ปลูกพลูกินใบ สร้างรายได้ ของ สมควร แซ่โง้ว ที่สมุทรสาคร

พลู เป็นพืชไม้เลื้อยที่นิยมนำมาทานคู่กับหมาก ซึ่งในสมัยก่อนนั้นเมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยือนถึงเรือนชาน ก็จะนำหมาก พลู และของต่างๆ มาต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนถึงบ้าน นอกจากพลูจะเป็นที่นิยมทานแล้ว ยังได้มีการนำมาใช้ในพิธีมงคล เช่น เป็นเครื่องเซ่นไหว้ หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่สำคัญ จึงนับได้ว่าพลูเป็นพืชที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของสังคมไทยมาอย่างยาวนานเลยทีเดียว จึงทำให้พลูยังมีความต้องการของตลาดค่อนข้างมาก จนถึงเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ไม่น้อย

คุณสมควร แซ่โง้ว อยู่บ้านเลขที่ 123/8 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเกษตรกรที่มองเห็นถึงความต้องการพลูของแม่ค้าที่รับซื้อ จึงใช้พื้นที่สวนมาปลูกพลูเพื่อเป็นงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ที่ทำมากว่า 3 ปีกันเลยทีเดียว

คุณสมควร แซ่โง้ว

คุณสมควร เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพเกี่ยวกับขายต้นพันธุ์ไม้ทั่วไป ต่อมาจึงได้เปลี่ยนจากอาชีพนั้นมาทำสวนฝรั่ง เมื่อปลูกไปได้ระยะเวลานานการทำสวนฝรั่งไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีปัญหาเรื่องตาย ต้นทำให้อายุของไม้สั้น จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนมาปลูกเป็นพลูกินใบแทน

“ช่วงนั้นประมาณปี 2557 เราก็เริ่มมาปรับเปลี่ยนปลูกพลูกินใบเลย เพราะช่วงนั้นเรามองว่าต้นทุนการทำสวนพลูไม่น่าจะสูงมาก ใช้อุปกรณ์อื่นๆ ไม่มากเหมือนอย่างไม้อื่น และที่สำคัญไม่ต้องใช้ระยะเวลาที่นานในการเจริญเติบโต เรียกง่ายๆ ว่า ระยะเวลาให้ผลผลิตสั้น ส่วนเรื่องการตลาดก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีแม่ค้ามารับซื้อผลผลิตเราถึงที่สวน ทำให้สิ่งที่เราจะลงมือทำมันมีตลาดแน่นอน ก็เลยตัดสินใจทำอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา” คุณสมควร เล่าถึงที่มา

ใช้ตาข่ายพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์

เมื่อตกลงปลงใจที่จะทำสวนพลูเป็นงานสร้างอาชีพแล้ว คุณสมควร บอกว่า ก็ได้หาสายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพมาจากญาติๆ ที่ปลูกกันอยู่เดิม ซึ่งในตอนนั้นญาติของคุณสมควรยังทำสวนพลูในปริมาณที่น้อย ทำให้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้เขาเห็นช่องทางนี้จึงได้มาปลูกให้มากขึ้น เพื่อให้มีกำลังส่งเพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ก่อนที่จะนำต้นพลูมาปลูกเพื่อเก็บใบส่งขาย คุณสมควร บอกว่า จะต้องเตรียมพื้นที่ปลูกให้มีความพร้อมเสียก่อน โดยในขั้นตอนแรกจะทำโรงเรือนที่ด้านบนคุมด้วยตาข่ายพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องน้ำที่อยู่ภายในร่องสวนเป็นของเดิมที่ทำสวนฝรั่งอยู่จึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

ใช้เสาหินเป็นหลักให้พลูเลื้อย

“พอเราพลิกหน้าดินเรียบร้อย ก็หาหลักเสาปูนมาปัก โดยให้หลักมีความสูงที่พอดี ไม่สูงมากจนเกินไป อาจจะเป็นเสาร์ปูนหน้า 2 นิ้ว ขนาดสูง 2.20 หรือ 2.50 เมตรก็ได้ เพราะถ้าสูงเกินไปเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเสียเวลา พอเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเตรียมต้นปลูกที่เป็นกิ่งตอน มาปลูกลงบริเวณหลุมรอบๆ เสาปูน ซึ่งก้นหลุมก็อาจจะใช้ปุ๋ยคอกช่วย เมื่อพลูเริ่มแตกใบอ่อนก็จะใส่ปุ๋ยเคมีเข้ามาช่วย ส่วนการให้น้ำพลูชอบพื้นที่พอชื้น แต่อย่าแฉะมากเกินไป อาจทำให้ต้นตายได้” คุณสมควร บอกวิธีการปลูก

