อดีตนักเศรษฐศาสตร์สาว ผันตัวเป็นเกษตรกร ปลูกผักสลัดส่งโรงแรม สร้างรายได้ดี ที่พังงา

คุณเบญจวรรณ ใจหลัก หรือ พี่แตน ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์สาวพังงา อยู่บ้านเลขที่ 90 ถนนศรีตะกั่วป่า ตำบลตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ดีกรีปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ความรู้ ความสามารถ ไม่เป็นสองรองใคร แต่อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอคนนี้ยอมทิ้งอนาคต แล้วผันตัวสู่อาชีพเกษตรกรรมอย่างเต็มภาคภูมิ

คุณเบญจวรรณ ใจหลัก หรือ พี่แตน เกษตรกรสาวผู้มากความสามารถเล่าถึงจุดเปลี่ยนจากนักเศรษฐศาสตร์สู่การเป็นเกษตรกรว่า หลังจากที่เรียนจบมา ตนได้ทำงานประจำเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำเพื่อหาคอนเน็คชั่นต่อยอดการทำงานไปเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่ตนเป็นคนต่างจังหวัด พ่อแม่ก็อาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัด อายุของท่านก็เริ่มมากขึ้น อยากที่จะกลับไปดูแลท่าน จึงยอมที่จะสละหน้าที่การงานแล้วมองหาลู่ทางเพื่อที่จะกลับมาทำมาหากินที่จังหวัดบ้านเกิดของตัวเองที่พังงา พยายามมองหาจุดแข็งจุดอ่อนของจังหวัดว่ามีอะไรบ้าง กระทั่งพบว่า ที่อำเภอตะกั่วป่ามีจุดแข็ง คือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ครึกครื้นเกือบตลอดทั้งปี มีโรงแรม รีสอร์ต หลายร้อยแห่ง แต่ยังไม่มีใครปลูกผักส่งโรงแรมเลย เนื่องจากความที่พังงาเป็นจังหวัดที่มีฝนตกมาก ไม่เหมาะกับงานเกษตรเท่าไร บวกกับที่คนในพื้นที่มีตัวเลือกช่องทางการสร้างอาชีพหลายช่องทาง หันไปทำงานตามโรงแรมที่สถานบันเทิงกันหมด อาชีพเป็นเกษตรกรปลูกผักส่งโรงแรมจึงกลายเป็นหนทางสร้างอาชีพรองรับตน หลังจากลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ

คุณเบญจวรรณ ใจหลัก หรือ พี่แตน

ล้มเหลวจากผักออร์แกนิก
สู่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์คุณภาพสูง

เจ้าของบอกว่า หลังจากที่มองเห็นช่องทางสร้างรายได้ที่บ้านเกิดแล้ว จึงเริ่มลงมือทำ โดยจุดประสงค์แรกคือ ตั้งใจปลูกผักออร์แกนิก ปลูกมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ก็พบว่าผักออร์แกนิกมีปัญหาหลายอย่างคือ

  1. เรื่องของสภาพอากาศไม่เป็นใจ ฝนตกมาก ปลูกยาก
  2. ต้นทุนแรงงานสูง หาคนงานยาก
  3. ควบคุมป้องกันโรคแมลงยากมาก

โดยในช่วงแรกของการปลูกผักออร์แกนิก ความรู้ส่วนใหญ่เกิดจากการลองผิดลองถูกของตนเอง เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ความรู้ในอินเตอร์เน็ตเรื่องการปลูกผักออร์แกนิกยังมีน้อยมาก แต่โชคดีที่ได้ไปเจอกับเพจที่สอนทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองของแม่โจ้ ก็เริ่มใจชื้นขึ้นมา เพราะการปลูกผักอินทรีย์ต้องใช้ปุ๋ยหมัก ก็รู้วิธีการหมักปุ๋ยไว้ใช้เอง หมดปัญหาเรื่องปุ๋ยไปหนึ่งเปลาะ จากนั้นก็ต้องมางมหาความรู้เรื่องของการกำจัดโรคแมลงต่อ ทำไปทำมาจนกระทั่งกรมวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยเรื่องของการกำจัดโรคแมลง มีการนำเทคโนโลยีมาให้ทดลองใช้ เช่น ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย ลองผิดลองถูกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ศึกษานิสัยของผักแต่ละชนิด รวมถึงศึกษาว่าแมลงและโรคแต่ละชนิดจะมีวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างไรบ้าง แต่ก็ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ลงแรง จึงเปลี่ยนมาทำไฮโดรโปนิกส์เพราะทำง่ายกว่า ใช้ต้นทุนในแต่ละเดือนน้อยกว่าการปลูกผักอินทรีย์ ช่วยลดในส่วนการจ้างงาน ผักไฮโดรโปนิกส์จะติดตรงที่มีต้นทุนเริ่มต้น ค่าทำโรงเรือน ค่าซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จะสูงกว่าทำอินทรีย์ แต่จะคุ้มในระยะยาว และเรื่องของคุณภาพและปริมาณของผลผลิตจะดีกว่าด้วย

