ผักกวางตุ้งอินทรีย์ ปลูกง่าย 45 วัน ตัดเก็บขายรายได้ดี วิถีเกษตรพอเพียง

ผักกวางตุ้ง…หรือผักกาดเขียวกวางตุ้ง เมื่อนำมานึ่งหรือลวกกินกับน้ำพริก ผัดกับหมู ผัดใส่ปลากระป๋อง หรือแกงส้มผักกวางตุ้งกับเนื้อปลานิล จะได้รสแซบอร่อยและให้คุณค่าทางโภชนาการสูง การปลูกผักกวางตุ้งหมุนเวียนกับผักชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกแห้ง หรือสารสมุนไพร มีน้ำสะอาดใช้พอเพียง ควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี หรือแหล่งปลูกผักใกล้เคียงไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากปลูก 45 วัน ก็มีผักกวางตุ้งอินทรีย์คุณภาพให้เกษตรกรได้ตัดเก็บไปขาย ทำให้มีรายได้และมีความมั่นคงในการยังชีพ

ผักกวางตุ้งอินทรีย์ต้นงาม ผักเพื่อสุขภาพ

คุณกวิลยุทธ รากทอง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน เล่าให้ฟังว่า ผักกวางตุ้ง หรือผักกาดเขียวกวางตุ้ง และผักอื่นๆ เป็นผักอินทรีย์ที่ตลาดมีความต้องการปริมาณมาก จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ที่ทำให้ทั้งผู้ปลูก ผู้บริโภค หรือสภาพแวดล้อมปลอดภัย และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพื่อก้าวสู่วิถีที่มั่นคง

การเกษตรอินทรีย์เป็นกระบวนการปลูกพืชผักที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ทั้งปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่ได้ทดแทนด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกแห้ง ปุ๋ยอินทรีย์ หรือใช้สารสมุนไพร พื้นที่ปลูกไม่ใกล้กับแปลงปลูกพืชผักที่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น หรือต้องไม่ใกล้แหล่งมลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรม หรือน้ำใช้ต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี ก็จะทำให้ได้ผักอินทรีย์ปลอดภัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม หรือหัวใจของเกษตรอินทรีย์คือ ยึดหลักความสมดุลตามธรรมชาติ

คุณกวิลยุทธ รากทอง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ส่งเสริมปลูกผักอินทรีย์

คุณป้าจตุพร วงเวียน เกษตรกรปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนจะปลูกผักตามหัวไร่ปลายนาเพื่อเก็บมาทำเป็นอาหารกินในครัวเรือน เมื่อปี 2553 ได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล ให้ปลูกพืชผักอินทรีย์ด้วยการงดใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิต ตัดเก็บมากินเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ และตัดเก็บไปขายเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนมีความมั่นคงในการยังชีพ

เมื่อคิดพิจารณาร่วมกับสามีแล้ว จึงตัดสินใจปลูกพืชผักอินทรีย์ พื้นที่กว่า 2 งาน ปลูกเป็นพืชหมุนเวียน ด้วยการปลูกผักกวางตุ้งสลับกับการปลูกผักบุ้งจีน ผักชีลาว มะเขือเปราะ แมงลัก ชะอม หรือคะน้า การปลูกจะไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่ทดแทนด้วยการใช้สารสมุนไพร ใช้ปุ๋ยคอกแห้ง หรือปุ๋ยชีวภาพ และเพื่อนเกษตรกรรอบๆ บริเวณพื้นที่แปลงปลูกก็ร่วมมือกันไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด จึงมั่นใจว่าพื้นที่แห่งนี้จะมีผักอินทรีย์คุณภาพแน่นอน

ยกแปลงปลูกให้สูง กว้าง 1-1.5 เมตร ส่วนความยาวแปลงเป็นไปตามแนวพื้นที่

การเตรียมดิน… ผักกวางตุ้งอินทรีย์ปลูกได้ตลอดปี เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด หรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี การเตรียมดินได้ไถดะพลิกดินบนลงล่าง แล้วตากแดด 7-10 วัน จะช่วยกำจัดศัตรูพืชที่ฝังตัวอยู่ในดินออกไป แล้วไถแปรทำให้ดินร่วนซุยพร้อมกับกำจัดวัชพืช จากนั้นหว่านปุ๋ยคอกแห้งหรือปุ๋ยหมักให้กระจายทั่วแปลงสม่ำเสมอกัน แล้วไถคราดคลุกเคล้ากัน ยกแปลงปลูกให้สูง กว้าง 1-1.5 เมตร ส่วนความยาวแปลงเป็นไปตามแนวพื้นที่ ระหว่างแปลงปลูกได้เว้นระยะห่าง 60 เซนติเมตร เพื่อจัดให้เป็นทางเดินหรือทางระบายน้ำ

การปลูก… ทำได้ด้วยการหว่านและการหยอดเมล็ดพันธุ์ผักปลูก การหว่านเมล็ดพันธุ์ผักปลูก เมื่อเตรียมดินแปลงปลูกเสร็จได้หว่านเมล็ดพันธุ์ผักกวางตุ้งให้กระจายทั่วแปลงสม่ำเสมอกัน คลุมด้วยฟางข้าวแห้งบางๆ เพื่อช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นในดิน แล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม จากนั้น 15-20 วัน ต้นกล้าจะมี 4-5 ใบ ได้ถอนแยกออกเพื่อให้ต้นผักมีระยะห่างกันเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การหยอดเมล็ดพันธุ์ผักปลูก เมื่อเตรียมดินแปลงปลูกเสร็จแล้ว

