มะดามิง อารียู ปลูกมะนาวอินทรีย์ ที่ปลายด้ามขวาน ยะลา

ยังไม่ผ่านพ้นไปกับช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานหลายเดือน หลายคนปรับตัวและหาช่องทางดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้าได้แล้ว และอีกหลายคนที่ยังมืดแปดด้านกับชีวิต ก็อย่าเพิ่งท้อกันไป ชีวิตยังมีแสงสว่างเสมอ สิ่งแรกที่เริ่มต้นทำได้ง่ายที่สุดคือ การพึ่งพาตนเอง ปลูกผักผลไม้ไว้กินเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ช่วงแรกรายได้อาจยังไม่มี แต่อย่างน้อยก็ขอให้ท้องได้อิ่มก่อน เมื่อเหลือจึงขายสร้างรายได้ ตามหลักคำสอนเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9

คุณมะดามิง อารียู หรือ พี่ยา

คุณมะดามิง อารียู หรือ พี่ยา เกษตรกรชาวยะลา อยู่บ้านเลขที่ 31/2 หมู่ที่ 4 ตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ผู้ที่น้อมนำคำสอนทฤษฎีหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นหนทางในการดำเนินชีวิต ประกอบกับที่มีความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์มาอยู่ก่อนแล้ว จึงเริ่มต้นทำเกษตรแบบอินทรีย์ เพื่อวางรากฐานชีวิตในอนาคตมานานหลายปี โดยมองว่า เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน จะเป็นทางรอด และเป็นความยั่งยืนของเกษตรกรไทยในอนาคต

มะนาวแป้นพิจิตร

พี่ยา เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำเกษตรอินทรีย์ว่า เมื่อก่อนก็เคยทำเกษตรเคมีมาก่อน แต่เมื่อทำไปแล้วการทำเกษตรเคมีไม่ตอบโจทย์ชีวิต ทำกี่ครั้งก็ขาดทุนทุกครั้ง จึงนึกย้อนไปถึงสมัยบรรพบุรุษว่า ท่านทำการเกษตรอย่างไร ถึงได้มีกินมีใช้และมีมรดกตกมาถึงลูกหลานได้ เมื่อทบทวนดูดีๆ แล้ว จึงได้คำตอบว่า พวกท่านทำเกษตรแบบไม่ได้พึ่งพาปัจจัยภายนอก พยายามพึ่งพาปัจจัยภายในให้ได้มากที่สุด เมื่อคิดได้หลังจากนั้นจึงกลับมาทดลองเดินตามรอยบรรพบุรุษด้วยการพยายามเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด และมีระบบการจัดการแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หาวัตถุดิบปุ๋ยในท้องถิ่น ขี้วัว ขี้ไก่ รวมถึงการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง

ทำเกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์
บนพื้นที่
5 ไร่ ไม่รวย แต่มีเงินใช้ไม่ขาดมือ

เจ้าของเล่าว่า ตอนนี้มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ประมาณ 5 ไร่ ทำเกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์ ปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ลางสาด เลี้ยงสัตว์ และล่าสุดคือ การรวมกลุ่มปลูกมะนาวอินทรีย์ ถือเป็นการรวมกลุ่มผู้ที่มีอุดมคติคล้ายกัน คือ รักสุขภาพ และอยากสร้างอาหารปลอดภัยให้เพื่อนมนุษย์ได้รับประทาน แต่การทำเกษตรอินทรีย์ก็ต้องยอมรับว่า ในช่วงแรกอาจไม่ได้เป็นรายได้หรือกำไรที่มหาศาล เพราะผลผลิตอาจจะยังออกมาไม่สมบูรณ์เท่ากับเกษตรเคมี แต่สิ่งที่ได้กลับมาแน่ๆ คือ ของดี เมื่อมีของดีจะนำไปทำกับข้าวหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็สบายใจ ปลอดภัยต่อร่างกาย กลายเป็นห่วงโซ่ธุรกิจ เมื่อสามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยได้แล้ว จึงไม่ต้องกังวลด้านการตลาด แต่เพียงต้องใจเย็นในการดูแลที่เพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำจัดวัชพืชที่ต้องทำบ่อยครั้งกว่าการใช้สารเคมีฉีดพ่น รวมถึงแมลงศัตรูพืชที่ต้องทำใจ แต่ก็จะมีวิธีใช้ธรรมชาติกำจัดธรรมชาติกันไป

