“ปลูกอ้อยคั้นน้ำ” 1 กอ ทำรายได้ 6,000 บาท โมเดลส่งเสริมอาชีพในชุมชนของเกษตรกรรุ่นใหม่

“อ้อยคั้นน้ำ” เป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำอ้อยพร้อมดื่มมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพื่อคั้นน้ำพร้อมดื่มและน้ำอ้อยพาสเจอไรซ์เพื่อจําหน่ายไปทั่วทุกภาคของประเทศ

แต่ปัจจัยสำคัญของการปลูกอ้อยคั้นน้ำคือ ต้องมีการจัดการด้านพันธุ์ที่ดี มีการดูแลรักษาและการเก็บ ตลอดจนการขนส่งเพื่อให้ได้อ้อยคั้นน้ำที่มีคุณภาพ

คุณนีมดา หรือ คุณเสาวรส สันประเสริฐ เป็นหนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันหลังให้กับแสงสีในเมืองหลวง เพื่อเดินหน้าสร้างแหล่งอาหารให้กับตัวเองและครอบครัวด้วยการปลูกอ้อยคั้นน้ำและขายพันธุ์ โดยเริ่มต้นจากการทำสวนเกษตรพืชผสมผสานบนที่ดินของตัวเองในเขตหนองจอก ผืนนาผืนสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร

แต่ก่อนที่คุณนีมดาจะมาเป็นเกษตรกรอย่างที่เห็น เธอเคยทำงานเป็นพร็อพมาสเตอร์ งานกองถ่าย และเป็นนักเขียนคอลัมน์ ตามที่ศึกษาเล่าเรียนมา เธอใช้ชีวิตเหมือนคนทำงานปกติทั่วไป คือมีความสนุกกับงาน แต่วันหนึ่งเธอเริ่มรู้สึกว่าชีวิตมันวนอยู่ในลูปเดิม จึงใช้จิตถามตัวเองว่า สิ่งที่ชีวิตเธอต้องการ คืออะไร

“เราใช้เวลาอยู่ 3 วัน ในวันที่เราคิด นอนมองเพดานบ้านก็คิดว่า อะไรมันคือชีวิตของเรา เราใช้จิตที่นิ่ง คิดสิ่งต่างๆ มากมาย สะระตะออกมาว่า ชีวิตที่มันเป็นแบบนี้ มันไร้สาระมาก จนตามันเลือบไปเห็นรูปในหลวง ก็คิดว่าเราอยากทำอะไรที่มันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับคนอื่น ผลปรากฏมันตอบมาในเรื่องของความยั่งยืน หรือว่าเรื่องของการเกษตร”

เรียนรู้หลักการทำเกษตร บนพื้นที่ 1 ไร่
ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์

คุณนีมดาเริ่มศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตร โดยการนำตัวเองเข้าไปอบรมหลักสูตรชาวนาอัจฉริยะ เป็นคอร์สการเรียน 5 เดือน ซึ่งเป็นการเรียน 5 เดือน ที่ต้องเอาตัวเองไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ 1 ไร่ ที่เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์

“เขาให้เราใช้ชีวิตเรียนรู้ด้วยตัวเองกับคนอื่นๆ โดย 4 เรื่อง ที่เราจะได้ทำคือ การฝึก ฝึกคือ การทำให้เป็น ฝนคือการทำให้แหลมให้คม อบคือ การทำให้แกร่ง และรม คือ การทำให้สวยให้หอม ซึ่งเป็นการฝึกคนหนึ่งคนในการทำงานเกษตรแบบประณีต ทำน้อยให้ได้มาก ทำอย่างไร มันก็คือ กุศโลบายบางอย่างที่ซ่อนอยู่ใน 1 ไร่ 1 แสน”

