ประเทศไทยขาดแคลนมะพร้าว ต้องแก้ด้วยเทคโนโลยีการจัดการสวนมะพร้าว

ได้กล่าวไว้แล้วว่า น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสวนมะพร้าว มะพร้าวควรจะได้น้ำ 600 ลิตร/สัปดาห์ หรือ 90 ลิตร/วัน มะพร้าวไม่ควรรอน้ำจากฝนอย่างเดียว ควรมีการให้น้ำบ้าง เมื่อให้น้ำแล้วควรหาวัสดุ เช่น เปลือกมะพร้าว กะลามะพร้าว หรือใบมะพร้าว ที่อยู่ในสวนมาคลุมโคนต้น เพื่อป้องกันความชื้นในดินไม่ให้ระเหยออกมา

การคลุมโคนต้น ควรจะคลุมเพียงชั้นเดียว ไม่ควรวางซ้อนกันหลายชั้น อาจเสี่ยงกับการที่ด้วงแรดมะพร้าวและด้วงงวงมะพร้าวจะมาวางไข่บนกองทางใบ และเป็นสาเหตุให้เข้าทำลายต้นมะพร้าวที่ปลูกได้

ปลูกพืชร่วมเพื่อเป็นรายได้เสริม ต้นเหลียง

เมื่อถึงฤดูฝน ถึงแม้จะมีฝนตกลงมา วัสดุที่คลุมโคนต้นมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นเปลือกมะพร้าว กาบมะพร้าว กะลามะพร้าว หรือใบมะพร้าว ที่คลุมโคนต้นไม่จำเป็นต้องรื้อออกมา ความชื้นที่อยู่ในดินจะช่วยย่อยสลายวัสดุดังกล่าวให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับต้นมะพร้าวอีกด้วย

ใบมะพร้าวที่เหลืองแห้งติดอยู่บนต้นมะพร้าว จะไม่สร้างอาหาร คือไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ เกษตรกรควรดึงออกจากต้น เพื่อเป็นการสงวนน้ำในลำต้นมะพร้าว จากการศึกษาวิจัย พบว่า มะพร้าวต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 40 กว่าใบ เมื่อเก็บเกี่ยวทะลายลงมาแล้ว ควรเกี่ยวหรือตัดเอาใบเหลืองใบที่เกือบแห้งที่ใช้ไม่ได้ลงมาด้วย เป็นการช่วยสงวนน้ำไว้ให้พอเพียงกับใบที่ยังเหลืออยู่ เนื่องจากจำนวนใบมาก มีปากใบมาก ก็มีการคายน้ำมาก โดยเฉพาะช่วงแล้ง ต้นที่มีใบมะพร้าวน้อยที่สุดยังอยู่บนต้นได้ถึง 23 ใบ

ปลูกพืชร่วมเพื่อเป็นรายได้เสริม มันเทศ

เปลือกมะพร้าว มีปุ๋ยหลงเหลืออยู่ประมาณ 60%

ผลมะพร้าว ประกอบไปด้วยแร่ธาตุ โดยเฉพาะส่วนเปลือก ซึ่งพ่อค้าคนกลางจะปอกออกส่วนหนึ่ง (หรือเรียกว่า ปอกหยอย) ก่อนส่งจำหน่ายให้โรงงาน หรือตลาดในประเทศ ในเปลือกนี้ยังคงเหลือแร่ธาตุประมาณ 60% ของทั้งผล ซึ่งผลวิเคราะห์พบว่า มีธาตุโพแทสเซียม เหลืออยู่ในเปลือกมะพร้าวกับกะลา ดังนั้น การที่เราเก็บผลผลิตมะพร้าวออกไปจากต้น จากสวน ก็เท่ากับเราเอาปุ๋ยออกไปด้วย ถ้าเราเก็บเอาเปลือกมะพร้าวมาคลุมโคนต้นมะพร้าว ก็เท่ากับเอาปุ๋ยโพแทสเซียมกลับคืนมาในสวนมะพร้าวของเรานั่นเอง

