ตำนาน ส้มโอเวียงแก่น ฉายานครชัยศรี 2 ปลูกระบบไร่รอบลำน้ำโขง ส่งออกจีนด้วยวิธีกองทัพมด รวมเป็นปึกแผ่น ตลาดตอบรับ

ถิ่นเมืองเหนือตอนบนนั้น เป็นเมืองปลูกส้มเปลือกบาง หรือส้มโชกุน รสชาติจะหวาน หอม ไม่เพียงแต่จะปลูกลำไย ลิ้นจี่ แล้ว จังหวัดดังกล่าว เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ (เด่นชัย) ลำพูน น่าน และลำปาง ปลูกส้มเขียวหวานที่ลือชื่อมานาน

เหตุที่ไม่นิยมปลูกส้มโอกันนั้น บรรดาชาวสวนจะไม่นิยมปลูกกันตามจังหวัดที่กล่าวมา เพราะมาจากความหนาวเป็นต้นเหตุ

ผู้ใหญ่อุทศน์ เตรียมธะนะ ผู้นำร่องปลูกส้มโอจากพันธุ์นครชัยศรีประสบผลสำเร็จ

เฉพาะที่จังหวัดเชียงราย มีบริษัทใหญ่ทดลองปลูกกันแล้ว ผลออกมาจะมีรสเปรี้ยวขม ต้องจำหน่ายในราคาที่ถูกลง แม้แต่จะมีที่ปรึกษาเก่งในด้านส้มโอจากนครชัยศรีมาให้คำแนะนำมาหลายปีแล้ว ทว่ากลิ่นรสขมยังมีประปราย ถึงจะใช้วิธีลดความขมลงได้บ้าง ยังไม่หายไปหมด แก้ไขด้วยการใส่ปุ๋ยอ้อย หรือปุ๋ยน้ำตาล สูตร 0-0-50 หรือ 0-0-60 แล้วก็ตาม ไม่สำเร็จ

ผิดกับภาคเหนือตอนล่าง ก็คือ ส้มโอท่าข่อย ที่เคยมีชื่อเสียงปลูกส้มโอมาช้านาน แต่ถึงอย่างไร รสหวานส้มโอท่าข่อยที่หลายคนว่าเป็นสายพันธุ์ขาวน้ำผึ้งจากนครชัยศรี เท็จจริงผู้เขียนไม่เคยไปมาและไม่กล้าฟันธง

ส้มโอกิ่งตอน เพื่อนำไปปลูกต่อหลังมีรากพร้อมปลูก

เข้าทำนองส้มโอของจังหวัดชัยนาท พันธุ์ขาวแตงกวา เป็นของชัยนาทแท้ ไม่ใช่มาจากนครชัยศรี พิสูจน์แล้ว

สมัยก่อนเคยเดินทางมาที่เชียงรายบ่อย เมื่อเกือบสองทศวรรษ ได้มีโอกาสไปอำเภอเวียงแก่น ที่จังหวัดเชียงราย ไปหลายครั้ง เป็นอำเภอที่ติดกับแม่น้ำโขง ชายฝั่งติดกับ สปป.ลาว

สาเหตุที่ต้องการไป อยากจะไปกินส้มโอที่อำเภอเวียงแก่น เพราะเป็นแหล่งปลูกส้มโอมากว่าสามทศวรรษ ปัจจุบันนี้อายุส้มโอเวียงแก่นคงเกินสี่ทศวรรษกว่าแล้ว

ปลูกแบบระบบไร่ ใช้ท่อ พีวีซี ต่อเข้าไร่รดน้ำ ระหว่างต้นจะห่างกว่าระบบสวน

อยากพิสูจน์ดูว่า กุ้ง หรือเนื้อส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง กับพันธุ์ทองดี จะมีรสขมเหมือนปลูกใกล้ๆ เชียงรายหรือไม่ แวะไปมาหลายครั้ง จนคนนิยมปลูกกันทั่วเวียงแก่น น่าจะถึง 5,000 ไร่เศษ โดยได้รับเงินกู้จากสหกรณ์การเกษตรเวียงแก่น

