สุทธิวัฒน์ วียะศรี ทำเกษตรอย่างสมาร์ท คิดได้ พัฒนาเป็น ปลูกอะไรก็รอด

ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าต้องปากกัดตีนถีบ ใครที่จะเริ่มต้นประกอบอาชีพหรือกิจการต่างๆ ก็ยิ่งยากขึ้น แม้แต่คนที่มีงานประจำอยู่แล้วก็ต้องเกาะไว้ให้แน่น ซึ่งในตอนนี้เกาะให้แน่นอย่างเดียวเห็นทีคงจะไม่พอ สำคัญอยู่ที่ต้องรู้จักการปรับตัวตามยุค ตามเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางรอด 1 คน ต่อ 1 อาชีพ คงไม่อาจอยู่ได้อย่างมั่นคงได้ในยุคนี้

คุณสุทธิวัฒน์ วียะศรี หรือ พี่เวส เจ้าของไร่วียะศรี พ่วงด้วยตำแหน่งประธานเครือข่ายยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เชียงใหม่ อยู่ที่ 287 หมู่ที่ 4 ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้ปรับตัวให้ทันยุคสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่จากเดิมเป็นเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดียว คือ การปลูกเมล่อนญี่ปุ่น มานานกว่า 8 ปี แต่ในตอนนี้ต้องเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนปลูกพืชผสมผสาน เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย และเป็นทางรอดให้กับครอบครัว

พี่เวส เล่าถึงที่มาของจุดเริ่มต้นการทำเกษตรและการเปลี่ยนภายในสวนว่า ตนเรียนจบปริญญาตรี คณะอุตสาหกรรมเกษตร และปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการจะทำเกษตรกรรมเกิดขึ้นในตอนสมัยกำลังเรียนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ไปสะดุดกับคำที่อาจารย์สอนเรื่องของ Opportunity cost คือค่าเสียโอกาส เพราะในทางเศรษฐศาสตร์การมีโอกาสสามารถตีเป็นมูลค่าได้ จึงลองคิดเล่นๆ ว่า ในตอนนั้นตนเองมีค่าเสียโอกาสอะไรบ้าง ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ที่บ้านมีพื้นที่ของคุณปู่อยู่ประมาณ 8 ไร่ ปล่อยให้ชาวบ้านแถวนั้นเช่าทำนาเฉยๆ แล้วแบ่งผลผลิตกันคนละครึ่ง ทำนาแค่ปีละครั้ง นอกจากนั้นก็เป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่เกิดประโยชน์ จึงคุยกับคุณพ่อขอแบ่งพื้นที่จากคุณปู่มาใช้ทำการเกษตร ที่มีผลตอบแทนต่อพื้นที่สูงๆ เลือกพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ในช่วงแรกคิดไว้ว่าจะปลูกหลายอย่าง ทั้งอินทผลัม ลำไย ข้าว แต่สุดท้ายมาจบที่เมล่อนญี่ปุ่น

เนื่องจากเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เมล่อนยังมีคนปลูกน้อย และมีราคาสูง ประกอบกับที่มีเพื่อนอยู่ที่ลำพูน เขาปลูกอยู่แล้ว อย่างน้อยคือเรามีพี่เลี้ยงที่เป็นเพื่อน สามารถไปหาความรู้จากเขาได้ ก็เลยตัดสินใจปลูกเมล่อนมาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งพอเวลาผ่านไป การตลาดเปลี่ยน พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป จากแค่ซื้อขายแล้วก็จบ แต่ในปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ถ้าสวนไหนไม่มีสถานที่สวยๆ ให้ถ่ายรูป ก็อาจจะสู้กับที่อื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องปรับวิธีคิด ดึงทั้งการตลาด และการผลิต ให้มาอยู่ควบคู่กันไป ด้วยการเปิดคาเฟ่เพิ่มขึ้นมา ขายเครื่องดื่ม ขายเมล่อนผลสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อน เช่น เมล่อนปั่น บิงซูเมล่อน รวมถึงเปิดให้เยี่ยมชมแปลงเมล่อน นับว่าก็ได้ผลตอบรับจากลูกค้าดีในระดับที่พอใจ

