ปลูกผักข้างบ้าน ทำได้ไม่ยาก

ที่อยู่อาศัยในเมืองมีขนาดเล็กและแออัด ในสมัย 30-40 ปีก่อนหมู่บ้านจัดสรรจะเป็นบ้านเดี่ยวเสียส่วนใหญ่ พอที่ดินในเมืองใหญ่มีราคาสูงขึ้น ทำให้ขนาดบ้านเล็กลง เป็นบ้านแฝด เป็นทาวน์เฮ้าส์หรือบ้านแถว จนกระทั่งปัจจุบันที่ดินในเมืองกลายเป็นคอนโดเสียหมด พื้นที่ใช้สอยยิ่งมีขนาดเล็กลง ไม่ต้องถามถึงเรื่องพื้นที่ว่างรอบบ้าน

หมู่บ้านจัดสรรที่เป็นลักษณะบ้านเดี่ยวจึงมีราคาค่อนข้างแพง หลังหนึ่งเป็นสิบล้านบาท ทำงานเดือนนึงไม่ได้เป็นแสนอย่าคิดหวังจะมีปัญญาอยู่บ้านเดี่ยว คนในเมืองที่พอมีฐานะจึงมักจะมีบ้านสองแห่ง แห่งแรกเป็นคอนโดอยู่ใกล้ที่ทำงาน ไว้อยู่อาศัยวันจันทร์ถึงศุกร์ พอเสาร์อาทิตย์ก็จะไปอยู่บ้านชานเมืองไกลออกมา พื้นที่บ้านเดี่ยวชานเมือง เนื้อที่สัก 100 ตาราวา รวมกับตัวบ้าน ยังพอมีที่เหลือสำหรับปลูกผักไว้กินอย่างเพียงพอ และอาจเหลือสำหรับคนอื่นอีก

ตัวอย่างของการปลูกผักข้างบ้าน ผู้เขียนได้นำเสนอไว้หลายเรื่องแล้ว วันนี้เป็นช่วงที่ให้เก็บตัวอยู่กับบ้าน จึงขอนำเสนอการปลูกผักข้างบ้านไว้พอเป็นไอเดีย รศ. กษิดิศ อื้อเชี่ยวชาญกิจ อดีตรองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา และหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ได้เป็นผู้ร่วมจัดตั้งหลักสูตรเกษตรยั่งยืน ในการศึกษาระดับมหาบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น การจัดการเกษตรอินทรีย์ ในปี พ.ศ. 2551 ถือว่าท่านได้คลุกคลีเกี่ยวกับการสอนการเกษตรปลอดภัยมาอย่างยาวนาน จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ

รศ. กษิดิศ อื้อเชี่ยวชาญกิจ

หลังจากเกษียณอายุ เมื่อปี 2553 ท่านก็ยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อยู่อย่างต่อเนื่อง คือได้ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ใกล้ ม.ธรรมศาสตร์ ส่งพืชผลการผลิตเข้าสู่ครัวโรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต และเป็นประธานกรรมการตลาดนัดสีเขียว ซึ่งเป็นของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้ท่านได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย และดำรงตำแหน่งรองประธานมูลนิธิมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา ในปี 2555 ท่านได้ย้ายมาอยู่บ้านจัดสรร ชื่อหมู่บ้านชัยพฤกษ์รามอินทรา ซึ่งมีเนื้อที่ 111 ตารางวา มีบริเวณโดยรอบ เนื่องจากเป็นบ้านเดี่ยว ก็ยังไม่หยุดที่จะปลูกผักอินทรีย์เพื่อบริโภคภายในครอบครัว ตอนแรกๆ ก็มีการเลี้ยงเป็ดไข่จำนวนหนึ่ง แต่เกรงว่าจะมีกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน จึงต้องเลิกราไป ส่วนผักนั้นยังคงปลูกอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปจำหน่ายที่ตลาดนัดสีเขียวของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิตในวันจันทร์และวันพฤหัสฯจนกระทั่งเกิดวิกฤติ โควิด-19 ทำให้ตลาดดังกล่าวต้องปิดลง เลยเกิดความคิดที่จะนำพืชผักสวนครัวนี้มาจำหน่ายหน้าบ้าน จึงถือวิกฤติเป็นโอกาสตามที่เคยคิดไว้ก่อนหน้านี้

