อดีตช่างกลเรือ ทิ้งเงินเดือนหลักแสน หันมาทำเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้ดี ที่อุทัยธานี

“บ้าหรือเปล่า ทิ้งเงินเดือนหลักแสนมาทำเกษตร” คำพูดเหล่านี้มักจะได้ยินติดหูเป็นประจำ ถ้าหากผู้ใดมีความคิดไม่ตรงกับคนหมู่มาก ก็จะต้องถูกถามก่อนเลยว่า บ้าหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วเงินเดือนหลักแสนอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของใครหลายคน เพราะเป้าหมายชีวิตของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนทำงานเพื่อเงิน บางคนทำงานเพื่อความสุข หรือบางคนมองทรัพย์สินเงินทองเป็นเรื่องรอง ครอบครัวต้องมาก่อน ก็สุดแล้วแต่เป้าหมายของแต่ละคน เพียงแค่ในทุกวันได้ทำงานที่รักและมีความสุขก็พอแล้ว

คุณอาคม มากทรัพย์ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์อุทัยธานี อยู่บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 4 ตำบลหูช้าง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อดีตนายช่างกลเรือ ทิ้งเงินเดือนเรือนแสน เล่าให้ฟังว่า หลังจากลาออกจากงานประจำก็เบนเข็มชีวิตมาเป็นเกษตรกร และก็มีหลายคนสงสัยว่ามีวิธีการปรับตัวอย่างไรกับความคิดและคำพูดเสียดสีจากชาวบ้าน ซึ่งหนทางไม่ง่ายเลย ในหัวจะมีความคิดตลอดว่าตนเองคิดถูกแล้วใช่ไหมที่เลือกทางนี้ จากที่เคยทำงานได้เงินเดือนดีๆ มีลูกน้องคอยช่วยอยู่ข้างๆ ไปไหนมาไหนมีผู้คนต้อนรับนับหน้าถือตา กลับต้องมาทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ก็กลับมาคิดว่าไม่มีใครคว้าของทั้งสองอย่างได้ในครั้งเดียว เมื่อได้สิ่งหนึ่ง มักต้องเสียสละอีกสิ่งหนึ่งไป ดังนั้น จึงต้องเลือกระหว่างงานที่ดีกับครอบครัวที่รัก จึงได้ตัดสินใจที่จะถอดหัวโขนออก แล้วกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัว ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ง่ายที่ต้องปรับตัวใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เพราะยังโชคดีที่พอมีภูมิต้านทานอยู่บ้าง ด้วยลักษณะนิสัยที่เป็นคนไม่ยึดติดกับยศตำแหน่ง และมีพื้นฐานที่บ้านพ่อกับแม่เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่เด็ก มาถึงวันนี้จึงปรับตัวได้ กลับมาเริ่มต้นอาชีพที่ยั่งยืนโดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงวัยเกษียณ เริ่มเมื่อตอนยังมีแรงทำไหว และมีความสุขกับสิ่งที่ทำแล้ว สิ่งนั้นจะกลับมาตอบแทนเราเอง

คุณอาคม มากทรัพย์ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์อุทัยธานี

จุดเริ่มต้นในฐานะเป็นเกษตรกรเต็มตัว

คุณอาคม เล่าถึงจุดเริ่มต้นเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัวว่า หลังลาออกจากงานแล้วมีความคิดที่จะมาทำเกษตร เนื่องจากด้วยต้นทุนของครอบครัว ภรรยามีที่ดินไว้สำหรับทำการเกษตร มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มาอยู่แล้วจึงตัดสินใจที่จะเดินทางสายนี้ นับเวลาถึงปัจจุบันที่เป็นเกษตรกรมา เป็นเวลากว่า 7 ปี ซึ่งในการทำเกษตรของตนเริ่มทำจากน้อยๆ โดยเริ่มจากการปลูกกล้วย บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ปลูกสารพัดกล้วย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ปลูกจนได้ผลผลิตออกมาขาย จึงเริ่มรู้สึกว่าการทำเกษตร ถ้าทำดีๆ ก็สามารถสร้างรายได้ให้ได้มาเหมือนกัน และกล้วยเป็นพืชที่ไม่ใช่ขายได้เฉพาะแค่ผล แต่ขายได้ทุกส่วน ทั้งหน่อ หัวปลี และใบ ดังนั้น เมื่อมองเห็นลู่ทาง จึงค่อยๆ ขยับขยายพื้นที่ปลูกกล้วยเพิ่มจาก 1 ไร่ เป็น 4 ไร่ จาก 4 ไร่ เป็น 7 ไร่ และถัดมามีการเช่าพื้นที่ขยายแปลงปลูกอีก 25 ไร่ เพื่อทำเป็นเกษตรผสมผสาน โดยพื้นที่เดิมเจ้าของเก่าเขาปลูกพืชไร่ ปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลัง ก็ค่อยๆ นำไม้ผลอย่างอื่นเข้าไปแซม เช่น อินทผลัม ส้มโอ และมะละกอฮอลแลนด์ แต่จะไม่ทำทีเดียวทั้งหมด 25 ไร่ จะค่อยๆ แบ่งลดพื้นที่ปลูกพืชไร่ลงมา เพราะถ้าเปลี่ยนทีเดียวกลัวจะรับมือไม่ทันในเรื่องของการดูแลรักษา และเรื่องของต้นทุนค่ากิ่งพันธุ์ที่สูง เป็นมือใหม่ต้องพยายามประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