หลังจากที่คุณนีมดาอดทนศึกษาและเรียนรู้การทำเกษตรแบบประณีตจนจบหลักสูตร เธอกลับมาบ้านพร้อมกับองค์ความรู้ที่พร้อมลงมือปฏิบัติ โดยเริ่มลงมือปรับพื้นที่ 2 ไร่ ที่อยู่ท้ายบ้านของตัวเอง เป็นสวนเกษตรผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ตามความฝันที่ตั้งใจไว้

“ตอนนั้นกลับมาบ้านก็ขุดแปลงเลย ทำเกษตร ทำตามแบบที่อาจารย์บอกเลย มีปลูกข้าว มีเลี้ยงปลาแบบนี้ ข้างในตรงนั้นเป็นข้าวหมดเลย คือตอนนั้นยังโลกสวยอยู่มาก คือจะปลูกที่กิน กินที่ปลูก ไม่สนใจอะไร อยากทำแบบนั้น แต่พอฝนตกน้ำมันท่วม ต้นไม้ที่ลง กล้วย มะรุม ต้นไม้ต่างๆ ตายหมดเลย เพราะเราไม่ศึกษาพื้นที่ก่อน มาปุ๊บเราลงมือ เราไม่ดูทิศทางลม ไม่ดูน้ำเข้ามาเดือนไหน อะไรยังไง ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก

ตอนนั้นร้องไห้เลย เหมือนคนที่มีความหวัง ทำเพื่อที่อยากจะเห็นต้นไม้โต พอครั้งแรกมันไม่ประสบความสำเร็จ ทางพ่อก็เลยเข้ามาช่วยขุดแปลงใหม่ให้มันสูงขึ้น และมาดูบริบทของพื้นที่ จากการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก อย่างที่เราหวังไว้ครั้งแรก เราก็เปลี่ยนเป็นอ้อย”

จากเกษตรผสมผสาน
สู่อ้อยคั้นน้ำอินทรีย์

คุณนีมดาเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรรมอีกครั้งจากกออ้อยที่ปลูกไว้ครั้งแรกในสวนเกษตรผสมผสาน ประมาณ 6-7 กอ ซึ่งขณะนั้นถูกน้ำท่วมขังทำให้ต้นอ้อยล้ม และด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เล่นโซเชียล เธอจึงถ่ายภาพสวนที่น้ำท่วมโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ซึ่งมีกออ้อยตั้งอยู่ท่ามกลางน้ำที่ขัง

“ตอนที่เราทำสวนเกษตรผสมผสานเราปลูกอ้อยไว้ เราก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กเล่าว่า ฉันปลูกโน้นนี่ทำอะไรบ้าง และวันที่น้ำท่วม อ้อยมันล้มก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กเหมือนเดิม ก็มีคนเข้ามาถามว่า ขายพันธุ์อ้อยไหม จะขอซื้อพันธุ์อ้อยสักประมาณ 20 ตา เราก็เฮ้ย! มันขายได้ด้วยเหรอ แต่มันได้ตังค์ก็ขาย ขายหมด 6 กอนี้ มันได้กลับมาประมาณ 30,000 บาท แค่ขายตาอ้อยตาละ 10 บาท มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นและเอาจริงเอาจังขึ้นมา”

เมื่อคุณนีมดารู้ว่าอ้อยที่ปลูกไว้สร้างรายได้ เธอจึงปรับพื้นที่บางส่วนมาเริ่มปลูกอ้อยเพื่อคั้นน้ำและจำหน่ายตา โดยเรียนรู้วิธีการปลูกอ้อยแบบอินทรีย์ ทดลองปลูก และศึกษาธาตุอาหารในดินที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยเพื่อคั้นน้ำจำหน่ายอย่างจริงจัง จนได้วิธีการปลูกที่ลงตัว

