เลาะแคมโขง ต้นตอผลิตซอส แหล่งปลูกมะเขือเทศพันธุ์ดี

เครื่องปรุงรสประเภทซอส จัดเป็นเครื่องปรุงรสที่ใช้วัตถุดิบจากพืชอุตสาหกรรมที่เรียกว่า “มะเขือเทศ” ซึ่งฟังเพียงชื่อดูเหมือนจะเป็นเพียงพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง แต่มีมูลค่าความต้องการในตลาดสูงไม่น้อยไปกว่าวัตถุดิบที่ใช้เป็นเครื่องปรุงงานครัวชนิดอื่น

สร้างค้างช่วยให้ผลผลิตสวย

มะเขือเทศ ยังเป็นพืชอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้า เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ซอสในเครื่องกระป๋องต่างๆ เป็นต้น

ทั้งประเทศไทย แหล่งปลูกพืชล้มลุกชนิดนี้มีแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดตั้งอยู่บนพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดบึงกาฬ ที่มีพื้นที่ปลูกมะเขือเทศเกือบ 2,000 ไร่

นักวิชาการเกษตรจังหวัด ให้ความรู้ถึงแปลง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษ เป็นกลุ่มที่รวมตัวจากชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชผักตามความเหมาะสมของฤดูกาล 3 หมู่บ้าน ในตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ เฉพาะ 3 หมู่บ้าน ที่รวมกลุ่มมีพื้นที่ริมแม่น้ำโขงสำหรับปลูกมะเขือเทศกว่า 700 ไร่

ที่ต้องเน้นว่า พื้นที่ริมแม่น้ำโขง เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของดินริมฝั่งแม่น้ำโขงมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกมะเขือเทศ

เลือกเก็บได้ตามการใช้งาน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษ กลุ่มชาวบ้านในตำบลบึงกาฬ รวมตัวกันขึ้นมา และได้ชื่อว่า เป็นพื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่ใหญ่ที่สุด โดยมีชาวบ้าน หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำการเกษตรริมแม่น้ำโขง ทำการเกษตรแบบหมุนเวียนตามฤดูกาลและความเหมาะสมของสภาพดิน โดยฤดูหนาวเลือกปลูกมะเขือเทศ ซึ่งเป็นฤดูที่มะเขือเทศให้ผลผลิตมากที่สุด ทั้งบริเวณใกล้เคียงมีแหล่งรองรับมะเขือเทศสี หรือ มะเขือเทศสุก เป็นโรงงานศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม ตั้งอยู่ในจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นสถานที่ต้นทางผลิตซอสก่อนส่งไปยังโรงงานผลิตปลากระป๋องอีกทอด

ฤดูหนาวเพียงไม่กี่เดือนสำหรับการกระบวนการปลูก กระทั่งถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขาย หมดจากฤดูหนาวอันเป็นฤดูของมะเขือเทศแล้ว ชาวบ้านที่มีพื้นที่เกษตรริมฝั่งโขงจะแปลงผืนดินให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวโพด และ ข้าว

การันตีแปลงปลอดสารพิษ

การปลูกมะเขือเทศสำหรับชาวบึงกาฬ เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน โดยการเพาะกล้าก่อนลงหลุมปลูก 1 เดือน แต่ระหว่างการเพาะกล้าราวเดือนเศษ เป็นช่วงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับเมล็ดมากที่สุด

ขั้นตอนการปลูกอย่างง่าย ทำโดยการเพาะกล้าใส่เมล็ดพันธุ์หลุมละ 1-2 เมล็ด หากมากกว่านั้นจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะเมล็ดพันธุ์มีราคาสูง น้ำหนักเพียง 25 กรัม ราคาอยู่ที่ 600-1,000 บาท ขึ้นกับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ แต่ประการสำคัญในการเลือกเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มจะให้ความสำคัญหลักในการเลือกเมล็ดพันธุ์อยู่ที่เมล็ดพันธุ์ต้องมีความต้านทานโรคสูง

เตรียมขนส่ง

สำหรับพันธุ์ที่เลือกใช้เป็นพันธุ์เพอร์เฟคโกลด์ 111 และ พันธุ์วี เอฟ วัน เพราะต้านทานโรคได้ดี ให้ผลดก เนื้อแข็ง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ขายได้ราคาดี โดยปัจจุบันราคามะเขือเทศสี (ผลที่ยังไม่สุกเป็นสีแดง) อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 9-10 บาท ขึ้นกับขนาด ส่วนมะเขือเทศแดง (ผลที่สุกเป็นสีแดงทั้งผล) จะเก็บส่งขายโรงงานผลิตซอสที่ให้ราคาประกันสูงสุดอยู่ที่ 2.50 บาท ต่อกิโลกรัม เท่านั้น

ส่วนการเตรียมแปลงไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เป็นการเตรียมแปลงโดยไถขึ้นแปลงธรรมดาเหมือนการปลูกพืชทั่วไป อาจไถดินตากแดดไว้ราว 3 เที่ยว ก่อนนำกล้าลงปลูกควรใส่เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันเชื้อโรคทั้งที่อยู่ในดินและเชื้อโรคที่อยู่บนต้นพืช เสมือนเป็นการให้วัคซีนป้องกันในเด็กอ่อน ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับพืชตั้งแต่แรก โดยหลุมปลูกมีความลึก 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมอยู่ที่ 80×100 เซนติเมตร และควรใส่ปุ๋ยชีวภาพลงในหลุมปลูกด้วย

หลังปลูก 1 สัปดาห์ รากเริ่มแข็งแรง ควรให้ปุ๋ยเคมี ระยะแรก สูตร 15-15-15 โดยใส่ข้างหลุม เพื่อให้เห็นผลเร็วขึ้น และให้ปุ๋ยเคมีในระยะถัดมา สูตร 13-13-21 จากนั้นเมื่อมะเขือเทศให้ดอกแล้วจึงลดสารเคมีลง แล้วเปลี่ยนเป็นปุ๋ยชีวภาพ กระทั่งถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ลูกสีแดง ส่งโรงงานผลิตซอส

มะเขือเทศที่นี่จะขึ้นค้างให้ เพื่อป้องกันโรครา ค้างจะช่วยให้โปร่ง เชื้อราไม่ขึ้น หนอนไม่ค่อยกิน ลูกสวย เพราะใบจะปิดบังไปเรื่อยๆ ถ้านอนอยู่ใบจะแผ่ออกลูกไม่สวย

การเก็บผลผลิต เริ่มต้นเก็บเมื่อมะเขือเทศเริ่มสุกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และต้องเก็บให้มีขั้วติดอยู่กับผล เพื่อเพิ่มมูลค่าการขาย โดยเริ่มเก็บในเวลาเช้าตรู่ของแต่ละวัน ในช่วงสายจะเริ่มเก็บมะเขือเทศแดง เพื่อส่งโรงงานผลิตซอส

ลูกสีเขียว ส่งตลาดสด ราคาดี

มะเขือเทศบึงกาฬ มีตลาดหลักส่งขายอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ปากคลองตลาด และ ตลาดอ่างทอง

เหตุผลหนึ่งที่มะเขือเทศให้ผลผลิตดี นอกเหนือจากสายพันธุ์ดีที่เกษตรกรบึงกาฬคัดเลือกมาแล้ว คือ ดินริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งมะเขือเทศชอบดินร่วมซุย ดินเหนียวปนทราย หากดินเหนียวเกินไปหรือร่วนเกินไปไม่เหมาะ ซึ่งคุณสมบัติของดินริมฝั่งแม่น้ำโขงมีคุณสมบัติตรงทุกประการ นอกจากนี้ การเลือกปลูกในฤดูหนาว ทำให้ได้ผลผลิตดี เนื่องจากมะเขือเทศเป็นพืชล้มลุกที่เจริญเติบโตเร็ว และชอบสภาพอากาศเย็น เมื่อดินมีความเหมาะสมและสภาพอากาศตามต้องการ ทำให้มะเขือเทศกลายเป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อปีเฉลี่ย 8 ตัน

สิ่งที่ตามมาคือ รายได้ หากประเมินจากการขายมะเขือเทศสี ในราคา 10 บาท รายได้อยู่ที่ 40,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ใกล้เคียงกับการลงทุน ส่วนการเก็บเกี่ยวหลังจากนั้นถือเป็น “กำไร”

ดังนั้น การปลูกมะเขือเทศของชาวบึงกาฬ จะเน้นการเก็บผลมะเขือเทศสีส่งขายยังตลาดค้าส่งมากกว่าการเก็บผลมะเขือเทศแดงส่งโรงงานผลิตซอส นอกเหนือจากขายส่งยังตลาดค้าส่งและโรงงานผลิตซอสแล้ว ในแต่ละปียังมีออเดอร์จากประเทศมาเลเซียราว 45-60 ตัน ต่อปี อีกด้วย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษ กลุ่มนี้ยังได้ใบรับรองมาตรฐานสินค้า จากกรมวิชาการเกษตร เป็นเครื่องการันตีว่าผลผลิตที่ได้ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ผลผลิตที่ได้จะเป็นต้นตอของการผลิตซอสส่งยังโรงงานผู้ผลิตต่างๆ รวมถึงเป็นเจ้าตลาดค้าส่งมะเขือเทศไปยังตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ของประเทศ

หากสนใจการผลิตมะเขือเทศริมฝั่งแม่น้ำโขงตามแบบฉบับของบึงกาฬ ลองสอบถามไปยัง คุณวิรัตน์ หลายเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษ ได้ตลอดเวลา ที่บ้านเลขที่ 116 หมู่ที่ 4 บ้านนาโนน ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