น้ำผึ้งโก๋นแท้ ของดีเชียงราย

แมลงต่างๆ มีส่วนช่วยในการผสมเกสร สำหรับผึ้งเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผสมเกสร ก่อนหน้านี้การเกษตรเชิงเดี่ยวให้ความสำคัญกับการกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยฉีดพ่นสารเคมี แต่สารเคมีไม่สามารถเลือกสังหารแต่แมลงศัตรูพืชเท่านั้น แมลงที่เป็นมิตรกับพืชก็พลอยถูกทำลายไปด้วย ผึ้งก็ถูกทำลายด้วยสารเคมีประเภทนี้เช่นกัน จนกระทั่งชาวสวนผลไม้ตระหนักว่า ผึ้งและแมลงหลายชนิดเป็นมิตรกับพืชและยังมีประโยชน์มหาศาลอีกด้วย ในต่างประเทศมีการเลี้ยงผึ้งกันมานานแล้ว โดยชาวสวนผลไม้จะยินดีให้คนเลี้ยงผึ้งนำรังผึ้งมาอยู่ในสวนเพื่อผสมเกสรให้ผลไม้ของตนเอง ทำให้ผลไม้มีผลผลิตดีกว่าปกติ และมีการจ่ายเงินตอบแทนให้คนเลี้ยงผึ้งด้วย เมื่อดอกบานจนหมดคนเลี้ยงผึ้งก็จะขนรังผึ้งตระเวนไปตามสวนผลไม้ที่ตกลงกันไว้เรื่อยๆ ไปเหมือนผึ้งยิปซี แต่ในประเทศไทยยังไม่มีอาชีพแบบนี้

น้ำผึ้งถือเป็นอาหารธรรมชาติที่มนุษย์รู้จักมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่ช่วยเสริมสุขภาพและมีสรรพคุณทางยา และเป็นอาหารบำรุงร่างกายและผิวพรรณ ในตำราสมุนไพรไทยยาหลายตำรับมีส่วนผสมของน้ำผึ้งซึ่งยาดังกล่าวมีสำหรับภายนอกและภายในร่างกาย ยิ่งคุณค่าทางอาหารและการบำรุงร่างกายเป็นสิ่งที่ตระหนักดี ปัจจุบันคนในสำนักงานมักใช้น้ำผึ้งใส่กาแฟแทนน้ำตาลกันอย่างแพร่หลาย

น้ำผึ้งส่วนใหญ่เป็นน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งเลี้ยงซึ่งเป็นสายพันธุ์ของต่างประเทศแถบยุโรป คุณสมบัติไม่ดุร้ายเหมือนผึ้งพื้นเมืองจึงเหมาะสำหรับเลี้ยงเป็นอาชีพ แต่ผึ้งเหล่านี้จะมีระยะการบินหาน้ำหวานจากเกสรไม่ไกลจากรังเท่าใดนัก ปัจจุบันน้ำผึ้งที่จำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะเป็นน้ำผึ้งเลี้ยงจากสายพันธุ์ผึ้งต่างประเทศ ส่วนน้ำผึ้งป่าที่นำมาขายจะเป็นผึ้งหลวงซึ่งอยู่ในป่าสมบูรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นอุทยานแห่งชาติ น้ำผึ้งโพรงเป็นน้ำผึ้งจากผึ้งที่อยู่ในเรือกสวนไร่นา แต่ยังไม่มีการเลี้ยงเป็นกิจจะลักษณะมากนัก เนื่องจากจะต้องมีทำเลที่เหมาะสมจึงจะมีปริมาณเพียงพอสำหรับทำเป็นอาชีพ

ครูสมศักดิ์ ศรีวรรณะ หรือ ครูต๋อย ครูชำนาญการโรงเรียนริมวัง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มักจะนำเรื่องราวการเกษตรมาเป็นต้นแบบเสมอ ได้บอกกล่าวเล่าความว่า “ผึ้งโก๋น เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวเหนือ ภาคกลางจะเรียกว่าผึ้งโพรง มีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ต่างประเทศที่มาเลี้ยงเพื่อเก็บน้ำหวานอยู่  ผึ้งพันธุ์ต่างประเทศขยันกว่าของผึ้งของไทย และไม่ค่อยจะทิ้งรังและจะมีจำนวนประชากรผึ้งต่อรังมาก ส่วนผึ้งโก๋นหากรู้สึกไม่ปลอดภัยก็จะทิ้งรัง และเมื่อจำนวนประชากรผึ้งมากเกินไปก็จะแยกรังทันที แต่ผึ้งโก๋นจะแข็งแรงและหากินน้ำหวานได้เก่ง มีรัศมีการบินหาน้ำหวานไกลถึง 4 กิโลเมตร”

 