ระยะห่างระหว่างต้น

เทคนิคการปลูกมะนาวอินทรีย์

พี่ยา บอกว่า ความแตกต่างระหว่างการปลูกมะนาวอินทรีย์กับมะนาวทั่วไป อยู่ที่การใช้ปุ๋ยและการเตรียมดิน ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ตามท้องถิ่นทั้งหมด

ขั้นตอนแรกคือ การเตรียมดินปลูก… นำขี้วัว ขี้ไก่ ขี้เลื่อย แกลบ และดิน มาผสมลงในวงบ่อ ในสัดส่วนที่พอเหมาะ จากนั้นนำต้นพันธุ์ลงไปปลูก โดยพันธุ์มะนาวที่เลือกปลูกคือ พันธุ์แป้นพิจิตร เนื่องจากปลูกดูแลง่าย และให้ผลผลิตดกและขนาดลูกใหญ่ พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 100 วงบ่อ 

การดูแลรักษา

ต้องหมั่นกำจัดวัชพืชเป็นประจำ

ปุ๋ย… ใส่ขี้ไก่ ปีละ 2 ครั้ง ปริมาณการใส่ขี้ไก่ 1 ถุง ใส่ได้ 4 ต้น และมีให้ปุ๋ยเม็ดอินทรีย์เสริม ปีละ 1 ครั้ง

ระบบน้ำ… เจาะน้ำบาดาลทำแท็งก์น้ำ มีเครื่องสูบและต่อท่อทำระบบสปริงเกลอร์ ความถี่ในการรดน้ำขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าเป็นหน้าแล้งก็รดน้ำเช้า-เย็น ถ้าเป็นหน้าฝนก็ไม่ต้องรด แต่ก็ต้องดูความชุ่มชื้นของดินประกอบด้วย

การฉีดพ่นน้ำหมัก… มีน้ำหมักหน่อกล้วย และน้ำส้มควันไม้ เป็นสูตรที่ได้เรียนรู้มาจากการเข้าอบรม น้ำหมักหน่อกล้วยเป็นสูตรช่วยเร่งดอก ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีส่วนผสมดังนี้

  1. หน่อกล้วยสับ
  2. กากน้ำตาล
  3. สารเร่ง พด.2
  4. น้ำเปล่า
    วิธีทำ… สับหน่อกล้วยให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำกากน้ำตาล สารเร่ง พด.2 ผสมลงไปในน้ำเปล่า คนให้เข้ากัน จากนั้นนำหน่อกล้วยที่สับไว้ผสมลงไป แล้วคนส่วนผสมให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วปิดฝาไม่ต้องสนิท ตั้งทิ้งไว้ในร่ม ใช้เวลาการหมักประมาณ 20 กว่าวัน แล้วกรองใส่ขวดเก็บไว้ใช้ สัดส่วนการฉีดพ่นน้ำหมัก 1 ลิตร ต่อน้ำ 500 ลิตร

โรคแมลง… การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นอันรู้กันว่าต้องทำใจเรื่องโรคแมลง แต่ก็ต้องทำใจเย็นและค่อยๆ หาวิธีกำจัด ซึ่งตอนนี้ก็ใช้ธรรมชาติกำจัดธรรมชาติ ที่สวนมีนกเยอะ ก็ใช้นกกำจัดแมลงที่มารบกวน ก็ถือว่าป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ในอนาคตจะมีการศึกษาเพิ่มเติม คือการนำผึ้งมาเลี้ยงช่วยด้วย

วัชพืชอุปสรรคสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์

ผลผลิต… เก็บส่งขายตามช่วงฤดูกาล แต่ของที่สวนจะออกยาวมาเรื่อยๆ เริ่มเก็บขายได้เดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม เริ่มทยอยเก็บขายได้แบบวันเว้นวัน วันละประมาณ 40-50 กิโลกรัม ผลผลิตถือว่ายังออกมาได้ไม่เต็มที่ เพราะเพิ่งจะรวมกลุ่มปลูกได้ไม่นาน ประมาณ 3 ปี แต่ ณ ตอนนี้ถือว่าพอใจกับผลผลิตที่ได้

