ผู้เขียน | นิด ชากังราว |
---|---|
เผยแพร่ |
ไฟฟ้าชุมชน : หญ้าเนเปียร์ยักษ์ พืชพลังงาน
สร้างอนาคต รายได้ ต่อกลุ่มเกษตรกร อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ก่อนที่จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับไฟฟ้าชุมชน โครงการบริษัทในเครือบางจาก จับมือกับเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน ฐานราก พลังสีเขียว ของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อาสามาฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรไทยในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ของเกษตรกรหดหายไปเพราะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำมาหลายปี เรียกว่า “ยากจนกันถ้วนหน้า ยากแค้นทั่วทั้งพารา” ว่างั้นเถอะ
ผู้เขียนจะพาท่านไปรู้จักพืชพลังงานที่เคยได้ยินกันมานานว่า หญ้าเนเปียร์ ที่กรมปศุสัตว์แนะนำให้เกษตรกรมาปลูกเลี้ยงเป็นอาหารสัตว์ พวก โค กระบือ โคนม โคเนื้อ เป็นอาหารหยาบ
รู้จัก หญ้าเนเปียร์ยักษ์พอสังเขป ที่มาใช้กับไฟฟ้าชุมชน
ชื่อสามัญ : King grass
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pennisetum purpurreum
ต้นประเทศที่นำเข้า : ประเทศอินโดนีเซีย
ปีที่นำเข้า : มกราคม 2533
ผู้นำเข้า : คุณชาญชัย มณีดุล
ลักษณะเด่นชัด : ลำต้นสูง แตกกอง่าย ใบและลำต้นมีขน ให้ผลผลิตต่อไร่สูง 10-60 ตัน ต่อไร่ ต่อปี หรือมากกว่านั้น (ตัดหลายรุ่นต่อปี) ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ
คุณค่าพลังงาน : 175.40 แคลอรีของหญ้าเนเปียร์ (อายุ 45 วัน ต่อ 100 กรัม)
ปลูกหญ้าเนเปียร์ทำไม?
อาชีพคือวิถีชีวิต แต่ละคนแต่ละครอบครัวต่างมีอาชีพแตกต่างกัน หรืออยู่ที่ใจชอบ หรืออยู่ที่ชอบใจ ในอาชีพที่ทำในปัจจุบันก็ทำต่อไป หากแต่ใจถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนวิถีชีวิต การปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นอาชีพหนึ่ง เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ การปลูกหญ้าเนเปียร์ ปลูกครั้งเดียวสามารถตัดได้นาน 5-8 ปี โดยไม่ต้องลงทุนพันธุ์ใหม่
หญ้าเนเปียร์ตัดขายได้ปีหนึ่ง 4-6 ครั้ง โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่า คุมหญ้า ไม่ต้องใช้สารพิษเคมีกำจัดโรค แมลงแต่ประการใด
ในเรื่องรายได้ ต่อไร่ ต่อปี ถ้ามีความสามารถมีการจัดการที่ดี คัดเลือกพื้นที่ดี ได้พันธุ์ดี มีระบบการให้น้ำอย่างดี เกษตรกรจะมีรายได้ 20,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี หรืออย่างไม่ได้เลย หมื่นบาทเป็นอย่างน้อย
การปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนโรงงานไฟฟ้าชุมชน ร่วมกับเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนฐานรากพลังสีเขียว
เกษตรกรมีความมั่นคง หรือยั่งยืนหรือไม่ แล้วจะได้อะไรกับโครงการนี้ ต้องติดตามต่อไป
เพื่อความกระจ่างและเกษตรกรมองเห็นอนาคต เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างไรของการเข้าร่วมโครงการที่น่าสนใจยิ่ง
โครงการปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนเข้าโรงงานไฟฟ้าชุมชน เป็นโครงการของรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน มีเอกชนเข้าประมูลงาน เพื่อจุดประสงค์ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างจิตสำนึก รักษ์แผ่นดิน ปลดเปลื้องหนี้สินเกษตรกร
นับว่าโครงการนี้มีอะไรดีมากกว่าที่คิด
กล่าวคือ มีสัญญาทำไว้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยทำสัญญา 20 ปี รับซื้อแน่นอน ปรับราคารับซื้อทุกๆ 5 ปี
