คนศรีสะเกษ ผลิตพันธุ์ข้าวได้ดีเยี่ยม ปลูกพืชบำรุงดินได้สุดยอด

ผู้เขียนและทีมงานได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2562 โดยคำขอร้องของ คุณไพฑูรย์ ฝางคำ หัวหน้ากลุ่มเกษตรตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า คุณไพฑูรย์อยากได้ต้นพันธุ์หน่อไม้ไผ่หวานช่อแฮจากจังหวัดแพร่ ซึ่งผู้เขียนและทีมงานที่ตำบลสวนเขื่อน จังหวัดแพร่ ได้รวมกลุ่มกันปลูก ได้เผยแพร่ออกทางยูทูบ คุณไพฑูรย์เห็นก็สนใจ จึงโทร.มาสั่งกล้าพันธุ์ไผ่หวาน ก่อนจะนำไปส่งให้ ผู้เขียนได้ถามข้อมูลจากคุณไพฑูรย์ว่า ที่ดินที่ทำกินอยู่แห้งแล้งหรือไม่ เพราะหน่อไม้ไผ่หวานนี้จะทำหน่อนอกฤดูได้ถ้าให้น้ำดี คุณไพฑูรย์ บอกว่า พอมีน้ำอยู่ เพราะอำเภอห้วยทับทันก็สมชื่อของเขา มีคำว่า ห้วย ก็มีห้วยอยู่จริง ไม่เหมือนห้วยขวาง ที่กรุงเทพฯ ชื่อว่าห้วยขวาง แต่ก็ไม่มีห้วยจริง เป็นเพียงชื่อเรียกขานกันเท่านั้น

สำนักงานของวิสาหกิจชุมชนผักไหม

เมื่อเดินทางไปถึงอำเภอห้วยทับทัน ก็สมชื่อของเขาจริง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ จะอยู่ก่อนถึงตัวจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 50 กิโลเมตร เลยจังหวัดสุรินทร์ไปเพียง 30-40 กิโลเมตร เท่านั้น ก่อนถึงอำเภอจะพบบึงน้ำขนาดใหญ่ขวางหน้าอยู่ ผู้เขียนเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกก็รู้สึกตื่นเต้น ใครบอกว่าอีสานแห้งแล้ง มีส่วนแห้งแล้งเป็นบางส่วนเท่านั้น

ถนนสายนี้วิ่งผ่านอำเภอห้วยทับทัน เป็นถนนใหญ่ที่วิ่งไปจังหวัดอุบลราชธานีนั่นเอง มีรถทัวร์ รถทุกชนิดวิ่งผ่านทั้งวัน จึงเป็นทำเลเหมาะแก่การค้าขาย ก่อนถึงตัวจังหวัดศรีสะเกษจะมีไก่ย่างอร่อย ชื่อไก่ย่างห้วยทับทันเรียงรายอยู่บนถนนสายนี้ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะนักท่องเที่ยวต่างจอดรถซื้อไก่อร่อยเป็นทิวแถว ผู้เขียนและทีมงานก็ไม่พลาดที่จะเป็นนักชิม ชิมแล้วก็ยกนิ้วให้ เขาทำได้อร่อยจริง เป็นไก่พื้นเมืองเลี้ยงด้วยข้าวเปลือก เนื้อไก่มีกลิ่นหอม ไม่มีน้ำมันเยิ้มเหมือนไก่ฟาร์ม เขาเรียกว่าไก่ย่างไม้มะดันจากห้วยทับทัน สนนราคาก็ต้องแพงสมราคาสมความอร่อยของเขา

เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิชั้นดี ปลูกแบบอินทรีย์ บรรจุในกระสอบพร้อมส่งสหกรณ์การเกษตร

