มะม่วงน้ำดอกไม้ท่ามกลางความแห้งแล้ง ที่ชัยนาท

ท่ามกลางสภาพความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ มา 2 ปีแล้ว สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตร เกิดความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรหลายครัวเรือน ในพื้นที่ของอำเภอหันคา แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งคือ สวนไม้ผล เนื่องจากถ้าเสียหายแล้วคงต้องใช้เวลานาน อย่างน้อย 4-5 ปี กว่าจะให้ผลผลิต

คุณธนวัตร เอมอ่อง อธิบายระบบน้ำให้ คุณชัด ขำเอี่ยม เกษตรอำเภอหันคา รับทราบ

คุณกิตติชาติ ชาติยานนท์ เกษตรจังหวัดชัยนาท มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจเยี่ยมสวนของเกษตรกร สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำการดูแลรักษาในช่วงประสบภัยแล้งให้กับเกษตรกรได้รับทราบและเข้าใจ ในการนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ได้เร่งรัดในการลงตรวจเยี่ยมชาวสวนต่างๆ แต่เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อผู้อ่านจึงได้เก็บข้อมูลสวนไม้ผลที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากผู้อ่าน นั่นคือ สวนมะม่วงที่ยืนต้นสู้แดดที่แผดเผา แวดล้อมด้วยไร่มันสำปะหลัง บริหารจัดการโดยวิศวกรช่างกลเก่าผู้ผ่านงานบริษัทออกแบบชุดควบคุมรถแทรกเตอร์เป็นเวลาหลายปี แต่ต้องออกมาทำสวนด้วยความรักคุณพ่อ ซึ่งเป็นทหารอากาศ เจ้าของสิทธิบัตรมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งเป็นผู้รักการปลูกมะม่วงและขยายพันธุ์มะม่วง แต่พลาดพลัดตกต้นมะม่วงลงมาจนเส้นเอ็นที่ขาขาด หลังออกจากงานบริษัทรถแทรกเตอร์แล้ว ได้ศึกษาเรียนรู้การปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง สอดแทรกด้วยวิชาช่างกล สร้างเครื่องมือประกอบการบริหารในสวนมะม่วงได้อย่างลงตัว สร้างความสำเร็จท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่อำนวย แต่ให้ผลผลิตได้อย่างน่าชื่นใจ

คุณธนวัตร เอมอ่อง เจ้าของสวนผู้ใจดี นำ คุณสิรินทิพย์ แซ่หลิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ (เกษตรตำบลเด่นใหญ่) และ คุณกนกวรรณ เกษมณี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ เข้าเยี่ยมชมสวน

คุณธนวัตร เอมอ่อง หรือเพื่อนบ้านเรียก “ช่างเอ” เกษตรกรวัย 49 ปี บ้านเลขที่ 61 หมู่ที่ 7 บ้านสระแก้ว ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า หลังจากเรียนจบด้านช่างกลแล้ว สมัครเข้าทำงานในบริษัทออกแบบชุดประกอบรถแทรกเตอร์ เช่น ชุดคีบอ้อย ชุดเจาะหิน เป็นต้น แต่เมื่อ คุณพ่อ พ.อ.อ.สมาน เอมอ่อง ซึ่งเป็นทหารอากาศ และมีใจรักในการทำสวนมะม่วง ได้ปีนต้นมะม่วงเพื่อขยายพันธุ์และพลัดตกบาดเจ็บเส้นเอ็นข้อเท้าฉีกขาด จึงต้องออกจากงานบริษัทเพื่อดูแลคุณพ่อและสวนมะม่วงไร่สีทอง อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเข้าบริหารได้ 5 ปี พบปัญหาที่สำคัญคือ น้ำท่วมสวนเสียหาย ในปี 2552 จึงปรึกษากับคุณพ่อเปลี่ยนสถานที่สร้างสวนใหม่ โดยซื้อที่ทำกินในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เพราะเป็นที่สูง น้ำไม่ท่วมขัง เป็นเนื้อที่ทำไร่มันสำปะหลัง จำนวน 55 ไร่ ได้จัดแบ่งสถานที่เป็นสัดส่วน ดังนี้

