ผู้เขียน | การุณย์ มะโนใจ |
---|---|
เผยแพร่ |
อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นอำเภอน้องใหม่ที่แยกตัวมาจากอำเภอเชียงคำ เกษตรกรมีความขยันขันแข็ง มีการริเริ่มและสรรหากิจกรรมทางการเกษตรใหม่ๆ มาดำเนินการเพื่อแสวงหาแนวทางที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังเช่น คุณทวี คิดหา เกษตรกรหัวไวใจสู้ ซึ่งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 7 บ้านธาตุภูซาง หมู่ที่ 10 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน เคยขายได้ถึง 500,000 บาท
คุณทวี คิดหา เล่าให้ฟังว่า เริ่มปลูกเงาะเมื่อปี 2542 เป็นพันธุ์โรงเรียน ในพื้นที่ 7 ไร่ โดยใช้ระยะปลูก ระหว่างต้น 8 เมตร ระหว่างแถว 8 เมตร ปลูกได้ 3 ปี เงาะก็ให้ผลผลิต โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณปลายเดือนสิงหาคม ตลาดที่รับซื้อนอกจากในพื้นที่แล้ว จะมีพ่อค้าจากตลาดค้าส่งแถวตลาดไท ขึ้นมาซื้อ เพราะเงาะโรงเรียนของภูซางพะเยามีคุณภาพที่ออกจะแตกต่างจากถิ่นที่ปลูกเดิม คือเนื้อจะล่อน กรอบ หวาน เป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าผลผลิตจากแหล่งอื่น ในปี 2561 ผลผลิตในสวน 7 ไร่นี้ ขายได้ถึง 500,000 บาท ปี 2562 ขายได้ 300,000 บาท
แต่เงาะในพื้นที่อำเภอภูซาง ก็จะประสบปัญหาในเรื่องผลร่วง หากปีใดมีฝนตกชุกเกิน และปัญหาเรื่องราแป้ง เพราะต้นเงาะโรงเรียนทรงพุ่มใหญ่และทึบมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้จะเริ่มทำสาวต้นเงาะโรงเรียน โดยการตัดแต่งทรงต้นให้โปร่ง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะได้ทดลองทำแล้วปรากฏว่าได้ผลดี
ข้อมูลทางวิชาการ เงาะ เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ เป็นไม้ผลเมืองร้อน เจริญเติบโตได้ดี ในที่ที่มีความชื้นค่อนข้างสูง แต่ไม่มีน้ำท่วมขัง ควรเลือกแหล่งปลูกที่มีน้ำพอเพียงตลอดปี มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ประมาณ 25 ถึง 30 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1,500 มิลลิเมตร ต่อปี มีความชื้นในอากาศสูง เงาะมีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ในประเทศไทยมักนิยมปลูกเงาะกันมากทางภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์สีชมพู พันธุ์สีทอง พันธุ์น้ำตาลกรวด พันธุ์โรงเรียน และพันธุ์เจ๊ะมง แต่พันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้า ได้แก่ พันธุ์โรงเรียน พันธุ์สีทอง และพันธุ์สีชมพู ส่วนพันธุ์อื่นๆ อาจมีปลูกบ้างประปรายเพื่อการบริโภคในครัวเรือน หรือเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาทางวิชาการ ลักษณะดินที่ปลูกต้องเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 5.0-5.7
การปลูก… ควรเตรียมดินโดยการไถพรวน และปรับพื้นที่ให้เรียบ และขุดร่องระบายน้ำในแปลง ต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกควรมีความสมบูรณ์ แข็งแรง ระบบรากสมบูรณ์ ไม่ขดหรืองอ ซึ่งต้นพันธุ์นี้อาจได้มาจากการเพาะเมล็ด การตอน การทาบกิ่ง หรือการติดตา
การเตรียมหลุมปลูก… ควรขุดหลุมให้มีลักษณะกว้างxยาวxลึก ประมาณ 50x50x50 เซนติเมตร แต่ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์น้อย ควรให้หลุมมีขนาด 1x1x1 เมตร ควรผสมดินปลูกด้วยปุ๋ยคอกแห้ง ประมาณ 1 บุ้งกี๋ และหินฟอสเฟต 2 กระป๋องนม แล้วกลบลงในหลุมให้สูงกว่าระดับเดิม ประมาณ 20-25 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างการปลูกของแต่ละต้น ประมาณ 8-10 เมตร ระหว่างแถว ห่างประมาณ 8-10 เมตร แล้วนำกิ่งพันธุ์ดีมาวางตรงกลางหลุมเล็กๆ ที่เตรียมไว้ แล้วจึงกลบดินให้สูงกว่าระดับเดิม ประมาณไม่เกิน 1 นิ้ว ระวังอย่าให้สูงกว่ารอยแผลที่ติดตา และเพื่อป้องกันการล้มของต้น ควรใช้ไม้เป็นหลักผูกยึดกิ่งเอาไว้ด้วย
ระยะเริ่มปลูก ควรให้น้ำ 7-10 วัน ต่อครั้ง อย่างสม่ำเสมอจนกว่าต้นจะตั้งตัวได้ และควรหาวัสดุคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นในดินให้คงอยู่ในช่วงฤดูแล้งด้วย ควรให้น้ำในปริมาณที่น้อยมากในช่วงที่ใกล้ออกดอก เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อนขึ้น และควรงดให้น้ำสักระยะหนึ่งถ้ามีใบอ่อนขึ้นแซมช่อดอกมากๆ และเริ่มให้น้ำใหม่เมื่อใบอ่อนที่แซมขึ้นมานั้นร่วงไปแล้ว และควรให้น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ตาดอกมีการเจริญเติบโตต่อไป เมื่อดอกเริ่มบานและติดผลควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเจริญเติบโตของผลเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เพราะถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพออาจทำให้ผลมีขนาดเล็ก ลีบ และมีเปลือกหนาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้การเก็บเกี่ยว ถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอและเกิดมีฝนตกลงมาก็อาจจะทำให้ผลเงาะแตกเกิดความเสียหายขึ้นได้
