จากกรรมกร สู่กรรมกรกว่า

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน กับคำถามเดิมว่า เป็นอย่างไรกันบ้างหนอ กับชีวิตในแบบนิวนอมัล new normal เราต้องช่วยกันดูแลสุขภาพตัวเองทั้งเพื่อตัวเองและส่วนรวม การสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่าง กระทั่งเข้าใช้บริการที่ไหนก็ต้องสแกนแอพไทยชนะ สิ่งเหล่านี้อาจดูหยุมหยิมยุ่งยาก แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับทำให้ประเทศไทยของเรา ก้าวหน้าในเรื่องสาธารณสุขอย่างมากมายจนติดอันดับ 2 ของโลก

และในช่วงโควิดนี่เอง ทำให้ผมได้รับรู้ในหลายๆ เรื่อง ส่วนหนึ่งคือการปราชัยของระบบเศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงระดับโลก แต่สิ่งที่ยังตอบสนองผู้คนโดยทั่วไปก็คืออาหาร ในช่วงแรกผมยังอดวิตกไม่ได้ว่า ทุเรียนของบ้านเราจะเป็นอย่างไรหนอ แต่เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย ชาวสวนทุเรียนกลับมายิ้มได้เต็มหน้า ตลาดจีนยังเป็นจุดขายที่สำคัญของผลไม้ไทยอยู่เสมอ

พื้นที่นี้จะเป็นทุ่งสีทอง

ปีนี้ผมได้คุยกับกรรมกรชาวสวนท่านหนึ่ง อดใจไม่ไหวที่จะต้องเอามาเล่าให้ฟัง (อ่าน) กัน เพราะผมเชื่อว่าคงไม่ธรรมดานักกับการเริ่มต้นอีกหนึ่งอาชีพในสาขาที่แตกต่างกัน จากกรรมกร เอ๊ย! กรรมการผู้จัดการ บริษัท สีมาโลหะภัณฑ์ จำกัด ผู้ผลิตแผ่นตะแกรงโลหะทุกชนิด แต่อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญก็คือเป็นกรรมกรอย่างแท้จริง กับการทำอาชีพเกษตรผสมผสาน ทั้งทำนาข้าว ปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์ และทำสวนอินทผลัม ในนามของ “ฟาร์มบ้านนาบ้านเรา” นี่คือ คุณสำเรือง พินงรัมย์ โทรศัพท์ (089) 810-5165

“ทำไมเล่นซะหลายอย่างเลยพี่”

“มาจากพื้นฐานของเราครับ เราก็คือลูกหลานเกษตรกร มีที่นา ก็ต้องทำนา แล้วก็ต้องเลี้ยงวัวควบคู่กันไป”

ข้าวในนากำลังได้น้ำฝน

“แรงงานมาจากไหนบ้างพี่”
“ลูกหลาน ญาติๆ กันทั้งนั้น แบ่งงานกันไปตามถนัดครับ ทุกคนก็มีงานทำ อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่เหมือนสมัยก่อน”

ดูการบริหารงานแบบครอบครัวก็น่าสนใจไม่น้อยครับ พี่สำเรือง ดำเนินกิจกรรมเกษตรผสมผสานในรูปแบบพอเพียง ปลูกหญ้าเนเปียร์ให้วัว ได้ขี้วัวมาทำปุ๋ย ใช้ปุ๋ยในแปลงนาและแปลงปลูกไม้ของตัวเอง ทุกอย่างวนเวียนใช้งานได้ ที่สำคัญ สมาชิกในฟาร์มที่เป็นลูกหลานญาติมิตรก็มีความสุข ได้ทำงานอยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล รายได้ก็พึงพอใจกันทุกฝ่าย แต่นอกจากเลี้ยงวัวและทำนาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พี่สำเรืองสนใจและเริ่มลงมือปลูกก็คือ อินทผลัม

กับวัวที่เลี้ยงไว้

“อะไรดึงให้พี่มาสนใจอินทผลัมครับ”
“อินทผลัมเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีมูลค่ามหาศาล ขนาดบ้านเรายังนำเข้ามาขายกันทั้งผลสดผลแห้ง”
“ศึกษาจากที่ไหนครับพี่”
“เริ่มจากอินเตอร์เน็ตครับ ค่อยๆ ศึกษาไปเพื่อปรับหาแนวทางที่เหมาะกับเรา”
“ตั้งเป้าไหมว่าต้องปลูกแบบไหน สายพันธุ์อะไร”
“ผมมองว่าเมืองไทยเหมาะสำหรับการปลูกอินทผลัมกินผลสด จำพวกบาฮี, โคไนซี่ แต่ผมเน้นบาฮีเป็นหลัก โดยเฉพาะต้นกล้าเพาะเนื้อเยื่อจากแล็บ”
“ลงเยอะไหมพี่”
“ตอนแรกก็ยังลองผิดลองถูกอยู่ครับ ไม่กล้าเต็มตัวเท่าไหร่ จนมาเจอ คุณอนุรักษ์ บุญลือ จากกลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก WDP Western Date Palm ที่อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี จึงเดินหน้าอย่างเต็มตัว”