ไปครั้งแรก ราวปลายปี 2543 เกษตรกร ชาวสวนแห่งอำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน ชักชวนกันไปดูแหล่งขยายพันธุ์ส้มโอคือ อาจารย์ทิม ไทยทวี เกษตรกรชาวสวนส้มโอที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเกษตรกรนครปฐม ที่ปลูกส้มโอจนรับรางวัลประกวดส้มโอที่หนึ่งมากมายหลายสมัย

เพราะการเดินทางไม่มีอุปสรรคใดๆ ได้นัดแนะกับเกษตรกรตัวจริงรุ่นแรกบุกเบิกส้มโอเป็นคนแรกคือ ผู้ใหญ่บ้านอุทัศน์ เตรียมธะนะ แห่งอำเภอเวียงแก่น ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะชื่อเสียงอาจารย์ทิม ไทยทวี เป็นที่ยอมรับในวงการส้มโอมาช้านาน ส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า อาจารย์ทิม เพราะท่านเป็นเซียนส้มโอและเผยแพร่บรรยายเกี่ยวกับส้มโอให้เกษตรกรไปทุกหนแห่งที่เชิญไปถ่ายทอดความรู้ด้านส้มโอ

พื้นที่อำเภอเวียงแก่น ติดริมฝั่งโขง กับ สปป.ลาว ปลูกส้มโอมองเห็นชัดเป็นกองทัพมด ใช้สอยพื้นที่ให้เป็นประโยชน์

ผู้ใหญ่อุทัศน์พาคณะของผู้เขียนไปดูสวนส้มโอของตนเอง ขนาด 15 ไร่เศษ พร้อมเล่าถึงความเป็นมาของส้มโอที่ปลูกไว้ในสวนที่มีผลผลิตออกมาหลายปี

ผู้ใหญ่อุทัศน์ ได้เล่าถึงในอดีต ราวปี 2530 ท่านทำงานในกรุงเทพฯ ในสมัยยังหนุ่ม อยากจะกลับไปอยู่บ้านเวียงแก่น เคยได้ยินชื่อเสียงของส้มโอดัง ชื่อสวนส้มไทยทวี ที่อำเภอสามพราน แต่สวนปลูกส้มโออยู่ในอำเภอนครชัยศรี ชื่อเดิมเรียกกันว่า “มณฑลนครชัยศรี” จึงได้เดินทางไปหาทันที

นครชัยศรี แหล่งผลิตส้มโอที่มีชื่อเสียงมานาน ปลูกระบบสวน ต่างกับเวียงแก่นปลูกระบบไร่ ใช้น้ำเหวี่ยง

ได้สนทนาจึงขอซื้อกิ่งพันธุ์ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง กับทองดี ไปปลูก เหตุที่ต้องซื้อทองดี เพราะตั้งใจจะปลูกเพื่อส่งออกไปฮ่องกง และขาวน้ำผึ้งจะปลูกขายให้บริโภคภายในประเทศ ตามที่อาจารย์ทิมแนะนำมา เพื่อปลูกทดลองดูว่าพันธุ์ดังกล่าวจะมีอนาคต

ผลออกมาแล้ว ทำไมรสชาติของส้มโอเวียงแก่นจึงปลูกได้ผลดี คำถามของผู้เขียนยิงไปที่ผู้ใหญ่อุทัศน์ก่อน ผู้ใหญ่อุทัศน์ โยนมาให้อาจารย์ทิมตอบแทน

