กำจัดหนอนหัวดำในสวนมะพร้าว ด้วยแตนเบียน วิธีชีวภาพ ได้ผลดี

ชาวสวนมะพร้าวแถบธนบุรี เลยไปถึงกระทุ่มแบน อัมพวา แม่กลอง สมุทรสงคราม ต่างมีศัตรูร่วมกันมายาวนานนับเป็นศตวรรษก็ว่าได้ คือเจ้ากระรอกหางฟู ที่คนเมืองชมว่าน่ารักๆ นั่นแหละครับ

รศ. สมใจ นิ่มเล็ก สถาปนิกผู้มีอดีตเป็นเด็กบ้านสวนฝั่งธนฯ เคยเขียนเล่าไว้ในวารสารเมืองโบราณว่า กระรอกสวนนั้น “…อาหารที่มันชอบคือ มะพร้าวห้าว เท่านั้น กินทั้งเช้าและเย็น มื้อเช้าจะเริ่มกัดเปลือกตั้งแต่เช้ามืด ประมาณ 5 นาฬิกา พอสว่างกะลาก็จะทะลุ พอที่จะสอดหัวและตัวเข้าไปแทะเนื้อมะพร้าวได้ เวลา 7-8 นาฬิกา ก็จะอิ่ม จากนั้นจะนอนผึ่งแดดตามทางมะพร้าว ธรรมชาติของกระรอกไม่กินอาหารซ้ำ…ตอนบ่ายแก่ๆ ก็จะออกมากัดและแทะมะพร้าวกินอีกลูกหนึ่งสำหรับมื้อเย็น จะอิ่มก็ประมาณ 18-19 นาฬิกา ดังนั้น ใน 1 วัน กระรอก 1 ตัวจะกินมะพร้าว 2 ลูก เป็นประจำ…”

แต่ปัจจุบัน กระรอก ไม่ใช่ศัตรูตัวร้าย หมายเลข 1 อีกต่อไป ชาวสวนต้องรับมือกับมฤตยูรายใหม่ นั่นก็คือ “หนอนหัวดำ” (coconut black-headed caterpillar) ตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ที่ติดมาในรูปของดักแด้จากการนำเข้ามะพร้าวและปาล์มพันธุ์ประดับจากอินเดียและอินโดนีเซีย เนื่องจากการนำเข้ามะพร้าวเข้ามาทางด่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชลบุรีไม่มีการสแกนตรวจหรือรมยาป้องกัน โรงงานมะพร้าวที่ผลิตกะทิและน้ำมันสกัดเย็นในจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงครามจึงคือจุดเริ่มต้นของหายนะภัยครั้งร้ายแรงนี้

หนอนหัวดำ มีอายุยืนนาน 45 วัน ชาวสวนบอกว่า มันสามารถกินใบและยอดมะพร้าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถึงกับว่าในช่วงสัปดาห์เดียว มะพร้าวสวนบ้านแพ้วบางแห่งที่มีเนื้อที่สวนกว่า 10 ไร่ เคยโดนมันลงกินจนตายเกลี้ยงสวน

ปัญหาของหนอนหัวดำยังมีมากกว่านั้น ภาพมะพร้าวยืนต้นตายยกสวนสั่นคลอนความเชื่อของคนที่เพิ่งริเริ่มทำเกษตรอินทรีย์หลายราย จนดูเหมือนจะต้องเรียกขวัญและกำลังใจกันอย่างขนานใหญ่

เรื่องนี้ ดูเหมือนศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ตำบลนางตะเคียน โทร. (081) 745-8282 และโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม พอจะมีคำตอบอยู่

“บ้านเรานี่เคยทำน้ำตาลมะพร้าวแยะมาก แต่ตอนนี้ก็เหลือแค่คนรุ่นป้าๆ ลุงๆ แล้ว เราเองไม่อยากให้จบตรงนี้ เพราะมันก็ยังเป็นของที่ขายได้อยู่ ตอนนี้เราส่งของทางเรือด้วย ขายทั่วไปในเขตชายทะเลภาคกลางเลย ขายปี๊บละ 300 บาท” คุณเก๋-ศิริวรรณ ประวัติร้อย ลูกหลานชาวบ้านนางตะเคียนที่ประสานงานกิจการค้าขายผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าวของชุมชนเล่าว่า “เราอยากให้คนไทยได้กินของดีๆ กินน้ำตาลแท้ๆ ไม่ใส่สารเคมี คนอื่นเขาอาจจะใส่สารกันบูด แต่เรายังใช้เปลือกไม้พะยอมแบบเก่าอยู่ นี่เราขายน้ำตาลมะพร้าวงบใหญ่ๆ กิโลกรัมละ 40 บาท เท่านั้นเองนะคะ มีแต่คนบ่นว่าขายถูกเกินไป” เธอยังบอกว่า เครือข่ายของบ้านนางตะเคียนตอนนี้ยังพอมีสวนลุงๆ ป้าๆ รวมแล้วกว่า 10 สวน แม้กำลังผลิตจะตกอยู่เพียงราว 50 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ แต่ก็กำลังทำเรื่องขอมาตรฐาน มกท. จากมูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าอยู่

