จากเคมีสู่อินทรีย์ “สมัย แก้วภูศรี” เกษตรกรต้นแบบ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สาขาเกษตรอินทรีย์ ที่ลำพูน

ผลจากสภาวะทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง สร้างปัญหาส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรรมในยุคก่อนที่ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันเป็นส่วนใหญ่ พอเกิดปัญหาความแปรปวนทางธรรมชาติจึงสร้างความเสียหายโดยตรงกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวทันที ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกับรายได้ในการทำมาหากิน

ปุ๋ยหมัก

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคง ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการเปลี่ยนจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นสวนผสมผสานบนเงื่อนไขของความพอเพียง พึ่งพาตนเอง และลดรายจ่าย เมื่อชาวบ้านได้น้อมนำไปปฏิบัติต่างประสบผลสำเร็จกันถ้วนหน้า อีกทั้งบางรายสามารถผลักดันไปสู่แนวทางเกษตรอินทรีย์แล้วจับมือกับกลุ่มธุรกิจเปิดตลาดเป็นสินค้าออร์แกนิก

สวนลำไย

นายสมัย แก้วภูศรี หรือ ลุงสมัย อายุ 64 ปี เจ้าของสวนสองพิมพ์ เลขที่ 45/1 หมู่ที่ 12 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อีกทั้งยังเป็นผู้นำกลุ่มเกษตรกรทำสวนผลไม้อินทรีย์ลุ่มน้ำลี้ และเกษตรกรผู้ปลูกเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานที่ได้มาตรฐาน จนได้รับการรับรองเป็นสินค้าออร์แกนิกป้อนเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

เจ้าของสวนสองพิมพ์ เผยถึงความสำเร็จเช่นนี้เพราะว่าได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการดำรงชีวิต โดยยึดหลักการพึ่งตนเอง ลดรายจ่ายในครัวเรือนที่ไม่จำเป็น และลดต้นทุนในการทำการเกษตร ด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

ผักสลัดคอส

ดังนั้น ในสวนลำไย พื้นที่ 40 ไร่ ได้มีการจัดวางแบบแผนการปลูกพืช ไม้ผล ไม้สวนครัว สมุนไพร และเลี้ยงสัตว์ไว้อย่างเป็นระเบียบ ทั้งนี้ ทุกอย่างในสวนแห่งนี้จะยึดหลักไม่มีการใช้สารเคมี สามารถนำผลผลิตจำหน่าย มีรายได้ทุกเดือน จนกระทั่งได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรต้นแบบ ประจำปี 2558 นับเป็นเกษตรกรดีเด่น เป็นแบบอย่างที่ดีอีกคนหนึ่งของจังหวัดลำพูน

คุณสมัย แก้วภูศรี

ลุงสมัย บอกถึงที่มาของแนวคิดทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานว่า เพราะราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาขายผลผลิตกลับลดลงหรือทรงตัวยาวนาน นอกจากนั้น ยังมองว่าการใช้สารเคมีกับดินในปริมาณมากเป็นเวลายาวนานส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพ จะเพาะปลูกพืชชนิดใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมดินในป่าจึงมีคุณภาพมากกว่าดินที่ทำนาหรือทำเกษตร ด้วยเหตุผลนี้จึงคิดว่าต้องการจะทำให้ดินกลับมาสู่สภาพเดิมให้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความเข้าใจในวงจรทางธรรมชาติด้วย เพื่อทำให้ดิน น้ำ ป่า มีความยั่งยืน

ในแปลงมีผักโขมแดง,ผักโขมเขียว และผั

แล้วยังแสดงความเป็นห่วงว่าหากปล่อยไปเช่นนี้พอ AEC เข้ามามีต้นทุนถูกกว่าไทย จึงต้องระวังว่าจะเป็นปัญหาต่อภาคเกษตรกรรมของไทย ดังนั้น แนวทางทำการเกษตรที่ถูกต้องจะต้องทำให้ต้นทุนต่ำเพื่อมีแรงขับเคลื่อนในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ต้องทำให้ผลผลิตมีคุณภาพด้วย

กว่าสิบปีที่ผ่านมา ลำไยซึ่งเป็นไม้ผลประจำถิ่นของภาคเหนือเกิดปัญหามากมาย มีความพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้คลี่คลาย ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจะต้องพึ่งพาตัวเองมากกว่าการขอความช่วยเหลือ ดังนั้น จึงมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในอำเภอลี้จังหวัดลำพูนมีการรวมตัวกัน หารือกันเพื่อหาทางออกปลดล็อกปัญหาที่เกิดขึ้น

