หนุ่มเชียงใหม่ ผันชีวิตเป็นเกษตรกร ปลูกพืชผักหลากหลาย สร้างรายได้ดี

เกษตรกรรม เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อาจเรียกได้ว่าอยู่ในสายเลือดของคนไทยทุกคนก็ว่าได้ เพราะอย่างน้อยผู้ที่อาศัยอยู่ยังต่างจังหวัด ก็จะต้องเห็นการทำกสิกรรมของเกษตรกรในทุกสาขา เพื่อเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และยังสร้างแหล่งของอาหารเลี้ยงทั้งคนในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย

คุณธีร์วศิษฐ์ วงค์ปัญญา

จึงทำให้เป็นงานในความฝันของใครหลายๆ คน ที่จะได้ทำอาชีพทางด้านนี้ เพราะไม่เพียงได้อยู่กับธรรมชาติ แต่กลับสร้างความสุขให้กับผู้ได้ทำอาชีพด้านนี้อีกด้วย เหมือนเช่น คุณธีร์วศิษฐ์ วงค์ปัญญา เจ้าของ ไร่ปลูกฝัน หมู่ที่ 9 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่ผันชีวิตมาทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญความสุขที่เขามีก็เต็มเปี่ยมล้นใจด้วยเช่นกันทีเดียว

คุณธีร์วศิษฐ์ หนุ่มคลื่นลูกใหม่ไฟแรง วัย 27 ปี เล่าให้ฟังว่า เมื่อได้เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้มีโอกาสเข้าทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาบริษัทเกิดปัญหาทำให้ต้องปิดกิจการลง ทำให้เขาต้องถูกเลิกจ้างจากบริษัทในขณะนั้นทันที จึงได้กลับมาอยู่บ้านและมีความคิดที่อยากจะสร้างอาชีพอิสระเป็นของตนเอง โดยไม่กลับไปเป็นลูกจ้างเหมือนที่เคย

ต้นดอกดาวเรือง และต้นกล้าพริก

“ช่วงที่มาอยู่บ้านก็สมัครงาน หางานทิ้งไว้เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มีที่ไหนติดต่อมา ก็เลยรู้สึกว่าไม่อยากที่จะกลับไปอยู่ในวังวนเดิมๆ เพราะถ้าจะไปทำที่กรุงเทพฯ ก็ไกลบ้านไม่ได้อยู่ใกล้ครอบครัว ที่นี้ก็มามองดูว่า มีอะไรบ้างที่เราพอจะทำได้ ในที่ดินของเราเอง เพราะส่วนตัวผมเองชอบทำการเกษตรอยู่แล้ว จึงได้ตัดสินใจที่อยากจะทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักในแบบที่ฝันไว้อย่างตั้งใจแน่วแน่ จะทำกับสิ่งนี้มาตลอดสมัยยังเด็กคือชีวิตเกษตรกร” คุณธีร์วศิษฐ์ เล่าถึงที่มา

ในช่วงแรกที่เริ่มวิถีชีวิตเกษตรกรใหม่ๆ เขาบอกว่ายังจับต้นชนปลายไม่ค่อยถูกมากนัก โดยเน้นผลิตผักสวนครัวเพียงอย่างเดียว ที่เป็นชนนิดเดียวตลาดยังไม่สอดคล้อง ต่อมาจึงเป็นกังวลในเรื่องของตลาดจึงได้ตัดสินใจสำรวจตลาด เพื่อวางแผนผลิตให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า โดยเน้นทำการค้าแบบตลาดนำโดยไม่ปลูกพืชตามใจตนเอง ทำให้เขามีการปลูกพืชหลากหลายมากขึ้นและที่สำคัญตลาดมีความต้องการอีกด้วย

แปลงปลูกผักสลัด

ในเรื่องของการทำสวนที่เป็นอาชีพสำหรับสร้างรายได้ของคุณธีร์วศิษฐ์นั้น เขาบอกว่า มีการจัดสรรแบ่งพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำแบบเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อมาปรับใช้กับที่ดินของตนเอง

โดยแบ่งเป็นพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ พื้นที่แปลงผัก และสร้างโรงเรือนสำหรับเพาะกล้าไม้ และอนาคตได้คิดวางแผนไว้ว่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าว สำหรับเป็นผลผลิตอินทรีย์ตอบโจทย์ให้กับลูกค้าอีกด้วย