กรีนโอ๊คสีสวย กรอบ น้ำหนักดี

วางแผนการปลูกยังไง
ให้มีผักส่งขายทุกสัปดาห์

พี่แตน เล่าว่า เมื่อก่อนเริ่มต้นการปลูกผักออร์แกนิกบนพื้นที่ 2 ไร่ แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำไฮโดรโปนิกส์ตอนนี้ลดพื้นที่การปลูกลงมาเหลือ 1 ไร่ ปลูกในโรงเรือน ขนาดความกว้าง 6×20 เมตร 4-5 โรงเรือน และยังมีในส่วนของโรงเรือนที่ออกแบบเองอีกด้วย ซึ่งในอนาคตมีแผนจะขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ แต่ช่วงนี้ต้องหยุดชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยผักที่ปลูกหลักๆ จะเป็นผักสลัด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส ปลูกส่งโรงแรม ถ้าเป็นผักไทย เช่น ผักกาดขาว คะน้า กวางตุ้ง จะปลูกส่งตลาดในท้องถิ่น มีการวางแผนปลูกทุกสัปดาห์ หรือทุก 10 วัน สลับหมุนเวียนกันไป เพื่อให้มีผักออกขายทุกสัปดาห์ และเพื่อให้มีผักป้อนโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงแรมก็จะมีช่วงเวลาของการเปิดรับช่วงไฮซีซั่น คือช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน จะเน้นปลูกผักสลัด หลังจากนั้น เริ่มเข้าหน้าฝน โรงแรมบางแห่งจะปิดและลดปริมาณการสั่งผักลดลง ที่ฟาร์มก็จะเริ่มวางแผนการผลิตผักไทยมากขึ้น และเพื่อเป็นการลดการสะสมของเชื้อโรคที่จะเกิดขึ้นในผักสลัดด้วย เพราะเมื่อเข้าสู่หน้าฝน ปัญหาคือ โรคใบจุด จึงจำเป็นต้องปลูกพืชสลับหมุนเวียนกันไป เพื่อให้เข้ากับฤดูกาลและหนีโรคแมลง

ฟิลเล่ย์

ยกตัวอย่าง ผักยอดฮิต คือ
ผักสลัด มีวิธีการปลูก ดังนี้

  1. หยอดเมล็ดในฟองน้ำสำเร็จรูป 1 เมล็ด ต่อ 1 ฟองน้ำ แล้วอนุบาลไว้ประมาณ 3 วัน ในที่ร่มรำไร
  2. หลังจากนั้นเอาออกไปอนุบาลต่อในรางอนุบาล ประมาณอีก 3 สัปดาห์
  3. ครบ 3 สัปดาห์ ย้ายลงบนโต๊ะปลูกอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเพียง 45-50 วัน

การดูแลใส่ปุ๋ย… วัดตามค่า อีซี ปุ๋ย ซึ่งผักไฮโดรโปนิกส์ถ้าเป็นผักสลัด ค่า อีซี อยู่ที่ 1.8 จนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 1 สัปดาห์ จะงดให้ปุ๋ย ให้แต่น้ำเปล่าอย่างเดียวเพื่อลดค่าไนเตรตในผัก

ผลผลิต… ผลผลิตต่อโต๊ะ ขึ้นอยู่กับฤดู ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวปลายปีผลผลิตสวย น้ำหนักดี แต่ถ้าเป็นหน้าร้อนและช่วงต้นฝน ผลผลิตจะหายไปมาก ช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิจะสูง ทำให้ผักเป็นรากเน่าและโตช้า น้ำหนักไม่ดี ส่วนในช่วงต้นฝนแมลงจะมาก เฉลี่ยผลผลิตที่เก็บได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ต่อ 100 กิโลกรัม ถือว่าน้อย ยังไม่พอต่อความต้องการของตลาด