เลี้ยงผึ้งโก๋นเพราะเหตุบังเอิญ

การเลี้ยงผึ้งโก๋นของครูต๋อยเกิดจากวันหนึ่งผึ้งโก๋นได้มาทำรังอยู่ในลำโพงเครื่องเสียงเก่าที่ตั้งไว้ข้างบ้าน จึงปล่อยให้มันอาศัยอยู่จนกระทั่งรังใหญ่พอที่จะเก็บน้ำหวานได้แล้ว จึงเก็บน้ำหวานออกจากรังมาได้น้ำผึ้งจำนวน 7 ลิตร ครูต๋อยจึงคิดว่าถ้าเราทำกล่องนำไปวางไว้ที่เหมาะสมก็จะมีผึ้งโก๋นเข้ามาอยู่แน่นอน ประกอบกับตอนเด็กเคยเห็นพ่อเลี้ยงผึ้งโก๋นในโพรง โดยในสมัยก่อนชาวบ้านจะโค่นต้นมะพร้าวแก่ลงมาแล้วตัดเป็นท่อนๆ เอาไส้ออกให้เป็นโพรงแล้วปิดหัวปิดท้าย หลังจากนั้น จะยาขอบหัวท้ายด้วยขี้ควายสดๆ เพื่อปิดไม่ให้แสงเข้า เมื่อขี้ควายแห้งก็จะเกาะปิดอย่างสนิท แล้วเจาะทางเข้าออกให้ผึ้งไว้ตรงกลาง นำมาวางไว้ในที่เหมาะสมข้างบ้านหรือในสวนก็จะมีผึ้งเข้ามาทำรัง

ผึ้งโก๋นเป็นผึ้งพื้นเมืองสามารถเลี้ยงได้ไม่ยาก ไม่ต้องเอาใจใส่ดูแลมากนัก และอาหารก็ไม่จำเป็นจะต้องหาให้กินด้วย ต่างกับผึ้งเลี้ยงพันธุ์ต่างประเทศในช่วงฤดูที่ไม่มีน้ำหวานจำเป็นต้องเอาน้ำตาลละลายน้ำให้กิน หลังจากศึกษาจากการสังเกตธรรมชาติของผึ้งโก๋น พบว่าผึ้งโก๋นออกไปหากินแต่เช้าตรู่และกลับมาตอนมืด แต่ละตัวเข้าออกจากรังหลายรอบเพื่อหาอาหาร นิสัยไม่ดุร้ายเหมือนผึ้งหลวง ถ้าเราไม่ไปสัมผัสกับตัวผึ้งโดยตรง ผึ้งจะไม่ทำอะไรเรา ก็คิดว่าสามารถเอามาเลี้ยงเป็นรายได้เสริมโดยลงทุนเพียงค่ากล่องไม้เท่านั้น

ผึ้งในรัง

ต่อมาจึงได้นำแผ่นไม้เก่ามาทำเป็นกล่องขึ้น ขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร เพื่อทำเป็นรังผึ้งโก๋น และใช้ขี้เลื่อยผสมกาวลาเท็กซ์เพื่อยาแนวแทนขี้ควาย ไม้ที่ใช้ควรเป็นไม้เก่าที่แห้งดีแล้วเพราะผึ้งไม่ชอบความชื้น จากในครั้งแรกได้ทำกล่องไว้ 10 รัง ได้ใช้ขี้ผึ้งโก๋นจากรังตู้ลำโพงมาทาไว้ที่รังเพื่อล่อผึ้งให้เข้ากล่องมาทำรัง แล้วนำรังผึ้งไปวางไว้ในที่ที่เหมาะสม เช่น ข้างบ้านที่ไม่ค่อยมีคนรบกวน และตามสวนบริเวณใต้ต้นไม้ที่เป็นที่ร่มไม่มีแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน เพราะความร้อนจะมีผลต่อรังทำให้รังละลายแล้วหล่นลงมากองกับพื้นกล่อง จะเกิดหนอนขึ้นผึ้งก็จะทิ้งรัง รังที่วางไว้บนเสาจะต้องเอากาวดักหนูทาไว้เพื่อป้องกันมด แมลงและหนูเข้าไปทำลายรัง ส่วนที่วางกับพื้นจะเอาแป้งข้าวเจ้าโรยโดยรอบ

 

ผึ้งโก๋นเป็นพันธุ์ท้องถิ่นดูแลง่าย

การวางรังใหม่ที่เหมาะสมสำหรับที่นี่คือจะวางไว้ตอนเดือนธันวาคม ภาคเหนือดอกไม้จะเริ่มบานตั้งแต่เดือนธันวาคม เช่น ดอกงิ้ว ดอกทองกวาว พอเดือนมกราคม ลิ้นจี่ก็บาน ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ ดอกลำไยจะบาน ต่อมาจะเป็นดอกไม้ป่า สวนของครูต๋อยจะอยู่ติดเขาหรือเทือกเขาผีปันน้ำของอำเภอพาน เมื่อมีดอกไม้จำนวนมากก็เท่ากับมีอาหารอุดมสมบูรณ์สำหรับผึ้ง ประชากรผึ้งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผึ้งโก๋นจึงเริ่มจะทยอยแยกรังในช่วงนี้