คุณป้าจตุพร วงเวียน เกษตรกรปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์

บนแปลงปลูกได้ทำเป็นร่องลึก 1.5-2 เซนติเมตร ยาวตามแนวพื้นที่ จัดให้แต่ละร่องห่างกัน 20-25 เซนติเมตร จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์กวางตุ้งหยอดหรือโรยลงไปในร่อง ให้ระยะห่างกันสม่ำเสมอ คลุมด้วยฟางข้าวแห้งบางๆ ให้น้ำแต่พอชุ่ม จากนั้น 15-20 วัน ต้นกล้าจะมี 4-5 ใบ ได้ถอนแยกไปปลูกในแปลงพร้อมกับจัดให้ต้นผักแต่ละต้นห่างกัน 20-25 เซนติเมตร แล้วคอยปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาให้เจริญเติบโตไปกระทั่งถึงวันตัดเก็บ

การใส่ปุ๋ย… ตลอดฤดูปลูกผักกวางตุ้งได้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกแห้ง 2 ครั้ง ในอัตรา 1.5-2 ตัน ครั้งแรก ได้ใส่ปุ๋ยในช่วงการเตรียมดินแปลงปลูกไปแล้ว ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากปลูกหรือเมื่อต้นผักกวางตุ้งอายุ 15-20 วัน ด้วยการโรยปุ๋ยใส่ระหว่างแถวต้นผัก พร้อมกับพรวนดินและถอนแยกกำจัดวัชพืชออกไปด้วย จากนั้นให้น้ำแต่พอชุ่ม ก็จะช่วยทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดี

ล้างผักกวางตุ้งด้วยน้ำให้สะอาด

การให้น้ำ… ผักกวางตุ้งต้องการน้ำค่อนข้างมาก หรือได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ พื้นที่แปลงปลูกต้องระบายน้ำได้ดี ที่นี่ให้น้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อวัน ด้วยการฉีดพ่นน้ำให้เป็นฝอยกระจายทั่วแปลงผัก การให้น้ำได้สังเกตดูความชื้นในดินก่อน จึงตัดสินใจเพิ่มหรือลดการให้น้ำ วันที่มีฝนตกก็งดการให้น้ำ และต้องระวังอย่าให้น้ำท่วมขังแปลงผัก หรืออย่าให้ผักกวางตุ้งขาดน้ำ เพราะจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช…ในช่วงการเตรียมดินแปลงปลูกได้ปล่อยดินตากแดดไว้หลายวัน การพรวนดินหรือถอนแยกวัชพืชออกจากแปลงเป็นการกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชผักหรือโรคแมลงศัตรูพืชให้ลดน้อยลงหรือหมดไป หรือการใช้สารสมุนไพรก็เป็นหนึ่งกระบวนการที่ทำให้ได้ผักกวางตุ้งอินทรีย์ปลอดภัยได้คุณภาพ

จัดผักกวางตุ้งอินทรีย์ใส่ถุงเตรียมส่งขาย

คุณป้าจตุพร เกษตรกรปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า หลังจากปลูกได้ 45 วัน ต้นผักกวางตุ้งจะเจริญเติบโตสมบูรณ์พร้อมเก็บเกี่ยว การตัดเก็บได้ใช้มีดคมๆ ตัดที่โคนต้น เลือกตัดต้นที่มีขนาดใหญ่แล้วนำขึ้นมาตัดแต่งใบแก่ที่อยู่รอบนอก หรือพบว่าใบมีร่องรอยการทำลายของโรคหรือแมลงทำลายออก จากนั้นนำไปล้างน้ำให้สะอาด จัดใส่ในถุงพลาสติก จัดวางในภาชนะและเก็บรักษาไว้ในร่มเพื่อเตรียมขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า

ปลูกผักบุ้งจีนอินทรีย์หมุนเวียน

รายได้และความมั่นคง… ทุกครั้งได้ตัดเก็บผักกวางตุ้งอินทรีย์ตามจำนวนที่ตลาดหรือพ่อค้าสั่งซื้อ ตั้งแต่ 15-20 กิโลกรัมหรือมากกว่า ขายราคา 20 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้แต่ละครั้งจะมีรายได้มากกว่า 300 บาท นอกจากนี้ ก็จะมีรายได้จากการรับจ้างทำงานทั่วไปมากกว่า 300 บาท ต่อวัน การตัดสินใจปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์หมุนเวียนกับพืชผักชนิดอื่นเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม หรือการเกษตรอินทรีย์ที่ยึดหลักความสมดุลในธรรมชาติ ที่ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงและยังชีพได้อย่างมั่นคง

ปลูกผักอินทรีย์อื่นๆ เพื่อช่วยให้ดินมีคุณภาพ

จากเรื่อง ผักกวางตุ้งอินทรีย์…ปลูกง่าย 45 วัน ตัดเก็บขายรายได้ดี วิถีเกษตรพอเพียง เป็นหนึ่งอาชีพทางเลือกที่น่าสนใจเมื่อต้องสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณป้าจตุพร วงเวียน 78/2 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โทร. 061-379-9870 หรือ โทร. 086-127-0762 หรือ คุณกวิลยุทธ รากทอง สำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล โทร. 087-239-1780 หรือที่ คุณภูวิชญ์ ยิ่งเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี โทร. 087-959-5433 ก็ได้ครับ

………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2563