“อุดรธานีมีรัก ปลูกผักกินเอง” อาหารเป็นยา ลดรายจ่าย เหลือขาย สร้างรายได้ยั่งยืน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ขาดแคลนรายได้และอาหาร กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ส่งเสริมให้คนไทยน้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ระหว่าง วันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563

เมื่อสิ้นสุดโครงการพบว่า มีประชาชนทั่วประเทศสนใจร่วมโครงการปลูกผักสวนครัวกับ พช. มากถึง 12,573,072 ครัวเรือน คิดเป็น 96.89 เปอร์เซ็นต์ ในสัดส่วนดังกล่าว พบว่า มี 18 จังหวัด ที่มีพี่น้องประชาชนสนใจปลูกผักกันอย่างคึกคักครบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ได้แก่ บึงกาฬ เพชรบุรี มุกดาหาร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา ภูเก็ต ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ตาก อุบลราชธานี พัทลุง สุโขทัย อุดรธานี สุราษฎร์ธานี ตราด สกลนคร และชัยภูมิ

แปลงปลูกผักสวนครัว

อุดรธานีมีรัก ปลูกผักกินเอง

จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย 20 อำเภอ 156 ตำบล 1,863 หมู่บ้าน 101 ชุมชน 494,498 ครัวเรือน ประชากร 1,586,646 คน พื้นที่ 7.33 ล้านไร่ หลายคนสงสัยว่า อุดรธานีทำไมถึงติด 1 ใน 18 จังหวัด ที่ปลูกผักได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เป็นจังหวัดใหญ่ และมีประชากรจำนวนมาก

คำตอบคือ เกิดจากแรงสนับสนุนของผู้นำท้องถิ่นทุกระดับ โดยเฉพาะ คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ที่ต้องการเห็น “คนอุดร กินอิ่ม ไม่อด” จึงเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมปลูกผักสวนครัวอย่างจริงจัง ในชื่อโครงการ “อุดรธานีมีรัก ปลูกผักกินเอง” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ส่งผลให้โครงการ “อุดรธานีมีรัก ปลูกผักกินเอง” บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี (ซ้ายมือของภาพ)

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านมอดินแดง

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านมอดินแดง หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบ ปลูกผักสวนครัวครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ของจังหวัดอุดรธานี โดย คุณสฤษดิ์ อิทสิทธิ์ พัฒนาการอำเภอเมืองอุดรธานี พร้อมคณะได้เข้ามาประชุมประชาคมในหมู่บ้าน พร้อมชักชวนชาวบ้านน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าร่วมโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ต่อมาขยายผลสู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักให้ชุมชนนำไปปลูก

คุณอุดร อินทมนต์ ผู้ใหญ่บ้านมอดินแดง หมู่ที่ 15 กล่าวว่า ทางหมู่บ้านได้ทำเรื่องถึงสำนักงานชลประทานในพื้นที่ เพื่อขอใช้ที่ดินว่างเปล่ามาปลูกผักสวนครัว เมื่อคำขอได้รับการอนุมัติ ก็วางแผนการปลูก เริ่มจากปลูกพืชอายุสั้นก่อน เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ต้นหอม ที่ใช้เวลาปลูกแค่เดือนเศษๆ ก็สามารถให้ผลผลิตแล้ว ผักบุ้ง ปลูกดูแลแค่ 15 วัน ก็เก็บผลผลิตได้แล้ว

คุณอุดร อินทมนต์ ผู้ใหญ่บ้านมอดินแดง หมู่ที่ 15

หลังจากนั้น ก็ทยอยปลูกข่า ตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชผักสวนครัวที่มีอายุการเก็บเกี่ยวนานขึ้น ปัจจุบัน ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัวในแต่ละครัวเรือนมากกว่า 10 ชนิด เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด ชะพลู โหระพา ผักแพว สะระแหน่ หอมแบ่ง พริก มะเขือ ผักบุ้ง กวางตุ้ง ฯลฯ ผลผลิตที่ได้ ช่วงแรกก็แลกเปลี่ยนแบ่งปันกันกินภายในหมู่บ้าน เหลือกินแล้วก็นำไปขาย มีรายได้วันละ 300-500 บาท หลังจากรวบรวมเงินได้พันกว่าบาท ก็นำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวชุดใหม่นำไปแจกจ่ายให้สมาชิกรายอื่นในหมู่บ้านได้ใช้ปลูกกันต่อไป ทำให้ชุมชนแห่งนี้ มีการปลูกพืชผักสวนครัวครบ 100 เปอร์เซ็นต์