รายได้… มะนาวอินทรีย์ ราคาจะต่างกับตลาดเล็กน้อย แต่ว่าโชคดีหน่อยเพราะมะนาวอินทรีย์ของกลุ่มเรามีตลาดรองรับอยู่ ส่งให้กับโรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยทางโรงพยาบาลจะบวกราคาเพิ่มให้ เพราะเป็นมะนาวอินทรีย์ จากเดิมขายที่ตลาด กิโลกรัมละ 40 บาท เพิ่มมาเป็นกิโลกรัมละ 60 บาท และนอกจากทำส่งโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังมีร้านที่นำไปทำน้ำปั่นขายมารับซื้อเป็นประจำ ทุกวันนี้ผลผลิตก็ยังไม่พอขาย เพราะความต้องการของตลาดที่มีต่อมะนาวอินทรีย์ยังมีอีกมาก แต่ราคายังไม่ดีเท่าที่ควร ในอนาคตทางกลุ่มจึงกำลังหาวิธีเข้าไปปรึกษากับทางหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาสนับสนุนเรื่องของการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะมะนาวของเราเป็นของดีแต่เมื่อขายในตลาดราคาจะเหมือนมะนาวทั่วไป

ระบบน้ำสปริงเกลอร์

ต้นทุนการปลูก…จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นมาในส่วนของขั้นตอนการกำจัดวัชพืช จำเป็นต้องตัดหญ้า ดายหญ้าบ่อยครั้งกว่าการใช้สารเคมีพ่นอยู่มาก แต่หมดกังวลเรื่องค่าปุ๋ยไปได้เลย

แนะนำเกษตรกรที่อยากทำเกษตรอินทรีย์

อันดับแรกในการทำเกษตรอินทรีย์คือ ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน และต้องมีความมั่นใจว่าเกษตรอินทรีย์คือทางรอด ไม่ใช่เฉพาะแค่มะนาว แต่เป็นผักทุกชนิด เพราะถ้าวันนี้ลูกหลานเกษตรกรไม่สนใจวิถีชีวิตการทำงานของรุ่นบรรพบุรุษ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะฟื้นตัวยาก อย่างเช่นตอนนี้ที่โลกกำลังเผชิญกับไวรัส โควิด-19 ทุกคนพยายามที่จะกลับมาทำเกษตร แต่ก็ไม่ทันแล้ว แต่ในทางกลับกัน ถ้าทุกคนเริ่มลงมาทำทีละเล็กทีละน้อยมาเรื่อยๆ เมื่อเกิดผลกระทบอะไร ก็ยังพอที่จะมีผลผลิตมาช่วยในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ และผมมั่นใจในการทำเกษตรอินทรีย์ ผมไม่ได้ทำแค่มะนาวอินทรีย์อย่างเดียว แต่ที่สวนผมทำเกษตรผสมผสาน ใช้ระบบธรรมชาติเข้ามาจัดการ ปลูกยางพารา ลองกอง เงาะ มังคุด ทุเรียน โดยไม่พึ่งสารเคมี ผลผลิตก็มีออกมาขายได้ เมื่อเทียบกับสวนข้างๆ ที่ปลูกยางพารา ปลูกลองกอง มาพร้อมกัน แต่เขาใช้สารเคมี ยางพาราของเขาต้องโค่นทิ้งปลูกใหม่ ผลผลิตลองกองก็ร่วงเสียหาย แต่ของผมผลผลิตยังสมบูรณ์ดีอยู่ ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้ผมทำเกษตรอินทรีย์ต่อไป ถึงแม้ว่าผลตอบแทนอาจได้ไม่เยอะ แต่ผมเน้นความมั่นคง เน้นสุขภาพที่ดี ทั้งของตัวเองและผู้บริโภค ซึ่ง ณ วันนี้ ผมก็พยายามรณรงค์ให้ผู้คนหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น และพยายามขยายองค์ความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ที่สนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรไทยล้มเหลวในเรื่องการทำเกษตรเคมีมามากพอแล้ว คุณมะดามิง กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 080-893-8915