จากนั้นก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ และด้วยความที่เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ก็จะมีกลุ่มเครือข่ายไว้แลกเปลี่ยนความคิดกัน ซึ่งสมาชิกท่านหนึ่งก็ได้เสนอแนวคิดออกมาว่า กระแสการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในสมัยนี้เขาไม่ปลูกดอกไม้โชว์กันแล้ว แต่จะปลูกเป็นผักประดับแทน ในตอนนั้นก็มีความคิดเห็นด้วยกับเพื่อนที่พูด เพราะถ้าปลูกผักประดับ เราก็มองไปถึงการสร้างรายได้อีกทางคือ จะสามารถเพิ่มเมนูของทางร้านเป็นสลัดได้ จึงมีความสนใจมากแต่ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านการปลูกผักเลย ประจวบเหมาะกับการที่ได้รับข่าวสารจากกลุ่มไลน์ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ว่า กำลังมีโครงการที่ทาง บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันเปิดโครงการจัดอบรม Young Smart Farmer หลักสูตรการผลิตผักเพื่อการค้า ในระหว่าง วันที่ 17-20 สิงหาคม  2563 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้อีสท์ เวสท์ ซีด อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน จากภาครัฐและเอกชน ภายใต้ชื่อ โครงการ ตู้เย็นข้างบ้าน จึงมีความสนใจเข้าร่วม เพราะรายละเอียดโครงการค่อนข้างน่าสนใจ สอนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์ปลูก วิธีการปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงการตลาด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อบรมฟรีตลอด 4 วัน ขอเพียงเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่มีความพร้อมในการฝึกอบรม

พิธีเปิดโครงการจัดอบรม Young Smart Farmer หลักสูตรการผลิตผักเพื่อการค้า

ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและสร้างสรรค์อีกโครงการหนึ่ง อยากให้มีการจัดอบรมทั่วทุกจังหวัด เพราะบางครั้งการเรียนรู้เองจากอินเตอร์เน็ตก็ไม่เหมือนกับการได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ หรือในตอนทำมีข้อสงสัยตรงไหน ก็สามารถสอบถามความรู้เพิ่มเติมได้เลย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการทำเกษตรคือ ความรู้ที่ถูกต้อง

บรรยากาศวันแรกของการฝึกอบรมหลักสูตรการผลิตผักเพื่อการค้า

ปลูกเมล่อน 6 โรงเรือน
สร้างรายได้หลักล้านต่อปี

เจ้าของ บอกว่า ปัจจุบัน มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ 6 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำโรงเรือนปลูกเมล่อน 2 ไร่ มีสระน้ำ บ้าน และลานจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่ที่เหลือเมื่อเรียนหลักสูตรปลูกผักเสร็จแล้ว จะใช้ปลูกผักประดับด้วย แต่ครั้งนี้เจ้าของขอเปิดเผยเทคนิคการปลูกเมล่อนอย่างไร ให้ได้จับเงินล้านก่อน

โรงเรือนปลูกเมล่อน

เจ้าของบอกต่อว่า หลักๆ ที่ไร่จะปลูกเมล่อนสายพันธุ์คาเนมิซึ พอทออเร้นจ์ และกรีนเนท การปลูกไม่ได้ยุ่งยากอะไรเพียงใช้ประสบการณ์ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ปลูกทั้งหมด 6 โรงเรือน ขนาดความกว้าง 12×40 เมตร ปลูกได้โรงเรือนละประมาณ 1,200 ต้น แต่สำหรับมือใหม่แนะนำให้ปลูกจากเล็กๆ ขนาดโรงเรือน 6×20 เมตร กำลังเหมาะ เพราะ 1 คน สามารถดูแลเมล่อนได้เต็มที่ ประมาณ 300-400 ต้น ถ้าเริ่มทำโรงเรือนใหญ่เลยจะต้องใช้คนงานหลายคน ถือว่าสิ้นเปลืองในระยะที่กำลังเริ่มต้น และมีผลกับการผสมเกสร ถ้าดอกบานแล้วจะมีเวลาผสมเกสรแค่วันเดียวเท่านั้น เพราะถ้าปล่อยไว้ให้แดดแรง คือหลังเที่ยงเป็นต้นไป การผสมจะติดได้ยาก คน 1 คน จะผสมเกสรได้ทันประมาณ 300-400 ต้น เท่านั้น