นอกจากส่งกิ่งไผ่ การมาครั้งนี้ ตั้งใจจะมาเขียนเรื่องการปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์เกษตรที่ใช้ทำเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม ก็เลยนอกเรื่องไปถึงไก่ย่างอร่อย ได้พูดคุยสัมภาษณ์คุณไพฑูรย์แล้วก็ได้ข้อมูลมาดังนี้ แทนที่ทางกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ของกลุ่มตำบลผักไหมจะปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อการบริโภค แต่ปลูกเพื่อใช้ทำเมล็ดพันธุ์ขายให้กับสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจะได้ราคาดีกว่า คือทางสหกรณ์การเกษตรเขาให้ราคาข้าวเปลือกที่ใช้ทำแม่พันธุ์ถึง กิโลกรัมละ 22 บาท ก็เท่ากับขายข้าวเปลือกได้ ตันละ 22,000 บาท ซึ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกข้าวหอมมะลิพันธุ์แท้นี้ ต้องทำอย่างพิถีพิถัน คือทำแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในแปลงปลูก คำว่า สารเคมี คือยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงทั้งหลาย จะใช้เป็นสารชีวภาพ สารสกัดจากสะเดา แม้ว่าจะยากเย็นอย่างไร ก็ต้องทำเพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ เพราะเขาให้ราคาสูงสุดแล้ว

คุณไพฑูรย์ ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มมีหน้าที่ต้องดูแลลูกกลุ่ม ถ้าใครฝ่าฝืนนำสารเคมีมาใช้จะถูกตัดออกทันที เพราะทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มักง่าย จะนิยมใช้สารเคมีต่างๆ ในการทำนาข้าว เพราะง่าย สะดวกดี หรือพูดง่ายๆ ว่า ขี้เกียจ เอาง่ายเข้าไว้ ดังนั้น การผลิตข้าวทุกวันนี้มีสารเคมีปนเปื้อนมากมาย ทั้งลงไปในท้องนา กุ้ง หอย ปู ปลา ตายหมด แทบไม่มีให้เก็บกิน ต่างใช้สารเคมีซึ่งมีพิษรุนแรง พ่นฆ่าเพลี้ย ฆ่าหนอนที่มากัดกินข้าว แถมพิษของสารเคมีเหล่านั้นยังตกมาถึงคนทำนาและคนกินข้าวด้วย บ้างก็พูดว่า พ่นแต่ภายนอก เวลาสีข้าวเอาเปลือกข้าวออกแล้ว เมล็ดข้าวสารไม่มีสารเคมีติดมาหรอก ชาวนาเขาพูดกันแบบนี้ อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ ยังไม่มีนักวิจัยคนไหนออกมายืนยันให้แน่ชัด ชาวบ้านซื้อข้าวกินก็ฝืนกินกันต่อไปแล้วแต่โชคชะตาก็แล้วกัน

ด้วยเหตุนี้ คนรุ่นใหม่จึงหันมาช่วยกันห้ามปรามแก้ไข…ขณะเดียวกันก็ให้ทำนาแบบอินทรีย์เช่นเดียวกับ คุณไพฑูรย์ ฝางคำ หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์แห่งตำบลผักไหม

คุณไพฑูรย์ ฝางคำ เกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ มีสำนักงานของกลุ่มอยู่ในเขตตำบลผักไหม