วัสดุที่นำมาคลุมโคนต้นจะช่วยป้องกันแสงแดดที่ส่องลงมาที่พื้นดินหรือโคนต้นมะพร้าว จะเป็นการป้องกันแสงแดดที่ส่องลงมาจากพื้นดินหรือโคนมะพร้าวไม่ให้น้ำระเหยออกจากดินมากเกินไป เป็นการชะลอการสูญเสียน้ำและการคายน้ำยังเป็นไปตามปกติ ทั้งนี้ การคายน้ำ เป็นการแพร่ของน้ำออกจากใบของพืชโดยผ่านทางปากใบ หากมีน้ำในดินน้อย การคายน้ำจะลดลง โดยทั่วไป ปากใบปิดเวลากลางคืน และเปิดในเวลากลางวัน การคายน้ำนี้สัมพันธ์ต่อพืช ในด้านการควบคุมการเคลื่อนที่ของน้ำในพืช ทำให้น้ำเคลื่อนที่จากรากขึ้นไปด้านบนมากขึ้น ควบคุมการดูดซึมธาตุอาหารของพืช เพราะธาตุอาหารที่พืชนำไปใช้ได้ต้องอยู่ในรูปสารละลาย การคายน้ำยังทำให้อุณหภูมิของใบลดลง โดยลดความร้อนที่เกิดจากแสงแดดที่ใบ แต่พืชจะไม่สามารถคายน้ำในสภาพที่แดดจัด เพราะอาจเสียน้ำมากเกินไปและเหี่ยว ก่อนที่จะลำเลียงน้ำได้ทันส่งผลให้พืชขาดแร่ธาตุไปบำรุงต้น

ปลูกพืชร่วมเพื่อเป็นรายได้เสริม อัญชัน

ทำสวนมะพร้าวผสมผสานร่วมกับไม้อื่น

ในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร การทำสวนมะพร้าวแบบผสมผสานร่วมกับไม้ผล ไม้พุ่ม สวนมะพร้าวมีแต่ความร่มรื่น เป็นการสร้างความชื้นให้สวนมะพร้าว สวนมะพร้าวในจังหวัดชุมพรจะมีทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น และไม้พุ่มผสมผสานกัน สร้างระบบนิเวศในสวนมะพร้าว ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้น ด้วยสภาพภูมิอากาศที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้การระบาดของแมลงศัตรูพืชน้อยและผลผลิตมะพร้าวต่อไร่ของจังหวัดชุมพรมีมากกว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ขนาดของผลมะพร้าวของทับสะแกผลจะใหญ่กว่ามะพร้าวของจังหวัดชุมพร แต่จำนวนผลจะน้อยกว่าจังหวัดชุมพร

คุณวิไลวรรณ ทวิชศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าชุดโครงการวิจัยพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อธิบายข้อดีของการปลูกมะพร้าวแบบผสมผสานนอกจากจะให้ความร่มรื่นและให้ความชื้นในสวนมะพร้าวแล้ว จะสังเกตว่าศัตรูมะพร้าวจะน้อยลง เนื่องจากเวลาที่เราปล่อยแตนเบียนไปกำจัดหนอนหัวดำหรือแมลงดำหนาม แตนเบียนสามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะมีความชื้นจะช่วยกำจัดศัตรูมะพร้าวได้ดี แต่ถ้าเป็นสวนมะพร้าวที่ปลูกเชิงเดี่ยว เช่นสวนมะพร้าวแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การปล่อยแตนเบียนในสภาวะร้อนจัด แตนเบียนจะไม่สามารถมีชีวิตในธรรมชาติได้ ทำให้ศัตรูมะพร้าวไม่ถูกเบียนกำจัดให้ตาย ยังมีชีวิตอยู่สร้างความเสียหาย ทำลายมะพร้าวของเกษตรกรต่อไป

ปลูกมะพร้าวทดแทนในพื้นที่ว่างหรือปลูกแซมระหว่างแถว

ดังนั้น จึงอยากให้เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวลักษณะพืชเชิงเดี่ยวหันมาทำสวนมะพร้าวแบบผสมผสาน ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผลและไม้พุ่มไว้ในสวนมะพร้าวบ้าง เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับสวนมะพร้าวของเกษตรกรเอง ในกรณีนี้อดีตกำนันตำบลแสงอรุณ (คุณประเวศน์ รุ่งรัศมี) ผู้ที่ผลิตและปล่อยแตนเบียนในสวนมะพร้าวของตนเอง ได้แบ่งปันประสบการณ์ให้นักวิชาการฟังว่า เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาในการกำจัดแมลงดำหนาม ด้วยการปล่อยแตนเบียนในสวนของตน ซึ่งมีการปลูกไม้ร่มเงา กับสวนของเพื่อนบ้านที่ปลูกมะพร้าวเพียงอย่างเดียว พบว่า สวนของเพื่อนบ้านต้องปล่อยแตนเบียนอย่างต่อเนื่องนานกว่าสวนของตน กว่าจะกำจัดแมลงดำหนามให้ลดลงได้