เมื่อพลูที่ปลูกมีอายุได้ประมาณ 5 เดือน ต้นก็จะเริ่มมีความสมบูรณ์สามารถตัดใบขายได้ โดยจะตัดใบที่แก่มีสีเขียวเข้ม โดยเน้นเก็บให้ก้านใบยาวมากที่สุด ซึ่งพลูที่ปลูกในสวนจะตัดขายได้ทุก 25 วันครั้ง ต่อ 1 ต้น คือสามารถวางแผนให้เก็บผลผลิตมีขายได้ทุกวัน โดยต้นพลูที่ตัดใบขายจนหมดแล้ว คุณสมควร บอกว่า จะต้องมีการบำรุงต้นทุกครั้งด้วยการใส่ปุ๋ยเสริมเข้าไปอาจจะเป็นปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยเคมีเดือนละ 1 ครั้ง

ใบพลู พร้อมตัดขาย

ในเรื่องของโรคที่เป็นปัญหาสำหรับการปลูกพลู เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนโรคที่น่าเป็นห่วง คือ โรคราดำ ที่จะเข้าไปทำลายกิ่งพันธุ์จึงทำให้ต้นพลูไม่มีความแข็งแรงและอาจเสียหายได้ จะป้องกันด้วยการฉีดพ่นยากันเชื้อราก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง เพื่อให้ภายในสวนปราศจากเชื้อที่จะเข้ามาทำลายต้นพลูได้ โดยหาซื้อยาได้จากร้านเคมีทางการเกษตรทั่วไป

“ต้นพลูถือว่าเป็นพืชที่อยู่ได้นาน ถ้าเราบำรุงต้นให้ถึง อย่างเช่นพอตัดใบขายแล้ว ต้องบำรุงต้นทันที ก็จะทำให้ต้นไม่ทรุดโทรม ไม่ต้องหาต้นใหม่ๆ มาปลูกซ่อมก็จะทำให้ประหยัดต้นทุน และที่สำคัญการตัดแต่งกิ่งก็สำคัญ ไม่ใช่ว่าเราตัดใบขายแล้ว จะไม่ต้องตัดแต่งกิ่ง เราต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอ หมั่นเอาใบฝอยใบเล็กออก กิ่งที่ไม่ดีก็เอาออก ก็จะทำให้กิ่งที่เราต้องการมีความสมบูรณ์ และสามารถมีใบไซซ์ขนาดมาตรฐานส่งขายได้” คุณสมควร บอกถึงวิธีการดูแล

ในเรื่องของการทำตลาด คุณสมควร บอกว่า ไม่เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเขา เพราะก่อนที่จะลงมือปลูกพืชชนิดนี้ ได้ศึกษาเรื่องความต้องการของตลาดเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้ตัดสินใจปลูก เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการทำเกษตรแบบใช้ตลาดนำยึดความต้องการของตลาดเป็นหลักแล้วจึงลงมือทำ

พื้นที่ภายในสวน

พลูกินใบ จะเน้นตัดขายแบบชั่งกิโลกรัม โดยราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด ช่วงที่ราคาต่ำสุดขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 45 บาท และราคาสูงสุดขึ้นไปถึงราคา กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งพลู 1 กิโลกรัม จะได้ใบพลู ประมาณ 270-280 ใบ

“เวลาที่เราส่งขายก็ขึ้นอยู่ที่แรงงาน ว่าเก็บได้มากได้น้อย ซึ่งต่อคนต่อวันก็ประมาณ 20 กว่ากิโล ซึ่งที่สวนใช้แรงงานช่วยกันประมาณ 3 คน ก็จะเก็บได้ต่อครั้งประมาณ 70 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งที่สวนก็จะสลับกันเก็บ จึงทำให้สามารถเก็บขายได้ตลอด โดยที่ผลผลิตไม่ขาดตลอด มีป้อนให้แม่ค้าที่มารับซื้อได้อย่างไม่ขาดช่วง นี่ก็เป็นอีกเทคนิคทำให้การตลาดเรา” คุณสมควร บอกถึงเรื่องการตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกพลูกินใบเป็นอาชีพ คุณสมควร แนะนำว่า ให้ดูว่าในพื้นที่นั้นๆ มีความต้องการพลูมากน้อยเพียงไร เมื่อเห็นว่าตลาดที่จะส่งขายมีแน่นอนแล้ว ก็อาจจะเริ่มทำเป็นอาชีพเสริมเล็กๆ ก่อน เมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้นจึงค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกให้มีจำนวนมากขึ้น ส่วนในเรื่องการปลูกก็สามารถศึกษาวิธีการจากผู้ที่ประสบผลสำเร็จได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถปรึกษาวิธีการปลูกจากคุณสมควร ยินดีให้คำแนะนำ

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่มได้ที่ คุณสมควร แซ่โง้ว หมายเลขโทรศัพท์ (081) 199-0897, (092) 804-6897