รอเก็บเกี่ยวผลผลิต

กล้วยหอม พืชที่เคยสร้างรายได้หลัก ถูกพายุพัดเสียหาย
ฟื้นตัวด้วยการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ 4 ไร่

เจ้าของเล่าว่า จากที่เมื่อก่อนเคยมีกล้วยเป็นพืชสร้างรายได้หลัก แต่เมื่อสองเดือนที่แล้วป่ากล้วยโดนพายุถล่ม กล้วยได้รับความเสียหายกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่โชคยังดีที่เมื่อปีที่แล้วตัดสินใจปลูกมะละกอฮอลแลนด์ทิ้งไว้ 4 ไร่ ซึ่งตอนนี้มะละกอกำลังให้ผลผลิตเก็บขายและกลายเป็นพืชพระเอกสร้างรายได้หลักในตอนนี้ และสาเหตุที่เลือกปลูกมะละกอฮอลแลนด์ไว้ เนื่องจากมะละกอจะมีระยะการเก็บเกี่ยวที่คล้ายกับกล้วย คือปลูกไปสักประมาณ 8-9 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ในการทำเกษตรที่จะเน้นปลูกผลไม้ที่ออกไม่เป็นฤดูกาลมากนัก แต่จะเน้นปลูกผลไม้ที่สามารถให้ผลผลิตเก็บขายได้เรื่อยๆ

รอเก็บเกี่ยวผลผลิต

เทคนิคการปลูกมะละกอฮอลแลนด์
ต้นทุนต่ำ แต่คุณภาพสูง

คุณอาคม บอกว่า จริงๆ แล้ว ตนค่อนข้างเป็นมือใหม่ในวงการปลูกมะละกอ เพียงแต่อาศัยความขยันหมั่นศึกษาหาความรู้จากหลายๆ แหล่ง ทั้งเรียนรู้กับเซียนมะละกอจากหลายๆ ท่าน บุกป่าฝ่าดงไปเรียนถึงที่สวนก็บ่อย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาหาข้อมูลจากตำรา จากอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติม แล้วพยายามปรับสูตรบางอย่างมาใช้ในสวนของตนเอง ลำพังถ้าจะไปปลูกตามเซียนมากๆ ต้นทุนจะสูงมาก ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าบำรุงต่างๆ เพราะฉะนั้นตนจะเน้นทำแบบพึ่งพากันไป พยายามใช้สวนเกษตรผสมผสานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จึงทำให้การปลูกมะละกอของที่สวนมีต้นทุนที่ต่ำมาก ปุ๋ยก็ใส่น้อยมาก ยาฆ่าแมลงไม่เคยฉีด จะเน้นบำรุงเรื่องใบในช่วงแรกให้สมบูรณ์ ฉีดพ่นยากันเชื้อราบ้าง เมื่อผลผลิตออก หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้ให้ปุ๋ยเพิ่มอีกเลย ในขณะที่บางสวนก็ยังฉีดยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่สวนมีต้นทุนต่ำ แต่ผลผลิตที่ได้ออกมามีคุณภาพ รสชาติหวานกำลังดี เนื้อไม่เละ แม่ค้าและผู้บริโภคชอบ

ระยะห่างระหว่างต้น 3×3 เมตร

วิธีการปลูก

ขั้นตอนแรก ไถเตรียมดินในสวน จะมีพืชอย่างอื่นปลูกแซมอยู่ก็ไถเป็นร่องขึ้นมา พยายามไม่ให้โดนพืชหลัก แล้วปลูกขนาบไปในระยะห่าง 3×3 เมตร แล้ววางระบบน้ำสปริงเกลอร์ไปตรงกลาง ให้น้ำเข้าถึงต้นมะละกอ

เมื่อเตรียมดินเรียบร้อย ให้นำต้นกล้าที่เพาะไว้มาลงหลุมปลูก จากนั้นดูแลเรื่องน้ำ ปุ๋ย อย่าให้ขาด ระบบน้ำต้องวางแผนไว้ให้น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ ถ้าหากฝนตกทิ้งช่วง ให้รดน้ำ 2 วันครั้ง พยายามดูให้ดินชุ่มชื้นอยู่ตลอด

