สาวเชียงใหม่ปลูกฟักแม้ว ผลผลิตดี มีขายตลอดปี

ฟักแม้ว หรือ ชาโยเต้ (Chayote) เป็นไม้มีลักษณะเถาเลื้อย สามารถเจริญเติบโตข้ามปีได้ ซึ่งลักษณะของลำต้น ใบ ยอด และมือจับ คล้ายแตงกวาผสมฟักเขียว ระบบรากเป็นระบบที่สมบูรณ์ขนาดใหญ่ ลำต้นเป็นเหลี่ยม เจริญเติบโตเป็นเถายาว 15-30 ฟุต โดยใบมีขอบลักษณะเป็นเหลี่ยม 3-5 เหลี่ยม ยาว 8-15 เซนติเมตร ดอกของฟักแม้วมีสีขาวปนเขียว ดอกเกิดที่บริเวณข้อระหว่างต้นกับก้านใบ เป็นลักษณะดอกช่อ (Inflorescence)

ดอกของไม้ชนิดนี้เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ คือ ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละดอกกัน แต่อยู่ในต้นเดียวกัน เมื่อเจริญเติบโตจนให้ผลแล้วจะมีลักษณะเป็นผลเดี่ยว ลักษณะทรงกลมยาวสีเขียวอ่อน รูปร่างคล้ายลูกแพร์ มีขนาดยาว 7-20 เซนติเมตร กว้าง 5-15 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 200-400 กรัม

คุณทศพร เขมาชะ

โดยทั่วไปแล้วฟักแม้วสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย โดยนิยมใช้ทั้ง ผล ใบ และราก แต่สำหรับประเทศไทยนิยมรับประทานยอดเสียมากกว่า โดยนำมาผัดกับน้ำมันหอย หรือจะลวกรับประทานคู่กับน้ำพริกก็อร่อยลงตัว จึงเป็นพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด

คุณทศพร เขมาชะ อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสาววัย 26 ปี ที่มีหัวใจรักงานเกษตร ได้เรียนรู้และปลูกฟักแม้วจนประสบผลสำเร็จ นำผลผลิตที่ได้ส่งเข้าโครงการหลวง เป็นอาชีพที่ทำเงินให้กับเธอได้เป็นอย่างดี

ใช้ไม้ไผ่ทำร้านง่ายๆ

คุณทศพร สาวเหนือผู้มากด้วยรอยยิ้ม เล่าให้ฟังว่า เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ก็ได้มาช่วยทางบ้านทำงานด้านการเกษตร เพราะอาชีพทางด้านนี้เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงและทำเงินให้กับครอบครัวของเธอ ซึ่งตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กก็จะเห็นคุณพ่อกับคุณแม่ทำสวนปลูกพืชผักมาอย่างยาวนาน ต่อมาเมื่อเจริญวัยจนสามารถทำงานได้ สิ่งที่พบเห็นจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือด จึงทำให้ได้มาจับอาชีพทางด้านนี้

“ช่วงนั้นเราก็มีแผนที่จะเรียนต่อ แต่ด้วยความที่ต้องอยู่กับพ่อกับแม่ ก็เลยไม่อยากไปที่ไหนไกลๆ บ้าน เลยคิดว่าอาชีพที่ทำงานอยู่กับบ้าน ก็เป็นอาชีพที่สร้างเงินได้เหมือนกัน และที่สำคัญเรายังสามารถดูแลคนที่เรารักได้ ก็เลยยิ่งไม่อยากจะออกไปทำงานไกลจากที่บ้าน มีบ้างครั้งบางคนถามว่าน้อยใจไหม ก็ตอบอย่างภาคภูมิใจว่า ไม่เสียใจในสิ่งที่เราเลือก เพราะเราอยากทำงานทางด้านนี้มากกว่า มันมีอิสระ ได้เป็นนายตัวเอง และที่สำคัญทำได้มากเราก็ได้เงินมากตามไปด้วย” คุณทศพร เล่าถึงที่มาของการได้ใช้ชีวิตเป็นเกษตร