เครื่องพ่นน้ำต่อพ่วงรถแทรกเตอร์
  1. ขุดสระน้ำ พื้นที่   1 ไร่
  2. มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง พื้นที่ 20 ไร่
  3. อ้อยโรงงาน พื้นที่   8  ไร่
  4. มันสำปะหลัง พื้นที่ 13  ไร่
  5. สวนมะนาว พื้นที่   5  ไร่
  6. ที่อาศัยและโรงเรือนต่างๆ พื้นที่ 1  ไร่
ชุดต่อพ่วงพ่นสารเคมี

เนื่องจากเป็นพื้นที่ทำไร่นอกเขตชลประทาน จึงต้องเสียพื้นที่ขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ โดยขุดสระลึก 8 เมตร นำดินมาถมทำถนนเข้าพื้นที่การเกษตร มุ่งหวังให้มีน้ำเพียงพอกับการทำสวนผลไม้และพืชไร่ อีกทั้งเพื่อการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงวางระบบท่อน้ำ โดยมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ให้กำลังอย่างเพียงพอ อีกทั้งมีบ่อบาดาลน้ำลึกสำรองอีก 1 บ่อ

ตัดแต่งกิ่ง ทำความสะอาดโคนต้นเพื่อการราดสารแพคโคลบิวทราโซล ชนิด 10 เปอร์เซ็นต์ ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม เพื่อให้มะม่วงออกดอกสม่ำเสมอ ออกช่อพร้อมกัน

“ช่างเอ” กล่าวว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์จากต้นแม่คือ น้ำดอกไม้พระประแดง นอกจากจะคงลักษณะที่ดีของต้นแม่ไว้แล้ว ยังมีสีผิวที่สวยสะดุดตา คือเป็นสีเหลืองอ่อนคล้ายมะม่วงสุก แม้ว่าจะยังอยู่บนต้นก็ตาม คือ ผลเล็กจะมีสีเขียวอ่อน แต่เมื่ออายุผล 2 เดือน เป็นต้นไป สีผิวจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง จนเหลืองเข้มเมื่อแก่จัด และที่สำคัญเมื่อเก็บผลในตอนแก่จัดมาบ่ม จะมีรสชาติหวาน หอม เนื้อไม่มีเสี้ยน เนื้อมีสีเหลือง เมล็ดบาง น้ำหนักต่อผล ประมาณ 300-400 กรัม คุณพ่อ พ.อ.อ.สมาน เอมอ่อง ได้ขยายพันธุ์จำหน่าย “ร้านตลิ่งชันพันธุ์ไม้” พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ชื่อพันธุ์มะม่วง “น้ำดอกไม้สีทอง” ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2545

บ่อน้ำบาดาล เพื่อเสริมน้ำเมื่อน้ำในสระลดลง

ซึ่งได้ขยายพันธุ์และนำมาปลูกในพื้นที่ 20 ไร่ จัดทำสวนแบบพื้นราบไม่ได้ยกร่อง วางระบบน้ำโดยใช้ท่อขนาดใหญ่ ติดสปริงเกลอร์เล็กในแต่ละต้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมา 10 ปี ไม่พบปัญหาโรคและแมลง การเจริญเติบโตดี เพราะถูกรายล้อมด้วยไร่มันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน แต่พบว่า ปี 2561 พบปัญหาภัยแล้ง น้ำในสระเหลือน้อย จึงต้องสูบน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นมาเพิ่มเติมลงสระ เพื่อให้สัตว์น้ำได้อาศัยเจริญเติบโต

อุปกรณ์พ่นน้ำที่ผลิตขึ้นมาต่อพวงกับรถแทรกเตอร์ ช่วยประหยัดแรงงาน

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มีข้อดี คือ มีผิว 2 ชั้น สามารถป้องกันการบอบช้ำ ป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อราแอนแทรกโนส อีกทั้งสามารถผึ่งทิ้งไว้ในอากาศไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยผิวสีทองยังคงรูปเหมือนเดิม และลักษณะที่ดีสรุป ได้ดังนี้

ผลมะม่วงในฤดู หลงเหลือให้เก็บผลเสริมสร้างรายได้
  1. เป็นพันธุ์ที่ออกดอกง่าย
  2. ผลมีขนาดโตพอดี รูปร่างสม่ำเสมอ 200-400 กรัม/ผล
  3. มีคุณภาพในการเก็บรักษาไว้ได้นานหลังการเก็บเกี่ยว
  4. ไม่อ่อนแอต่อโรคและแมลง ไม่ช้ำง่าย
  5. ผิวมีสีสันสะดุดตา รดชาติน่ารับประทาน ถูกกับรสนิยมของผู้บริโภค
สวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

