หนุ่มบางบ่อ พลิกนาทำบ่อเลี้ยงปลา-กุ้ง บริหารจัดการผ่านทุกวิกฤติ สร้างเม็ดเงินตลอดปี

ทุกๆ ฤดูกาล การทำการเกษตร จำเป็นต้องปรับวิธีการจัดการให้ดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งผลผลิตและการประคองรายได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเกษตรกรเองว่ามีกลยุทธ์และพลิกแพลงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำการเกษตรได้แค่ไหน

คุณศุภกิตติ์ เซียนประเสริฐ

คุณศุภกิตติ์ เซียนประเสริฐ หรือ คุณอ้วน หนุ่มวัย 40 ต้นๆ ที่จับอาชีพเลี้ยงปลาและกุ้งมานาน ปัญหาการเลี้ยงกุ้งและปลา มีไม่แตกต่างจากเกษตรกรรายอื่น แต่ทุกๆ วิกฤติที่ผ่านเข้ามา คุณอ้วน ก็มีวิธีการจัดการให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างไม่มีปัญหา

พื้นที่ 16 ไร่ จากเดิมเป็นที่นา คุณศุภกิตติ์ ปรับพื้นที่ให้เป็นบ่อเลี้ยงปลา และเลี้ยงกุ้ง โดยเลี้ยงแบบผสมผสานภายในบ่อเดียวกัน เพื่อให้เกิดรายได้ตลอดปี

คอนโดฯ อุปกรณ์สำหรับจับกุ้ง

คุณศุภกิตติ์ บอกว่า การปรับพื้นที่ทำนาเพื่อใช้เลี้ยงปลา เป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เนื่องจากสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ และหญ้า ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพสัตว์น้ำเป็นอย่างดี

เพราะปลากินพืช สามารถเลี้ยงรวมในบ่อเดียวกันได้หลายชนิด คุณศุภกิตติ์ จึงเลือกเลี้ยงปลาหลายชนิดไว้ในบ่อเดียวกัน เป็นปลายี่สก ปลาตะเพียน และปลานิล โดยเน้นจำนวนปลานิลมากกว่าชนิดอื่น เหตุผลเพราะปลานิลเป็นปลาตลาดที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย ทำให้ราคาซื้อขายปลานิลไม่ต่ำลงในทุกฤดูกาล อีกทั้ง ปลานิล เป็นพันธุ์ปลาแปลงเพศ เหมาะกับการเลี้ยงเพื่อบริโภคทางการค้า เพราะโตเร็ว มีอัตราเนื้อมาก

สภาพนาข้าวที่ปรับมาเลี้ยงปลาและกุ้งในบ่อเดียว

“เหตุผลที่ผมเลือกเลี้ยงปลาในบ่อเดียว เพราะง่ายและสะดวกต่อการบริหารจัดการ อีกทั้งบ่อเลี้ยงขนาดใหญ่จะช่วยให้ประชากรปลาไม่แออัด อยู่อย่างมีความสุข ไม่เครียด ส่งผลให้ปลามีสุขภาพดี กินอาหารได้มาก แข็งแรง โตเร็ว จับขายได้ราคาดี แต่ถ้าเป็นบ่อเล็กที่มีพื้นที่จำกัด จะทำให้เกิดความแออัด จนทำให้ปลามีขนาดตัวเล็ก ไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกันจะทำให้ปลาแต่ละชนิดเกื้อกูลกัน เช่น ปลายี่สก ชอบกินอาหารที่ตกอยู่ใต้บ่อ จึงไม่ต้องกังวลว่าอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่วนปลาตะเพียน เป็นปลาที่ชอบกินหญ้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบริเวณริมบ่อ จึงไม่สิ้นเปลืองอาหาร”

การปล่อยปลาลงบ่อสำหรับการเลี้ยงในแต่ละรอบการจับ คุณศุภกิตติ์ จะปล่อยปลานิล จำนวน 35,000 ตัว ปลาตะเพียน จำนวน 2,000 ตัว และปลายี่สก จำนวน 250 ตัว

ผูกรำอาหารปลาไว้กลางบ่อเป็นจุด

อาหาร ใช้รำข้าวเป็นอาหารของปลาทุกชนิดที่เลี้ยง เพราะหาง่ายในพื้นที่ มีโรงสีข้าวและมีราคาถูก โดยให้อาหารเพียงครั้งเดียวในตอนเช้า ประมาณ 08.00 น. ของทุกวัน ด้วยการแขวนรำขนาดน้ำหนัก 40 กิโลกรัม ไว้กลางบ่อ

