เผยแพร่ |
---|
ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เป็นช่วงเวลาเดียวกับผลผลิตทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้พร้อมที่จะจำหน่าย ก่อนหน้าที่มีความกังวลเรื่องตลาดส่งออกทุเรียนของไทยที่ประเทศจีนจะได้รับผลกระทบ แต่ล่าสุดประเทศจีนที่ตลาดใหญ่ พร้อมสำหรับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้เกิดความมั่นใจกับเกษตรกรว่า ทุเรียนจะสามารถจำหน่ายได้ โดยเฉพาะทุเรียนคุณภาพที่ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยความร่วมมือของทางจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี
ล่าสุดจังหวัดยะลาร่วมกับปิดทองหลังพระฯ เปิดแหล่งรับซื้อและกระจายทุเรียนฤดูกาลปี 2563 เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน
คุณชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวในการเปิดแหล่งรวบรวมและกระจายผลผลิต ทุเรียนคุณภาพ จังหวัดยะลา ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้หรือโครงการทุเรียนคุณภาพประจำปี 2563 ว่าได้ร่วมกับปิดทองหลังพระฯ ดำเนินโครงการทุเรียนคุณภาพฯ มาตั้งแต่ปี 2561 และพัฒนาระบบการจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นในปี 2563
หลักคิดในการดำเนินโครงการยังคงเน้นการนำศาสตร์พระราชามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยมุ่งหวังให้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน “พึ่งพาตนเองได้” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในที่สุด ด้วยการพัฒนาทุเรียนซึ่งเป็นไม้ผลพื้นถิ่นให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ มีกระบวนการผลิตที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Excellent) และมีตลาดต่างประเทศรองรับ
การดำเนินโครงการ ปี 2563 ที่ผ่านมาดำเนินการได้ด้วยดี เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแทบทุกราย ได้ให้ความใส่ใจ มุ่งผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพตามเป้าหมายของโครงการ ด้วยการดูแลเอาใจใส่และปฏิบัติตามคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำจัดวัชพืชสวนทุเรียน การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย การป้องกันโรคและแมลง ฯลฯ โดยมีเจ้าหน้าที่และอาสาทุเรียนของปิดทองหลังพระฯ ให้การสนับสนุนและดูแลทุกช่วงการผลิต และมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ช่วยดูแลเรื่องการตลาด โดยเฉพาะตลาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน
เป็นที่คาดการณ์ว่าทุเรียนของโครงการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2563 นี้จะให้ผลผลิตอยู่ที่ 1,778 ตัน ผลผลิตทุเรียนจะเริ่มออกตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2563 และไปสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 โดยออกมากในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งจะมีปริมาณทุเรียนส่งตลาดถึง 900 ตัน ทั้งนี้ จังหวัดที่ผลิตทุเรียนมากที่สุดคือ ยะลา 1,640 ตัน รองลงมาคือ นราธิวาส 88 ตัน และปัตตานี 50 ตัน
ในเรื่องระบบการตลาดขณะนี้มีความพร้อม โดยได้มีการเปิดแหล่งรวบรวมและกระจายผลผลิตจังหวัดยะลา เพื่อรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรแล้วนำมาคัดแยก ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2563 ก่อนจะส่งไปศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่จังหวัดชุมพร แล้วขนส่งด้วยเรือไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
ทั้งนี้ ผู้รับผิดชอบระบบการจำหน่ายได้ให้ความมั่นใจด้วยว่าเรื่องตลาดนั้นไม่มีปัญหา ถ้ามี “ทุเรียนคุณภาพ” ดังที่โครงการได้ผลิตและควบคุมคุณภาพในปัจจุบันเป็นที่คาดหมายว่า เมื่อทุเรียนของโครงการได้รับการจำหน่ายในราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 90 บาท ณ ปัจจุบัน จะทำให้เกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะมีรายได้ปี 2563 ประมาณ 160 ล้านบาท มากกว่าปี 2562 ซึ่งขายได้ 80 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2 เท่า โดยประมาณการว่าเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละจังหวัดจะมีรายได้จากทุเรียน แบ่งเป็น ยะลา 147 ล้านบาท นราธิวาส 8 ล้านบาท และปัตตานี 5 ล้านบาท ตามลำดับ
“หากมีการขยายการดำเนินโครงการนี้ออกไปให้กว้างขวาง และได้ทุเรียนคุณภาพเพิ่มขึ้น ปัญหาความยากจนซึ่งประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะได้รับการแก้ไขอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน”
หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2561 สถาบันเริ่มเข้ามาดำเนินโครงการ “ทุเรียนคุณภาพ” ร่วมกับจังหวัดยะลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีรายได้เพิ่มจากการพัฒนาให้ทุเรียนมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยเริ่มที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นแห่งแรกในฐานะพื้นที่ต้นแบบของทางสถาบัน เนื่องจากได้รับความสนใจจากเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงได้ขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นทั้งในยะลา นราธิวาส และปัตตานี
“เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของคนใน 3 จังหวัด เริ่มช่วงแรกคิดว่าโครงการจะไปไม่ได้ แต่ทำมาได้ดีและจีนปิดเมืองมานาน คนก็จะอยากบริโภคทุเรียน ปีนี้ราคาเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนจะได้ประโยชน์เต็มที่เพราะทุเรียนมีคุณภาพดีมาก จากการดูแลอย่างใกล้ชิดของเกษตรกร เชื่อมั่นว่าถ้ามีการดูแลให้ดีขึ้น ต่อไปทุเรียนใต้จะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ”
จากเกษตรกรที่เริ่มโครงการครั้งแรก 18 ราย ในปีนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 625 ราย มีการส่งเกษตรกรไปอบรมการทำทุเรียนคุณภาพทั้งในพื้นที่ และจังหวัดระยองแหล่งทุเรียนสำคัญของภาคตะวันออก พร้อมกับอาสาทุเรียนคุณภาพเพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรตลอดกระบวนการดูแลตั้งแต่เริ่มต้น ผลสำเร็จการพัฒนาทุเรียนคุณภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เกิดจากความตั้งใจของเกษตรกร มีการประสานงานกับอาสาทุเรียนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคู่มือที่จัดทำโดยเฉพาะ ช่วยให้เกษตรกรมีความเข้าใจมากขึ้น
“ในปีนี้มีทุเรียนที่อยู่ในโครงการจำนวน 29,201 ต้น เกษตรกร 65 ราย ผลผลิตทุเรียนประมาณ 1,778 ตัน โดยเกรด AB ที่เป็นมาตรฐานส่งออกจะมีประมาณร้อยละ 85 และหนอน เป็น 0 เปอร์เซ็นต์ โดยตลาดหลักคือประเทศจีน คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 160 ล้านบาท ประมาณ 2 เท่าของปี 2562 ผลผลิตทุเรียนคุณภาพปีนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2562 แต่รายได้ที่สูงขึ้นมาจากคุณภาพของทุเรียนที่เกษตรกรปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด” หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา กล่าว