ต้นทุนการปลูกกับรายได้… คุ้มค่ากับการลงทุนถ้าทำบนพื้นที่ของตัวเองไม่ได้ไปเช่าคนอื่น ปลูกผักสลัด 1 โรงเรือน ปลูกได้ประมาณ 3-4 ครอป คืนทุนแล้ว คิดเป็น 1 โต๊ะ สร้างรายได้ 2,000 บาท 1 โรงเรือน ปลูกได้ 4 โต๊ะ คิดรายได้ต่อเดือนหักต้นทุนแล้ว เหลือกำไร ประมาณ 25,000-30,000 บาท ต่อเดือน กำไรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

กรีนโอ๊คสีสวย กรอบ น้ำหนักดี

จุดเด่นผักที่ฟาร์ม

“ผักของเราจะนำเอาประสบการณ์จากที่เคยปลูกผักอินทรีย์มาใช้ คือ ผักอินทรีย์ค่อนข้างแข็งแรงและมีการเก็บรักษาได้นาน เราก็นำความรู้ตรงนี้มาประยุกต์ใช้กับผักไฮโดรฯ คือการใช้จุลินทรีย์ต่างๆ มาใช้กับผักไฮโดรฯ ทำให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น รสชาติดีขึ้น หลายคนกินไปแล้วไม่รู้ว่าเป็นผักปลูกน้ำ เพราะมีลูกค้าหลายคนบอกว่าไม่กินผักปลูกน้ำ แต่เมื่อเราทดลองนำผักไฮโดรฯ ของฟาร์มไปให้เขากิน เขาก็ไม่รู้ เพราะว่าผักไอโดรฯ ตามปกติใบจะบางน้ำจะเยอะ และถ้าเป็นผักไทย อย่าง กว้างตุ้ง นำไปผัด ผักน้ำจะออกมาเยอะมาก แต่ของเราไม่เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องคุณภาพจะใกล้เคียงกับผักที่ปลูกในดินเลย และเวลาการส่งระยะไกลข้ามคืน ผักก็ยังสวยอยู่ นี่คือ จุดเด่นและจุดแข็งของเรา” พี่แตน อธิบายจุดเด่นผักไฮโดรฯ ของฟาร์มตัวเอง

 

ปัญหา อุปสรรค และวิธีการรับมือ

ปัญหาและอุปสรรคในการทำเกษตร สามารถเกิดขึ้นได้หลายทาง จะมีทั้งสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้และไม่ได้

  1. ในส่วนของสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ จะเป็นเรื่องของโรคแมลง อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า พังงา เป็นจังหวัดที่มีฝนตกมาก จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการปลูกไว้ล่วงหน้า ก็ใช้ประสบการณ์ 4 ปี ที่สะสมมาช่วยในการวางแผนการปลูกว่าช่วงไหน จะมีปัญหาหรือเกิดโรคอะไรบ้าง ควรปลูกผักชนิดไหน ชนิดไหนควรหลีกเลี่ยง เช่น หน้าร้อน ผักสลัดจะมีปัญหารากเน่า ส่วนผักกาด กวางตุ้ง แมลงจะลงเยอะ ก็จะแก้ปัญหาด้วยการลดปริมาณการปลูกลง เพื่อให้มีรายได้คงอยู่ เมื่อพ้นฤดูของหนอนไป ถึงจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาอีกครั้ง แต่จะปรับเปลี่ยนจากผักสลัดเป็นผักไทยแทนในช่วงฤดูฝน และเป็นการลดความเสี่ยงของโรคที่จะเกิดขึ้นด้วย หน้าฝนผักจะไม่ค่อยสวยอยู่แล้ว เพราะว่าไม่มีแดด
  2. สถานการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้ ที่เห็นชัดเจนตอนนี้คือ สถานการณ์โรคระบาดไวรัส โควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากผักที่เคยปลูกส่งโรงแรมโดนยกเลิกทั้งหมด เพราะโรงแรมต้องปิด มีวิธีรับมือคือ การกระจายความเสี่ยงด้วยการขายคนในท้องถิ่น เพราะก่อนที่จะเกิดโรคขึ้นมา ที่ฟาร์มมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จะไม่ปลูกส่งแค่โรงแรมที่เดียว แต่จะส่งให้ตลาดในท้องถิ่นด้วย ถือเป็นความโชคดีที่ตั้งมือรับกับทุกสถานการณ์ไว้ก่อนแล้ว
เรดโอ๊ค