ส้มโอพันธุ์ทองดี สีกุ้งออกสีชมพู ชาวจีนนิยมนำไปไหว้เจ้า

คำตอบของอาจารย์ทิม กล่าวว่า ที่ส้มโอเวียงแก่น นอกจากดินจะดีแล้ว ธรรมชาติเป็นใจโดยอากาศที่เวียงแก่นถ่ายเทได้ดี การบำรุงปุ๋ยและดูแลเอาใจใส่ดี ติดชายฝั่งแม่น้ำโขง อากาศไม่หนาวเกินไป

ที่นี่เหมาะกับการปลูกส้มโอระบบไร่ เพราะเป็นที่ลาดเทระดับพื้นที่การปลูกระบบไร่ ต้องใช้ระยะห่างกว่าระบบสวน คือ ระยะ 10×10 เมตร หรือ 12×12 เมตร จำนวนต้นได้น้อย แต่ทรงพุ่มระบบไร่จะใหญ่มาก อายุยืน ผลผลิตได้มาก ดูแลรักษาง่ายกว่าระบบสวน ที่ทรงพุ่มเล็ก อายุสั้น ระยะห่างไม่มาก แต่ได้จำนวนต้นมากกว่ากัน

ส้มโอในสวนผู้ใหญ่อุทัศน์รุ่นแรก

ทว่าระยะห่างและสั้น การปลูกบนแปลงจึงล้อมรอบด้วยน้ำจะสะดวกในการเก็บกักน้ำเพื่อให้ออกนอกฤดู ได้เปรียบกว่าระบบไร่ ที่ต้องออกในฤดูเท่านั้น น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกส้มโอ จึงได้เปรียบกว่ากัน อายุส้มโอจึงสั้นกว่าระบบปลูกแบบไร่ เหตุเพราะพื้นที่แตกต่างกันนั่นเอง

เมื่อผลผลิตออกมาครั้งแรก นำไปขายเป็นสายพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง แสนจะดีใจ เพราะได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ส่วนพันธุ์ทองดี ที่ซื้อมาจากสวนไทยทวี เป็นกิ่งตอนด้วยกัน ออกดอก ผล มาโดยตลอด

ผู้ใหญ่อุทัศน์กับภรรยา ในสวนส้มโอ

ผู้ใหญ่อุทัศน์ กล่าวถึงความรู้จากการปลูกส้มโอนั้น อาจารย์ทิมเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาเรื่องส้มโอมาโดยตลอด บางครั้งก็ไปเยือนท่านถึงสวน เพื่อนำไปขยายปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้งและทองดีเพื่อการส่งออก มองเห็นอนาคต

จนกระทั่งอีก 5 ปีถัดไป ผู้เขียนก็ไปดูมาอีกกับอาจารย์ทิม คราวนี้สวนส้มโอเวียงแก่นปลูกพันธุ์ทองดีกันอย่างเนืองแน่น เพราะได้ระบบเงินกู้ในฐานะสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเวียงแก่น มีจำนวนการปลูกนับร้อยๆ ราย เพราะส้มโอทองดีส่งตลาดฮ่องกงได้ หรือจะเรียกว่า นครชัยศรี 2 ก็ว่าได้ สร้างรายได้แก่เกษตรกรทุกระดับที่มีพื้นที่

ส้มโอไทยไปผงาดที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ ชาวจีนนิยมบริโภค

กล่าวกันว่า ส้มโอเวียงแก่น สามารถมีคุณภาพส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงตามฤดูกาล คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม มีรถคอนเทนเนอร์มาบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ เพื่อส่งถึงท่าเรือคลองเตย ในขณะนั้นตลาดฮ่องกงต้องการพันธุ์ทองดีไปบริโภค ไหว้เจ้า และไหว้พระจันทร์ตามเทศกาล

ด้วยเหตุผล ส้มโอทองดี ผลขนาดเล็กกว่าขาวน้ำผึ้ง สีกุ้ง หรือกุ้งออกสีชมพูแดงระเรื่อ ชาวจีนนิยมกัน ถือเป็นส้มโอพระเจ้า ว่ากันอย่างนั้น แถมบรรจุใส่กล่องได้มาก