แปลงปลูกพริก มะเขือ และผักสวนครัวต่างๆ

“วิธีการเตรียมแปลง สำหรับปลูกผักที่สวนผม เริ่มแรกก็จะตากดินก่อนประมาณ 7-10 วัน จากนั้นก็จะย่อยดินให้เป็นเม็ดเล็กๆ พร้อมกับผสมปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ขี้เถ้าแกลบลงไปด้วย เพื่อให้ดินภายในแปลงระบายอากาศได้ดี เพราะว่าดินในแปลงผมมันมีลักษณะเป็นดินเหนียว จึงจำเป็นต้องเพิ่มอินทรียวัตถุเหล่านี้ลงไปช่วย ก็จะทำให้สภาพดินในแปลงจากที่ดินเหนียว มีความร่วนซุยระบายน้ำอากาศได้ดี และรากของพืชสามารถชอนไชได้ดี พืชก็จะเจริญเติบโตให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ” คุณธีร์วศิษฐ์ บอก

ซึ่งแปลงสำหรับปลูกผักภายในสวน คุณธีร์วศิษฐ์ บอกว่า จะยกร่องให้แปลงมีความสูง 15-20 เซนติเมตร มีความกว้างที่ 1 เมตร ความยาวแปลงอยู่ที่ 10-12 เมตร เมื่อแปลงที่เตรียมไว้ได้ระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นจะนำต้นกล้าผักที่เพาะไว้มาปลูกลงภายในแปลง เช่น ต้นกล้าผักสลัด ต้นกล้าพริก ต้นกล้ามะเขือ แต่ถ้าเป็นผักพวกคะน้า กวางตุ้ง จะใช้วิธีหว่านลงไปภายในแปลง เมื่อผักเริ่มงอกจุดไหนที่เห็นว่าหนาแน่นจนเกินไปจะนำไปปลูกตรงบริเวณอื่น เพื่อจัดระยะการปลูกให้เหมาะสม

กวางตุ้งสวยๆ

โดยกล้าผักสลัดอายุก่อนปลูกลงแปลงอยู่ที่ 20 วัน ส่วนกล้าของพริกมะเขือ ก่อนที่จะปลูกลงแปลงจะเพาะให้มีอายุอยู่ที่ 1-1.5 เดือน

“ระยะห่างระหว่างต้นมะเขือและพริกอยู่ที่ 40-50 เซนติเมตร ส่วนผักสลัดจะให้มีระยะห่างประมาณ 1 คืบ โดยปลูกให้เป็นสลับฟันปลาเพื่อให้จำนวนปลูกในหนึ่งแปลงได้จำนวนมากขึ้น หลังปลูกเสร็จแล้วก็จะรดน้ำตามปกติ ถ้าวันนั้นสภาพอากาศดี แต่ถ้าวันไหนร้อนมากเกินไป ก็จะรดน้ำมาขึ้นในช่วงเที่ยงด้วย การดูแลเมื่อปลูกได้สัก 7 วัน ก็จะมีการใส่ปุ๋ยยูเรียเข้ามาช่วยสำหรับพืชกินใบเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าเป็นพืชให้ผล เช่น มะเขือ พริก ช่วงแรกจะใส่สูตรเสมอ 15-15-15 ก่อน พอเริ่มจะติดดอกให้ผลก็จะเปลี่ยนเป็นสูตร 8-24-24 อัตราส่วนที่ใช้ก็ประมาณ 300-400 กรัม ต่อแปลง จากนั้นก็รอเก็บผลผลิตขายต่อไป” คุณธีร์วศิษฐ์ บอก

พื้นที่ภายในสวน

การดูแลป้องกันโรคและแมลงนั้น คุณธีร์วศิษฐ์ เล่าว่า จะเน้นฉีดพ่นด้วยสารชีววิถีที่เป็นมิตรกับตัวเขาเอง โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าและเชื้อราขาวบิวเวอเรีย เข้ามาช่วยโดยจะให้มีประสิทธิภาพที่ดีนั้น จะต้องเน้นฉีดพ่นในช่วงที่เวลาเย็นหรือเวลากลางคืน เพราะจะทำให้เชื้อรามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและแมลงได้ดี ไม่เพียงแต่ปลอดภัยกับตัวเขาเองเพียงอย่างเดียว ยังช่วยในเรื่องของการประหยัดต้นทุนได้อีกด้วย