ตลาดผักไฮโดรโปนิกส์ ที่พังงา ยังไปได้ดี
ความต้องการมาก แต่คนปลูกน้อย

พี่แตน บอกว่า ตลาดผักที่จังหวัดพังงาอนาคตยังสดใส เพราะถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์คนปลูกผักขายในจังหวัดพังงามีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ความต้องการผักมีล้นเหลือ เพราะฉะนั้นการทำอะไรที่มีคนทำน้อย แต่ความต้องการสูงย่อมดีในแง่ของการตลาดอยู่แล้ว ดูได้จากสถานการณ์ก่อนโควิดที่ฟาร์มปลูกผักไม่เคยพอขาย ตลาดกว้าง ทั้งโรงแรม รีสอร์ต และตลาดในท้องถิ่น แต่ทุกคนอย่ามองเห็นเป็นเรื่องง่าย ไม่แนะนำให้ปลูกก่อนแล้วค่อยหาตลาด ยกตัวอย่าง ตัวเองเริ่มการตลาดจากการเข้าไปทำความรู้จักกับซัพพลายเออร์ว่ามีความพร้อมในการผลิตสินค้าให้เขาอย่างต่อเนื่องไหม แล้วราคาถูกใจกันทั้งสองฝ่าย ถ้าตกลงกันได้เรียบร้อย ถึงค่อยผลิตส่ง ที่ฟาร์มตกลงราคาขาย ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ราคาอาจจะถูกกว่าการขายปลีก แต่เราเน้นปริมาณขายง่ายกว่า ได้เงินเร็วกว่า หรือถ้าเป็นเกษตรกรรุ่นเก่าค่อนข้างหาตลาดยากจริงๆ ขอแนะนำให้รวมกลุ่มกับเกษตรกรรุ่นใหม่ อย่าง กลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ค่อนข้างมีความสามารถในการหาตลาด เกษตรกรรุ่นเก่ามีความชำนาญในเรื่องการผลิต เมื่อทั้งสองเจนเนอเรชั่นมารวมตัวกัน ทุกอย่างจะง่ายขึ้น

 

ฝากถึงมนุษย์เงินเดือนอยากทำเกษตร

“อยากฝากถึงมนุษย์เงินเดือนอยากทำเกษตรว่า อย่าเพิ่งลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำเกษตรอย่างเดียว ใจเย็นๆ แนะนำว่า ให้ทดลองทำไปก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าทำได้ดีแล้ว อย่าเพิ่งวางใจ เพราะถ้าคุณปลูกในพื้นที่เล็กๆ แน่นอนว่าผลผลิตย่อมออกมาดี เพราะดูแลไหว แต่ถ้าจะขยายพื้นที่แล้วความรู้และประสบการณ์ยังมีไม่มากพอ ผลผลิตจะเสียหายทั้งหมดต้องทำใจ ถ้าจะลาออกคือ ต้องมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า เราสามารถจัดการลูกค้าที่มีคงที่ ความรู้คงที่ และก็มีทุนสำรองพอรับกับความเสี่ยงหรือว่ามีแผนต่อไปที่จะทำยังไงหากเกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าผ่านช่วงที่ยากลำบากในช่วงเก็บเกี่ยวความรู้และปัญหาเรื่องโรคแมลงไปได้แล้ว อาชีพเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพที่ดี และสร้างความมั่นคงได้มาก ขยายงานได้เร็วกว่าเป็นลูกจ้าง เป็นลูกจ้างต้องรอเลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ใช้เวลานาน แต่เป็นเจ้านายตัวเอง พร้อมเมื่อไรสามารถขยายพื้นที่เพิ่มรายได้ได้ทันทีเลย” พี่แตน กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียด การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เพิ่มเติม ติดต่อที่ คุณเบญจวรรณ ใจหลัก หรือพี่แตน เบอร์โทร. 093-926-9244

คอส

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2563