คุณธนวัตร ให้แนวคิดการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเสริมว่า การปลูกมะม่วงต้องหมั่นสังเกตและเอาใจใส่ ได้แก่ การผสมเกสรไม่ดี จะพบว่า เมล็ดไม่สมบูรณ์ ผลที่ติดใหม่จะมีรูปร่างโค้งงอ อกผลเป็นร่อง ผลมักจะร่วงหล่นก่อน ถ้าขาดน้ำจะทำให้ผลร่วงได้หรือผลไม่ค่อยโต แต่ถ้าน้ำมากเกินไป ดินจะขาดอากาศ จะทำให้สลัดผลในระยะติดใหม่ๆ ได้ กรณีอาหารไม่พอ ผลก็จะร่วง แต่ถ้าไม่ร่วง ผลจะแคระแกร็น ไม่โตเท่าที่ควร ในส่วนของโรคที่พบมาก ได้แก่ โรคผลจุดดำ หรือแอนแทรกโนส โรคผลแตก โรคสแครป (ผลเป็นจุดเล็กๆ คล้ายตกสะเก็ด) แมลงที่มักเข้าทำลาย เช่น แมลงกัดกินขั้วผล และแมลงวันทอง ซึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมากเกินไป เกินกว่าคำแนะนำเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายและเปลืองต้นทุนเกินความจำเป็น

ระบบน้ำในสวน สร้างความสะดวกและประหยัดน้ำ

ดังนั้น การบริหารจัดการที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็นยิ่ง เช่น การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การป้องกันกำจัดโรคและแมลง และอื่นๆ ซึ่งการตัดแต่งกิ่งมะม่วงไม่ควรละเลย กล่าวคือ เมื่อแรกปลูกใหม่ ต้นมะม่วงจะมีการแตกแขนงบริเวณใกล้โคนต้น ควรตัดออกเสีย เพื่อให้โครงสร้างลำต้นโปร่งไม่อับทึบ เป็นที่สะสมของโรคและแมลง (ช่วงระดับ 1-2 ฟุต จากโคนต้นควรตัดทิ้ง) กิ่งที่อยู่ในทรงพุ่ม กิ่งที่ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร กิ่งที่เป็นโรค กิ่งที่เกิดไขว้กัน กิ่งแห้ง กิ่งกระโดง ที่แตกทำมุมแคบกับลำต้น ควรตัดออกทันที ควรตัดแต่งกิ่งมะม่วงหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว

สระกักเก็บน้ำ ใช้ในสวนมะม่วงและพืชไร่

เมื่อตัดแต่งกิ่งแล้ว การให้ปุ๋ยบำรุงต้นเพื่อชดเชยพลังงานที่สูญเสียไปกับการผลิดอกออกผล เกษตรกรจำเป็นต้องชดเชยด้วยการถากหญ้าและพรวนดินในแนวชายพุ่ม และให้ห่างออกมาจากชายพุ่มเล็กน้อย บำรุงดินด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก สำหรับปุ๋ยเคมีในช่วงนี้ ได้แก่ สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 และเสริมด้วยแคลเซียมไนเตรตโบรอน 15-0-0 (CNB) ใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วจึงกลบดินรอฝนตก หรือให้น้ำอีก 2 เดือน จะออกผล จึงให้ปุ๋ยเร่งบำรุงดอก สูตร 12-24-12 และฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ด 12-36-12 สัก 2 ครั้ง ก็พอ การบำรุงผลตั้งแต่ติดผลขนาดเล็ก ด้วยสูตร 14-14-21 หรือฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดสูตร 10-20-30 ให้ 2 ครั้ง อีกด้วย จากการดำเนินงานมา พบว่า การเสริมด้วยแคลเซียมไนเตรตโบรอน 15-0-0 (CNB) มีส่วนทำให้ดอกดกและขั้วดอกเหนียวอีกด้วยครับ

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ โทร. 081-823-4521 ยินดีต้อนรับและให้ข้อมูลครับ

……………………………………………………………………………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่