สำหรับราคาส่งออกทางเรือสมัยนั้น ย่อมจะเสียเปรียบกว่าส้มโอนครชัยศรีเล็กน้อย ในฐานะน้องใหม่อยู่ไกล

ผู้ใหญ่อุทัศน์ ต้อนรับคณะทีมงานชาวสวน นำโดย อาจารย์ทิม ไทยทวี จากนครปฐม

ต่อมาชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้เดินทางมาเป็นลูกค้าส้มโอเวียงแก่น โดยขนส่งทางเรือออกทางลำน้ำโขง สะดวก รวดเร็ว ดีกว่าเดิม เพราะการเดินทางสะดวกกว่า ส้มโอซื้อขายเป็นผลไม้ไม่เสียง่าย ยิ่งนานส้มโอกลับมีรสหวานดี ทนทานต่อการเก็บไว้นาน ซึ่งคณะผู้เขียนเคยไปดูมา 3-4 ครั้ง

จึงไม่แปลกที่ชาวสวนส้มโอเวียงแก่น ที่ปลูกส้มโอรวมตัวเป็นกลุ่มสมาชิกเกษตรสหกรณ์ จำนวนพื้นที่มีไม่มาก ขนาด 1-25 ไร่ ก็เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์…กลุ่มส้มโอเปรียบเสมือนกองทัพมด มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก รวบรวมกันง่ายเป็นปึกแผ่น ใช้พื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์

ถึงแม้จะมีอยู่ริมตลิ่งตามลำน้ำโขง ก็ปลูกส้มโอแทรกกันไปไม่ถึงไร่ก็มี แต่พอมีผลผลิตมันก็ทำเงินให้เจ้าของได้เช่นกัน เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ต้องเฉลี่ยกันไป

ผลส้มโอตัดทิ้ง ตกเกรด นำไปขายต่อได้ในราคาถูก

การสนทนาถึงปัญหาเรื่องสวนส้มโอนั้น เคยมีปัญหาครั้งเดียว ระบายส้มโอจากสวนไม่ทัน ผู้ใหญ่บ้านจึงตัดสินใจโดยเอาส้มโอที่ใกล้จะเสียหายจำนวนนับหมื่นผล ใส่รถบรรทุกสิบล้อของตนเองไปเร่ขายที่ตลาดนาเกลือ ที่สระแก้ว ขายให้ชาวกัมพูชา ในสนนราคาผลละ 3-4 บาท แสนจะถูก เขาคิดต้นทุนแล้วว่า ถ้าหากเอาทิ้งไปเท่ากับสูญไป จึงรับผลผลิตราคาผลละ 2 บาท บวกค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายไปแล้ว คำนวณออกมาต้นทุนบรรทุก ตกราคาผลละ 1 บาท ยังเห็นตัวเงินกลับมา ดีกว่าสูญไป ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากชาวกัมพูชาที่อยู่ในชายแดนเมื่อกว่า 20 ปี ได้กินผลไม้ราคาถูก และมีกำลังซื้อด้วยในช่วงเขมรแตกทัพใหม่ๆ

ฉีดพ่นยา ดูแลรักษาเพื่อให้ผลส้มโอมีคุณภาพส่งออก

ปัจจุบัน ไม่ได้ไปเยี่ยมผู้ใหญ่อุทัศน์มานานแล้ว และระหว่างโรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ตลาดส้มโอที่จีนจะซบเซาหรือเปล่า ทราบว่าผู้ใหญ่เกษียณแล้ว แต่งานผลิตส้มโอยังรุดหน้าไปไม่หยุดนิ่ง

ติดตามกันต่อไป ขอให้มีกำลังใจสู้ต่อไป ในภาวะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนกันทุกสาขาอาชีพกันเลย สถานการณ์ต้องคงจะกลับมาในเร็ววัน