คุณไพฑูรย์ อยู่ในวัย 40 ปีเศษ เรียกว่าเป็น Young smart farmer เต็มตัว คุณไพฑูรย์ มีที่นาทั้งหมด 40 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของพ่อแม่ ส่วนที่ทำนาอีก 10 ไร่ แบ่งเป็นไร่นาสวนผสม มีครบทุกอย่าง ทั้งฟาร์มไก่ โค กระบือ บ่อเลี้ยงปลาทับทิม เรียกว่าแทบไม่ต้องไปตลาดสด เพราะในสวนมีครบ ไข่ไก่ ไข่เป็ด ก็ไม่ต้องซื้อ เก็บมาทอดให้ลูกๆ กินเป็นอาหารประจำวันก่อนไปโรงเรียน กล้วย มะม่วง มะนาว ก็มีครบ คุณไพฑูรย์มีครอบครัวอบอุ่น พ่อแม่ซึ่งก็อยู่ในวัยชรา 70 กว่าปี แต่คนแก่ในชนบทเขาทำงานไหว พ่อคุณไพฑูรย์เลี้ยงวัวทั้งหมด 30 กว่าตัว ปีหนึ่งก็ขายได้ เรียกได้ว่าครอบครัวเกษตรกรอย่างคุณไพฑูรย์ไม่เดือดร้อนอะไรมาก หนี้สินก็มีเพียงน้อยนิด แต่รายได้หลักคือ การขายข้าวเปลือกเมล็ดพันธุ์ให้สหกรณ์ คำนวณง่ายๆ 1 ไร่ จะได้ข้าวเปลือกเมล็ดพันธุ์หอมมะลิ ประมาณ 400 กิโลกรัม 40 ไร่ ก็จะได้ 16,000-20,000 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 22 บาท จะได้เงินประมาณ 400,000 กว่าบาท หักต้นทุนออกไปครึ่งหนึ่งก็จะเหลือประมาณ 200,000 บาท ต่อปี เพราะข้าวหอมมะลิเมล็ดพันธุ์จะทำได้ปีละครั้งเท่านั้น เพราะเป็นข้าวนาปี พอเกี่ยวข้าวออกแล้วก็จะลงพืชไร่ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เพราะเป็นพืชใช้น้ำน้อย ถั่วเหลือง 20 ไร่ ถั่วเขียว 20 ไร่ พืชตระกูลถั่วจะช่วยเรื่องฟื้นฟูดินให้มีปุ๋ยอินทรีย์ แม้จะได้น้อย ถั่วเหลือง จะได้ไร่ละ 300 กิโลกรัม 20 ไร่ จะได้ 6,000 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท หักต้นทุนต่างๆ ออก ก็เหลือเงินเก็บอยู่มากเหมือนกัน เรียกว่าผืนดิน 40 ไร่ ไม่มีวันหยุด

อยากได้ข้อมูลเรื่องการปลูกข้าวหอมมะลิทำเมล็ดพันธุ์ ติดต่อ คุณไพฑูรย์ ฝางคำ ได้ที่ โทร. 081-579-3108

….

วิธีปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อทำเมล็ดพันธุ์

โดยทั่วไปขั้นตอนการปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ตามหลัก GAP ที่บริษัทแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติ เริ่มจากการคัดเลือกพื้นที่ปลูกข้าว เพราะสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิ จะต้องมีค่า pH ประมาณ 5.5-6.5 ภายใน 3 ปี เกษตรกรจะต้องคอยวิเคราะห์ดินอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อปรับการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน

นอกจากนี้ เกษตรกรต้องเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ตรงตามสายพันธุ์ ที่มีอัตราความงอกไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยนาหว่านข้าวแห้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์ ประมาณ 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนนาปักดำมือ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ 6-8 กิโลกรัม ต่อไร่

การเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิ 105 สำหรับนาหว่านข้าวแห้ง เกษตรกรจะไถพรวน ผาล 3-6 ให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร เพื่อกลบตอซัง พลิกดิน และกำจัดวัชพืช หลังจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ และหว่านเมล็ดข้าวในอัตรา 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยหว่านให้สม่ำเสมอและกระจายทั่วทั้งแปลง จากนั้นจะใช้โรตารี่ปั่นตีดินในสภาพดินแห้ง ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อกลบเมล็ดข้าวที่หว่านไว้ให้แน่นพอเหมาะ และกระจายตัวสม่ำเสมอ หรือใช้รถไถเดินตาม ผาล 2 ไถกลบเมล็ดข้าวที่หว่านไว้ แล้วจึงใช้คราดเกลี่ยดินเพื่อให้ได้ระดับเดียวกัน เหมาะสมต่อการงอกของข้าว

ด้าน นาปักดำมือ การเตรียมแปลงตกกล้า ชาวนาจะไถพรวน ผาล 3-6 ทิ้งไว้ 7-10 วัน หลังจากนั้นขังน้ำให้ได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ไถพรวน ผาล 2 แล้วคราดดินให้ละเอียด เพาะเมล็ดให้งอกตุ่มตายาว 1-2 มิลลิเมตร หว่านเมล็ดพันธุ์ที่งอกแล้ว ค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำจนต้นกล้าข้าวอายุ 25-30 วัน จึงนำไปปักดำได้ ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 1.5 กิโลกรัม ต่อไร่ ก่อนถอนกล้า 5-7 วัน เพื่อให้ง่ายต่อการถอน