ต้อนรับคณะเข้าเยี่ยมชม

ขณะเดียวกันช่วงนั้นเกิดกระแสเกษตรอินทรีย์ขึ้น แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้ยังขาดความรู้ จึงเดินทางไปหาความรู้ ข้อมูลที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) กระทั่งพบว่ามีงานวิจัยที่น่าสนใจ โดยตั้งเป็นโจทย์ไว้ว่าอาชีพเกษตรกรรมมีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง, ถ้าจะทำเกษตรอินทรีย์จะทำได้ไหม แล้วควรทำอย่างไร และตลาดเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ไหน

จากนั้นทางสมาชิกกลุ่มจึงลงมือทำตามแนวทางประเด็นที่ตั้งไว้ โดยมีกระบวนการจัดระบบบัญชี มีการนำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ ตลอดจนมีการเจาะเลือดกลุ่มที่ทำงานจำนวน 35 คน แล้วพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีสารเคมีตกค้างในเลือด นอกจากนั้น ยังพบว่ามีกลุ่มที่เสี่ยงเป็นโรคความดัน เบาหวาน จำนวนมาก และเหตุผลทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่แนวคิดที่จะต้องริเริ่มทำเกษตรอินทรีย์กันได้แล้ว

มะม่วงมหาชนกสุก

จึงเดินทางไปดูงานยังสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง พบว่าสินค้าออร์แกนิกที่ถูกผลิตขึ้นตามมาตรฐานแล้วได้รับการรับรองสามารถส่งขายตลาดต่างประเทศได้มีราคาสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ไม่มีการรับรอง ดังจะพบได้ว่าถ้าเป็นพืชผักทั่วไปวางขายกิโลกรัมละ 8 บาท แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีการรับรองมาตรฐานจะขายได้ถึงกิโลกรัมละกว่า 30 บาท อีกทั้งยังพบว่าชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์ล้วนมีสุขภาพแข็งแรงดีด้วย

เหตุผลทั้งหมดจึงนำมาสู่การสรุปว่าถ้าสวนของชาวบ้านในอำเภอลี้ นำแนวทางเกษตรอินทรีย์มาทำบ้างคงไม่ยาก เพราะในพื้นที่มีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อในการทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ขาดองค์ความรู้ กระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบเท่านั้นจากนั้นจึงลงมือปฏิบัติจริงด้วยการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมัก อีกทั้งยังทำสมุนไพรมาเพื่อเป็นสารไล่แมลง

มะม่วงมหาชนกดิบ

ลุงสมัย ชี้ว่าถ้าจะทำเกษตรอินทรีย์จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่ได้ เพราะจะพบปัญหาแมลงศัตรูพืช ดังนั้น จึงควรปลูกพืชให้มีความหลากหลายชนิด และปลูกตามฤดูกาล เป็นการจำลองปลูกพืชแบบธรรมชาติให้เกื้อกูลกัน โดยเฉพาะสวนคุณลุงปลูกพืช ผัก สมุนไพร รวมทั้งสิ้นร้อยกว่าชนิด จึงไม่เคยเจอโรคแมลงเลย ดังนั้นถ้าคิดทำเกษตรอินทรีย์ต้องปลูกพืชผสมผสาน

ภายในสวนเกษตรอินทรีย์ของลุงสมัย แบ่งการปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์ออกเป็นโซน อย่างกลุ่มไม้ผลได้แก่ลำไย, มะละกอ, ฝรั่ง, มะม่วง, น้อยหน่า, ส้มโอ, แก้วมังกร, เสาวรส, กล้ว , สับปะรด และมะเฟือง แปลงปลูกพืช ได้ปลูกผักกว่า 40 ชนิด ได้แก่ ผักโขม, คะน้า, กะหล่ำปลี, กวางตุ้ง, สลัด, ผักหวานบ้าน, ผักหวานป่า, ผักเชียงดา, มะเขือ, แตง, ชาโยเต้, ขึ้นฉ่าย, ผักบุ้ง, กุยช่าย,จิงจูฉ่าย, ถั่ว และผักปวยเล้ง ฯลฯ เป็นต้น

มะม่วงมันศรีวิชัย

แล้วยังปลูกสมุนไพรไว้อีกกว่า 10 ชนิด อาทิ ไพล, ขมิ้นชัน, ใบเตย, คาวตอง, ใบบัวบก, ขิง, ข่า, ตะไคร้, ว่านหางจระเข้, ฟ้าทะลายโจร และรางจืด เป็นต้น แล้วพื้นที่อีกส่วนได้เลี้ยงไก่อารมณ์ดีไว้จำนวน 80 ตัว เพื่อกินไข่ แล้วนำมูลมาใช้ทำปุ๋ย