คุณศุภกิตติ์ บอกด้วยว่า จะต้องพยายามหาวิธีควบคุมการเลี้ยงเพื่อให้ปลาทุกตัวมีขนาด/น้ำหนัก ตามที่ตลาดต้องการ ทั้งนี้ เพื่อให้ราคาปลาที่ขายเท่ากัน ส่วนอาหารเม็ดใช้เลี้ยงเสริมในเฉพาะช่วงที่ต้องการทำน้ำหนักปลา แต่หลังจากปลามีน้ำหนักตามต้องการแล้ว ก็จะเปลี่ยนมาใช้รำเลี้ยงตามปกติ เพื่อให้เกิดการประหยัด แล้วอาหารเม็ดที่ใช้ ประมาณ 1.5 ตัน ต่อรอบ จะเริ่มให้อาหารเม็ดเมื่อปลามีอายุประมาณ 6 เดือน ไม่ควรใช้อาหารเม็ดอย่างเดียว เพราะมีต้นทุนสูงถึง 2 เท่า

นำใส่กล่อง เตรียมส่งขายที่แพกุ้ง

การปล่อยปลา แม้จะได้ลูกปลามาในระยะเวลาเท่ากัน แต่การปล่อยปลาจะปล่อยพร้อมกันทุกชนิด ไม่ได้ ซึ่งเทคนิคการปล่อยปลา ทำดังนี้ เริ่มปล่อยปลานิลลงบ่อก่อน กระทั่งปลานิลโตจนมีขนาดตัวประมาณ 4 นิ้ว หรือระยะเวลาการเลี้ยง 4 เดือน จึงปล่อยปลาตะเพียนและปลายี่สกตาม เนื่องจากปลาตะเพียนเป็นปลาที่กินอาหารเร็วมาก หากปล่อยพร้อมปลานิล จะแย่งอาหารปลานิลกินหมด

กุ้งขาว ที่เพิ่งจับจากบ่อ ยังไม่ได้คัดแยกขนาด

สำหรับผู้มารับซื้อมี 2 แบบ คือ แบบรับซื้อปลาสดที่ต้องใช้ออกซิเจนติดไว้กับรถขนปลา หรือปลาอ๊อก เพื่อนำปลาสดไปขายหลายแห่ง คนรับซื้อกลุ่มนี้จะมีคนงานมาลากปลา โดยจะซื้อครั้งเดียวทั้งบ่อ แต่จะแบ่งจับปลาคราวละประมาณ 5 ตัน หรืออีกกลุ่มเป็นคนรับซื้อเป็นปลาน็อกน้ำแข็ง ก็จะวิดบ่อให้แห้งแล้วจับครั้งเดียวเพื่อแช่น้ำแข็งนำไปขาย

ความแตกต่างในการขายปลาน็อกน้ำแข็งและปลาสด ก็เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาปลาได้ เช่น ปลายี่สกและปลาตะเพียน เมื่อทำเป็นปลาน็อกน้ำแข็ง จะมีราคาสูงกว่าปลานิล ส่วนปลานิลหากขายเป็นปลาสด จะได้ราคาดีกว่า และขนาดปลาที่ตลาดต้องการ จะอยู่ที่น้ำหนักต่อตัว 8 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม

การจับปลา

ในช่วงสถานการณ์โรคติดต่อโควิด-19 และปัญหาค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่เริ่มทยอยส่งผลกระทบต่อเกษตรกรถ้วนหน้านั้น สำหรับคุณศุภกิตติ์เอง ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มาก เนื่องจากคุณศุภกิตติ์ มองการทำการเกษตรเผื่อล่วงหน้าระยะยาวไว้ และประเมินสถานการณ์ทุกครั้งที่ลงมือทำ

คุณศุภกิตติ์ แนะด้วยว่า การซื้อขายปลา จำเป็นต้องศึกษากลไกของตลาดให้ดี เพราะทุกๆ ตลาดการค้า มีกลไกอยู่ในตัวเอง หากจับทางถูกก็ให้นำมาปรับกับการทำการเกษตรของตนเอง เช่น การปรับลดต้นทุนการผลิตหรือควบคุมต้นทุนให้อยู่ในการบริหารจัดการที่เหมาะสม เช่น รำข้าว อาจจะมีราคาสูงในช่วงนั้น ก็เลือกใช้หญ้าเนเปียร์แทน เพราะราคาถูกกว่า เปรียบเทียบราคารำตันละ 9,500 บาท แต่หญ้าเนเปียร์ราคาตันละ 3,000 บาทเท่านั้น

ปลาขนาดที่ตลาดต้องการ

ถามว่า ทำไมจึงไม่ปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าอาหารในพื้นที่เกษตรเอง คุณศุภกิตติ์ บอกว่า พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ใกล้บ่อเลี้ยงปลา ไม่เหมาะสม เนื่องจากความสูงของลำต้นสร้างปัญหาต่อกระแสลมที่พัดเข้าบ่อปลาที่สร้างคลื่นในบ่อ ซึ่งเป็นตัวช่วยสร้างออกซิเจนในน้ำให้มีมากขึ้น

การเลี้ยงปลาในแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลาประมาณ 9 เดือน สำหรับจับปลาสดขาย ส่วนปลาน็อกน้ำแข็ง ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานกว่า ถึง 11 เดือน เพื่อวิดบ่อจับในคราวเดียว และหลังจากจับปลาขายหมดแล้ว ต้องพักบ่อด้วยการตากบ่อไว้ประมาณ 3 วัน พร้อมกับหว่านจุลินทรีย์เม็ดใส่ในบ่อ เพื่อปรับสภาพดินและฆ่าเชื้อโรคในดิน อีกทั้งจุลินทรีย์ยังช่วยสร้างแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติ จากนั้นให้พักทิ้งไว้อีก 3 วัน จึงปล่อยน้ำเข้าบ่อ