การทำตลาดสำหรับจำหน่ายนั้น คุณธีร์วศิษฐ์ ได้สำรวจตลาดจนมีความรู้และเข้าใจอย่างท่องแท้ ในความต้องการของลูกค้าในชุมชน จึงทำให้ผลผลิตที่มีออกมาจำหน่ายนั้นไม่มีล้นตลาด และที่สำคัญในเรื่องของราคายังได้ผลกำไรดีอีกด้วย เพราะสินค้าจะส่งให้กับลูกค้าโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

จำหน่ายตลาดภายในชุมชน

“ผลผลิตที่ออกจากสวน เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่เน้นคุณภาพก็ว่าได้ โดยเราไม่ได้เน้นที่ปริมาณ เป็นผักที่ปลอดสารพิษ มีความปลอดภัยต่อลูกค้า ดังนั้นจึงสามารถทำราคาที่สูงขึ้นมาได้ อย่างกวางตุ้งและผักสวนครัวต่างๆ ราคาขายกิโลกรัมละ 17 บาท ผักสลัดกิโลกรัมละ 80 บาท ที่ทำเยอะสุดจะเป็นผักสวนครัว ตอนนี้ผมก็เพาะกล้าไม้เสริมเข้ามาช่วยด้วย เป็นการเสริมรายได้อีกทาง เพื่อให้กับเกษตรกรที่ปลูกลดเวลาเรื่องการเพาะต้นกล้าออกไป ซื้อไปแล้วปลูกลงในแปลงของเขาได้เลย เช่น ต้นกล้าดอกดาวเรือง ต้นกล้าพริก ต้นมะเขือ ราคาขายอยู่ตั้งแต่ถาดละ 200-500 บาท จึงถือเป็นอีกช่องทางที่สร้างรายได้เพิ่ม” คุณธีร์วศิษฐ์ บอกถึงเรื่องการทำตลาด

จากกระแสสังคมของคนในปัจจุบันที่มีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก เขาไม่ได้เน้นทำการตลาดจากการส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการโพสต์สินค้าลงทางเฟซบุ๊ก ก็สามารถสร้างฐานลูกค้าออนไลน์ให้กับเขาได้อีกด้วย เพราะแม้แต่การขนส่งเองก็มีความทันสมัยมากขึ้น แม้จะอยู่คนละจังหวัดก็สามารถซื้อสินค้าจากสวนของเขาไปถึงที่บ้านได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียว

ความสุขยามเช้าเวลาได้ตัดผักส่งจำหน่าย

สำหรับผู้ที่สนใจอยากทำอาชีพทางการเกษตร คุณธีร์วศิษฐ์ บอกว่า การทำเกษตรไม่ใช่เรื่องยุ่งยากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะยังไม่ต้องลาออกจากงานประจำมาทำ เพียงก็ได้ เพียงแต่ค่อยๆ เริ่มเป็นแบบอาชีพเสริมรายได้รองจากอาชีพหลัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำเกษตรคือต้องมีใจรัก เมื่อมีใจในการทำเสียแล้วทำอะไรก็จะประสบผลสำเร็จแน่นอน

“ทุกวันนี้บอกเลยว่า ผมมีความสุขมาก ที่ได้มาทำงานเกี่ยวกับการเกษตร เพราะทำให้ผมได้อยู่กับครอบครัว ถึงแม้จะมีบางช่วงที่เหนื่อย ในเรื่องของลงแรงในการทำ วิ่งส่งผลผลิตให้กับลูกค้า แต่มันก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ สำหรับผมการเกษตรไม่ใช่สิ่งที่เป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว ยังสร้างความสุขให้กับผมอีกด้วย” คุณธีร์วศิษฐ์ กล่าวแนะนำ

ผักสลัดผสมหลากหลายพร้อมกิน

สำหรับผู้ที่สนใจสินค้าจากสวนไร่ปลูกฝัน ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธีร์วศิษฐ์ วงค์ปัญญา หมายเลขโทรศัพท์ (082) 497-9786