ผักโขม เกษตรกรปลูกในมุ้งได้ผักปลอดภัยเพื่อการส่งออก

ผักโขม เป็นพืชผักปลอดภัยคู่ครัวที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง การหว่านเมล็ดพันธุ์ปลูกในมุ้ง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ การควบคุมป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติหรือให้น้ำเพียงพอ ต้นผักโขมก็เจริญเติบโตสมบูรณ์ได้ผักปลอดภัยเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการส่งออก ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพื่อการยังชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้จึงนำเรื่อง ผักโขม เกษตรกรปลูกในมุ้งได้ผักปลอดภัยเพื่อการส่งออก มาบอกเล่าสู่กัน

เกษตรกรปลูกผักโขมในมุ้งได้ผักปลอดภัยเพื่อการส่งออก

คุณวลัญช์อร ถมปัด รองประธานวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยในมุ้งตำบลท่ามะนาว เล่าให้ฟังว่า พืชผักปลอดภัยเป็นอาหารคู่ครัวที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย แต่!!! พืชผักปลอดภัยที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ องค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาวจึงได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร ปตท. พีทีที กรุ๊ป สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลท่ามะนาวได้ทำงานร่วมกัน โดยจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยในมุ้งตำบลท่ามะนาว” มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม 15 คน

วิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยในมุ้งตำบลท่ามะนาว ได้มีเป้าหมาย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกษตรกรในชุมชน เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนเป็นต้นแบบและร่วมกันปลูกพืชผักปลอดภัยเพื่อสุขภาพ หรือให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตพืชผักปลอดภัยเพียงพอกับความต้องการผู้บริโภคและเพื่อการส่งออก

คุณวลัญช์อร ถมปัด รองประธานฯ ส่งเสริมรวมกลุ่มปลูกผักโขมในมุ้งผักปลอดภัยเพื่อการส่งออก

การดำเนินงาน ได้สนับสนุนมุ้งหรือโรงเรือน 3 หลัง แต่ละหลังมีความกว้าง ยาว และสูง ขนาด 6x12x3.5 เมตร ให้สมาชิกปลูกผักโขมพืชผักปลอดภัย ร่วมจัดหาตลาดเพื่อรองรับในการจำหน่าย ปัจจุบัน ขายผักโขมพืชผักปลอดภัย 30 บาท ต่อกิโลกรัม ให้ บริษัท แนชเชอรัลแอนด์พรีเมี่ยมฟู้ด จำกัด เพื่อจัดส่งขายให้ประเทศในแถบยุโรป

คุณป้าวาสนา ศรีสุวรรณ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยในมุ้งตำบลท่ามะนาว เล่าให้ฟังว่า วิถีชาวบ้านตำบลท่ามะนาวจะนิยมนำผักโขมหรือผักหลายๆ ชนิด มาทำเป็นอาหารคู่ครัว ด้วยการลวกหรือนึ่งกินกับน้ำพริก ทำเป็นผักผัด เป็นแกงจืดหรือแกงส้มปลาช่อนรสแซบ ทำให้ได้คุณค่าทางอาหารต่อสุขภาพด้วย

วิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับการสนับสนุนมุ้งหรือโรงเรือน เพื่อปลูกผักโขม 3 หลัง

การปลูกผักโขมปลอดภัยเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนและเพื่อการส่งออก องค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาว ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงพลังงาน ปตท. พีทีที กรุ๊ป ได้มาส่งเสริมเกษตรกรที่ตำบลท่ามะนาวรวมกลุ่มปลูกผักโขมสลับกับการปลูกพืชผักชนิดอื่นๆ ในมุ้ง เพื่อให้ได้พืชผักปลอดภัยคุณภาพส่งขายตลาดที่ก่อให้เกิดเป็นรายได้ครัวเรือน

เกษตรกรจึงได้รวมกลุ่มเป็น วิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยในมุ้งตำบลท่ามะนาว มีสมาชิก 15 คน โดยวิสาหกิจชุมชนได้รับการสนับสนุนมุ้งหรือโรงเรือน 3 หลัง เพื่อให้ปลูกผักโขมสลับกับพืชผักชนิดอื่น ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อปลูกผักโขมปลอดภัยเพียงพอกับความต้องการและเพื่อการส่งออก

คุณป้าวาสนา ศรีสุวรรณ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยในมุ้งตำบลท่ามะนาว

