อุดร สังข์วรรณะ หนุ่มสุพรรณบุรี ปลูกไผ่ซางหม่นหมื่นกอ ขายทั้งหน่อและลำ เพาะเห็ดได้ด้วย

แถบตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีงานเกษตรหลากหลาย ตั้งแต่พืชไร่ พืชสวน รวมถึงปศุสัตว์ การผลิตทำคล้ายๆ กัน แต่มีกิจกรรมของเกษตรกรรายหนึ่ง ที่ดูแตกต่างจากคนอื่น คือ แปลงปลูกไผ่ซางหม่น ของ คุณอุดร สังข์วรรณะ อยู่บ้านเลขที่ 96 หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี 72180

เขาไม่ได้ปลูกไร่สองไร่ แต่ปลูกมากถึง 100 ไร่ จำนวน 1 หมื่นกอ

คุณอุดร สังข์วรรณะ

ซางหม่น ดีอย่างไร

คุณอุดร สังข์วรรณะ เรียนจบมาทางสายเกษตร คือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ปริญญาตรี มทร. ตะวันออก วิทยาเขตบางพระ

เขามีประสบการณ์มากมายจากภาคตะวันออก สามารถเลือกทำกิจกรรมการเกษตรได้หลายอย่าง แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง เขากลับมาบ้านที่สุพรรณบุรี แล้วพบว่า ญาติพี่น้องได้ปลูกไผ่ซางหม่น ในแง่การผลิต ทำได้ดีมาก การตลาดก็ยังเปิดกว้าง จริงๆ แล้ว ตอนเรียนเขามีความชำนาญเรื่องเห็ด เขาคิดว่า หากมีการประยุกต์ผสมผสาน นำเห็ดเพาะในแปลงไผ่ น่าจะทำได้ดี

ป่าไผ่ซางหม่น

คุณอุดร ปลูกไผ่จริงจัง 4 ปี มาแล้ว โดยทยอยปลูกจึงมีหลายรุ่น

“ไผ่ซางหม่น ลำตรง ไม่ค่อยมีแขนง แปรรูปได้หลายอย่าง เข้าเครื่องจักรได้หมด หน่อไผ่ก็รสชาติดี ลำไผ่ที่เจริญเติบโตเต็มที่ สูงได้ถึง 25 เมตร ลำมีขนาดใหญ่ ต้นอายุ 4 ปี เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว อายุ 7 ปี เส้นผ่านศูนย์กลาง 7 นิ้ว… ลุงที่เป็นญาติกัน ปลูกส่งโรงงานอยู่แล้วที่สระบุรี” คุณอุดร ให้เหตุผล ว่าทำไมถึงปลูกไผ่ซางหม่น

วิธีปลูกและดูแล

หน่อดก

คุณอุดร บอกว่า ไผ่ซางหม่น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการตัดชำ ตอน และขุดเหง้า วิธีการที่ดีที่สุดคือ การตอนกิ่ง เพราะทำได้ครั้งละมากๆ เปอร์เซ็นต์รอดสูง การตัดชำเปอร์เซ็นต์ติดน้อย ส่วนการชำเหง้า ถึงแม้จะติดดี แต่ทำได้น้อย

ระยะปลูกที่ใช้อยู่ คือระหว่างต้นระหว่างแถว 4 คูณ 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จึงปลูกได้ 100 ต้น

ระบบน้ำ ใช้ระบบสปริงเกลอร์ ความจำเป็นของการให้น้ำ หากปลูกเพื่อผลิตหน่อ จำเป็นต้องให้น้ำมากหน่อย หากผลิตเพื่อตัดลำขาย ปริมาณและเวลาการให้อาจจะไม่ต้องมากก็ได้

เรื่องปุ๋ย ใส่ปุ๋ยขี้วัวหรือขี้ไก่ ปีละ 1 กระสอบปุ๋ย ต่อกอ

หน่อรสชาติดี

หากต้องการผลิตหน่อ ควรใส่ปุ๋ยก่อนให้หน่อ สูตร 21-0-0 หรือ 25-7-7 จำนวน 2 กำมือ ต่อกอ