ซึ่งที่บ้านของเธอมีผักหลากหลายชนิดที่ปลูก แต่ผักที่รับผิดชอบและทำจนชำนาญหรือเรียกได้ว่าเป็นตัวยงในเรื่องนี้คือ การปลูกฟักแม้ว เพราะเป็นพืชที่ตลาดยังมีความต้องการ จึงทำให้เธอสนใจและปลูกอย่างจริงจังจนเป็นรายได้เลี้ยงตัวเอง หรือเรียกง่ายๆ ว่า อาชีพที่สร้างเงินและเก็บออมให้กับเธอได้อีกด้วย

การปลูกฟักแม้วให้ได้ยอดงามๆ นั้น คุณทศพร บอกว่า ในขั้นตอนแรกจะเตรียมแปลงปลูกด้วยการไถพรวนเสียก่อน จากนั้นยกร่องให้แปลงมีความสูงเล็กน้อย โดยแต่ละสันร่องของแปลงปลูกมีระยะห่างอยู่ที่ 1.50 เมตร จากนั้นนำปุ๋ยคอกและปุ๋ยขี้ไก่มาใส่ลงคลุกเคล้าให้ทั่วแปลง วันต่อมาสามารถนำเมล็ดมาใส่ปลูกได้ทันที

โดยเมล็ดที่ใช้ปลูกจะเป็นเมล็ดที่ได้จากผลแก่ของฟักแม้วที่เก็บไว้ เมื่อเตรียมแปลงพร้อมปลูกแล้ว จึงนำเมล็ดลงมาหยอดภายในแปลง ให้แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 1 คืบ ผ่านไปได้ประมาณ 7 วัน เมล็ดที่ลงปลูกจะเริ่มงอกออกมาให้เห็นใบอ่อน จึงค่อยๆ หาไม้มาปักเพื่อสร้างเป็นร้านให้ฟักแม้วเกาะ จากนั้นเมื่อต้นฟักแม้วมีอายุได้ประมาณ 1 เดือน จึงใส่ปุ๋ยเม็ดอินทรีย์เพื่อเป็นการบำรุงต้นให้มีการเจริญเติบโตมากขึ้น

“ช่วงแรกที่เริ่มปลูกก็รดน้ำแค่ช่วงเช้าอย่างเดียว เพราะที่นี่อากาศค่อนข้างชื้น ไม่จำเป็นต้องรดน้ำมาก เมื่อฟักแม้วได้อายุประมาณ 1 เดือน ก็จะเริ่มใส่ปุ๋ยอินทรีย์ทุก 2 อาทิตย์ครั้ง ใส่ประมาณ 1 กำมือ ต่อต้น จากนั้นเมื่อเห็นต้นเริ่มเจริญเต็มที่ จะค่อยๆ เปลี่ยนรดน้ำมาเป็นวันเว้นวัน เมื่อฟักแม้วได้อายุอยู่ที่ 2 เดือนก็สามารถเริ่มเก็บผลผลิตขายได้” คุณทศพร บอก

ต้นใหญ่สมบูณ์

เมื่อสามารถตัดยอดจำหน่ายได้แล้ว คุณทศพร บอกว่า จะเก็บแบบวันเว้นวันเพื่อให้ได้ยอดใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ และช่วงที่ว่างจากการตัดยอดจะหาเวลาว่างมากำจัดวัชพืชออก พร้อมทั้งดูแลเรื่องโรคด้วยการป้องกันฉีดพ่นด้วยชีววิถีคือ การใช้เชื้อราบิวเวอเรีย และไตรโคเดอร์มา เข้ามาช่วย นอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้วยังปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ปลูกอีกด้วย

ต้นฟักแม้วที่ปลูกเมื่ออายุครบประมาณ 1 ปี คุณทศพร บอกว่า จะรื้อทิ้งทั้งหมดและย้ายไปปลูกตรงตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่เดิม ทำหมุนเวียนอยู่อย่างนี้เสมอ เพื่อไม่เป็นการสะสมโรคของพื้นที่ปลูก

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อส่งจำหน่ายผลผลิตทั้งหมดภายในสวนนั้น คุณทศพร บอกว่า ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องนี้มากนัก เพราะครอบครัวของเธอทำสวนมาหลายสิบปี โดยตลาดที่ส่งจำหน่ายหลักๆ จะเป็นโครงการหลวงที่เป็นศูนย์อยู่ใกล้บ้าน โดยเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงค่อยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ผักทุกชนิดที่ปลูกมีความปลอดภัย ไม่ใช่เฉพาะฟักแม้วเพียงอย่างเดียว ผักชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

