“กล้วยไข่ต้นเตี้ย” พัฒนาจาก กล้วยไข่ GI กำแพงเพชร ตัดปัญหากวนใจ กล้วยไข่หักล้ม จากลมพายุ

“กล้วยไข่ต้นเตี้ย” พัฒนาจาก กล้วยไข่ GI กำแพงเพชร ผลทดลองสำเร็จ โดย วว. “ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์” ตัดปัญหากวนใจ กล้วยไข่หักล้ม จากลมพายุ

บนโลกใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน โดยเฉพาะภัยที่เกิดจากธรรมชาติ ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากลมพายุ หรือภัยเกิดจากอุทกภัย ล้วนสร้างความเสียหายอย่างหนักหนาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร     

ย้อนไป ในปี 2554 เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ในหลายพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับผลกระทบจากลมพายุหลายลูก และอุทกภัย น้ำท่วมในห้วงเวลาเดียวกัน สร้างความเสียหายอย่างสาหัสสากรรจ์

ครั้งนั้นผู้เขียนได้ออกพื้นที่สำรวจไปพร้อมๆ กับท่านเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร คุณคำปริว จันทร์ประทักษ์ (ปัจจุบัน เกษียณอายุราชการแล้ว) สิ่งที่พบเห็นกล้วยไข่ของเกษตรกรล้มระเนระนาดราบเป็นหน้ากลอง ให้รู้สึกหดหู่ใจ ในหลายพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็นในเขตอำเภอเมือง โกสัมพีนคร คลองขลุง คลองลาน เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกกล้วยไข่มากที่สุดของจังหวัด

ปัญหาที่เกิดจากลมพายุดังกล่าว ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชรเกิดความท้อแท้ และลดจำนวนพื้นที่การปลูกกล้วยไข่ลงมาทุกปีๆ จากเดิมมีมากถึง 20,000 กว่าไร่ ปีต่อมาเหลือหมื่นกว่าไร่ กระทั่งมาถึงปี 2554 เหลืออยู่เพียง 6,500 ไร่ และไม่น่าเชื่อเมื่อถึงปี 2561 จะเหลืออยู่เพียง 3,000 ไร่ จากบันทึกรายงานของสภาเกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร

หลายฝ่ายจึงมาขบคิดกับปัญหาที่แก้ไม่ตกคือ ภัยจากลมพายุ ทำให้ต้นกล้วยไข่ที่กำลังออกผลอ่อนหักโค่นล้มเสียหาย การชดเชยจากภาครัฐก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่จึงหันไปทำอาชีพอย่างอื่นแทน

เมื่อสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยรับทราบปัญหาต่างๆ ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร ในการคิดแก้ไขปัญหากล้วยไข่หักล้มจากลมพายุที่ว่านี้

พร้อมกับได้นำความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยพัฒนาต้นกล้วยไข่ให้เตี้ยลง หรือ ย่อส่วนจากต้นที่สูง ก็ทำให้มันเตี้ยลง เพื่อหลบลมพายุ ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรภาคเหนือ (กล้วยไข่)”

ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส กับเกษตรกร คุณแสน ภาคภูมิ

จากการเปิดเผยของ ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ ระบุว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา เนื่องจากจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสินค้า GI ของจังหวัดกำแพงเพชร ได้ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย กล้วยไข่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงเริ่มทดลองและทำการวิจัยไปพร้อมๆ กัน ในปี 2562 ภายใต้แนวคิดในการลดความสูงของต้นกล้วยไข่ (กล้วยเตี้ย) โดยใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เพื่อแก้ปัญหาต้นกล้วยไข่หักล้มจากลมพายุ

ส่วนพื้นที่ในการทำแปลงทดลองสาธิต ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส คัดเลือกไว้ 3 พื้นที่ ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรนวัตกรรม ประกอบด้วย

  1. 1. กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองกำแพงเพชร
  2. 2. กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง
  3. 3. กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน

ส่วนขั้นตอนการทดลองนั้น เป็นการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ชื่อว่า สารพาโคลบิวทราโซล เพื่อลดความสูงและเพิ่มความแข็งแรงของต้นกล้วยไข่ โดยใช้ในปริมาณ ในอัตราส่วน 5 กรัม หรือครึ่งช้อนแกง โดยราดหรือโรยสารพาโคลบิวทราโซล ลงดินบริเวณโคนต้นกล้วยไข่ จากนั้นรดน้ำตาม ในช่วงอายุกล้วยไข่ 3-5 เดือน ซึ่งมีความเหมาะสมในด้านความสูง ประมาณ 1.0-1.5 เมตร จึงราดสารพาโคลบิวทราโซล