คุณศุภกิตติ์ ลงมือเองทุกอย่าง

โอกาสเกิดโรคในบ่อปลา มีไม่มาก แต่หากพบจะแก้ไขได้ยากมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่นกตามธรรมชาติที่บินจากแหล่งอื่น ถ่ายมูลที่มีเชื้อโรคลงบ่อ วิธีแก้ไข คุณศุภกิตติ์ บอกว่า ต้องหมั่นสังเกตุ และใส่จุลินทรีย์ปรับสภาพน้ำให้มีความสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

สภาพบ่อยามเย็น

สำหรับกุ้ง คุณศุภกิตติ์ เลี้ยงกุ้งขาว เริ่มต้นจากซื้อลูกกุ้งจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ ในราคาตัวละ 4 สตางค์ ทยอยปล่อยลูกกุ้งลงบ่อเดือนละครั้ง ในจำนวนครั้งละ 100,000-200,000 ตัว การแบ่งปล่อยลูกกุ้งเป็นรุ่น เพราะต้องการจับกุ้งชุดแรกขายก่อนในช่วงเวลา 2 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน สำหรับอาหารของกุ้งได้จากอาหารปลา

ทุก 2 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน จะทยอยจับกุ้งขายเป็นรุ่น โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า คอนโดฯ เป็นช่องตาข่ายขนาดเท่ากับตัวกุ้งที่ต้องการจับขาย แต่ถ้ากุ้งตัวเล็กกว่าจะหลุดรอดออกไป ทำให้การเลี้ยงกุ้งขายมีรายได้ตลอดทั้งปี

การขายกุ้ง เมื่อจับด้วยคอนโดฯ แล้ว จะนำไปขายที่แพรับซื้อห่างจากบ่อไม่ไกล เมื่อถึงแพรับซื้อ จะต้องคัดแยกขนาดกุ้ง ถ้าตัวใหญ่จะตักออกมาชั่งน้ำหนักว่า ใน 1 กิโลกรัม มีจำนวนกี่ตัว โดยราคากุ้ง จำนวน 50 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 180-200 บาท หรือจำนวนกุ้ง 100 ตัว ต่อกิโลกรัม มีราคา 125 บาท โดยการกำหนดราคารับซื้อ-ขายกุ้งขาวจะมาจากทางตลาดมหาชัย ทั้งนี้ รายได้แต่ละครั้งไม่เท่ากัน เพราะกุ้งที่จับจากบ่อในแต่ละครั้งมีขนาดและน้ำหนักแตกต่างกัน

คุณศุภกิตติ์ กล่าวว่า ถ้าถามเรื่องทุนต้องบอกว่าเป็นการขายกุ้งเพื่อเลี้ยงปลา เพราะกุ้งจับขายได้บ่อย จึงนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงปลาโดยไม่ต้องควักทุนเดิม ฉะนั้น เมื่อถึงคราวจับปลาขายก็จะเห็นเป็นกำไร แต่ทั้งนี้ก็อาจมีความเสี่ยงตรงกุ้งที่ปล่อยในบ่ออาจจับขายได้ไม่เต็มจำนวนที่ปล่อย อาจเหลือสัก 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะถูกปลาที่เลี้ยงในบ่อกินเป็นอาหารถ้ากุ้งโตช้า แต่อาศัยว่าราคาขายกุ้งสูงกว่าปลาถ้าจับได้จำนวนน้อย แต่ราคายังมีมากพอที่จะไม่ต้องควักทุนเพิ่ม

ด้วยการบริหารจัดการเป็นระบบเช่นนี้ เมื่อภาวะวิกฤติทุกอย่างประดังเข้ามา ทำให้คุณศุภกิตติ์ ยังสามารถยืนหยัดทำการเกษตรได้อย่างไม่ย่อท้อ คุณศุภกิตติ์ บอกด้วยว่า การทำการเกษตร ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายเพียงตัวเงินที่จะได้รับเมื่อผลผลิตถูกจำหน่ายออกไป แต่ต้องทำด้วยใจรัก ทำเพราะรักในอาชีพ ซึ่งทุกครั้งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติใดก็ตาม อาชีพที่ดำเนินอยู่ก็ยังสามารถพยุงให้เขาและครอบครัว ผ่านวิกฤติไปได้ทุกครั้ง

สำหรับคนที่สนใจต้องการซื้อ คุณอ้วน บอกว่า คงขายได้เฉพาะกุ้งขาว เพราะปลาที่เลี้ยงส่วนมากมีพ่อค้าประจำมาเหมาซื้อทั้งบ่อล่วงหน้า

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุภกิตติ์ เซียนประเสริฐ หมู่ 9 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ (063) 328-9963