แนวคิด 1 หมู่บ้านจัดสรร 1 ร้านพืชผักปลอดภัย คือมีความต้องการให้ชาวบ้านที่กินผักที่ปลูกด้วยสารเคมีทั้งปีทั้งชาติ มีผักปลอดภัยกินกันในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงวัยให้หันมาปลูกผักอินทรีย์กินเองในบ้าน เหลือจากบริโภคแล้วค่อยนำมาฝากขายที่ร้านกรีนในหมู่บ้าน เพื่อกระจายพืชผักปลอดภัยสู่ชาวบ้านให้ทั่วถึง มากกว่าที่จะเน้นเรื่องการขายผักของร้าน

ได้รับการต้อนรับจากการนำผักไปขายต่างหมู่บ้าน

การปลูกผักกินเอง รศ. กษิดิศ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะท่านอาจารย์จะอธิบายการปลูกเป็นขั้นเป็นตอนไปจนกระทั่งสามารถปลูกได้ ใช้เวลาบรรยายประมาณ 1 ชั่วโมง พร้อมสาธิตประกอบด้วย ปัญหาของการปลูกพืชที่มักจะสอบถามคือ ปลูกไม่เป็นแต่อยากปลูก วัสดุปลูกเป็นอย่างไร รดน้ำอย่างไร การดูแลรักษาอย่างไร ป้องกันศัตรูพืชอย่างไร เรื่องนี้อาจารย์บอกว่าเป็นเรื่องที่จัดการได้ สำหรับวัสดุอุปกรณ์การปลูกพืชผักก็ไม่ได้ใช้อะไรมาก ส่วนใหญ่ที่ร้านก็จะมีจำหน่าย เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก ปุ๋ยมูลวัวหมัก ปุ๋ยมูลไส้เดือน ดินพร้อมปลูก น้ำหมักชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ ก็จะมีการสอนและแนะนำให้ทำแบบง่ายๆ มีการสอนเทคนิคที่จะควบคุมหนอนศัตรูพืช เช่น การใช้มุ้งตาข่ายสีฟ้าเพื่อไม่ให้ผีเสื้อวางไข่ ซึ่งจะเกิดหนอน ปัญหาหอยทาก ซึ่งต้องใช้ตาข่ายล้อม

 

แจกผัก เพื่อให้ทดลองปลูก

พืชที่แนะนำให้ปลูก ควรเป็นผักที่ใช้ประจำในครัว เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก สะระแหน ซึ่งเป็นผักที่ปลูกครั้งเดียวกินได้นาน ช่วงนี้ท่านอาจารย์จะทำผัก 4 อย่างนี้แจกให้สำหรับคนที่ต้องการไปทดลองปลูกก่อน ส่วนผักอื่นเช่น ต้นหอม ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว เป็นผักที่ปลูกง่าย นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน ก็จะสนับสนุนให้ปลูก ซึ่งได้ผลหรือไม่ได้ผลก็สามารถมาสอบถามได้ ในส่วนนี้ได้ทำไลน์กลุ่มสำหรับแต่ละหมู่บ้านเพื่อให้สอบถามปัญหาได้อย่างง่ายๆ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีได้เข้าถึงกันทั่วไปแล้ว จึงสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

ปัจจุบัน มีกลุ่มแบบนี้อยู่ 4 กลุ่มหมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งสามารถถามตอบปัญหาโดยการส่งรูปภาพมาให้ดูได้ง่าย บางครั้งก็มีผู้รู้ท่านอื่นได้ตอบแทนก็มี เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ในการปลูกมาแล้ว ถือเป็นการแชร์ประสบการณ์และเรียนรู้ไปพร้อมกัน จะทำให้มีความสนุกและมีชีวิตชีวามากสำหรับคนวัยเกษียณ นอกจากได้ทำงานที่ตัวเองรักแล้ว ยังมีอาหารปลอดภัยกินและมีเพื่อนฝูงวัยเดียวกันพูดคุยอีกด้วย

กระบะปลูกผักหน้าบ้าน

การให้ผู้สูงวัยปลูกผักเพื่อบริโภค จะต้องทำให้แปลงผักมีความสะดวกสบายในการจัดการ โดยจะทำเป็นกระบะสูงประมาณ 1 ฟุต ใช้ผ้าพลาสติกเป็นวัสดุในการทำกระบะ มีความกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือสามารถวางบนพื้นปูนได้ ชุดปลูกผักชุดนี้ จะคิดค่าติดตั้งพร้อมสาธิตและวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดพร้อมเมล็ดผัก ในราคา 1,500 บาท โดยจะนำไปติดตั้งให้ที่บ้านพร้อมสาธิตให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาและการปลูกพืชผักทั้งหมด เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว หรือผักที่ต้องการ ซึ่งกระบะนี้จะปลูกได้ประมาณ 100 ต้น หลังจากติดตั้งกระบะเสร็จ ก็จะใส่ดินพร้อมปลูกลงไปให้เพียงพอสำหรับปลูก แล้วจะสาธิตการปลูกผัก และคลุมหน้าดินด้วยฟางเพื่อไม่ให้เวลารดน้ำดินจะกระเซ็นออก นอกจากนี้ ยังมีตาข่ายสีฟ้าเพื่อกันแมลงผีเสื้อไปวางไข่อีกด้วย หลังจากนี้เจ้าของแปลงก็จะทำหน้าที่รดน้ำอย่างเดียวจนกระทั่งสามารถเก็บผักมาบริโภคได้

