ทุเรียน “มูซังคิง” ภาคตะวันออก เริ่มให้ผลผลิตแล้ว เอกชนเผยแพร่พันธุ์ไปแล้วกว่า 2 แสนต้น

สถานการณ์ไวรัส โควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีคนเป็นห่วงราคาทุเรียนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะต้นตอของโรคร้ายอยู่ที่จีน ซึ่งซื้อผลผลิตจากไทยเป็นหลัก ดังนั้น จึงพบข่าวปลอมอยู่เสมอว่า ราคาทุเรียนตกต่ำส่งจีนไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ราคาซื้อขายทุเรียนที่จันทบุรี เกรด เอ บี กิโลกรัมละ 140 บาท เข้าสู่เดือนเมษายนลดลงเหลือ 120 บาท เกรดซีและดีก็ลดหลั่นกันไป สรุปแล้วราคาทุเรียนปีนี้ในภาคตะวันออก สูงกว่าปีที่แล้วราว 20 เปอร์เซ็นต์

เนื่องจากช่วงนี้เป็นยุคทองของทุเรียน เกษตรกรจึงหันมาสนใจปลูกกันมาก คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 ให้ข้อมูลว่า ระยะ 4-5 ปีมานี้ เกษตรกรซื้อต้นทุเรียนไปปลูกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านต้นทั่วประเทศ แต่รอดไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะปัจจัยไม่เหมาะสม

กระแสความนิยมของทุเรียนพุ่งสูง แต่ปัจจัยหลักอย่างน้ำ กลับมีน้อยลง เพราะคนใช้กันเยอะ อนาคตเรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่แน่ ปีไหนฝนดีก็รอดตัวไป แต่ปีไหนแล้ง จะเสียหายในวงกว้าง

สีสวย

ทุเรียนมูซังคิง จากมาเลย์ สู่เมืองไทย

พันธุ์ทุเรียนของไทย เบอร์ 1 ต้องยกให้ หมอนทอง เคยสัมภาษณ์ ดร. ทรงพล สมศรี นักปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนจันทบุรี 1-10 ว่า มีอะไรใหม่ๆ มาสู้หมอนทองได้ไหม อาจารย์บอกไม่ได้ ถามต่อว่า…แล้วงานวิจัยที่ได้มา…อาจารย์บอกว่า เพื่อเป็นทางเลือก มีข้อเด่น ข้อด้อย ต่างกัน บางพันธุ์ให้ผลผลิตเร็วขึ้น งานวิจัยทำให้มีความหลากหลาย ซึ่งเดิมทีพันธุ์ทุเรียนได้จากธรรมชาติเท่านั้น

ทุเรียนของไทย โดยทั่วไปจะมีชื่อเป็นไทยๆ อย่าง กบชายน้ำ ย่ำมะหวาด อีลีบ อีลวง แต่เมื่อ 3-4 ปี ที่ผ่านมา วงการทุเรียนมีการพูดถึงพันธุ์ “มูซังคิง” ซึ่งถิ่นเดิมอยู่ประเทศมาเลเซีย ถูกนำมาปลูกในไทย ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จากนั้นจึงขยายมายังภาคตะวันออก อย่าง จันทบุรี และตราด

ผลผลิตมูซังคิง ที่มาเลเซีย

ชาวสวนที่ปลูกทุเรียนรับรู้ได้เร็วว่า มูซังคิง น่าสนใจ จึงขยายปลูก และได้ผลดีหลายราย

ราคาจำหน่ายผลผลิต กิโลกรัมละ 500 บาท แต่ปริมาณยังไม่มากนัก

ต้นพันธุ์ทุเรียนมูซังคิง มีจำหน่ายทั่วไปทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ แต่ผู้ที่ผลิตเป็นการค้าและศึกษาทุเรียนพันธุ์นี้จริงจังคือ บริษัท โกลด์เด้นคิงแพล้นท์ จำกัด สำนักงานอยู่ เลขที่ 900/31 อาคาร เอสวีซิตี้ ถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10210 ในภาคสนาม บริษัทมีศูนย์กระจายอยู่เกือบทุกภาค จะมีเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อสอบถามในตอนท้าย

คุณอนวัช สะเดาทอง หรือ อาจารย์สาย

เผยแพร่พันธุ์ไปแล้วกว่า 2 แสนต้น

คุณอนวัช สะเดาทอง หรือ อาจารย์สาย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลด์เด้นคิงแพล้นท์ จำกัด คือผู้ศึกษาทุเรียนมูซังคิงอย่างถ่องแท้คนหนึ่ง อาจารย์สาย เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ ชลบุรี ถึงแม้จบทางเครื่องจักรกลการเกษตร คือ “เกษตรกลวิธาน” แต่ก็อยู่ในแวดวง สามารถนำมาปรับใช้กับงานสวนได้ดี

