บัณฑิตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เลี้ยงชันโรงครบวงจร เป็นอาชีพเสริมรายได้

ชันโรง เป็นผึ้งจิ๋ว ที่ปัจจุบันมีผู้คนให้ความสนใจนำมาเลี้ยงเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเก็บน้ำหวานเพื่อไว้รับประทานแล้ว ชันโรงยังสามารถช่วยผสมเกสรได้เป็นอย่างดี โดยชาวสวนผลไม้บางพื้นที่จะนำชันโรงไปเลี้ยงภายในสวนของตัวเอง เมื่อถึงหน้าที่ผลไม้เริ่มออกดอกแมลงจิ๋วอย่างชันโรง นอกจากออกหาอาหารเพื่อนำมาเก็บสะสมสร้างเป็นน้ำหวานไว้ภายในรังแล้ว ประโยชน์ที่ได้ตามมานั้นก็คือ การผสมเกสรได้รับการผสมอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชันโรงช่วยให้มีการผสมที่สมบูรณ์ ทำให้เกษตรกรชาวสวนนอกจากได้ผลผลิตที่มากขึ้นแล้ว ยังสามารถจำหน่ายน้ำหวานและขยายรังชันโรงจำหน่ายสร้างรายได้อีกด้วย

คุณชโลธร นพฤทธิ์

คุณชโลธร นพฤทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 77 หมู่ที่ 7 ตำบลกระแจะ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาพืชสวน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มีโอกาสรู้จักกับความมหัศจรรย์ของผึ้งจิ๋วอย่างชันโรง จึงทำให้คุณชโลธรได้เรียนรู้และพัฒนาการเลี้ยงภายในสวนของเขา จนสร้างเป็นอาชีพเสริมที่ทำควบคู่ไปกับงานประจำได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งพัฒนาน้ำหวานมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป ทำให้เกิดรายได้หลากหลายจากการเลี้ยงผึ้งจิ๋วชนิดนี้

กล่องสำหรับใส่เลี้ยง

คุณชโลธร เล่าให้ฟังว่า เมื่อจบการศึกษาแล้วได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเรื่องของการเลี้ยงชันโรง ต่อมาเมื่อทำสวนอยู่ที่บ้าน ได้เห็นชันโรงธรรมชาติในบริเวณพื้นที่สวนของตัวเอง ก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะช่วงนั้นยังไม่ได้ศึกษาการเลี้ยงอย่างจริงจัง จึงทำให้ไม่สามารถแบ่งรังของชันโรงมาเลี้ยงได้ เมื่อได้เข้ามาทำงานหน่วยงานราชการอย่างเต็มตัว ได้รับมอบหมายให้อยู่ในหน่วยงานของการดูแลพืชผัก และต่อมามีแผนการผลิตในเรื่องของการนำชันโรงมาสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ จึงทำให้เขาต้องศึกษาอย่างลึกซึ้งในเรื่องของการเลี้ยงชันโรง จึงเกิดประสบการณ์ที่นอกจากจะนำมาบอกสอนผู้สนใจแล้ว คุณชโลธรยังสามารถสร้างเป็นอาชีพเสริมของตนเองได้อีกด้วย

ชันโรงหาน้ำหวานตามเกสรดอกไม้

“พอเราต้องรับผิดชอบตั้งศูนย์การเลี้ยงชันโรงของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้ต้องไปอบรมอีกครั้งหนึ่ง ทีนี้ได้รับความรู้มาหลายอย่าง ตั้งแต่วิธีการแยกรัง การเลี้ยงไข่ การเลี้ยงนางพญา การดูแลตัวอ่อน ไข่อ่อน ไข่แก่ กระบวนการเรียนรู้ของเราก็สมบูรณ์มากขึ้น จากนั้นก็ได้มาทดลองทำที่ศูนย์เรียนรู้ของเรา ผมก็ได้ฝึกอย่างเต็มตัว พร้อมทั้งไปหาชันโรงจากธรรมชาติเข้ามาเลี้ยง โดยหาจากแหล่งธรรมชาติและศูนย์เลี้ยงต่างๆ ซึ่งชันโรงที่ใช้เลี้ยงจะเป็นพันธุ์ชันโรงหลังลายกับพันธุ์ขนเงิน ซึ่งทั้งสอง 2 พันธุ์นี้สามารถหาได้ทั่วไป อย่างชันโรงพันธุ์หลังลายค่อนข้างรักรังและขยายพันธุ์ได้เร็ว ส่วนพันธุ์ขนเงินค่อนข้างดุ และมีความขยันในการหาอาหารเป็นอย่างมาก ผมเลยเลือก 2 สายพันธุ์นี้มาเลี้ยงในศูนย์ และเลี้ยงเองที่บ้านเพื่อทำเป็นอาชีพเสริม” คุณชโลธร เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงชันโรง

ภายในรังของชันโรง

ในขั้นตอนแรกของการเลี้ยงชันโรงให้ประสบผลสำเร็จนั้น คุณชโลธร บอกว่า ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ในช่วงแรกอาจเตรียมอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายๆ มาทำแยกรังออก หรือถ้าต้องการให้มีมาตรฐานมากขึ้น ก็อาจใช้ไม้ที่มีอยู่หรือที่เหลือใช้มาประกอบให้เป็นลักษณะกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดของลังที่เหมาะสมใช้เลี้ยงก็มีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงว่าต้องการเลี้ยงไปในลักษณะใด ขนาดลังเลี้ยงที่นิยมและมีความเหมาะสมทั่วไป ใช้กันเป็นขนาดกลาง อยู่ที่ ความยาว 30 เซนติเมตร ความกว้าง 15 เซนติเมตร และความสูงอยู่ที่ 11 เซนติเมตร พร้อมกับสร้างฝาปิดให้เรียบร้อย

สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้งชันโรง

เมื่อเห็นว่ารังเก่าของชันโรงมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จะนำมาแยกออกใส่ลงในกล่องเลี้ยงใหม่ โดยการแยกอุปกรณ์ต้องมีความสะอาด เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นภายในรังเก่าและใหม่ได้ การแยกรังชันโรงมาอยู่ในกล่องเลี้ยงใหม่นั้น ต้องแยกเกสรที่เป็นแหล่งอาหาร ไข่อ่อน ไข่แก่ และตัวอ่อนของนางพญามา พร้อมทั้งนำน้ำหวานใส่ลงมาด้วย เพื่อให้ภายในกล่องที่แยกรังใหม่มีส่วนประกอบของรังครบถ้วน จากนั้นนำชันของรังชันโรงเก่ามาแปะไว้บริเวณปากทางเข้ากล่องรังใหม่ เพื่อให้ตัวชันโรงรู้กลิ่นของรังเก่าด้วย ก็จะช่วยให้ชันโรงจากรังเก่าบางส่วนย้ายไปอยู่รังใหม่ และสร้างรังใหม่ให้มีความแข็งแรงต่อไปได้

น้ำผึ้งชันโรง

“พอเราย้ายรังใหม่ใส่กล่องใหม่ได้เรียบร้อยแล้ว ทีนี้เราก็เอาปากรังเก่าเพื่อให้ตัวชันโรงที่อยู่นอกรังบินเข้ารังเก่า จากนั้นนำกล่องรังเก่า ย้ายออกไปให้ไกลจากที่บริเวณของกล่องรังใหม่ที่เราแยกไว้ ตัวชันโรงที่อยู่ข้างนอกเมื่อไม่เห็นรังเก่า ก็จะบินเข้ารังใหม่ที่เราแยกไว้เอง ซึ่งการแยกที่ดีที่สุดควรแยกตอนกลางคืน เพราะจะช่วยให้ไม่เสียตัวชันโรงที่เป็นผึ้งงานเยอะเกินไป จากนั้นตั้งทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน รังก็จะสร้างองค์ประกอบพร้อมอย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น เราก็สามารถจำหน่ายได้เลย ส่วนรังไหนที่เราไม่ได้ขายก็เก็บน้ำหวานให้ได้ปริมาณมากๆ แล้วบรรจุเพื่อเตรียมจำหน่ายต่อไป” คุณชโลธร บอก

การย้ายรังชันโรง

ในเรื่องของแมลงศัตรูพืชที่ชอบทำลายผึ้งชันโรงนั้น คุณชโลธร บอกว่า จะเป็นมวนเพชฌฆาตและนกตัวเล็กๆ ที่ชอบบินมากินตัวชันโรงที่หน้ารัง และที่ต้องระวังมากที่สุดคือ จิ้งจก ที่ชอบเกาะอยู่ที่ปากรูทางเข้าออกของรัง เวลาที่ชันโรงบินผ่านจะกินตัวชันโรงทันที ดังนั้นต้องหมั่นเฝ้าสังเกตอยู่เสมอ

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายชันโรงที่เลี้ยง การทำตลาดส่วนใหญ่จะเน้นจำหน่ายแบบออนไลน์ โดยลูกค้าที่อยู่ตามที่จังหวัดห่างไกลเข้ามาสั่งซื้อจากเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อได้จำนวนการสั่งซื้อก็จะตรวจดูรังแยกที่สมบูรณ์ พร้อมกับจัดส่งให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ใกล้หรือไกล ก็สามารถจัดส่งให้ได้ถึงที่ โดยที่ไม่ต้องเข้ามาซื้อถึงหน้าสวน แต่ถ้าเกษตรกรท่านใดหรือลูกค้าท่านไหนสนใจอยากเรียนรู้ก็สามารถติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานได้

ผู้สนใจการเลี้ยงเข้าศึกษาดูงาน

โดยจำหน่ายชันโรงต่อ 1 รัง ราคาอยู่ที่ 1,000-1,500 บาท ขึ้นอยู่ว่าภายในรังมีองค์ประกอบครบมากน้อยขนาดไหน ซึ่งแต่ละรังจะมีราคาที่แตกต่างกันไป ส่วนน้ำหวานที่เก็บได้จากรังชันโรง ราคาจำหน่ายอยู่ที่ ซีซีละ 2 บาท และนอกจากนี้ยังได้นำน้ำหวานของผึ้งชันโรงมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย อย่างเช่น การทำเป็นสบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้งชันโรง ก็ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกด้วย

รังชันโรงที่อยู่ในสวน

“สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงชันโรง อยากบอกว่าตลาดยังสามารถไปได้เรื่อยๆ อย่างคนที่เป็นเจ้าของสวนก็สามารถเลี้ยงได้ เพื่อให้ชันโรงเป็นตัวช่วยในเรื่องของการผสมเกสร นอกจากจะได้น้ำผึ้งเป็นผลพลอยได้แล้ว ยังสามารถให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ดีอีกด้วย พอรังเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ได้เรียนรู้การเลี้ยงไปเรื่อยๆ ทีนี้ก็จะทำให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จ และขยายการเลี้ยงสร้างรายได้ไปหลากหลายช่องทาง เกิดเป็นรายได้ทดแทนอื่นๆ ต่อไปได้” คุณชโลธร แนะนำ

การย้ายรังใหม่ใส่กล่องใหม่

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงชันโรง หรือต้องการเข้าศึกษาดูงานในเรื่องของการเลี้ยงและการจัดการต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชโลธร นพฤทธิ์ หมายเลขโทรศัพท์ 089-253-7634