“ปลูกลำไยไว้จำนวน 800 กว่าต้นให้ผลผลิตและมีรายได้ปีละครั้ง ขณะเดียวกันใต้ต้นลำไยปลูกผักโขมในระยะเวลา 3-4 อาทิตย์เก็บขายมีรายได้กิโลกรัมละ 40 บาท ชาโยเต้กิโลกรัมละ 70 บาท ดอกขจรกิโลกรัมละ 200 บาท แล้วยังมีพืช ผัก อีกหลายชนิดที่สามารถทยอยเก็บขายได้ตลอดเวลา จนทำให้มีรายได้ทุกวันอย่างต่อเนื่อง”

เลี้ยงไก่อารมณ์ดี

ในการเพาะปลูกพืชทุกชนิด รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ได้ยึดแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน จึงมุ่งทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดวัชพืช/แมลง และเชื้อรา โดยทำปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์และวัชพืชใช้เอง มีการหว่านปอเทือง ถั่ว แล้วไถกลบเพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสด ทั้งยังปลูกพืชโดยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ หรือสารเคมี ทั้งนี้ เพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิต และรักษาสภาพแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์

ปัจจุบัน สวนลุงสมัย สามารถผลิตสินค้าออร์แกนิกได้สำเร็จ และเป็นที่รับรองตามมาตรฐานด้วยกัน 2 อย่าง คือ ORGANIC THAILAND และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน. )ทั้งนี้ แต่ละมาตรฐานจะนำไปส่งขายยังสถานที่ต่างกัน เพราะมีกลุ่มลูกค้าต่างกัน

รางวัลเกษตรดีเด่นด้านปลูกพืชอินทรีย

อีกทั้งยังไปเชื่อมกับทางมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อพัฒนารูปแบบสินค้าที่มี QR CODE ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังแหล่งผลิตได้ พร้อมกับมีการออกแบบจัดทำหีบห่อที่สวยงาม ได้มาตรฐาน จึงทำให้มีหลายหน่วยงานสนใจติดต่อแล้วจัดหาตลาดรองรับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อคราวเกิดวิกฤติภัยแล้งที่ผ่านมา ลุงสมัย ยังแก้ไขปัญหาด้วยการใช้แนวทางความพยายามลดต้นทุนการผลิตทุกอย่างที่ปลูกที่เลี้ยงไว้ แก้ไขปัญหาการปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำน้อย จึงทำให้รายจ่ายลดลง ที่เหลือนำไปขายเป็นรายได้ สามารถรักษาระดับรายได้อย่างเพียงพอ ชีวิตมีความสุขแบบพอเพียง โดยเฉลี่ยมีรายได้จากการปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา

ทางด้านการตลาด ลุงสมัย บอกว่า ถ้าขายผู้ประกอบการสินค้าอินทรีย์ที่เป็นกลุ่มธุรกิจมีลักษณะขายส่งเป็นกิโลกรัม โดยกลุ่มนี้จะส่งขายต่อในตลาดmodern. Tradeในกรุงเทพฯ และบางส่วนส่งตลาดฮ่องกงเฉพาะช่วงผลผลิตออก เช่น มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ลำไย เป็นต้น แต่ถ้าขายผู้บริโภคโดยตรงขายแบบบรรจุภัณฑ์ นอกจากนั้น ยังขายทางออนไลน์ด้วย ส่วนตลาดประจำในท้องถิ่นสัปดาห์ละ 3 วัน

ลุงสมัย ไม่เพียงทำหน้าที่ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนผลไม้อินทรีย์ลุ่มน้ำลี้ จังหวัดลำพูนเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในฐานะผู้รับผิดชอบศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเกษตรอินทรีย์, เป็นประธานธนาคารปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพชุมชนในการผลิตเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์ กระทั่งได้รับการเสนอชื่อจากสภาเกษตรกรจังหวัดลำพูนเพื่อรับรางวัลเกษตรต้นแบบพระราชทาน สาขาเกษตรอินทรีย์ ประจำปี 2558

“1 ใน 4 ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตคืออาหาร ดังนั้นถ้าอาหารชนิดนั้นมีคุณภาพ ปราศจากสารพิษ ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยจากโรคร้ายต่างๆ ฉะนั้น ทางกลุ่มจึงให้ความสำคัญและมุ่งผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยเข้าสู่ตลาด จึงฝากผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าว่าควรจะสังเกตและเลือกซื้อเฉพาะอาหารที่มีเครื่องหมายรับรองออร์แกนิคจากหน่วยงานที่มีความเชื่อถือเท่านั้น” ลุงสมัย กล่าวฝาก

สอบถามรายละเอียด พืช ผัก อินทรีย์ที่ปลูกด้วยระบบอินทรีย์ตามมาตรฐาน ได้ที่ คุณสมัย แก้วภูศรี โทรศัพท์ (081) 034-6646

………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ.2563