ส่วนการเตรียมแปลงเพื่อการปักดำมือ ชาวนาจะใช้วิธีการไถพรวน ผาล 3-6 ทิ้งไว้ 7-10 วัน หลังจากนั้น ขังน้ำให้ได้ ประมาณ 3 เซนติเมตร ไถพรวน ผาล 3-6 อีกครั้ง แล้วคราดดินให้ละเอียด ขังน้ำให้ได้ประมาณ 3-5 เซนติเมตร และรอปักดำ สำหรับพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จะใช้วิธีปักดำที่ระยะ 25×25 เซนติเมตร ชาวนาจะถอนกล้าโดยไม่ต้องตัดใบและไม่ฟาดมัดกล้า เพราะจะทำให้ต้นกล้าช้ำ นำต้นกล้าที่เตรียมไว้ไปปักดำ 3-5 ต้น ต่อกอ ลึก 3-5 เซนติเมตร ระดับน้ำขณะปักดำต้องไม่เกิน 10 เซนติเมตร

การใช้ปุ๋ย เกษตรกรบอกว่า จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้นก่อน ให้ใส่ก่อนไถพรวน ผาล 3-6 โดยใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 40-50 กิโลกรัม ต่อไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 สำหรับนาหว่านข้าวแห้ง ต้องใส่ในช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ (ต้นเดือนสิงหาคม) โดยใช้ปุ๋ย สูตร 16-16-8 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม ต่อไร่ สำหรับนาดินทราย หรือสูตร 16-20-0 (นาดินเหนียว) ส่วนนาปักดำมือ ให้ใส่หลังปักดำ 10-12 วัน หรือในช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ โดยใช้ปุ๋ย สูตร 16-16-8 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม ต่อไร่ สำหรับนาดินทราย หรือสูตร 16-20-0 (นาดินเหนียว)

ขณะที่การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ชาวนาจะใส่ปุ๋ยก่อนข้าวออกดอก ประมาณ 30 วัน (ประมาณ วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี) โดยใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 ในอัตรา 5-10 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยจะต้องมีน้ำขังในแปลงนา ประมาณ 3-8 เซนติเมตร เพื่อให้ข้าวสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อรักษาคุณภาพข้าวพันธุ์ดี กลุ่มเพื่อนชาวนาจะใส่ใจดูแลการตัดข้าวปน โดยสำรวจต้นข้าวใน 2 ระยะ คือ ระยะแตกกอ โดยตรวจดูลักษณะการแตกกอ การชูใบ ขนาดความสูงของใบ หากพบต้นผิดปกติให้ถอนทิ้งทันที ส่วนระยะออกดอกก็ต้องคอยตรวจดูความสูงของต้นข้าวในระยะออกดอก การออกดอกก่อนหรือหลัง ลักษณะของดอก สี ขนาดของเกสรตัวผู้ ถ้าพบต้นผิดปกติให้ตัดทิ้งทันทีเช่นกัน

ส่วนขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยบันทึกวันออกดอก (เมื่อข้าวออกดอก ร้อยละ 80 ของแปลง) การกำหนดวันเก็บเกี่ยว จะนับจากวันออกดอกไปไม่น้อยกว่า 25 วัน และไม่เกิน 35 วัน เพราะการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ได้น้ำหนักเมล็ดสูง เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดดี และมีคุณภาพการสีดี

ก่อนเก็บเกี่ยว ประมาณ 10 วัน ชาวนาในชุมชนแห่งนี้จะระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน ทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่นิยมใช้รถเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อประหยัดเวลาและต้นทุนแรงงาน ข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือ ทำให้ข้าวร่วงหล่นน้อย ภายหลังการเก็บเกี่ยวที่นี่จะไม่นิยมเผาฟางหลังการทำนา แต่จะใช้วิธีการไถกลบตอซัง พอฝนตกลงมา ตอซังที่ไถกลบก็จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินต่อไป