วิธีการปลูก

  1. นำเมล็ดแช่ในน้ำ อุณหภูมิ 50 องศา น้ำอุ่นจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีกว่าแช่ในน้ำอุณหภูมิปกติ
  2. จากนั้นนำไปบ่มในสภาวะชื้น ประมาณ 24 ชั่วโมง จนรากงอกออกมาประมาณ 15 มิลลิเมตร ไม่เกิน 1 เซนติเมตร แล้วนำไปปลูกในถาดเพาะที่มีวัสดุปลูกพีทมอสส์ ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอก ต้นกล้าสมบูรณ์และแข็งแรง ย้ายปลูกง่าย
  3. เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 7-9 วัน เมล่อนมีใบจริงออกมา 2 ใบ ให้ย้ายไปปลูกในโรงเรือน ซึ่งในโรงเรือนมีวัสดุปลูก คือ มะพร้าวสับโรยหน้าด้วยขุยมะพร้าว
  4. หลังย้ายปลูกได้ ประมาณ 30 วัน เริ่มผสมเกสร เลือกไว้ให้เหลือ 1 ลูก ต่อต้น จากนั้นแขวนลูก และดูแลจนถึงเก็บเกี่ยว
พอทออเร้นจ์

ขั้นตอนการดูแลรักษา

ระบบน้ำปุ๋ย …แบบซับสเตรทคัลเจอร์ (Substrate Culture) คือ ให้ปุ๋ยตลอดเวลา ปล่อยมากับน้ำ เพราะในวัสดุปลูกไม่มีธาตุอาหาร วัสดุปลูกเป็นเพียงที่ยึดเกาะของราก เพราะฉะนั้นเมล่อนจะได้ปุ๋ยจากน้ำหยดนี่แหละ ส่วนความเข้มข้นของปุ๋ย จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงต้นเล็กและช่วงหลังติดลูก ซึ่งปุ๋ยเป็นสูตรเดียวกัน ต่างกันที่ความเข้มข้น

การดูแลโรคแมลง …ถือเป็นจุดเด่นของที่ไร่ คือใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับการใช้สารเคมี และมีการทำเขตกรรม เป็นแนวทางสำคัญในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ ปรับสภาพแวดล้อมบริเวณรอบโรงเรือนให้เอื้อต่อการเพาะปลูก โดยปลูกตะไคร้หอมไว้รอบๆ โรงเรือน และมีการพ่นสารชีวภัณฑ์รอบๆ โรงเรือนสลับกับสารเคมี แต่ถ้าปลูกหลายๆ ครอปติดกัน จนแมลงศัตรูพืชมาเยอะจนป้องกันไม่อยู่ เอาชนะธรรมชาติไม่ได้ ก็ต้องพักโรงเรือนไม่ให้มีต้นเมล่อนในโรงเรือน ประมาณ 2 สัปดาห์ ในช่วงระหว่างพักโรงเรือน ก็ทำความสะอาดโรงเรือน พ่นสารชีวภัณฑ์ สังเกตบริเวณรอบโรงเรือนมีดอกไม้ไหม เพลี้ยไฟไปแอบตรงไหนหรือเปล่า ตัดหญ้าให้หมด ในบริเวณนั้นจะต้องไม่มีเพลี้ยไฟเลยประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อตัดวงจรแล้วค่อยปลูกใหม่

คาเนมิซึ

เทคนิคพิเศษการให้น้ำ …จากประสบการณ์ที่ปลูกเมล่อนมานานกว่า 8 ปี เทคนิคนี้ใช้เวลาค้นพบนานกว่า 4 ปี คือรอบสุดท้ายในการให้น้ำเมล่อน ควรเว้นระยะห่าง ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ไม่งั้นจะทำให้เกิดราแป้งขึ้นในโรงเรือน เนื่องจากเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน การตอบสนองของต้นไม้จะไม่เกิดแล้ว หรืออาจจะเกิดหลังพระอาทิตย์ตกดินได้ ประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้น การดูดน้ำ คายน้ำ จะไม่เกิดแล้ว เพราะว่าเมล่อนจะต้องพัก น้ำปุ๋ยที่ให้ไปจะถูกใช้ไม่หมด ส่งผลให้เกิดความชื้นในโรงเรือน จนสุดท้ายเกิดเป็นราแป้ง ราน้ำค้างในโรงเรือน

