ลุงเล็ก ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ชวนทำไร่นาสวนผสมลดใช้สารเคมี หันใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทำได้ไม่มีขาดทุน

กว่าพื้นที่ 50 ไร่ ของ คุณเล็ก ทองต้น วัย 71 ปี ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี อดีตผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ที่ 7 บึงกาสาม เกษตรชาวจังหวัดปทุมธานี ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ตัวจริง ทำเกษตรไร่นาสวนผสมลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทำได้ไม่มีขาดทุน เดินตามรอยเท้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต้นแบบอินทรีย์ชาวจังหวัดปทุมธานี

คุณเล็ก เล่าว่า กว่า 10 ปี บนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ ตนเองคิดเสมอว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้มีรายได้พอกินพอใช้ ไม่สร้างหนี้ มีเงินใช้เหมือนตอนที่รับเงินเดือนของข้าราชการ โดยแรงบันดาลใจของตน คือ รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งได้เดินทางไปดูงานในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ นำศาสตร์พระราชามาเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการประยุกต์พื้นที่ 50 ไร่ ให้กลายเป็นไร่นาสวนผสม ทำให้ตนคิดว่า ชาวนาจะปลูกข้าวอย่างเดียวไม่ได้ อายุข้าวกว่าจะเกี่ยวต้องใช้เวลา ประมาณ 105 วัน จึงได้ปรับพื้นที่ 50 ไร่ เป็น ทำนา 10 ไร่ ปาล์ม 40 ไร่ ปลูกกล้วยแซมในสวนปาล์ม เลี้ยงไก่ไข่ 50 ตัว เลี้ยงปลา โดยปาล์ม ตัด 2 ครั้ง/เดือน 24 ครั้ง/ปี กล้วยน้ำว้า ตัด 2 ครั้ง/เดือน ข้าวเกี่ยว 2 ครั้ง/ปี

คุณเล็ก ทองต้น

ในการทำนาจะไม่ใช้สารเคมี นำเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้

“แรกๆ ที่ทำอาจจะเห็นผลช้า แต่ดีกับธรรมชาติ”

เรียนรู้บนเส้นทางของเกษตรพอเพียง ค้นสูตรปุ๋ยชีวภาพเอง ผสมโน่นผสมนั่น ศึกษาหาข้อมูล พยายามหาข้อมูลตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาข้อมูลมาปรับใช้ในชุมชน โดยจากการหาข้อมูลทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการนำชีวภาพมาใช้ ตนจึงทำเรื่องไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อาจารย์และทีมงาน และลงพื้นที่สำรวจ และเข้ามาทำการวิจัยและทดลองนวัตกรรมชีวภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพเชื้อราปฏิปักษ์ (หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน) มาใช้นาข้าว ปาล์ม และได้เข้ามาบริการองค์ความรู้ให้กับศูนย์อีกด้วย

ความแตกต่างของการใช้สารเคมีและสารชีวภาพ สำหรับการทำนาข้าว จากที่ลงทุน 5,000 บาท/ไร่ เหลือเพียง 1,700-2,200 บาท/ไร่ ได้ปริมาณข้าวเปลือก 1 ไร่/1 ตัน เม็ดข้าวมีคุณภาพดี ไม่ลีบแบน เพิ่มการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลบึงกาสาม มีเครื่องสีข้าว ตนจะนำข้าวที่ได้มาสีเพื่อนำไปขาย โดยชาวบ้านในชุมชนนำข้าวเปลือกมาสี คิดกิโลกรัมละ 2 บาท ข้าวเปลือกสีเป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้จาก 8,500 เป็น 35,000 บาท ต่อเกวียน และที่สำคัญเมื่อได้รายได้หรือใช้จ่ายมาแต่ละครั้ง ต้องมีการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย

“ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นอย่างไร อยากให้เกษตรลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด หันมาใช้เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม”

Advertisement

ปี 2553 ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี 2556 ศูนย์การเรียนรู้ดีเด่น จากกรมส่งเสริมเกษตรกร และทางชุมชนยังเข้าร่วมโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน หมู่ที่ 7 บึงกาสาม จังหวัดปทุมธานี แบบมีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2556 ได้ลงพื้นที่ในการสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน หมู่ที่ 7 บึงกาสาม พบว่า ดินมีสภาพเป็นกรด มีค่า pH 3-4 สภาพของดินแข็ง ไม่ร่วนซุย เนื่องมาจากการใช้สารเคมี ในการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารหลักและรองในดิน กำจัดโรคพืช กำจัดศัตรูแมลง ต้นทุนสูงแต่ได้ผลผลิตต่ำ อีกทั้งผลผลิตมีสารโหละหนักปนเปื้อน ไม่ได้มาตรฐาน GAP ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

Advertisement

“เราได้คิดค้นนวัตกรรมชีวภาพจากความหลากหลายชีวภาพปฏิปักษ์จากดินในชุมชน โดยนำหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพด้วยนวัตกรรมจากความหลากหลายทางชีวภาพเชื้อราปฏิปักษ์ (หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน) เมื่อเห็นผลที่ออกมา ดีใจที่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรและเห็นเกษตรกรมีผลผลิตรายได้ กำไร ลดต้นทุน ความเป็นอยู่ดีขึ้นและเพิ่มขึ้น และมีการแบ่งปันให้กลุ่มเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปีนี้พบว่า เกษตรกรเพิ่มผลผลิตจากเดิม 2 เท่า เพิ่มการแปรรูปเป็นข้าวกล้อง ข้าวขาว ขอใบรับรอง GAP ขยายตลาดกว้างขวางมากขึ้น นอกจากทางมหาวิทยาลัยยังได้ไปบริการวิชาการให้เกษตรกรตามที่ต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มกระบี่ เกษตรกรผลไม้ทุเรียน ลำไย จันทบุรี ตราด อีกด้วย”