การเตรียมดิน ผักโขม เป็นพืชผักที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขังแฉะ การเตรียมดินปลูกได้ยกร่องแปลงปลูกให้สูงขึ้น กว้าง 2 เมตร ความยาวตามแนวพื้นที่ ได้เว้นระยะห่างระหว่างแปลงปลูก กว้าง 80 เซนติเมตร เพื่อให้เป็นทางเดิน นำวัสดุ แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย หรือมูลสัตว์ ใส่ลงบนแปลงปลูก อัตราส่วน ดินกับวัสดุ 2 : 1 ส่วน สับดินและวัสดุปลูกผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน

พันธุ์ผักโขม ที่นำมาปลูกมี 2 พันธุ์ คือ ผักโขมแดง และผักโขมยักษ์ โดยไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักโขมจากร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรในชุมชน

การปฏิบัติดูแลรักษาเหมาะสม ต้นผักโขมยักษ์ก็เจริญเติบโตพร้อมให้เก็บเกี่ยว

วิธีการปลูก ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ผักโขมปลูกทั่วแปลงหรือหว่านเมล็ดปลูกเป็นแถว ให้แถวห่างกัน 20-30 เซนติเมตร ทั้ง 2 วิธี ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกในราว 10 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วคราดดินกลบ 1-2 รอบ รดน้ำให้พอชุ่ม

การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษา หลังจากปลูก 7 วัน ได้ใส่ปุ๋ยด้วยการนำมูลไก่และแกลบผสมกัน โรยใส่รอบทรงพุ่มต้นผักโขม จะใส่ทุก 7 วัน ขณะเดียวกันก็ได้นำน้ำหมักชีวภาพหน่อกล้วย จุลินทรีย์ หรือน้ำหมักชีวภาพที่ทำจากหัวปลามาฉีดพ่นทุก 7 วัน สลับกับการใส่ปุ๋ยมูลไก่

วิธีเก็บเกี่ยวใช้มือจับที่โคนต้นดึงขึ้นมาช้าๆ

การให้น้ำ ต้นผักโขมต้องได้รับน้ำพอเพียงจึงจะเจริญเติบโตสมบูรณ์ ได้ให้น้ำผักโขมวันละ 1-2 ครั้ง เช้าหรือเย็น หรือดูความชื้นในดินก่อน การให้น้ำได้ฉีดพ่นน้ำเป็นแบบละอองฝอยให้ทั่วแปลงผักแต่พอชุ่ม

การเก็บเกี่ยว หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ผักโขมปลูกและปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาได้ 25-30 วัน ต้นผักโขมจะเจริญเติบโตพร้อมให้เก็บเกี่ยว วิธีเก็บใช้มือจับที่โคนต้น ดึงขึ้นมาช้าๆ วางต้นผักโขมลงบนภาชนะ จากนั้นนำต้นผักโขมไปล้างน้ำให้รากและใบสะอาด จัดผักโขมใส่ถุงพลาสติกเจาะรู 5 กิโลกรัม ใช้ยางรัดปากถุง พื้นที่ปลูกผักโขม 1 โรงเรือน จะได้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม พื้นที่ปลูก 3 โรงเรือน จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 300 กิโลกรัม และหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ที่แปลงปลูกจะมีต้นผักโขมเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ จากนั้น 15-20 วัน ก็จะเก็บเกี่ยวได้อีก 1-2 ครั้ง

หลังเก็บเกี่ยวได้รวบรวมส่งขายให้บริษัทเอกชนเพื่อจัดการส่งออกขายต่างประเทศ

คุณวลัญช์อร ถมปัด รองประธานวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยฯ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ฝ่ายการตลาดของวิสาหกิจชุมชนได้จัดผักโขมปลอดภัยบรรจุใส่ถุงพลาสติกเจาะรู ขายให้ บริษัท แนชเชอรัลแอนด์พรีเมี่ยมฟู้ด จำกัด เพื่อส่งไปขายต่างประเทศในแถบยุโรป โดยผักโขมปลอดภัยที่จัดใส่ถุงพลาสติกเจาะรู น้ำหนัก 5 กิโลกรัม จะขาย 150 บาท พื้นที่ 3 โรงเรือน ก็มีรายได้ 8,500-9,000 บาท ต่อครั้ง ส่งผลให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนพืชผักปลอดภัยในมุ้งตำบลท่ามะนาว มีรายได้พอเพียงต่อการยังชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

จากเรื่อง ผักโขม เกษตรกรปลูกในมุ้งได้ผักปลอดภัยเพื่อการส่งออก เป็นทางเลือกสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง ให้เกษตรกรในชุมชนยังชีพได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณวลัญช์อร ถมปัด โทร. 096-295-9297 หรือ คุณป้าวาสนา ศรีสุวรรณ หมู่ที่ 2 ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โทร. 081-495-4465 หรือ คุณกวิลยุทธ รากทอง สำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล โทร. 087-239-1780 ก็ได้ครับ