การใส่ปุ๋ย… ในระยะแรกของการปลูก ควรใส่ปุ๋ยในอัตรา 1:1:1 โดยใส่ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี สำหรับต้นเงาะอายุ 1-2 ปี ให้ใส่ครั้งแรกตอนต้นฤดูฝน และครั้งที่ 2 ใส่ในช่วงปลายฤดูฝน และใส่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์
ระยะก่อนออกดอก ควรให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 หรือสูตร 9-24-24 ประมาณ 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น ระยะติดผล ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือสูตร 16-16-16 ประมาณ 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น และก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 หรือ 13-13-21 หรือ 14-14-25 ในอัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น โดยใช้วิธีการหว่านลงบริเวณทรงพุ่ม แล้วจึงรดน้ำและกลบบางๆ
ระยะหลังการเก็บเกี่ยว ควรมีการตัดแต่งกิ่งโดยเร็ว ด้วยการตัดกิ่งที่ต่ำในระดับดิน กิ่งเป็นโรค กิ่งแห้งตาย กิ่งใบทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสงแดด และก้านผลที่เหลือค้างออกให้หมด เพื่อให้มีการแตกยอดใหม่ที่ดีควรตัดให้ลึกเข้าไปประมาณ 1 คืบ แล้วใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ในอัตรา 1:1:1 ต้นละ 2-3 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ 2-3 ปี๊บ และเพื่อป้องกันการชะล้างปุ๋ยจากน้ำฝน ควรใส่ปุ๋ยเป็นหลุมๆ รอบทรงพุ่มของต้น และก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรมีการกำจัดวัชพืชออกด้วยวิธีการใช้รถตัดหญ้าหรือใช้สารเคมีควบคุมก็ได้
การกำจัดศัตรูพืช
โรคราแป้ง… ช่วงติดดอกออกผล ในช่วงเช้าหรือเย็นให้ฉีดพ่นด้วยผงกำมะถัน หรือใช้สารเคมีชนิดอื่น เช่น เบนโนมิล ไดโนแคป พาราโซฟอส เป็นต้น หรือเก็บผลเงาะที่แห้งดำบนต้น รวมทั้งกิ่งที่แห้งร่วงหล่นนำมาเผาทำลายเพื่อเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่ง
โรคจุดสนิม…ให้ฉีดพ่นด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ คูปราวิท หรือซีแนบ หรืออาจต้องตัดเผาทำลายแล้วทาบริเวณรอยแผลด้วยสารเคมีดังกล่าวในกรณีที่เป็นโรคที่กิ่งแบบรุนแรง
โรคราสีชมพู… ให้ฉีดพ่นด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือแคปแทน และควรตัดเผาทำลายเสียในส่วนของกิ่งที่เป็นโรครุนแรง
โรคราดำ… ในขณะที่เงาะกำลังผลิใบและช่อดอก ควรฉีดพ่นด้วยไดเมทโธเอท หรือคาร์บาริล เพื่อป้องกันแมลงและกำจัดเชื้อราควบคู่กันไปด้วย
โรคผลเน่า… ฉีดพ่นด้วยแคปตาโฟล แมนโคแซบ และก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 15 วัน ควรหยุดการฉีดพ่นด้วยสารเคมีเหล่านี้
การเก็บเกี่ยว… เมื่อเงาะมีอายุได้ 3-4 ปี ก็จะเริ่มให้ผลผลิต หลังจากดอกบานหมดแล้วอาจใช้เวลา ประมาณ 130-160 วัน เงาะก็จะมีผลแก่ พร้อมที่จะให้เก็บเกี่ยวได้ เงาะโรงเรียนอายุ 10 ปี จะให้ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ เงาะพันธุ์สีชมพู อายุ 10 ปี จะให้ผลผลิตประมาณ 3,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลที่พร้อมจะเก็บเกี่ยวลักษณะของขนและสีของผลเงาะจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีแดงล้วน ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ของเงาะนั้น ควรเก็บเกี่ยวด้วยความระมัดระวัง โดยใช้กรรไกรที่คมและสะอาดตัดช่อผลจากต้น และรวบรวมช่อผลเงาะในตะกร้าพลาสติกหรือเข่ง ทันทีที่เก็บผลผลิตเสร็จควรมีการขนย้ายเข้าสู่ที่ร่มโดยเร็ว และตัดแต่งให้เหลือเป็นผลเดี่ยวในกรณีต้องการจำหน่ายเป็นผลเดียว โดยตัดขั้วผลให้มีก้านติดอยู่ไม่เกิน 5 มิลลิเมตร แล้วจึงบรรจุลงตะกร้าพลาสติก หรือในกรณีต้องการจำหน่ายเป็นช่อให้ตัดก้านช่อผลยาวไม่เกิน 20 เซนติเมตร เงาะแต่ละช่อควรมีผลติดอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 ผล แล้วนำมามัดรวมกัน ชั่งน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัม
สนใจอยากทราบรายละเอียดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดต่อ คุณทวี คิดหา ตามที่อยู่ข้างต้น หรือทางโทรศัพท์ 082-831-6514 ยินดีแลกเปลี่ยน