อาจารย์สาย เล่าว่า บริษัท โกลด์เด้นคิงแพล้นท์ฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร โดยเฉพาะพันธุ์พืช ที่ผ่านมาได้รับการยอมรับกันมากคือ เรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากได้เดินทางไปดูงานที่มาเลเซีย และพบว่า ทุเรียนมูซังคิงได้รับความนิยมในหมู่คนท้องถิ่น และที่สำคัญสามารถส่งไปจำหน่ายยังประเทศจีนในราคาสูง จึงมีการศึกษาอย่างจริงจัง จนเกิดความมั่นใจ สุดท้ายได้ทำแปลงขยายพันธุ์เพื่อเผยแพร่ รวมทั้งปลูกในนาม บริษัท โกลด์เด้นคิงแพล้นท์ฯ

ติดผลที่ตะวันออก

โดยส่วนตัว อาจารย์สาย ปลูกทุเรียนมูซังคิงไว้ 70 ไร่ ที่จังหวัดสระแก้วและบุรีรัมย์

แต่ บริษัท โกลด์เด้นคิงแพล้นท์ฯ ปลูกทุเรียนเพื่อจำหน่ายผลผลิตขณะนี้ 250 ไร่ นอกจากนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกือบ 5,000 ไร่

บางแห่งบริษัทรับเป็นที่ปรึกษาให้ อย่างที่โป่งน้ำร้อน พื้นที่ 670 ไร่

ถึงแม้เผยแพร่พันธุ์ไปได้ไม่นานปีนัก อาจารย์สาย บอกว่า จำนวนต้นมากกว่า 2 แสนต้น ที่จันทบุรีซื้อไปปลูก 1 แสนต้น ตราด 3 หมื่นต้น ระยอง 2 หมื่นต้น ภาคเหนือ 8 พันต้น อีสาน 4 พันต้น ภาคกลาง 1.3 หมื่นต้น และภาคใต้ 2.5 หมื่นต้น

“เราเก็บข้อมูลไว้หมด ที่ซื้อต้นพันธุ์ไป ภาคกลางจะรวมกาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ผมก็ปลูกเอง ทุเรียนพันธุ์นี้ เรื่องโรครากและโคนเน่า เรานำมาเปรียบเทียบกับหมอนทอง พันธุ์นี้จะต้านทานกว่า” อาจารย์สาย บอก

ระยะปลูกที่เหมาะสม

เป็นที่ยอมรับกันว่า การยกโคกให้สูงขึ้นสำหรับปลูกทุเรียน ต้นจะโตเร็ว ที่สำคัญลดการเกิดโรครากและโคนเน่า โดยทั่วไปเกษตรกรจะกองดินให้สูงขึ้น ตามตำแหน่งที่จะปลูก ไร่หนึ่งปลูกได้ 33 ต้น ก็กองดิน 33 กอง ปัจจุบันมีการทำร่องคล้ายแปลงผัก เรียกว่า “ร่องแห้ง” สามารถดูภาพหน้าตัดที่ลงไว้

ถามถึงระยะปลูกที่เหมาะสม อาจารย์สาย แนะนำว่า ระยะระหว่างแถว 8 เมตร ระหว่างต้น 6 เมตร มีความเหมาะสม

วางระบบสำคัญมาก

ภาคตะวันออก เริ่มให้ผลผลิต

อาจารย์สาย บอกว่า ทุเรียนมูซังคิง อายุการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ดอกบานจนสามารถเก็บได้ ใช้ระยะเวลา 90 วัน ถือว่าเป็นทุเรียนพันธุ์เบา

มีเกษตรกรที่นำต้นพันธุ์จาก บริษัท โกลด์เด้นคิงแพล้นท์ฯ ไปปลูก และเริ่มมีผลผลิตแล้ว จำนวน 1 ราย คือ คุณมนตรี แนวพนา อยู่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ต้นมีอายุเพียง 28 เดือน แต่การไว้ผลยังไว้ได้ไม่มาก เนื่องจากต้นยังเล็ก ที่แปลงของบริษัทก็เริ่มให้ผลแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่มาก เริ่มมีดอกเมื่อต้นอายุ 33 เดือน

.ติดผลดี

“แปลงที่เริ่มให้ผลปีนี้ ที่ตราด 1 ราย ปีหน้าจะออก 3 ราย… ที่จันทบุรี ที่อำเภอเขาคิชฌกูฏก็จะไว้ผลผลิต เกษตรกรแต่ละรายปลูกมากน้อยแตกต่างกันไป บางรายปลูกมากถึง 600 ต้น…ที่ภาคตะวันออก มูซังคิง จะออกเดือนมีนาคมพร้อมกระดุม คือดอกบานช่วงปีใหม่ มีนาคมก็เก็บผลผลิตได้” อาจารย์สาย บอก