ทว่า หลายปีมานี้ สวนมะพร้าวบ้านนางตะเคียนเริ่มเจอปัญหาใหญ่ ก็คือ “หนอนหัวดำ”

“เราก็ต้องมาดูว่าจะสู้กับมันยังไง เราไปเรียนรู้จากหน่วยอารักขาพืช ที่สุพรรณบุรีมา ถึงเรื่องการใช้แตนเบียน (Goniozus nephantidis) พันธุ์ที่ใช้กำจัดหนอนหัวดำโดยเฉพาะ เราก็ลองเอาไข่ของมันมาเพาะที่ศูนย์ของเรา”

ขั้นตอนการผลิตนักรบบินตัวจิ๋วที่กรมวิชาการเกษตรนำเข้ามาจากศรีลังกา ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 นี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าหน้าที่ของศูนย์อธิบายว่า จะต้องเลี้ยงผีเสื้อข้าวสารก่อน เพื่อให้เป็นอาหารของแตนเบียน เริ่มแรกต้องเพาะไข่ผีเสื้อข้าวสารในกระบะรำข้าว (รำ 1 กิโลกรัม : ปลายข้าว 1 กำมือ) จนได้หนอน แล้วปล่อยแม่พันธุ์แตนเบียนให้ไปวางไข่บนตัวหนอน ใช้เวลา 10 วัน จึงฟักตัว จากนั้นจึงเอาไม้คัทตั้นบัดส์ ชุบน้ำตาลใส่ไว้ให้หนอนแตนเบียนกิน จนลอกคราบเป็นตัวแตน พร้อมจะปฏิบัติการไล่ล่าหนอนหัวดำ ก็จะถ่ายใส่กระปุกเล็กๆ เอาไปปล่อยที่คอต้นมะพร้าวในสวนที่มีหนอนหัวดำลงกินอยู่ ต้นละ 1 กระปุก

นับเป็นการยับยั้งศัตรูพืชตัวร้ายด้วยวิธีทางชีวภาพที่ได้ผลค่อนข้างดี ณ ปัจจุบันนี้

ผมได้ลองไปปล่อยแตนเบียนหลายกระปุกอยู่ มองดูมันบินสูงขึ้นไปบนยอดมะพร้าว ซอกซอนไปตามโคนใบที่มีหนอนหัวดำตัวจ้อยซุกซ่อนอยู่แล้วก็อัศจรรย์ใจ น้องชายชาวสวนมะพร้าวอินทรีย์จากราชบุรีรายหนึ่งบอกผมว่า แตนเบียนมีอายุขัยเพียง 1 เดือน ดังนั้น อย่างน้อยสวนที่ใช้วิธีนี้จึงต้องเพาะและปล่อยแตนเดือนละครั้ง แต่ “ตัวช่วย” ก็ไม่ได้มีแค่แตนเบียน Goniozus nephantidis นี้เท่านั้น ยังมีนกบางชนิด ด้วงตัวห้ำในวงศ์ Cleridae และแมลงอื่นๆ อีกที่จะช่วยกำจัดหนอนหัวดำอย่างได้ผล เขายังบอกอีกว่า มันขึ้นอยู่กับสภาพของสวนแห่งนั้นๆ ด้วย ว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากพอที่จะเอื้อให้กับการคงอยู่ของระบบตัวห้ำตัวเบียนหรือไม่

ดังนั้น สภาพความรกความโล่งของสวนก็เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่ง

สวนมะพร้าวที่ใช้วิธีตัดหญ้าแทนการฉีดยาฆ่า เลือกใส่เฉพาะปุ๋ยชีวภาพ เจาะจงใช้แตนเบียน นก ตลอดจนแมลงนักล่าบางชนิดเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชนั้นมีอยู่จริง อย่างน้อยก็ที่บ้านนางตะเคียนแห่งนี้

นอกจากขั้นตอนการดูแลสวนมะพร้าว กระบวนการผลิตที่ปลอดสารเคมีโดยสิ้นเชิง ก็ทำให้รสชาติของน้ำตาลมะพร้าวสดๆ ของสวนนางตะเคียนที่ผมได้ลองลิ้มชิมรสในวันนั้นช่างหวานฉ่ำ มีรสฝาดล้ำลึกตัดแต่เพียงน้อย องคาพยพมันหนักแน่น เมื่อกินใส่น้ำแข็งก้อนเย็นฉ่ำแล้วรู้สึกชื่นใจ อย่างที่ไม่เคยพบในน้ำตาลขวดที่วางขายตามแผงริมทางหลวง

กว่าจะได้มาซึ่งรสชาติ ความปลอดภัยไร้สารเช่นนี้ มีกี่คนที่จะล่วงรู้ว่า น้ำตาลมะพร้าวแต่ละหยดได้ผ่านความเอาใจใส่ด้วยจิตวิญญาณดั้งเดิมของชาวสวนมะพร้าวมากมายสักเพียงใด

ในแง่นี้ มันจึงเป็น “ทางเลือก” ที่แม้เหลือน้อยลงทุกที แต่ก็ยังมีอยู่จริงๆ ในประเทศนี้