บริการปลูกผักให้คนป่วยเป็นมะเร็งได้บริโภค

ปลูกผักไว้กิน เหลือก็ขาย

เมื่อตัดผักกินแล้วก็เตรียมแปลงใหม่ โดยเอาปุ๋ยคอกใส่เพิ่มลงไป แล้วค่อยปลูก ในการปลูกครั้งที่ 2 จะเริ่มมีความชำนาญกว่าครั้งแรก ก็จะใช้เมล็ดพันธุ์มาปลูก ปัจจุบันผักที่ปลูกแปลงหน้าบ้านมีไม่พอขาย เพราะมีคนมาจองกันหมดแล้วตั้งแต่เริ่มปลูก อาจารย์บอกว่าคนซื้อรู้สึกอารมณ์ดีมากเมื่อเห็นผักสดๆ จากแปลงถูกตัดใส่ถุงให้เห็นต่อหน้าต่อตา บางครั้งลูกค้าก็ขอตัดเอง เพราะเขามั่นใจว่าผักที่ได้สะอาดปลอดภัย

รศ. กษิดิศ บอกว่า อาจารย์จะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าลูกค้าซื้อเมล็ดผักไปปลูกในที่ดินของตัวเอง ซึ่งเขาจะภูมิใจในผักที่ปลูกมากกว่า ส่วนเฉพาะการจำหน่ายหน้าบ้าน บางครั้งผู้ซื้อไม่สะดวกออกมาซื้อ ก็จะปั่นจักรยานไปส่งให้ ถือเป็นการออกกำลังกายไปด้วยในตัว แต่จะทำได้เฉพาะในหมู่บ้านเดียวกันเท่านั้น ในอนาคตคิดจะทำเป็นร้านค้าที่ไม่ต้องมีคนขายของ ติดราคาได้เสร็จเรียบร้อย ต้องการผักอะไรก็หยิบไป แล้วมีเลขบัญชีให้โอนเงินเข้า แต่คงต้องติดกล้องวงจรปิดไว้เสียหน่อย

อีกแนวคิดหนึ่ง คิดจะทำเป็นรถโมบายไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายกัน จอดรถไว้ตามร่มไม้ และตั้งวางเก้าอี้และของขายกลางแจ้ง ไปตามวันที่นัด สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และจะมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปลูกผักหรือที่เกี่ยวข้อง เพื่อสาธิตให้ลูกค้าที่สนใจเกี่ยวกับการปลูกผักปลอดภัยในบ้าน ในกิจกรรมนี้ไม่ได้หวังกำไร เพียงเพื่อต้องการขยายความคิดในการปลูกผักกินเองเท่านั้น

รศ. กษิดิศ ฝากไว้ว่า คนสูงวัยอย่าหยุดทำงาน ให้ทำงานเรื่อยๆ ไป แต่อย่าให้เกินกำลัง เพื่อให้ร่างกายได้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ให้เลือกทำงานที่เราชอบ อย่าเอาเงินที่มีไปเสี่ยงกับการลงทุนใดๆ เพราะอาจทำให้เครียด จงทำงานที่สนุกๆ ไปกับเพื่อนๆ ที่มีความคิดตรงกัน เราสามารถเผยแพร่สิ่งที่ดีๆ ให้กับสังคม ถือเป็นการทำบุญเหมือนกัน แต่ไม่ต้องไปวัด และจะหยุดทำงานเมื่อหยุดหายใจเท่านั้น

สนใจการปลูกผักข้างบ้าน สามารถโทร.หา รศ. กษิดิศ อื้อเชี่ยวชาญกิจ ได้ที่เบอร์โทร. 081-821-5007 หรือที่หมู่บ้านชัยพฤกษ์รามอินทรา ซอยวัชรพล กทม. ได้ทุกวัน


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354

 

ตัดผักขาย
ธิดาผักกาดผู้ช่วยหลักของอ.กษิดิศ

หน้าบ้าน
ควบคุมหอยทากไม่ให้ทำลายผักโดยใช้ลวดตาข่าย

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2563