ปลูกหญ้าให้วัวกินในสวนมะพร้าว

ไม้พุ่มในสวนมะพร้าวที่เกษตรกรสามารถปลูกได้และสามารถเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร ได้แก่ ขมิ้นชัน มันเทศ ชะอม ผักเหลียง ข่าเหลือง เมื่อมีการรดน้ำให้ปุ๋ยแก่พืชเหล่านี้ ต้นมะพร้าวก็ได้รับปุ๋ยและน้ำไปด้วย

คุณวิไลวรรณ แนะนำว่า ถ้าเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่ทับสะแกหรือที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่เลี้ยงวัวในสวนมะพร้าวก็ควรจะปลูกหญ้าอาหารสัตว์ เช่น หญ้าเนเปียร์ หรือหญ้ากินนี ไว้ในสวนมะพร้าว นอกจากจะเป็นพืชคลุมดินแล้วยังเป็นอาหารของวัว เมื่อรดน้ำในแปลงหญ้าก็จะให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน เป็นการเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในสวน และมะพร้าวก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะหากความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ (อากาศแห้ง) จะเพิ่มการคายน้ำ แต่ในทางตรงข้าม จะช่วยให้การคายน้ำเป็นไปตามปกติ ต้นมะพร้าวยังได้รับแร่ธาตุ ถ้าต้องการให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่อาศัยน้ำฝน ลองหันมาทำสวนมะพร้าวแบบผสมผสานกับพืชอื่นดังกล่าวข้างต้นดูบ้าง

มะพร้าวลูกผสมสามทาง พันธุ์ชุมพร 1

การปลูกพืชผสมผสานนี้ เป็นการปรับสภาพอากาศในสวนมะพร้าว หรือที่เรียกกันว่า micro-climate  เนื่องจากอากาศและอุณหภูมิ เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตและการออกดอกออกผล ในประเทศศรีลังกามีการรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชเสริมในสวนมะพร้าว เพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด และปรับสภาพอากาศในสวนให้เอื้อต่อการติดผลมะพร้าวและเอื้อต่อการเกิดชีววิถี แมลงศัตรูมะพร้าวจะถูกเชื้อปฏิปักษ์ทำลาย ช่วยลดการทำลายของแมลงศัตรู ต้นมะพร้าวมีความสมบูรณ์และติดผลผลิตดี

ทำไม ปลูกมะพร้าว จึงต้องใส่เกลือ

คำถามนี้ เกษตรกรมักไม่มีคำตอบ เพราะเป็นการใส่เกลือ ทำตามต่อๆ กันมา ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรมักนำกากน้ำปลาที่มีความเค็มอยู่แล้วไปใส่ในสวนมะพร้าว ปีละครั้ง โดยตักหว่านไปพร้อมกับการไถกลบ การทำเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่เกลือ

คุณวิไลวรรณ อธิบายว่า ตามคำแนะนำ การปลูกมะพร้าว ได้แนะนำให้ใส่เกลือ 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี เฉพาะในพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ห่างไกลทะเลมากกว่า 50 กิโลเมตร และไม่แนะนำให้ใส่ หากเป็นดินเหนียว เพราะจะทำให้เกลือละลายช้า อาจมีผลตกค้าง เมื่อดินมีความเค็มจะแก้ไขยาก ปัจจุบัน เกษตรกรเริ่มทำตามบ้างแล้ว แต่บางรายยังไม่เข้าใจ ใส่มากกว่าคำแนะนำ การใส่ในปริมาณ 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี นี้ เมื่อฝนตก เกลือจะถูกชะล้างและต้นมะพร้าวได้แร่ธาตุไปใช้ แต่หากใส่มากเกินไป อาจมีผลตกค้างได้ ทั้งนี้เกษตรกรควรมีการสุ่มเก็บตัวอย่างดินสวนของตนเอง อย่างน้อย 1 ครั้งต่อ 5 ปี ซึ่งผลการวิเคราะห์ดินนี้ จะเป็นแนวทางในการใส่ปุ๋ยว่า จะเพิ่ม หรือลด ปุ๋ยตัวใด ส่งผลต่อการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตอีกด้วย