อายุการให้ผลผลิตทุเรียนหลังปลูก เดิมเข้าใจว่า 6-7 ปี จึงไว้ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีทันสมัย ต้นโตเร็ว ผู้ปลูกบางคน 4 ปี ก็ไว้ผลแล้ว สาเหตุที่ทำได้ เพราะมีปัจจัยเหมาะสมและเพียงพอ

“ผลผลิตมูซังคิง จะมากจริงๆ ปี 2565 ไปแล้ว…ของเราเองพยายามสร้างแบรนด์ ตอนนี้มีแบรนด์…ทุเรียนคนกิน…เน้นคุณภาพ เก็บตามอายุจริงๆ” อาจารย์สาย บอก

ต้นอายุ 3 ปี เริ่มไว้ผล

รับปรึกษา

นำระบบอัฉริยะมาใช้

ที่ภาคใต้ ภาคตะวันออก ปลูกทุเรียนมูซังคิงไปมากแล้ว ที่ผ่านมา อาจารย์สาย บอกว่า บริษัทให้คำปรึกษาทั่วๆ ไป เกษตรกรปลูกมากบ้างน้อยบ้าง บางราย 50 ไร่ บางราย 10 ไร่ แต่ฤดูการเพาะปลูกนี้ บริษัทรับเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ปลูกรายใหญ่ ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี บนเนื้อที่ 670 ไร่ เริ่มลงมือปลูกเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 จำนวน 14,000 ต้น เน้นใช้เครื่องจักร ตั้งแต่การตัดหญ้า พ่นสารกำจัดศัตรูพืช …ที่นี่ใช้คนน้อย

ที่นี่…ปลูกพันธุ์มูซังคิงล้วนๆ ที่สำคัญนำระบบเกษตรอัฉริยะเข้าไปใช้ ทั้งนี้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแรงงาน อาจารย์สายยกตัวอย่างระบบการให้น้ำ ซึ่งแต่ละวัน แต่ละเดือน ปริมาณการให้น้ำจะไม่เท่ากัน จะมีเครื่องวัดความชื้นในดินในบรรยากาศบริเวณนั้น แล้วอ่านค่าคำนวณออกมาว่า ให้น้ำเป็นเวลานานเท่าใด จะเป็นการให้น้ำตรงตามความต้องการของต้นพืช ลดการสิ้นเปลือง

ที่นี่จะเป็นแปลงปลูกทุเรียนมูซังคิงใหญ่สุดในประเทศไทย 

เนื้อทุเรียนมูซังคิง ที่ภาคตะวันออก

ฝากถึงผู้อยากปลูก

ราคามูซังคิงช่วงนี้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท

อาจารย์สาย บอกว่า หากมีผลผลิตในสภาพปกติ ขายกิโลกรัมละ 200 บาท ผู้ปลูกก็อยู่ได้

“ผู้ที่อยากปลูกทุเรียน หนึ่ง. ต้องมีระบบน้ำ สอง. ต้องมีไม้บังลม หรือบริเวณนั้นลมไม่แรง หากลมแรง ปีๆ หนึ่งเคยพบเกษตรกรผลผลิตเสียหายเป็นครึ่ง…ทุเรียนที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา อนาคตจะเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปมากขึ้น มูซังคิงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะใช้กินสด รวมทั้งส่งออกไปต่างประเทศ” อาจารย์สาย ให้แง่คิด

เนื้อมูซังคิง

สำหรับผู้สนใจเพิ่มเติม สอบถามได้ตามที่อยู่ ซึ่งให้ไว้ข้างต้น อยากปรึกษาหารือกับ คุณอนุวัช สะเดาทอง หรืออาจารย์สาย โทรศัพท์ 081-857-0811 หรือติดต่อตามศูนย์ต่างๆ ของบริษัท ดังนี้ ศูนย์ตราด โทรศัพท์ 084-946-8042, 090-787-8530 ศูนย์จันทบุรี โทรศัพท์ 064-013-8967 ศูนย์หนองคาย โทรศัพท์ 095-517-4529 ศูนย์ชุมพร โทรศัพท์ 080-038-1213 ศูนย์นครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 094-881-8579, 087-897-1695 หรือ WWW.goldenkingplant.com Facebook : goldenkingplants

นักวิชาการเกษตรของบริษัท ดูงานที่มาเลเซีย

ลักษณะประจำพันธุ์ ทุเรียนมูซังคิง

 ชื่ออื่นๆ โกลด์เด้นคิง, เหม้าซานหวาง, เหมาซานหว่อง

ขั้วผล…เห็นเป็นรูปมงกุฎชัดเจน  (Crow on top)

ก้นผล…มีรูปดาวสีน้ำตาลชัดเจน (Star Fish)

การเจริญเติบโต…ลำต้นแข็งแรง โตเร็ว ต้านทานโรคได้ดี เพราะเป็นสายพันธุ์ป่า

อายุเก็บเกี่ยว…หลังดอกบาน 90 วัน

…………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่