นอกจากปลูกหญ้าเนเปียร์แล้ว ยังมีอาชีพเสริม อาทิ ปลูกผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ด ส่งเสริมการปลูกถั่วหลังนา เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงปู เลี้ยงไก่ ฟาร์มเลี้ยงโคขุน หากตลาดมีความต้องการ ผู้จัดการโครงการเล่าความเป็นมา
ความต้องการหญ้าเนเปียร์ กับการสร้างโรงไฟฟ้า 1 โรง
หากโรงไฟฟ้าชุมชนเริ่มต้น 1 เมกะวัตต์ มูลค่า 100 ล้านบาท จะต้องใช้หญ้าวันละ 100 ตัน ใช้พื้นที่ 1,000 ไร่ การสร้างโรงไฟฟ้าบางจาก จะสร้าง 3 เมกะวัตต์ มูลค่า 300 ล้านบาท พื้นที่ปลูก 3,000 ไร่ คือ 1 พื้นที่ จนถึง 9 เมกะวัตต์ ขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนเกษตรกรอย่างน้อย 200 คน
ข้อตกลงในสัญญารับซื้อกับเกษตรกร
หญ้าเนเปียร์ อายุ 45-65 วัน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจผู้จัดการฝ่ายไร่ เกษตรกรมีหน้าที่ให้น้ำหญ้าและปุ๋ย หรือคำแนะนำจากนักวิชาการฝ่ายไร่
ผู้ซื้อมีหน้าที่ตัดหญ้าและให้คำแนะนำการเพิ่มผลผลิตหญ้าเนเปียร์ และส่งเสริมอาชีพอื่นๆ
เมื่อผู้อ่าน หรือเกษตรกร สมาชิกอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ว่าโครงการนี้ยังมีจุดประสงค์อะไรบ้าง เพื่อให้หายสงสัยในข้อมูลที่ผ่านสายตาผู้อ่านมาพักใหญ่แล้ว
เพื่อที่จะทบทวนให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า โครงการนี้มีจุดประสงค์อย่างไร ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เพื่อประกันความผิดหวังของโครงการ เพราะมีรัฐบาลและโรงไฟฟ้าชุมชนของบางจาก การันตี ตามที่อธิบายมาพอสังเขป
ดังนั้น จึงเพิ่มข้อมูลประกอบเพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังสีเขียวให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อปลดหนี้สินเกษตรกร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเข้าสู่ความยั่งยืนในเงื่อนไขของการดำเนินชีวิต ตามมาอ่านดูเรื่องของหลักการและเหตุผลของโครงการไฟฟ้าชุมชน บริษัทในเครือบางจาก ร่วมกับเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนฐานรากพลังสีเขียวเพื่อความเข้าใจ
ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยปกติจะมองการพัฒนาคุณภาพชีวิตเข้าสู่ความยั่งยืนในเงื่อนไขของมิติเศรษฐศาสตร์ แต่ในกรณีโรงไฟฟ้าชีวภาพนี้ดูเหมือนจะยั่งยืน เพราะรัฐซื้อไฟฟ้าในราคาที่แน่นอนตลอดอายุสัญญา นั่นก็คือ…ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้จากการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าที่แน่นอน ด้วยการขายไฟฟ้าต่อหน่วย รวมถึงการซื้อหญ้าเนเปียร์จากชาวบ้านในราคาที่แน่นอนตลอดอายุสัญญา โดยมีบริษัทบางจากจะปรับราคาหญ้าเนเปียร์ขึ้นให้ทุก 5 ปี ปีละ 10%
ฉะนั้น ถึงแม้หญ้าเนเปียร์จะเป็นพืชล้มลุก แต่ราคาจะไม่ขึ้นลงตามท้องตลาด ไม่เหมือนกับชาวบ้านที่ปลูกพืชล้มลุกอย่างอื่น เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง
แต่หญ้าเนเปียร์ในโครงการนี้ ถูกกำหนดราคาให้แน่นอน โดยอ้างอิงกับราคาไฟฟ้า
เพราะฉะนั้น ชีวิตชาวบ้านในเรื่องรายได้ก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะราคาของตลาด อันนี้ก็จะเป็นรายได้ส่วนตัวของผู้เข้าร่วมโครงการ
ส่วนผลประโยชน์ของกลุ่ม ในฐานะสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างน้อย 200 คน ก็แบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า เพราะได้หุ้นลม 10% ซึ่งกิจการโรงไฟฟ้าไม่น่าจะขาดทุน เพราะกำหนดรายได้อย่างแน่นอน และการซื้อผลผลิตก็มีกำหนดแน่นอนชัดเจน เรื่องขาดทุนคงไม่น่าจะเกิดขึ้น ยกเว้นการบริหารจัดการไม่เป็นไปตามที่วางไว้ หรือชาวบ้านส่งวัตถุดิบไม่ตรงกับที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ในส่วนของผลประโยชน์ที่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนจะได้รับส่วนแบ่ง กำไร ตามจำนวนหุ้น จำนวน 10% ต่อปี จะนำมาดำเนินการเพื่อการพัฒนาในลักษณะกองทุนเพื่อการพัฒนา…แบ่งเป็น 3 กองทุนหลัก และ 1 กองทุนพิเศษ ตามเงื่อนไขเครือข่ายเศรษฐกิจฐานราก คุณชวน ชูจันทร์ ได้วางไว้ ดังนี้