มะพร้าวลูกผสมสามทาง พันธุ์ชุมพร 2

เกลือแกง หรือโซเดียมคลอไรด์ ประกอบด้วยธาตุโซเดียมและธาตุคลอไรด์ หากใส่เกลือหรือขี้แดดนาเกลือ หรือกากน้ำปลา เมื่อฝนตกลงมา โซเดียมซึ่งมีอนุภาคเท่าๆ กับโพแทสเซียม จะส่งผลให้ต้นมะพร้าวดูดโพแทสเซียมในดินขึ้นมาเพิ่มขึ้น ส่วนคลอไรด์มีผลทำให้เนื้อมะพร้าวหนาขึ้น ผลิตเป็นมะพร้าวย่างได้น้ำหนักมากขึ้น จากผลการวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์พบว่า การใส่เกลือ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่ราคาถูกมาก ช่วยให้ผลผลิตมะพร้าวย่าง (copra) ต่อต้น และ น้ำหนักผลมะพร้าวต่อลูกเพิ่มขึ้น มีการใส่เกลือให้มะพร้าวในพื้นที่ 170,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 8 ล้านต้นมะพร้าว ผลผลิตมะพร้าวเพิ่มขึ้น 125% เปรียบเทียบกับสวนที่ไม่ได้ใส่ ปัจจุบัน รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่เข้าร่วมโครงการปลูกมะพร้าวทดแทน (replanting program) โดยรัฐบาลแจกเกลือให้ไปใส่ต้นมะพร้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต

คลอไรด์ ช่วยในการสังเคราะห์แสง และโพแทสเซียม เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในเรื่องการเพิ่มความหวานของน้ำมะพร้าว

แร่ธาตุที่สำคัญต่อมะพร้าว อีก 2 ตัว ได้แก่ แมกนีเซียม และโบรอน หากขาดโบรอนใบมะพร้าวจะมีอาการใบย่น ควรใส่ธาตุโบรอนเพื่อช่วยในการติดผลผลิต ส่วนแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ มีบทบาทในการสร้างอาหารและโปรตีน เราแนะนำให้ใส่กลีเซอไรด์ให้มะพร้าวที่ให้ผลผลิตแล้ว ปีละ 1.5 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ต้นฝนเพื่อให้มีการนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างดิน เพื่อให้ต้นมะพร้าวนำปุ๋ยไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรใส่ปุ๋ยควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก ถ้าเกษตรกรต้องการจะเสริมธาตุอาหารบางตัว ก็จะขอแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวใช้ปุ๋ยเชิงเดี่ยว  ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้ปุ๋ย เกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ เพื่อจะได้รู้ว่าดินในสวนมะพร้าวของเราขาดธาตุอะไร และมีธาตุอะไรอยู่ในดิน เราก็จะใส่ปุ๋ยที่ขาดเท่านั้น ดังนั้น การวิเคราะห์ดินจะทำให้เราประหยัดงบประมาณในการซื้อปุ๋ยได้อีก คุณวิไลวรรณ กล่าว

สนใจ ปรึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. 02-579-0583 และศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เลขที่ 70 หมู่ที่ 2 ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130 โทร. 077-556-073 โทรสาร 077-556-026

____________________________________________________________

งาน Healthcare 2020 จัดระหว่าง วันที่ 3-6 กันยายน 63 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 10.00 – 20.00 น. นอกจากมี ตรวจสุขภาพฟรี จากกว่า 10 โรงพยาบาลชั้นนำแล้ว ยังมีเวิร์กช็อปชุบชูสุขภาพใจฟรี ถึง 7 คอร์ส  โดย 7 วิทยากร ผู้อยู่ในแวดวงงานศิลปะ คราฟท์ และจิตวิญญาณ ช่วยเยียวยาจิตใจ ผ่อนคลาย และสร้างแรงบันดาลใจ เดินทางสะดวก โดยทางด่วน และ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 Workshop ดี มีให้เรียนฟรีทุกวัน

พิเศษ! Workshop ดี ร่วมเรียนฟรีทุกวัน คลิกลงทะเบียนเรียนที่นี่ (รับจำนวนจำกัด)

รับต้นไม้ฟรี! (ของมีจำนวนจำกัด) เมื่อลงทะเบียนเข้างาน คลิกลงทะเบียนเข้างานที่นี่