่เรียนรู้เกษตรเชิงพุทธ “วัดพระพุทธฉาย” ปลูกผัก ลดรายจ่าย สร้างรายได้

ในปี 2563  กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แก้ไขปัญหาความอดอยากหิวโหย (Zero Hunger) ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยให้คนไทยอิ่มท้อง อิ่มตา อิ่มใจ และสร้างอาชีพให้แก่คนไทยจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวว่า การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้พัฒนาชุมชนเกษตร ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศไทย ช่วยสร้างความเข้มแข็งมาจากข้างในตัวเราก่อน คือการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด คือ

1. ระดับครัวเรือน รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

2. ระดับอาชีพ คือส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อให้เกิดอาชีพที่ยั่งยืน โดยน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ครอบครัว ได้ดำเนินการเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เน้นปลูกพืชอาหาร มีแหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัยอย่างสมดุล ทำให้เกิดความมั่นคงและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายในปี 2565

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

พช. สนับสนุนปลูกผักในวัด

ที่ผ่านมา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำริให้วัดที่มีความพร้อม จัดตั้งโรงทานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) และดำเนินการโครงการสวนครัวนำสุขพอเพียง เพียงพอตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยทางวัดร่วมกับชาวบ้านในชุมชนช่วยกันปลูกพืชผักสวนครัว ในพื้นที่วัด เพื่อให้ชาวบ้านสามารถมาหยิบผักไปกินได้ฟรี

ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และ ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้นำเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวมาถวาย สมเด็จพระสังฆราชฯ เพื่อประทานแก่วัดทั่วประเทศ

“วัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี เป็นหนึ่งในต้นแบบด้านการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยทางวัดเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดิน ได้ใช้พื้นที่วัดปลูกพืชผัก ทำให้เกิดการเรียนรู้เกษตรเชิงพุทธตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้พลังบวร ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจช่วยกันปลูกดูแลแปลงพืชผักแล้วนำมาแบ่งปันกันในชุมชนอย่างเอื้ออาทรกันแบบพอเพียง ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมๆ กัน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว

หนึ่งอำเภอ หนึ่งวัด ปฏิบัติธรรมในแปลงผัก

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ได้สนับสนุนให้วัดต่างๆ รวมทั้ง วัดพระพุทธฉาย จัดทำแปลงปลูกผัก “สวนเกษตรรวมใจ” โดยเชิญชวนจิตอาสา ร่วมแรงร่วมใจกันปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิดในพื้นที่วัด ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี แบ่งปันอาหาร ที่สด สะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพของคนในชุมชน

พระราชธีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย เยี่ยมชมกิจกรรมปลูกผักในโครงการ

นับแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา พระราชธีราภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางสาวนันทนา หวังธงชัยเจริญ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งวัด ปฏิบัติธรรมในแปลงผัก”ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ให้ประชาชนมีอาหารบริโภคในช่วงวิกฤตจากโรคระบาด โควิด-19

พระราชธีราภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย เผยว่า ทางวัดพระพุทธฉาย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเกษตรพอเพียง มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ทางวัดมีพื้นที่จำนวนมาก แต่เป็นพื้นที่ภูเขา ตอนนี้ได้จัดสรรพื้นที่ให้ผู้สนใจ ซึ่งเป็นแม่บ้าน ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามาปลูกพืชผักตามแต่ใครจะถนัด

“โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งวัด ปฏิบัติธรรมในแปลงผักที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี พืชผักสวนครัวเจริญงอกงามให้ชาวบ้านนำไปรับประทานในครัวเรือน นำไปแบ่งปันเป็นอาหารในชุมชน ช่วยลดรายจ่ายได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโครงนี้ได้ผลตอบรับที่ดี ทางวัดก็พร้อมที่จะขยายพื้นที่ปลูกผักให้เต็มพื้นที่ของวัดในอนาคต” เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย กล่าว

ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เยี่ยมชมโครงการปลูกผักสวนครัว

ด้าน นายอุดม สารคม ที่ปรึกษาของวัดพระพุทธฉาย เจ้าของแนวคิด “ปฏิบัติธรรมในแปลงผัก” กล่าวว่า การปลูกผักเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะให้ทุกคนปล่อยพลังไปกับจอบและเสียม ปลดปล่อยความรู้สึกทุกข์ร้อนให้หมดไปกับการปลูกผัก และการขุดดิน ผักที่ปลูกได้ในโครงการ เชื่อมั่นได้ว่าเป็นผักที่ปลอดสารพิษ ปลูกผักกินเอง ลดรายจ่ายได้อย่างมหาศาลแล้ว การปลูกพืชผักแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ยังเป็นการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีวัฒนธรรมอีกด้วย

ด้าน นายวรงค์ แสงเมือง พัฒนาการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสระบุรี ดำเนินโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งวัด ปฏิบัติธรรมในแปลงผัก ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก และร่วมวางแผนการปลูกผักสวนครัวในวัดทุกแห่ง ทั้งนี้ วัดพระพุทธฉาย นับเป็นต้นแบบครัวชุมชนของอำเภอเมืองสระบุรี และใช้เป็นต้นแบบขยายผลไปยังวัดต่างๆ 12 แห่ง ในพื้นที่ 12 อำเภอ ของจังหวัดสระบุรีต่อไป

ปลูกผัก อิ่มท้อง ลดค่าใช้จ่าย

ทางวัดพระพุทธฉาย ได้จัดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มาปลูกผักสวนครัว ครอบครัวละ 1 แปลง เพื่อให้มีแหล่งอาหารสำหรับบริโภคในครัวเรือน สู้วิกฤตโควิด-19 มีเหลือก็เเบ่งปันกันในชุมชน เบื้องต้นมีครัวเรือนสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 14 ครัวเรือน มีเเปลงผัก จำนวน 19 เเปลง โดยได้รับการสนับสนุนโครงการจากจังหวัดสระบุรี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี เเละสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสระบุรี

นางสาวปานมณี ปิ่นแก้ว วัย 48 ปี อาชีพช่างเย็บผ้า หนึ่งในประชาชนที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งวัด ปฏิบัติธรรมในแปลงผัก กับวัดพระพุทธฉาย เล่าให้ฟังว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นที่โล่งว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เมื่อทางวัดปรับพื้นที่ให้กลายเป็นสวนเกษตรรวมใจ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามาปลูกพืชผักในโครงการนี้ เราปลูกในสิ่งที่เรากิน ทุกวันนี้ที่นี่กลายเป็นแปลงผักที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชผักนานาชนิด ทั้งผักบุ้ง ข้าวโพด มะเขือ แคนตาลูป กระเจี๊ยบ ดอกไม้ ฯลฯ

แต่ก่อนที่ยังไม่ลงมือปลูกผักกินเอง ตกเย็นก็ต้องออกไปซื้อผักสดที่ตลาดนัดทุกวัน ซื้อผักสดวันหนึ่งหลายสิบบาท แต่ตอนนี้ เราปลูกผักกินเอง ลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารไปได้มากในแต่ละวัน การปลูกผักสวนครัวตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพึ่งพาตัวเองได้อย่างดี ปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมี ได้ผักสดปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ ช่วยประหยัดเงินค่าอาหาร เหลือก็นำไปขายที่ตลาดได้อีกด้วย

โครงการปลูกผักในวัด ดูผิวเผินมองว่า มีประโยชน์ต่อชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ในชุมชน แต่ขยายผลสู่สังคม ก็จะมีประโยชน์ต่อคนไทยจำนวนมาก ทำให้ สำนักข่าว NHK World-Japan ของญี่ปุ่น เดินทางมาวัดพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อถ่ายทำสกู๊ปข่าวพิเศษเผยเเพร่ไปยังประเทศญี่ปุ่น เเละอีกหลายประเทศด้วยความชื่นชมแนวคิด ชาวบ้านในชุมชนหนองปลาไหลที่ปลูกผักสวนครัว เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เพื่อลดผลกระทบการเเพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)

ในปี 2564  มีการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมดังกล่าว ในรูปแบบแปลงโคกหนองนาตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

วัดพระพุทธฉาย ได้ดำเนินกิจกรรมปลูกผักสวนครัวในโครงการ “สวนครัวนำสุขพอเพียงเพื่อเพียงพอ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตามพระดำริสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยวัดและชาวบ้านร่วมปลูกดูแลพืชผักสวนครัวเพื่อนำไปแบ่งปันกัน ลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมสวนทุกวันตั้งเเต่เวลา 08.00-  17.00น.

หากใครสนใจกิจกรรมดีๆ แบบนี้ สามารถแวะชม “สวนครัวนำสุขพอเพียงเพื่อเพียงพอ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”ได้ทุกวัน การเดินทางไปวัดพระพุทธฉาย ไปได้ไม่ยาก ใช้เส้นทางเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น เป็นถนนแยกจากถนนพหลโยธิน ตรงกิโลเมตรที่ 102 (หมู่บ้านโคกหินแร่ ตำบลหนองยาว) เข้าไป 5 กิโลเมตร (ระยะทางตามถนนจากตัวเมืองสระบุรี ลงทางใต้ 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไป 5 กิโลเมตร) ก็ถึงวัดแล้ว

ขอขอบคุณ ภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊ก : วัดพระพุทธฉาย สระบุรี เพจ

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2563

Update 31/8/64