คุณภาพผลผลิต …เนื่องจากเป็นระบบน้ำหยดที่ใช้หัวปรับรดน้ำอัตโนมัติแต่ละต้นจะได้น้ำหนักลูกเฉลี่ยเท่ากัน ที่ 1.8 กิโลกรัม ต่อลูก ความหวานไม่ต่ำกว่า 14 องศาบริกซ์ ถ้าส่งลูกค้าแล้วมีปัญหาคุณภาพไม่ตรงที่โฆษณาไว้ ยินดีเปลี่ยนลูกใหม่ให้ฟรี ซึ่งตั้งแต่ทำมาเกิดขึ้นไม่เกิน 5 ลูก เพราะบางครั้งที่รสชาติเมล่อนเพี้ยน บางลูกขม เกิดจากต้นไม้เครียด สังเกตจากภายนอกจะดูไม่ออกเลย ต้องกลับไปตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดว่าถุงปลูกแตกหรือเปล่า ถ้าถุงแตกเมล่อนจะขม เพราะได้น้ำในรากน้อย

รายได้ …ถ้าคิดแบบคนโลกสวย ประมาณ 2 ปี คืนทุน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น เพราะต้องมีช่วงของการพักโรงเรือนด้วย รายได้ก็จะหายไปในช่วงนี้ จากประสบการณ์ที่ปลูกมา ปลูกได้ 2 รอบ ต่อปี มี 6 โรงเรือน จะวางแผนปลูกสลับกัน จะได้ 12 ครอป ต่อปี แต่เป็น 12 ครอป ที่มีคุณภาพและไม่เป็นภาระในการปลูกครอปต่อไป ผลผลิตที่ได้เกือบ 2 ตัน ต่อครอป ราคาขายหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 100 บาท คิดเป็นรายได้ต่อปี ประมาณ 1,200,000 บาท หักต้นทุน เหลือกำไรปีละประมาณ 600,000 บาท

การตลาด อย่าคิดว่าทุกคนคือคู่แข่ง
แต่ให้มองเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจ

พี่เวส บอกว่า ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีคนปลูกเมล่อนผุดขึ้นมาเยอะมาก แต่ตนจะไม่มองว่าใครเป็นคู่แข่ง โดยเฉพาะกับเกษตรกรที่ปลูกเมล่อนด้วยกันเอง แต่ให้คิดว่าเขาคือพาร์ตเนอร์ ยกตัวอย่างพื้นที่ของลำพูนก็มียังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่ปลูกเมล่อน ก็สามารถดึงสินค้ากันไปมาได้ อย่างเขาทำการตลาด เขาไม่มีของ เขาก็มาเอาจากเราไป ถึงเวลาเราไม่มีของ ก็ไปเอาจากเขาได้ เราจะไม่แข่งกันขาย ตลาดเมล่อนยังมีความต้องการอีกมาก ถ้าแข่งกันไปก็ไม่มีประโยชน์

ฝากถึงเกษตรกร

“ถ้าเรามีพื้นที่ปลูกเยอะ เราควรจะต้องวางแผนให้สินค้าทยอยออก อย่าไปออกทีเดียว ถ้าทีเดียวคือเราเหนื่อยด้วย แล้วตลาดก็รับไม่ไหวด้วย และอยากให้คำนึงถึงคุณภาพกับความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย เป็น GAP ก็ต้องปลูกแบบ GAP จริงๆ ซื่อสัตย์กับลูกค้า เพื่อที่รักษาลูกค้า ภาพลักษณ์ของเกษตรกรก็จะดีตามไปด้วย” พี่เวส กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจเข้าเยี่ยมชมไร่วียะศรี ติดต่อที่ เบอร์โทร. 081-951-8698

ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

เมนูของหวานจากเมล่อน