เริ่มแก่จัดจนสุกแล้วครับ

เมื่อมีที่ปรึกษาดีๆ ก็เหมือนพยัคฆ์ติดปีก พี่สำเรืองลงมือปลูกอินทผลัมอย่างจริงจัง โดยมีคุณอนุรักษ์ บุญลือ ที่เป็นทั้งผู้ให้ความรู้และคอยช่วยแก้ปัญหามาให้โดยตลอด เมื่อมีความผูกพันและมองเห็นอนาคตในการเดินหน้าไปด้วยกัน พี่สำเรืองจึงสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่มในที่สุด ด้วยว่ากลุ่ม WDP ได้ขยายเครือข่ายสมาชิกกลุ่มออกไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นกระจายไปทั่วประเทศ มีโรงงานในภูมิภาคเพื่อเป็นตัวแทนในการรับซื้อผลผลิตของสมาชิก และฟาร์มบ้านนาบ้านเราก็เปรียบเสมือนศูนย์กลางในการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกทั่วประเทศ มีห้องเย็นที่เก็บผลผลิต เพื่อขนจากบุรีรัมย์ ไปที่จังหวัดกาญจนบุรีต่อไป ซึ่งเป็นแผนที่วางเอาไว้เผื่ออนาคต

“พี่ว่าอินทผลัมจะไปได้ดีไหมครับ”
“ผมว่าไปได้ครับ เพราะอินทผลัมได้รับความสนใจและนิยมปลูกกันมากขึ้น จนผลผลิตสามารถส่งออกไปจำหน่ายที่ต่างประเทศได้ ซึ่งประเทศตะวันออกกลางและประเทศมุสลิมต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก อินโดนีเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ซื้อจากเรา ผมจึงมั่นใจว่าเมื่อคุณภาพและผลผลิตของเรามีมาตรฐาน ก็ต้องมีตลาดรองรับแน่นอน”

เหลืองอร่ามดังทาทอง

“นอกจากขายในประเทศ ต่างประเทศแล้ว ผมยังเห็นว่าในกลุ่มมีการแปรรูปผลผลิตอีกด้วยใช่ไหมพี่”
“การแปรรูปคือหัวใจหลักของเกษตรกรครับ ผลผลิตส่วนหนึ่งนำไปอบแห้ง และอีกส่วนหนึ่งนำไปแปรรูป ตอนนี้เราก็มีน้ำอินทผลัมในแบรนด์ INONE ซึ่งมีจำหน่ายให้ลูกค้าต่อไป”

เมื่อถามถึงพื้นที่แปลงเกษตรของพี่สำเรืองและชาวคณะแล้วก็ต้องอึ้ง นี่กรรมกรระดับกรรมการผู้จัดการเลยนี่นา ทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ 150 ไร่ ปลูกหญ้า 70 ไร่ ฟาร์มเลี้ยงวัวอีก 30 ไร่ และยังมีอินทผลัมในแปลงที่บุรีรัมย์กว่า 500 ต้น

ผลใหญ่มาก

“ที่พี่ว่าจากกรรมกรสู่กรรมกร ผมว่าต้องเปลี่ยนเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แล้วพี่ อลังการมาก”
“ก็เป็นกรรมกรนี่แหละครับ เราต้องดูแลสมาชิกเยอะ จึงต้องบริหารจัดการในแปลงอย่างมีระบบ ทุกคนจะมีหน้าที่ดูแลในส่วนของตัวเอง”
“แล้วแบบนี้คนนอกจะมาขอศึกษาจะได้ไหมพี่”
“ได้เลยครับ ที่นี่ผมเชื่อว่ามีให้ศึกษาได้หลายอย่าง คุณอยากเรียนรู้เรื่องอะไรก็มุ่งไปเรื่องนั้น มาดูว่าเราจะทำเกษตรแบบผสมผสานให้มีรายจ่ายน้อยที่สุดและไปเพิ่มรายได้จากอะไร”

ที่ปรึกษาคนสำคัญ คุณอนุรักษ์ บุญลือ

“เห็นว่าใกล้ๆ กรุงเทพฯ ก็มี”
“เป็นพื้นที่รอบโรงงานที่บางบ่อครับ ที่นั่นเราก็ทำแปลงปลูกอินทผลัมเช่นกัน”
“ได้ผลผลิตหรือยังพี่”
“ได้แล้ว กำลังเริ่มเข้าสีเลย เอาสิ เดี๋ยวนัดกันที่แปลงบางบ่อก็ได้ จะได้เดินทางไม่ไกล”

ต้นกล้างามๆ เตรียมลงปลูกและจำหน่าย

“อีกนิดนะพี่ อินทผลัมสวนพี่ เปิดให้เข้าชมและซื้อในสวนไหม”
“มาเลย ผมเริ่มเปิดสวนตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนแล้วครับ มาชม มาชิม มาช็อป มาหาความรู้กันได้เลย ยินดีต้อนรับทุกท่าน โทร.หาผมได้ที่เบอร์ (089) 810-5165 ครับ”
“ปิดท้ายอีกคำถามครับพี่ ที่บอกว่าจากกรรมกรมาเป็นกรรมกรกว่า มันใช่เหรอพี่”
“ใช่สิ ทุกวันนี้ผมยังต้องลุยเอง มีทีมงานก็จริงแต่เราก็ต้องลงมือเองด้วย ทั้งบริหารจัดการ ทั้งลงมือทำเอง นี่แหละ กรรมกรกว่า”
“เข้าใจแล้ว ขอบคุณครับพี่”