ช่วงที่ผึ้งเริ่มเข้ารังต้องหมั่นตรวจดูสภาพแสงไม่ให้ส่องกระทบกล่องโดยตรง จึงควรขยับย้ายให้เข้าที่ และดูแลว่ามีศัตรูมดแมลงมารบกวนหรือไม่ ช่วงมกราคม-มีนาคมนี้ดอกไม้บาน อาหารของผึ้งจะสมบูรณ์ เราสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นไปจนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม ก่อนฤดูฝนจะมา น้ำผึ้งช่วงนี้เรียกว่าน้ำผึ้งเดือนห้า ถือเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดเพราะไม่มีความชื้นจากฝน แต่ถ้าเกิดฝนหลงฤดูตกในเวลาช่วงนี้จะต้องรอจนครบ 7 วันเพื่อให้รังผึ้งแห้งดีก่อน ถ้าตัดก่อนน้ำผึ้งจะมีความชื้นทำให้น้ำผึ้งด้อยคุณภาพลง 

เริ่มสร้างรัง

น้ำผึ้งบริสุทธิ์ที่ไม่คั้นรวง

การตัดรังผึ้งของครูต๋อยจะใช้เครื่องแต่งกายง่ายๆ คือ รองเท้าบู๊ต กางเกงยีน เสื้อแขนยาว ถุงมือ และหมวกที่มีตาข่ายคลุมหน้า ครูต๋อยแนะนำว่า ในการตัดรังผึ้งต้องขยับตัวช้าๆ อย่าเร็วให้ผึ้งตกใจ ก่อนอื่นต้องเคาะรังผึ้งเพื่อเตือนให้รู้ว่ามีภัย ผึ้งจะหลบไปก้นรัง จะทำให้ตัดได้ง่าย และใช้กาพ่นควันที่ใช้เปลือกมะพร้าวพ่นที่รังผึ้ง เมื่อยกฝาออกก็จะใช้มีดคมๆ ปาดรังผึ้งออกมาให้หมด หลีกเลี่ยงการตัดรังผึ้งตอนกลางคืนเพราะผึ้งจะกลับรังมาซึ่งจะมีปริมาณผึ้งในรังถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนกลางวันผึ้งจะออกหากอาหารเสีย 70 เปอร์เซ็นต์ ผึ้งเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ทำให้จัดการง่ายขึ้น

เมื่อตัดรังผึ้งแล้วนำมาใส่ผ้าขาวบาง แล้วเอามีดปากเปิดหน้ารวงทั้งแผ่นเพื่อให้น้ำผึ้งไหลออกมาได้โดยไม่มีไขผึ้งกักอยู่ แล้วใส่ถุงพลาสติกมัดไว้อย่างในรูป ให้น้ำผึ้งหยดลงในถุงตามแรงดึงดูดของโลกทีละหยด ใช้เวลาประมาณ 36 ชั่วโมงน้ำผึ้งจะไหลลงมาหมด ครูต๋อยบอกว่าจะไม่มีการบีบรังผึ้งเพื่อคั้นน้ำผึ้งออกมา เพราะถ้าเอามือบีบจะทำให้ส่วนที่เป็นไข่อ่อนแตก ของเหลวจะปนลงไปในน้ำผึ้งทำให้น้ำผึ้งมีความชื้นสูงขึ้น และการที่บีบจะทำให้ละอองเกสรดอกไม้ตกลงไปในน้ำผึ้งทำให้น้ำผึ้งขุ่นเป็นตะกอนเกสรดอกไม้ เพราะฉะนั้น จึงมั่นใจได้ว่าน้ำผึ้งของที่นี่จะไม่ได้สัมผัสมือคนเลย

หลังจากผ่านเวลา 36 ชั่วโมงแล้วก็จะนำถุงพลาสติกมารอง คลี่ใส่ถังรองไว้ ตัดมุมใดมุมหนึ่งของถุงเพื่อให้น้ำผึ้งไหลลงสู่ถุงพลาสติกที่รองไว้ในถังจนหมด เมื่อได้น้ำผึ้งทั้งหมดรวมในถุงพลาสติกแล้วก็จะตัดมุมถุงบรรจุใส่ขวดเพื่อจำหน่าย ถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายๆ แบบมือไม่ได้สัมผัสน้ำผึ้งเลย

น้ำผึ้งโก๋นที่จำหน่ายขวดละ 200 บาท 500 ซีซี หรือ 660 กรัม ถ้าเป็นรังผึ้งอ่อนจะมีเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ขายกิโลกรัมละ 400 บาท ขี้ผึ้งจำหน่ายเป็นก้อนน้ำหนัก 60 กรัม ก้อนละ 50 บาท  กล่องรังผึ้งที่เป็นไม้อัดจำหน่ายกล่องละ 300 บาท กล่องไม้จริงจำหน่ายกล่องละ 500 บาท ส่วนค่าขนส่งผู้ซื้อเป็นคนออก

สนใจวิธีการเลี้ยงหรือน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งเพื่อการบริโภค สามารถติดต่อ ครูต๋อย ที่เบอร์โทรศัพท์ (088) 254-0667 หรือเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ ศรีวรรณะ

กล่องเลี้ยงข้างบ้าน
ผึ้งโพรงตามธรรมชาติ
น้าผึ้งจากดอกลำใย
ตัดสดส่งลูกค้า


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่