ผู้ใหญ่อุดร เล่าอีกว่า เมื่อก่อนในหมู่บ้านของเราจะมีรถพุ่มพวงวิ่งเร่ขายกับข้าวช่วงเช้าและเย็น ตอนนี้ชาวบ้านไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายตรงนี้แล้ว เพราะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เป็นอาหาร ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สร้างความมั่นคงด้านอาหาร สร้างความรัก ความสามัคคี ภายในชุมชนแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านมีอาชีพปลูกผักอินทรีย์ปลอดสารพิษขายในชุมชนอีกด้วย ทำให้เกิดอาชีพและรายได้ยั่งยืน ทำให้ชาวบ้านอยู่รอดแม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ผักบุ้งจีน

“ตอนนี้ มีภาคีเครือข่ายในหมู่บ้านอื่นๆ เริ่มทยอยมาดูงานหมู่บ้านเราแล้ว เกิดความประทับใจ นำความรู้ที่ได้ไปลงมือปลูกผักที่บ้านของเขาเองด้วย ผมอยากเชิญชวนทุกท่านทุกครัวเรือนที่มีพื้นที่ว่างหน้าบ้าน หลังบ้าน ปลูกผักไว้กินเอง ใช้เงินลงทุนไม่มาก ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ก็จะมีผักไว้กินภายในครอบครัว ลดรายจ่าย เหลือก็ขาย เพิ่มรายได้อย่างดีครับ” ผู้ใหญ่อุดร กล่าวในที่สุด

ปลูกผัก ไม่ยากอย่างที่คิด

หากใครสนใจอยากปลูกพืชผักสวนครัว สามารถทำได้ไม่ยาก เมืองไทยมีพืชผักอุดมสมบูรณ์ สำหรับพืชผักที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี เช่น ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม ตั้งโอ๋ แตงโม ผักชี หอมแบ่ง ถั่วฝักยาว มะระ บวบ ฟัก ส่วนพืชผักตามฤดูกาลที่นิยมปลูกกันทั่วไป ได้แก่ ช่วงฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-เมษายน) ปลูกหอม ผักชี ผักบุ้งจีน แตงกวา ผักกาดหัว ถั่วฝักยาว คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว มะระ แตงไทย ผักกาดเขียว ช่วงต้นฝน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ปลูกคะน้า กุยช่าย บวบเหลี่ยม หอมแดง กวางตุ้ง ข้าวโพดหวาน ช่วงปลายฤดูฝน ที่มีฝนตกชุก (สิงหาคม-ตุลาคม) ปลูกผักชีลาว ผักโขม กุยช่าย กวางตุ้ง ผักกาดขาว คะน้า หอมแบ่ง มันแกว มันเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว ผักกาดหอม ผักบุ้งจีน พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน-มกราคม) ปลูกหอมแบ่ง กุยช่าย กระเทียม ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก มะเขือเทศ   ผักกาดปลี กะหล่ำปม ฯลฯ

ผักคะน้า
พริก ผักที่ขาดไม่ได้ในครัวไทย

ที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน เปิดเฟซบุ๊ก “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช.” เพื่อเป็นสื่อกลางให้ประชาชนที่สนใจปลูกผัก สามารถติดตามความเคลื่อนไหวภาพบรรยากาศปลูกผักของประชาชนทั่วประเทศ และร่วมแชร์ภาพแห่งความสุขของการปลูกพืชผักสวนครัว มีคนไทยจำนวนมากที่ชื่นชอบปลูกพืชผักได้ส่งภาพสวยๆ มาอวดกัน พร้อมสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ มีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเกื้อกูลในรูปแบบต่างๆ เช่น แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ผัก แนะวิธีปลูกผักในแปลง การปลูกผักในขวดน้ำดื่ม สอนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์และผักออร์แกนิก, DIY ปลูกผักบนคอนโด, เทคนิคการเพาะถั่วงอกปลอดสาร ฯลฯ

พืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ

ชาวอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา รายหนึ่งได้แนะนำให้เพื่อนสมาชิกทดลองนำก้อนเก่าเห็ดมาหมักรวมกับแกลบและขี้ถ่านผสมกาบมะพร้าว รดด้วยน้ำหมักหรือ อีเอ็ม ระยะเวลา 1 เดือน จะได้ดินพร้อมปลูกพืชผักงามมากๆ ที่มีธาตุอาหารครบถ้วนตามที่พืชต้องการ ช่วยประหยัดเงิน โดยไม่ต้องเสียค่าซื้อปุ๋ยอีก การผสมดินสำหรับปลูกพืชอีกสูตรที่น่าสนใจคือ ใช้ขี้ไก่แกลบ ขี้วัว เปลือกมะพร้าวสับ และทรายหยาบ 30 เปอร์เซ็นต์ กากน้ำตาล น้ำหมัก อีเอ็ม ผสมดินและหมักไว้ 1 เดือน ก็จะได้สูตรดินสำหรับปลูกพืชที่มีคุณภาพดีไม่แพ้กัน

แปลงปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว เมื่อดอกเริ่มบาน มักมีแมลงกัดกินดอกและใบเป็นรู ทำให้การสังเคราะห์แสงไม่ดี หากวันใดมีฝนตก ช่วงกลางคืนก็จะมีหอยทาก แขกไม่ได้รับเชิญ มาเยี่ยมเยียน วิธีแก้ไขคือ จับหอยทากไปทำลาย เพื่อควบคุมปริมาณ และใช้สารชีวภาพฉีดพ่นป้องกัน แต่บางคนเสนอแนะให้เก็บเปลือกไข่ตากแห้งมาป่นละเอียดไว้รองก้นหลุมเพื่อเป็นอาหารเสริมของพืชและใช้โรยบริเวณรอบต้นอ่อนพืชที่เราปลูกเพื่อกันหอยทากเข้าไปกัดกิน

กะเพรา

สพอ. น้ำปาด อุตรดิตถ์ ร่วมแชร์ตัวอย่างคนไทยหัวใจสีเขียว ต้นแบบที่น่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างของการปลูกผักสวนครัวสู้โควิด-19 ในครั้งนี้ คือ คุณลุงทรงเดช ไชยธิง บ้านเลขที่ 32/2 หมู่ที่ 5 ตำบลแสนตอ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ คุณลุงทรงเดชแม้เป็นผู้พิการนั่งรถเข็น แต่สู้ชีวิตไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค คุณลุงทรงเดชสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการปลูกสะระแหน่ จนสามารถนำไปขายที่ตลาดสดได้ ปัจจุบันมีร้านลาบมาซื้อถึงที่บ้าน ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท พอมีรายได้เป็นค่ารถไปโรงพยาบาลน้ำปาดเพื่อล้างแผล

คุณลุงทรงเดช ไชยธิง

เคล็ดลับการปลูกสะระแหน่ให้เจริญเติบโตงอกงามดีของคุณลุงทรงเดชคือ ใช้กรรไกรตัดแทนการเด็ดใบสะระแหน่ เมื่อตัดเสร็จแล้ว ให้นำขี้วัวมาโรยบางๆ ช่วงที่รดน้ำต้นสะระแหน่ ระวังอย่าให้น้ำแช่ขังต้น เพราะจะทำให้ต้นสะระแหน่เน่าตายได้ คุณลุงทรงเดชนับเป็นคนไทยตัวอย่างที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติในการพึ่งตนเองและสร้างความมั่นคงทางอาหารในครอบครัวและชุมชนได้อย่างดี

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354