ปุ๋ย… ระยะแรก เน้นตัวหน้าสูงๆ เช่น สูตร 25-7-7 หรือ 27-12-6 ช่วงประมาณ 1-3 เดือนแรก ควรจะให้ปุ๋ยทุกเดือน บางสวนอาจจะให้ถี่หน่อย คือให้ทุกๆ 3 สัปดาห์ แต่ของที่สวนจะดูที่ความเหมาะสม ถ้าช่วงไหนฝนดีก็จะให้ปุ๋ยตามไปเลย เพราะดินจะชุ่มชื้นดีแล้ว ปุ๋ยจะละลายดี ต้นก็จะดูดกินปุ๋ยได้เต็มที่

ระยะที่สอง เริ่มติดดอก ต้องบำรุงให้ดี เน้นใส่สูตรเสมอ 16-16-16 หรือ 15-15-15

ระยะที่สาม ลูกเริ่มโตขนาดเกินลูกตำลึงไปแล้ว ให้เน้นใส่สูตรที่ตัวท้ายสูงๆ ไม่มีสูตรที่ตายตัว

ปริมาณการใส่ปุ๋ย…เฉลี่ยแล้วใส่ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงต้นที่ต้องการบำรุงลูก แต่หลังจากช่วงที่เก็บผลผลิตไปแล้วจะห่างๆ การให้ปุ๋ยไปเลย

ระยะให้ผลผลิต…ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 8 เดือน แต่บางต้นถ้าสมบูรณ์แข็งแรงมาก ก็เก็บได้ตั้งแต่เดือนที่ 6

เตรียมไปส่งแม่ค้า

โรคแมลงที่พบ

การปลูกมะละกอ สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ ไวรัสจุดวงแหวน ถ้าเจอช่วงตอนที่ต้นยังเล็กๆ ใบลายๆ ผิดปกติ ก็ต้องรีบตัดออกแล้วไปทิ้งไกลๆ เพราะว่าโรคพวกนี้จะมีพาหะจากแมลง ซึ่งที่สวนจะมีเทคนิคป้องกันไวรัสจุดวงแหวนส่วนตัว ซึ่งวิธีนี้ไม่ขอยืนยันว่าจะได้ผลกับทุกสวน แต่ถือเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยทดลองมา

“ที่สวนจะมีแปลงปลูกมะละกออยู่ 2 ที่ แปลงที่ 1 พื้นที่ค่อนข้างต่ำ น้ำจะขัง ทำให้เป็นโรคง่าย แปลงที่ 2 พื้นที่สูงเป็นที่ดอนกว่า จะไม่ค่อยเกิดโรค จึงตั้งสมมุติฐานว่า พื้นที่ดอนกว่าจะเป็นโรคยากกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแล้งดินไม่ชุ่มชื้นมาก โรคจึงไม่เกิด ดังนั้น ที่สวนจึงทดลองปรับลดปริมาณการให้น้ำในช่วงที่เกิดโรค พยายามทำต้นไม่ให้สมบูรณ์มาก ปล่อยให้ต้นต้านทานโรคเอง ดีกว่าการบำรุงต้นให้สมบูรณ์ตลอด เพราะช่วงเกิดโควิดที่สวนจะประคองการให้น้ำ ให้ปุ๋ย แต่เมื่อต้นห่างปุ๋ยกลับทำให้มะละกอที่สวนดูแข็งแรงขึ้น รสชาติค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ไม่หวานโดด จนตอนนี้เก็บจะหมดคอแล้ว รสชาติยังดีอยู่เลย” เจ้าของสวนบอกเล่าประสบการณ์ในการรับมือกับไวรัสจุดวงแหวน

สีสวย เนื้อแน่น รสชาติหวานฉ่ำ

ต้นทุน ผลผลิต และรายได้

ผลผลิต… เริ่มปลูกเมื่อปี 62 ตอนนี้ผลผลิตออกมาให้เก็บขายได้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลผลิตให้เก็บต่อเนื่องยาวไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ผลผลิตถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ยังไม่ดกมาก 4 ไร่ เก็บผลผลิตได้สัปดาห์ละ 1 ตัน

ต้นทุนการผลิต…ถือว่าต่ำมาก ถ้าเทียบกับรายได้ เพราะ

  1. ใช้อุปกรณ์เก่าที่มีอยู่มาประยุกต์
  2. เพาะต้นกล้าเอง
  3. ต้นทุนค่าปุ๋ยที่แบ่งใส่เป็นช่วง และใส่ในปริมาณที่น้อย เมื่อคิดคำนวณต้นทุนแล้ว ไม่ถึง 10,000 บาท ต่อไร่