“นีมดา เริ่มรู้แล้วว่า อ้อยมันสร้างรายได้ ดังนั้น จะให้ความสำคัญกับต้นน้ำมากที่สุด นั่นคือ วิธีการปลูกอ้อย เราจะใช้ตัวจุลินทรีย์ สมุนไพร น้ำหมักปลา และน้ำหมักผลไม้ สิ่งนี้เราเรียกว่า อวตาร เราตั้งซื่อใหม่ว่า น้ำเทพ คือตัวจุลินทรีย์ สายพันธุ์พิเศษ เป็นตัวจุลินทรีย์ชั้นนางพญาที่เราพัฒนาสายพันธุ์มาจากประเทศญี่ปุ่น เป็นเหมือน อีเอ็ม (EM) ที่เรานำมาใช้ในการบำรุงดูแลเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับต้นอ้อยและน้ำอ้อย

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการปลูกอ้อยคั้นน้ำคือ ดินและปุ๋ย เราจะนำสมุนไพร เช่น มะรุม ข่า ตะไคร้ หนานเฉาเหว่ย สะเดา ขี้เหล็ก บอระเพ็ด ผักตบ ผักบุ้ง หญ้า มาหมักผสมทำเป็นปุ๋ยและวัสดุปลูก เราเรียกว่าดินเทพ ที่จะช่วยฟื้นคืนชีพดิน ทำให้ดินเกิดสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ขึ้น ซึ่งเป็นวิธีคืนความสมดุลโดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยในจำนวนมากอีกต่อไป

และอย่างสุดท้ายคือ ก้อน 3 เซียนเทพ เมื่อฝังลงไปในดินจะทำให้ต้นไม้มีรากมาจ่อที่ก้อน ก้อนนี้ ต้นพืชจะได้กินอาหารในก้อน ซึ่งส่วนผสมในก้อน 3 เซียน จะประกอบด้วยน้ำหมักปลา มีน้ำหมักผลไม้ มีรำ และมูลสัตว์ เช่น มีขี้ค้างคาว ขี้วัว ขี้ไก่หรือขี้แพะ”

สำหรับวิธีการปลูกอ้อย คุณนีมดา บอกว่า เริ่มจากใช้พืชสดสับรองก้นหลุม ขนาด 50×50 เช่น ผักบุ้ง ผักตบ หญ้าเนเปียร์ ต้นกล้วย ซึ่งเป็นพืชอวบน้ำจะช่วยให้จุลินทรีย์เข้าไปอาศัยและสามารถปรับความสมดุลและน้ำให้เป็นกลางได้ เมื่อรองก้นหลุมเสร็จแล้วจะนำดินเทพโรยให้ทั่วหลุม จากนั้นนำก้อน 3 เซียน ฝังลงไปกลางหลุม 1 ก้อน กลบดินและเยียบให้ดินยุบลงไปก่อนนำน้ำเทพผสมกับน้ำเปล่ารดให้ชุ่มอีกครั้ง

“หลุมปลูกพร้อม จะนำต้นอ้อยที่เพาะไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ ลงหลุม โดยหันหน้าใบให้รับแสง ซึ่งจะช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น จากนั้นนำดินมากลบให้เสมอกับพื้นดิน และนำก้อน 3 เซียน ลงฝังลักษณะสามเส้า โดยให้ส่วนของก้อนโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อยเพื่อรับแสงแดด เนื่องจากก้อน 3 เซียนนั้น มีตัวจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่ต้องการสังเคราะห์แสง จากนั้นเราก็จะใช้กากอ้อยที่เราหีบน้ำกลับมาคืนสู่เขาอีกทีหนึ่ง ด้วยการที่คลุมความชื้น ก่อนใช้น้ำเทพที่ผสมน้ำเปล่าแล้วมารดอีกรอบหนึ่ง”

ปัจจุบัน คุณนีมดาปลูกอ้อยจำหน่ายพันธุ์และคั้นน้ำ โดยอ้อย 1 ลำ ที่หนัก 4 กิโลกรัม สามารถสร้างมูลค่าให้ได้ 336 บาท เนื่องจากอ้อย 1 ลำ สามารถนำมาหีบเป็นน้ำได้ 2.4 ลิตร บรรจุขวดได้ 9.6 ขวด จำหน่ายในราคา 35 บาท โดยอ้อยที่คุณนีมดาปลูก 1 กอ จะมีอ้อยประมาณ 20 ลำ ซึ่งเมื่อนำมาหีบน้ำจำหน่าย จะสร้างรายได้ประมาณ 6,720 บาทต่อกอ