โดยฟักแม้วที่เธอแบ่งปลูก 1 ไร่ สามารถเก็บยอดส่งจำหน่ายได้ 30-50 กิโลกรัม ต่อวัน ช่วงที่ให้ผลผลิตมากที่สุดจะเป็นช่วงฤดูฝน และช่วงที่ให้ผลผลิตน้อยจะเป็นช่วงหน้าแล้งที่บางครั้งได้น้อยสุดอยู่ที่ 20 กิโลกรัม ต่อวัน

“ราคาขายที่ส่งให้กับโครงการหลวงก็จะอยู่ที่ 28 บาท ต่อกิโลกรัม โดยทางศูนย์จะเป็นผู้กำหนดราคาให้ บางช่วงที่ผลผลิตมีน้อยราคาก็จะเกิน 28 บาท แต่ส่วนมากจะยืนพื้นอยู่ที่ราคานี้ ถึงจะเก็บวันเว้น แต่ผลผลิตที่ออกมาค่อนข้างสมบูรณ์ บวกกับมีการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ก็ได้ผลกำไรที่สามารถนำเงินมาใช้เก็บใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้” คุณทศพร บอก

ยอดอ่อนๆ พร้อมเก็บ

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการทำเกษตรแต่ยังไม่กล้าที่จะลงมือทำ คุณทศพร แนะนำว่า ทุกอย่างต้องเริ่มต้องทดลอง ถึงแม้จะมีเวลาน้อยแต่ถ้าชื่นชอบในการทำเกษตร ก็จะยิ่งช่วยให้มีความสุขเหมือนได้พักผ่อน ต่อไปถ้าสิ่งที่ทำให้ผลผลิตมากและมีตลาดที่แน่นอนอยากมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ก็สามารถลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรที่ชอบ เพราะไม่ได้มีความสุขเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัวโดยที่ไม่ต้องจากบ้านไปไหนไกล

“สำหรับตัวเราเองชอบงานทางด้านนี้ เพราะไม่ชอบงานที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์ ไม่ชอบที่จะถูกบังคับจากการทำงานในบริษัทใหญ่ ชอบที่จะเป็นนายตัวเองมากกว่า เพราะเราเหนื่อยเราก็หยุดพักได้ เราอยากได้เงินมากๆ เราก็ทำให้มากขยันให้มาก โดยที่ตัวเราเองสามารถกำหนดในเรื่องของรายได้เราเอง แต่ก่อนที่จะลงมือ ต้องศึกษาให้ดีเสียก่อน เพราะบางครั้งใจรักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องศึกษาให้มากๆ เพราะทุกอย่างมีเงินลงทุนทั้งนั้น เมื่อประสบผลสำเร็จดีแล้วสิ่งต่างๆ ที่เราหวังก็จะได้ตามมาเอง” คุณทศพร แนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณทศพร เขมาชะ หมายเลขโทรศัพท์ (098) 001-2824


งาน Healthcare 2020 จัดระหว่าง วันที่ 3-6 กันยายน 63 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 10.00 – 20.00 น. นอกจากมี ตรวจสุขภาพฟรี จากกว่า 10 โรงพยาบาลชั้นนำแล้ว ยังมีเวิร์กช็อปชุบชูสุขภาพใจฟรี ถึง 7 คอร์ส  โดย 7 วิทยากร ผู้อยู่ในแวดวงงานศิลปะ คราฟท์ และจิตวิญญาณ ช่วยเยียวยาจิตใจ ผ่อนคลาย และสร้างแรงบันดาลใจ เดินทางสะดวก โดยทางด่วน และ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 Workshop ดี มีให้เรียนฟรีทุกวัน

พิเศษ! Workshop ดี ร่วมเรียนฟรีทุกวัน คลิกลงทะเบียนเรียนที่นี่ (รับจำนวนจำกัด)

รับต้นไม้ฟรี! (ของมีจำนวนจำกัด) เมื่อลงทะเบียนเข้างาน คลิกลงทะเบียนเข้างานที่นี่