ผลของการราดสารที่ว่านี้ ก็จะทำให้ต้นกล้วยไข่หยุดชะงักในด้านความสูง หรือชะลอการยืดตัวของลำต้น ลำต้นกล้วยส่วนบนก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น (ทรงกระบอก) และมีความแข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ต้นกล้วยที่ราดสารจะมีผลผลิตเร็วกว่ากล้วยปกติ 2-3 สัปดาห์ และความสูงก็จะหยุดอยู่เพียงแค่ 1.0-1.5 เมตร เมื่อเทียบกับต้นกล้วยไข่ที่ไม่ได้ราดสารก็จะมีความสูงไปตามปกติ สูงได้มาก 2.5-3.0 เมตร

เมื่อควบคุมด้านความสูงในระยะแรกของต้นกล้วยไข่ได้แล้ว ระยะต่อมาคือ การเพิ่มขนาดและน้ำหนักผลกล้วยไข่ โดยการพ่นสาร จิบเบอเรลลิน ความเข้มข้น 50-100 ppm หลังจากตัดปลีออก ให้ฉีดพ่นไปที่ผลกล้วยอ่อน จำนวน 3 ครั้ง เว้นระยะ 4 วัน ต่อครั้ง เพื่อขยายขนาดของผลกล้วยไข่ และผลลัพธ์ที่ได้ทำให้กล้วยมีขนาดผลใหญ่ ยาวขึ้น และน้ำหนักมากขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหากล้วยไข่นอกฤดูที่มีผลขนาดเล็ก ให้มีความสมบูรณ์ผลใหญ่ขึ้นได้อีกด้วย

คุณแสน ภาคภูมิ กับตัวอย่างกล้วยไข่ที่ไม่ได้ฉีดพ่นสารจิบเบอเรลลิน ในการบำรุงผลกล้วยลูกอ่อน คุณภาพกล้วยก็จะด้อยลง

คุณแสน ภาคภูมิ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ หมู่ที่ 7 บ้านคลองสมุย ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แปลงทดลอง ที่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงต้นกล้วยไข่ให้เตี้ยลง และได้ผลผลิตมากที่สุด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงกล้วยไข่ให้เตี้ยนับว่าได้ผลดีมาก ในด้านความสูงสามารถหลบลมพายุได้ และผลผลิตที่ได้ก็ไม่แตกต่างจากกล้วยไข่ปกติมากนัก ผลดีที่ได้อีกอย่างคือ เปลือกของผลกล้วยไข่หนาขึ้น นับว่าดีต่อการขนส่ง กล้วยไม่ช้ำ

ส่วนขั้นตอนวิธีการปรับปรุงกล้วยไข่ทรงเตี้ย ซึ่งไม่มีความยุ่งยากอะไร ก็เหมือนกับการปลูกกล้วยไข่ตามปกติ จากแปลงกล้วยไข่ 15 ไร่ แบ่งมาทำแปลงทดลอง 2 ไร่ โดยเริ่มจากการไถกลบปรับปรุงดินเพื่อเตรียมปลูกกล้วยไข่ตามปกติ จากนั้นนำหน่อกล้วยไข่ลงปลูกเพื่อการทดลอง จำนวน 750 ต้น ช่วงเดือนธันวาคม 2561 กล้วยไข่ก็จะเจริญเติบโตตามปกติ จนเข้าสู่เดือนที่ 4 เดือนมีนาคม 2562 จึงนับเป็นการเริ่มต้นการทดลอง ด้วยการราดสารพาโคลบิวทราโซล ที่โคนต้นกล้วยไข่ ตามคำแนะนำของนักวิจัย ในปริมาณ 5 กรัม หรือครึ่งช้อนแกง ราดเพียงครั้งเดียว ความสูงของกล้วยไข่ก็จะหยุดอยู่เพียง 1.0-1.5 เมตร จากนั้นก็ดูแลกล้วยไข่ใส่ปุ๋ยตามปกติ คือสูตรเสมอ 15-15-15 สองถึงสามครั้งต่อเดือนแล้วแต่โอกาส