รายได้…สัปดาห์ละ 10,000 บาท คิดเฉลี่ยรายได้ต่อเดือน ประมาณ 40,000 บาท ตอนนี้เก็บขายไป 2 เดือน รายได้ทะลุหลักแสนบาทไปแล้ว

ผลผลิตกล้วยหอมคุณภาพดี

การตลาด ในยุค โควิด-19
ต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง

เจ้าของบอกว่า ช่วงที่ผ่านมาเจอแจ๊คพ็อตหลายอย่าง ปีนี้โชคไม่ดี มะละกอราคาตกต่ำมาตั้งแต่ต้นปี เพราะเจอพิษ โควิด-19 เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้พ่อค้า แม่ค้า ที่เคยตกลงซื้อขายกันไว้หายไป ดังนั้น เมื่อไม่มีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อ แต่ผลผลิตก็ยังออกอยู่เหมือนเดิม จึงจำเป็นต้องหาวิธีระบายของด้วยตนเอง ด้วยการเข้าไปติดต่อพ่อค้า แม่ค้า  ทั้งในอำเภอและจังหวัด ซึ่งตอนแรกเขาก็แบ่งรับแบ่งสู้ เพราะเขาไม่รู้จักเรา ไม่รู้ว่าของที่เรามาขายมีคุณภาพแค่ไหน แต่พอได้ทดลองซื้อไปขายก็ติดใจ กลายเป็นแม่ค้าประจำ โดยตกลงราคาซื้อขายที่ กิโลกรัมละ 10 บาท ถือว่าขายได้ราคาดีถ้าเทียบกับช่วงที่กำลังเกิด โควิด-19 เพราะที่อื่นไม่สามารถกระจายของได้เลย เคยถามสวนใหญ่ๆ ขายกิโลกรัมละ 5 บาท ก็ยังขายไม่ได้ บางสวนถึงกับต้องไปจ้างคนงานมาปอกเปลือกส่งขายโรงงาน ก็ยังขายได้ กิโลกรัมละ 7-8 บาท ก็ไม่คุ้ม เพราะต้องเสียค่าแรงคนงานเพิ่ม ต้องบอกว่าปีนี้สวนใหญ่ๆ ล้มกันเยอะ เกษตรกรมือใหม่จึงจำเป็นต้องศึกษาการตลาดและมีไหวพริบรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งถ้ามีสติรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว ตนก็ยังยืนยันว่ามะละกอยังเป็นพืชที่มีอนาคตดี เพียงแต่เกษตรกรต้องพยายามพึ่งตัวเองให้ได้ พยายามศึกษาให้ตัวเองเก่งในทุกด้าน ทั้งด้านของการผลิตสินค้าให้มีความสม่ำเสมอ การตลาดก็ต้องหาเองให้เป็น และถ้าหาเองเป็นแล้วเรื่องคุณภาพก็สำคัญ ต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ครั้งไหนผลผลิตไม่ดี ก็ไม่ต้องขาย หรือบอกให้เขารู้ก่อนว่าครั้งนี้ผลผลิตที่ได้มาเป็นอย่างไร นี่คือหัวใจสำคัญ

ฝากถึงมนุษย์เงินเดือนอยากทำเกษตร

“เดี๋ยวนี้ที่เห็นมา มนุษย์เงินเดือนหันมาเป็นเกษตรกรกันเยอะ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ผมก็มีลูกค้าสั่งหน่อกล้วยให้ไปส่งที่สวน แต่เมื่อได้ไปเห็นลักษณะพื้นที่ของเขาแล้ว ยังไม่เหมาะสมกับการทำเกษตร หรืออีกทางคือ เลือกปลูกพืชไม่เหมาะสมกับสภาพดิน ก็เลยอยากบอกทุกคนที่จะมาทำเกษตรเลยว่า ก่อนที่จะมาทำ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ศึกษาให้ดี ว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ สภาพแวดล้อมพร้อมไหม และเหมาะกับพืชที่จะปลูกหรือเปล่า พยายามหาความรู้เยอะๆ อย่าคิดว่ามีพื้นที่ มีเงินมาลงทุนแล้วจะได้ ห้ามคิดแบบนั้นเด็ดขาด เพราะจะมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก ทางที่ดีคือต้องหาความรู้ และค่อยๆ ลงมือทำ อาจจะเริ่มจาก 1 ไร่ และวิเคราะห์ดูว่าจะสามารถปลูกต่อหรือขยายเพิ่มได้ไหม และที่สำคัญต้องใจเย็นๆ อย่าใจร้อน รอให้เป็น อดทนให้ได้ ถ้าทำได้ ยังไงผมก็ยังยืนยันว่าอาชีพเกษตรกรก็ยังเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างความยั่งยืนให้กับชีวิตได้เสมอ”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อเบอร์โทร. 091-887-4003