขทัย หลายๆ คน อาจจะงงกับชื่อ “อำเภอเนินมะปราง” มีมาได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ต้นมะปรางโบราณหลายๆ แห่ง แทนที่ไปด้วยอาคารบ้านเรือนตามความเจริญ

หลวงพ่อต้นมะปราง” ใครเคยได้ยินชื่อเสียงบ้างไหม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย อายุเก่าแก่หลายร้อยปี ขนาดหน้าตัก 15 นิ้ว สูง 21 นิ้ว ที่ชาวบ้านขุดพบอยู่ในซากสถูปเจดีย์โบราณ บริเวณใต้ต้นมะปรางขนาดใหญ่ ที่วัดไทรย้อย หมู่ที่ 10 ตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ชาวบ้านจึงเรียกชื่อพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ตามชื่อต้นไม้ว่า “หลวงพ่อต้นมะปราง”

หลวงพ่อต้นมะปราง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย อายุเก่าแก่หลายร้อยปี ขนาดหน้าตัก 15 นิ้ว สูง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยังค้นพบต้นไม้เก่าแก่ “ต้นมะปรางป่า” ที่อยู่คู่กับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง ที่ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ด้านหน้าพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ มีขนาดเส้นรอบวง 2.60 เมตร ความสูงประมาณ 22 เมตร มีอายุ 150 ปี โดยครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ และได้เสด็จฯ มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2444 ก็ปรากฏว่ามีต้นมะปรางป่านี้ขึ้นอยู่ก่อนแล้ว และกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น รุกข.มรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี ต้นไม้ทรงคุณค่า ในปี พ.ศ. 2561

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังกล่าวถึงผลไม้ทรงโปรด เรียกว่า “มะปรางเสวย” มีแหล่งปลูกอยู่แถว ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี จัดว่าเป็นมะปรางที่มีรสหวาน ผลขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่ แต่ชาวบ้านชอบเรียก มะยงชิด และนำไปปลูกขยายพันธุ์ที่บางขุนนนท์ จึงได้ชื่อว่า “มะยงชิดพันธุ์บางขุนนนท์” ตั้งแต่นั้นมา

เรื่องเล่าบนถนนสายประวัติศาสตร์ “มะปราง มะยงชิด” ยังมีให้ติดตามต่อฉบับหน้า จนเป็นที่มาของการพิสูจน์ ดีเอ็นเอ (DNA) มะปราง มะยงชิด สายพันธุ์แท้ที่ดีที่สุดของโลก 

คุณวิจิตร ไกรสรสวัสดิ์ ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 263/1 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โทร. 081-283-8151 และ 081-379-6680 เป็นสำนักงานและที่แสดงต้นพันธุ์ ส่วนแปลงปลูกเก็บผลผลิต อยู่เลขที่ 199 หมู่ที่ 7 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

(อ่านต่อฉบับหน้า)


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่