นอกจากนี้ คุณนีมดายังจำหน่ายพันธุ์อ้อยให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ พร้อมกับเปิดเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกอ้อยให้ได้คุณภาพ โดยการลงส่งเสริมให้กับคนในชุมชนและผู้ที่สนใจ

สร้างเครือข่าย
เชื่อมโยงองค์ความรู้

หลังจากที่คุณนีมดาเรียนรู้การสร้างอาชีพและการอยู่รอด เธอจึงมีแนวคิดที่จะส่งต่อวิธีการและแนวคิดที่ได้ศึกษามาไปยังชุมชน แต่ด้วยเด็กที่ไม่มีใครรู้จัก จะเดินไปบอกให้ชาวบ้านที่ทำเกษตรที่เต็มไปด้วยเคมี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการผลิตใหม่นั้น จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ

จากเด็กที่โดนโห่ไล่ ขี้อาย ไม่พูด ไม่สบตาใคร ไม่มีตัวตน เป็นเด็กที่ไม่อยู่ในสายตาเลย เธอจึงตัดสินใจไปเรียนคอร์สที่ชื่อว่า Personal Trainer ที่สอนเรื่องเกี่ยวกับการพูด การสื่อสาร ว่าพูดอย่างไรให้มีพลัง พูดอย่างไรให้คนฟังแล้วจับใจเขาได้ เพื่อที่จะกลับมาสะกดคนในชุมชนให้ฟังความคิดเห็นและคำพูดของตัวเอง

“ในแต่ละที่ที่เขามีประชาคมข้าว เราจะบอกกับตัวเองเสมอว่า จะต้องได้จับไมค์ ต้องได้พูด ได้มา 2 คน 1 คน ไม่เป็นไรพูดไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเราจะสร้างเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้คนมาเรียนที่บ้านโดยไม่ได้เก็บค่าเรียน ไม่ได้เก็บค่าอะไร เพื่อที่เราจะต้องการใช้การแบ่งปันของเราก่อน จนระยะหนึ่งคนก็เอาอ้อยไปปลูก จาก “นีมดาแลนด์” ขยายสู่ GOD FARMER ธุรกิจเพื่อชุมชนในทุกวันนี้

เราเชื่อว่าการที่ใครจะไปกับเราด้วย หรือว่ามาอยู่ในกลุ่มของเรา เราไม่ได้เห็นในเรื่องของเราจะต้องได้รับรายได้อย่างเดียว แต่เราต้องการให้เขาโตไปกับเรา นอกจากนี้ เรายังต้องการเผยแพร่ไม่ใช่แค่เรื่องของการซื้อขายอ้อย แต่มันคือวิชาของแผ่นดินวิชาหนึ่งที่เราอยากจะบอกต่อไปว่า การฟื้นคืนชีพดินและน้ำที่มันแย่กับสารเคมีทำอย่างไร และถ้าองค์ความรู้นี้มันเผยแพร่ให้กับคนในประเทศได้แล้ว มันมีต่างชาติที่อยากมาเรียนกับเราด้วย เราก็ยินดีที่จะเผยแพร่ออกไปให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก”

แต่ถึงแม้วันนี้ความตั้งใจของคุณนีมดาจะยังไม่ไปถึงฝัน แต่การลุกขึ้นมาพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สามารถยกระดับและสร้างเศรษฐกิจภายในชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 086-744-4723 คุณนีมดา หรือ คุณเสาวรส สันประเสริฐ หรือเฟซบุ๊ก : บริษัทก๊อดฟาร์เมอร์ จำกัด

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2563