จนผ่านไปอีก 4 เดือน กรกฎาคม 2562 เมื่อกล้วยออกหวีจนสุดปลี จึงตัดปลี จากนั้นก็ฉีดพ่นสารจิบเบอเรลลิน ที่ผลอ่อนเครือกล้วยไข่ โดยฉีด 3 ครั้ง เว้นระยะ 4 วัน ต่อครั้ง ซึ่งการฉีดสารตัวนี้ช่วยให้กล้วยไข่มีผลใหญ่และยาวขึ้น พร้อมๆ กับการใส่ปุ๋ย สูตร 16-8-8 ต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง ต่อเดือน แล้วแต่โอกาส เพื่อช่วยในการเร่งลูก เร่งผิว เวลากล้วยแก่ผลจะไม่แตก ไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม 2562 และเป็นครั้งแรกที่ได้นำผลผลิตจากกล้วยไข่ต้นเตี้ยไปออกโชว์ในงานแสดงกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

คุณแสน ภาคภูมิ เทียบกับความสูง และการออกหวีตกเครือของกล้วยที่ราดสารหยุดความสูงในแปลงทดลอง

จากบทสรุปผลการทดลอง การันตีโดยเกษตรกรตัวจริง อย่าง คุณแสน ภาคภูมิ ให้ข้อมูลต่ออีกว่า การใช้สารพาโคลบิวทราโซล ราดเพียงครั้งเดียว ก็สามารถหยุดการเจริญเติบโตด้านความสูงอย่างเห็นได้ชัด ผ่านไปอีก 4 เดือน เมื่อกล้วยไข่ตกหวีออกเครือจึงฉีดพ่นสารจิบเบอเรลลิน ก็จะทำให้กล้วยได้คุณภาพมีผลที่ใหญ่ขึ้น

เปรียบเทียบกล้วยที่ราดสาร และกล้วยที่ไม่ได้ราดสารพาโคลบิวทราโซล (ซ้าย) ต้นกล้วยไข่ที่ราดสาร ลำต้นส่วนบนจะใหญ่ (ขวา) ต้นกล้วยไข่ที่ไม่ได้ราดสาร ลำต้นจะแตกต่างเรียวสูง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกกล้วยไข่ปกติ หรือการปลูกกล้วยไข่ในแปลงทดลอง ถ้าสภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวย น้ำไม่เพียงพอ ดินไม่ดี ทำอย่างไรกล้วยก็ออกมาไม่สมบูรณ์ดีเท่าที่ควร ซึ่งการทดลองครั้งนั้นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อสภาพอากาศทั้งดินและน้ำ จึงทำให้ผลการทดลองตรงตามวัตถุประสงค์ สมบูรณ์ 100%

ส่วนผลผลิตที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกล้วยไข่ปกติกับกล้วยไข่ในแปลงทดลอง จะมีผลต่างขาดเกินกันนิดหน่อยด้านน้ำหนักต่อเครือ อาทิ กล้วยไข่ปกติ น้ำหนัก 12-13 กิโลกรัม ในขณะที่กล้วยไข่เตี้ยจากแปลงทดลอง จะได้น้ำหนัก 11 กิโลกรัมกว่าๆ แต่ข้อดีของกล้วยไข่ต้นเตี้ยไม่ต้องไปแข่งความสูง เสี่ยงกับลมพายุ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

หวังว่านวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ กับงานวิจัย ในการปรับปรุงต้นกล้วยไข่ให้เตี้ยลง เพื่อป้องกันภัยจากลมพายุครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเพิ่มจำนวนพื้นที่การปลูกกล้วยไข่มากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ โดยการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร คุณเทวัญ หุตุเสวี ได้รับรายงานความก้าวหน้าผลทดลองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการประชุมร่วม เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

เกษตรกรท่านใดต้องการเข้าเยี่ยมชมแปลงกล้วยไข่ทดลอง “กล้วยไข่ต้นเตี้ย” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ คุณแสน ภาคภูมิ เลขที่ 126 หมู่ที่ 7 บ้านคลองสมุย ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โทร. 083-411-6916

คณะทีมงานวิจัย นำโดย ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ (กลางขวา) ตรวจดูแปลงทดลองกล้วยไข่ต้นเตี้ย
แปลงทดลองกล้วยไข่ที่ราดสาร หลังปลูกในเดือนที่ 4 เพื่อหยุดการเจริญเติบโตด้านความสูง
ผลผลิตเครือกล้วยไข่ต้นเตี้ย ทั้งขนาดหวีและขนาดลูก แตกต่างกันไม่มากจากกล้วยไข่ที่ปลูกตามปกติ
ผลผลิตเครือกล้วยไข่ต้นเตี้ย ทั้งขนาดหวีและขนาดลูก แตกต่างกันไม่มากจากกล้วยไข่ที่ปลูกตามปกติ
ตัวอย่างความเสียหายจากลมพายุกล้วยไข่ที่กำลังให้ผลผลิต หักล้มในแปลงของ คุณบรรจง อ่ำโพธิ์ศรี