ปลูกไผ่ขายอะไร

เจ้าของบอกว่า หลังปลูกไผ่ได้ 1 ปี ไผ่จะเริ่มให้หน่อ ส่วนลำไผ่ สามารถนำมาใช้งานเมื่ออายุ 2 ปีไปแล้ว

หน่อไผ่ เมื่อต้นอายุได้ 4 ปี หากลำสมบูรณ์ จะให้หน่อ 50 หน่อ ต่อกอ ต่อปี น้ำหนักหน่อเฉลี่ย 1 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนนี้มีแม่ค้ามาซื้อจากสวน กิโลกรัมละ 20 บาท เมื่อไปถึงผู้บริโภค ราคาจะสูงกว่านี้ ผลผลิตหน่อเริ่มออกปลายเดือนเมษายน หมดช่วงปลายฝน

เรื่องของลำ เจ้าของบอกว่า

ร่มรื่น

ไผ่ความยาว 15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางครึ่งนิ้ว จำหน่าย 15 บาท

ไผ่ความยาว 15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว จำหน่าย 25 บาท

ไผ่ความยาว 15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว จำหน่าย 50  บาท

“เรื่องลำ ทุกวันนี้ ยังขายน้อยอยู่ อนาคตคงขายมากขึ้น จะเน้นเป็นไม้โครงสร้าง โดยศึกษาเรื่องการชุบน้ำยา ให้เก็บรักษาได้นาน…” คุณอุดร บอก

เพาะเห็ดในแปลงไผ่

ขยายพันธุ์โดยการขุดเหง้า

ตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่แล้ว คุณอุดรสนใจงานเพาะเห็ด เมื่อมาปลูกไผ่ จึงนำก้อนเชื้อเห็ดมาฝังดินระหว่างกอไผ่ จากนั้นรดน้ำ เห็ดก็จะงอกขึ้นมา

“เห็ดที่ปลูกลงดิน ไม่ใช่เห็ดเยื่อไผ่ เป็นสายพันธุ์ใหม่ เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ไทยกับต่างประเทศ ทำก้อนเชื้อเอง หากซื้อขาย ก้อนละ 15 บาท ขนาดเท่ากับก้อนเห็ดนางฟ้า และเห็ดอื่นๆ การเพาะแบบนี้ อาจจะเรียกเห็ดโต่งฝนก็ได้ คือฝังดินรดน้ำ เห็ดจะงอกขึ้นมา จัดว่าเป็นเห็ดที่มีรสชาติดีมาก นุ่ม หนึบ คล้ายหูหมู จำหน่ายกิโลกรัมละ 150 บาท เห็ดชนิดนี้กินได้ทั้งหมด รวมทั้งก้านดอก ไม่ต้องตัดทิ้ง การเพาะเห็ดสำคัญมากคือ ไม่มีการใช้สารเคมีในแปลงไผ่”

ต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง

คุณอุดร บอกและเล่าต่ออีกว่า

“พื้นที่ 100 ไร่ ใช้แรงงานหมุนเวียน งานมากๆ อาจจะ 8-9 คน หลักๆ ที่ทำกันคือ ขยายพันธุ์ แทงหน่อ สำหรับต้นพันธุ์ มีคิวจองยาวมาก ต้นละ 50 บาท อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ส่งทางไปรษณีย์ ทางบริษัทขนส่ง”

เห็ดที่ใช้ก้อนเชื้อฝังดินไว้ เป็นเห็ดพันธุ์ใหม่

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรืออุดหนุนผลผลิต สอบถามได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ 092-668-2054 หรือ เฟซบุ๊ก : อุดร สังข์วรรณะ

ไม้ที่ตัดขาย อายุของกอไม่มาก ลำจึงไม่ใหญ่นัก