กองทุนที่ 1 กองทุนสำหรับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนที่มีสมาชิกจำนวนไม่ต่ำกว่า 200 คน
กองทุนที่ 2 กองทุนผู้สูงอายุในครอบครัวของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน
กองทุนที่ 3 กองทุนสำหรับเยาวชนในครอบครัวสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเพื่อการศึกษาเล่าเรียน และการกีฬา
กองทุนพิเศษ คือกองทุนหมู่บ้านเพื่อการจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน โดยโรงไฟฟ้าจัดสรรเงิน 25-50 สตางค์ ต่อหน่วย จากการขายไฟฟ้าให้กับทางการ ประกอบด้วย
- รายได้ส่วนตัวของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน
- รายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับวิสาหกิจชุมชน
- รายได้เพื่อพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน ส่วนแง่มุมการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สู่ความยั่งยืน ที่เน้นปรับพฤติกรรมชาวบ้านเข้าสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีเหตุ มีผล พึงพอใจ และการมีภูมิคุ้มกันนั้น โดยมีเหตุมีผลในการใช้ชีวิต ดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ การคิด การพูด การกระทำ โดยกำหนดระยะเวลาโครงการ คือ 20 ปี
บทสรุป
ผลการดำเนินงาน คาดว่าจะได้หญ้าเนเปียร์กับการผลิตไฟฟ้าของโครงการ
หญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ จะได้ผลผลิตประมาณ 40 ตัน ต่อปี ปีหนึ่งตัดได้ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 ตัน
โรงไฟฟ้าฯ รับซื้อหน้าโรงงาน ตันละ 500 บาท ปีหนึ่งจะมีรายได้ 20,000 บาท ต่อไร่
ในเงื่อนไข พันธุ์ดี น้ำดี ดินดี ปุ๋ยดี การจัดการดี ถ้าเกษตรกรปลูกคนละ 15 ไร่ จะมีรายได้ 300,000 บาท ต่อปี เฉลี่ยต่อเดือน 25,000 บาท
ในโลกยุคต่อไปพลังงานไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทแทนน้ำมัน โดยเฉพาะรถยนต์จะใช้ไฟฟ้ากันมาก เศรษฐกิจในชุมชนจะมีเงินสะพัดหมุนเวียนตลอด
ประเทศไทยจะมีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนราว 200 โรงทั่วประเทศ
ในส่วนของบริษัทในเครือบางจาก จะเข้าไปประมูลประมาณ 30 โรง เช่น จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคลองขลุง มีตำบลท่าพุทรา ตำบลวังแขม, จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอโกรกพระ อำเภอพยุหะคีรี, จังหวัดนครราชสีมา อำเภอปากช่อง ตำบลพญาเย็น ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพระทองคำ ตำบลทัพรั้ง, จังหวัดศรีสะเกษ อำเภออุทุมพรพิสัย, จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอพิบูลมังสาหาร, จังหวัดยโสธร อำเภอเลิงนกทา ตำบลกุดแห่ ตำบลสามแยก, จังหวัดนครพนม อำเภอนาแก ตำบลบ้านแก้ว, จังหวัดสกลนคร อำเภออากาศอำนวย ตำบลวาใหญ่, จังหวัดบึงกาฬ อำเภอเซกา ตำบลท่ากกแดง, จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่ามะกา ตำบลท่าไม้ เป็นต้น
บริษัทในเครือบางจาก จับมือกับเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนฐานรากพลังสีเขียว เครือข่ายนี้ประกอบไปด้วย คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ประธานที่ปรึกษาเครือข่าย คุณชวน ชูจันทร์ ประธาน คุณหนึ่งแก่น บุญรอด รองประธาน และผู้อำนวยการ โดยเครือข่ายนี้มีหน้าที่หาสมาชิก และพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ บางจากมีหน้าที่สร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ผู้สนใจติดต่อที่ โทร. (089) 449-4655