แนะเกษตรกร “สวนส้มเปลือกล่อน ให้ระวังแมลงศัตรูพืชระบาด”

ในตอนเช้ามีหมอกลง กลางวันอากาศร้อน และมีฝนตกเล็กน้อยเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรสวนส้มเปลือกล่อนเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืช 3 ชนิด คือเพลี้ยไก่แจ้ส้ม เพลี้ยไฟ และหนอนชอนใบส้ม จะพบในระยะที่ส้มแตกยอดอ่อนและติดผล สำหรับเพลี้ยไก่แจ้ส้ม เกษตรกรควรสังเกตตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากตาและยอดอ่อน โดยตัวอ่อนจะกลั่นสารสีขาวเป็นเส้นด้ายทำให้เกิดราดำ ใบถูกทำลายจะหงิกงอและแห้งเหี่ยว อีกทั้งเพลี้ยยังเป็นพาหะของโรคกรีนนิ่งที่สามารถแพร่กระจายไปเกือบทุกแหล่งที่ปลูกส้ม ทำให้ต้นส้มทรุดโทรมและตายในที่สุด ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจต้นส้มในระยะแตกตาและยอดอ่อน หากสุ่มพบเพลี้ยไก่แจ้ส้ม 5 ยอด ต่อต้น จำนวน 10-20 ต้น ต่อสวน ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 1 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ล ยูพี อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

ส่วนเพลี้ยไฟ จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและผลอ่อน ส่งผลให้ใบผิดปกติ แคบเรียว กร้าน มักพบเพลี้ยไฟทำลายรุนแรงในระยะผลอ่อน ตั้งแต่กลีบดอกร่วงจนถึงผลส้ม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร ผลที่ถูกทำลายจะเกิดวงสีเทาเงินบริเวณขั้วและก้นผล ผลแคระแกร็น หากพบเข้าทำลายผลมากกว่า 10% หรือพบเข้าทำลายยอดมากกว่า 50% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบฟูแรน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังหนอนชอนใบส้ม มักพบผีเสื้อหนอนวางไข่ใต้เนื้อเยื่อใกล้เส้นกลางใบส้ม เมื่อไข่ฟักเป็นหนอนจะชอนเข้าไปกัดกินระหว่างผิวใต้ใบ แรกเริ่มแผลเป็นทางสีขาวเรียวยาวสังเกตได้ง่าย ต่อมาขยายใหญ่เป็นทางคดเคี้ยวไปมาคล้ายงูเลื้อย ใบบิดงอลงด้านที่หนอนทำลาย หากระบาดมาก กิ่งอ่อนและผลอ่อนถูกทำลาย ส่งผลให้ส้มต้นเล็กชะงักการเจริญเติบโตได้ และแผลเป็นช่องทางให้โรคแคงเกอร์รุนแรงขึ้น สามารถพบระบาดได้ทุกช่วงที่มีการแตกใบอ่อนตลอดทั้งปี หากสุ่มสำรวจหนอน 5 ยอด ต่อต้น จำนวน 10-20 ต้น ต่อสวน และยอดอ่อนถูกทำลายมากกว่า 50% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไท อะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งใบ หากยังระบาดอยู่ให้พ่นซ้ำอีก เกษตรกรควรใช้อัตราน้ำในการพ่นสารให้มากกว่าการพ่นสารฆ่าแมลงทั่วไป เพื่อให้สารน้ำมันเคลือบใบพืช และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ให้ดีขึ้น

การป้องกันแก้ไขสำหรับเพลี้ยไฟและหนอนชอนใบส้ม ควรควบคุมบังคับให้ต้นส้มแตกยอด ออกดอก และติดผลในระยะเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการป้องกันกำจัด ช่วยควบคุมประชากรหนอน สะดวกในการดูแลรักษา ช่วยลดจำนวนครั้งในการพ่นสารเคมี และช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่พบมากในสวนส้ม จากนั้นให้เกษตรกรเก็บยอด ใบ หรือเด็ดผลอ่อนที่ถูกทำลายไปเผาไฟทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณหนอน ช่วยให้ต้นส้มฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยการแตกยอดของส้มรุ่นต่อไปอีกด้วย

สำหรับผู้สนใจวิธีป้องกันกำจัดแมลงแบบผสมผสาน สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ (02) 579-1061 หรือที่เว็บไซต์ www.doa.go.th/plprotect/