เปลี่ยนบ้านเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่ความสุข ที่พร้อมแบ่งปัน

การเปลี่ยนพื้นที่ที่เป็นมรดกให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารอินทรีย์ โดยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน และต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ส่งต่อกิจกรรมให้กับคนในชุมชนและผู้ที่สนใจ เป็นแนวคิดของ คุณอภิวรรษ สุขพ่วง ผู้ก่อตั้งไร่สุขพ่วง ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีไทย อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

คุณอภิวรรษ สุขพ่วง เป็นเด็กไทยที่จบในระบบการศึกษาไทย เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อและแม่รับราชการครู ซึ่งตั้งความหวัง คือการเห็นลูกมีงานทำที่ดีและมีอนาคต การเรียน และจบการศึกษาที่สูง คือคำตอบที่เขาต้องทำให้กับครอบครัวในเวลานั้น

จากเด็กบ้านนอกที่มีโอกาสเข้าไปเรียนในเมือง จบการศึกษาและเริ่มทำงานตามหลักสูตรที่เรียน ทำให้เขาได้เห็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศ นั่นคือ ความเสื่อมของสังคม

“สิบปีแล้วผมเรียนจบในระบบการศึกษาไทยเหมือนคนอื่น การเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทำให้ผมเองได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเกิดสงครามกลางเมือง เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ มีโรคระบาด และปัญหาความอดยากในเมือง ทำให้ผมหยุดคิดว่าเราอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร อนาคตเราจะเป็นอย่างไรในยุคที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จึงเกิดคำถามว่า ถ้าเราไม่มีเงิน แต่มีแหล่งอาหาร เราและครอบครัวก็น่าจะรอด ผมจึงตัดสินใจกลับมาที่บ้าน

คุณอภิวรรษ เริ่มต้นกับอาชีพเกษตรกรรมโดยที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรเลย แต่การศึกษาจากคนรุ่นเก่า และดูจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่ในชุมชน ควบคู่กับการหาข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง

“ช่วงแรกก็ถาม ถามตายาย ตายายเขาเป็นชาวนา คือรู้ช่วงเวลาต่อปี รู้ว่าควรจะใช้ทรัพยากรอะไรในพื้นที่ พันธุ์ข้าวต้องเลือกพันธุ์อะไร เพราะบ้านเราน้ำท่วม บางปีน้ำแล้ง คือ ตายายก็จะมีสถิติ เพราะแกอยู่ที่นี่มา 80 ฝน 80 หนาว แกก็จะรู้สถิติต่างๆ แต่ว่าโลกมันก็เปลี่ยนไปเร็วมาก เพราะว่าฤดูกาลที่เคยแม่นยำมันไม่มีแล้ว เราก็ต้องพยายามหาความรู้ใหม่

คุณพ่อ คุณแม่ ผมเองก็เป็นข้าราชการ เจนเนอเรชั่นของพ่อแม่ ไม่ใช่ชาวไร่ ชาวนาเลย เพราะฉะนั้นที่ดินจึงมาจากบรรพบุรุษ และรกร้างมานาน คือหมายความว่าไม่มีใครทำ ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำแล้ว เราถือว่าเป็นลูกที่มีกำลังมากที่สุดแล้ว พ่อแม่ก็อายุมากขึ้นทุกวัน แล้วท่านก็ไม่ได้มาสายนี้

ช่วงนั้นก็มีความรู้ติดตัว ก็คือ เป็นนักศึกษาจบด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นความรู้ด้านการเกษตรกรรมจึงไม่มีเลย พอกลับมาบ้านก็พยายามดิ้นรนเพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีอาชีพ พอดีผมเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่พอมีพละกำลัง เราก็เลยเห็นว่าถ้าเราทำ ก็ต้องทำตอนอายุน้อยๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรไปทำวัยเกษียณ เพราะรู้เลยว่ามันต้องใช้กำลังเยอะ กำลังทางสติปัญญา กำลังทางร่างกาย กำลังใจ เราก็เริ่มที่จะเอาที่ดินที่รกร้างมานานของที่บ้านมาทำเป็นนาข้าว ก็เริ่มปลูกข้าวจนมีข้าวกิน รู้สึกว่า มีข้าวก็ต้องมีกับข้าวด้วย ก็เริ่มปลูกผัก เลี้ยงหมู เห็ด เป็ด ไก่ พยายามให้เราได้โภชนาการครบ”

เรียนรู้ธรรมชาติชุมชน
บนหลักของ “เศรษฐกิจพอเพียง”

การเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรรมของคุณอภิวรรษ ในทุกๆ กิจกรรมที่ลงมือทำ เกิดจากการเลียนแบบเพื่อนเกษตรกร โดยที่ไม่คำนึงถึงบริบทพื้นที่ และความถนัดของตัวเอง จึงต้องใช้ระยะเวลาลองผิดลองถูกอยู่หลายปี

“เรารู้แค่หลักปฏิบัติ แต่ยังไม่รู้วิธีการคิด เรียนรู้ครั้งแรกคือ ก๊อบปี้แล้วก็มาวาง คือยังไม่รู้วิธีการคิด แต่ลืมไปว่าบ้านเราไม่เหมาะสม เช่น เราเห็นเขาเลี้ยงปลาดุก แล้วเขามีรายได้ เรามาเลี้ยง เราจ่ายค่าอาหารปลาดุกไม่ไหว แต่ถ้าวิธีการคิดก็ต้องคิดจากว่า บ้านเรามีอาหารปลาดุก อะไรที่จะมาทำเป็นอาหารปลาดุกได้ แล้วมันเหมาะสมกับปลาดุกหรือเปล่า ถ้ามันไม่เหมาะสม ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นปลานิล หรือ ปลากินพืช เพราะฉะนั้นวิธีการทำของผมจึงทำให้ผมผิดพลาดหลายครั้ง

แต่พอเข้าใจถึงวิธีการคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือทำอะไรให้เหมาะสมกับภูมิศาสตร์ตัวเอง สังคมตัวเอง ฐานทรัพยากรตัวเอง มันก็เลยเกิดความคิดใหม่ เราเรียกมันว่า ความรู้ใหม่ คือ คิดได้เอง คิดได้เองว่า บ้านเราควรจะเลี้ยงสัตว์แบบไหน ไก่เหมาะสมไหม ปลาเหมาะสมไหม วัว ควาย สัตว์ใหญ่เกินไปไม่เหมาะสม เพราะพื้นที่มีน้อย หันมาเลี้ยงสัตว์เล็ก เลี้ยงสัตว์เล็กเสร็จแล้วก็ได้ไข่น้อย เพราะเลี้ยงได้น้อย ทำอย่างไรให้ไข่ที่ได้น้อยมีมูลค่าเยอะ ก็ต้องเอาความรู้ด้านการแปรรูป เอาไข่ไก่มาทำเป็นขนมทองม้วน ก็เลยเรียนรู้เรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น เอาสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่มีจำนวนมาก อย่าง อ้อย กล้วย ข้าว มาทำเป็นขนม นม เนย มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ แล้วก็พยายามสร้างคุณค่าให้กับมัน พยายามสร้างแบรนด์ให้กับมัน

นอกจากนี้ เราก็เอาการตลาดยุคใหม่เข้าไปใส่ แล้วก็สื่อสารกับคนกินให้ได้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถคุยกับคนกินได้ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่คนกินเอาไปแล้วกินเพื่อความอิ่มหนำสำราญ แต่ถ้าเขากินของเราไปแล้ว แล้วเขาจะรู้ถึงคุณค่า ความตั้งใจ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่เขามาช่วยเหลือเรา ก็เป็นเรื่องของการพยายามทำให้ตัวเองเป็นผู้ประกอบการเล็กๆ มีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง จนเราสามารถที่จะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ก็เลยคิดว่าวิธีการแบบนี้เป็นวิธีการที่เราทำได้และน่าจะเป็นอาชีพได้ และสุดท้ายก็พยายามทำบ้านของตัวเองเป็นศูนย์การเรียนรู้ เปิดบ้านตัวเองให้กลายเป็นที่อบรมดูงานของบุคคลทั่วไป”

สร้างความต่างให้สินค้า
ครอบคลุมตลาดทุกระดับ

“แรกๆ เลย ก็คือ ตลาดในบ้านตัวเอง คือพยายามคุยกับคนในชุมชน อย่างเรา เรามีมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ร้านอาหารในชุมชนเยอะพอสมควร เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้ารอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นครู หมอ พยาบาล ก็ต้องการผลผลิตที่ใกล้บ้านและปลอดภัย อันนี้จึงเป็นตลาดแรกๆ ของเราคือ ตลาดรอบตัว

ตลาดที่สองคือ เรามองธุรกิจคู่ค้าที่ต้องการวัตถุดิบที่ใกล้เคียงกับเรา เช่น พวกคนที่ต้องการวัตถุดิบไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ของเขา เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร เราก็พยายามจับคู่ค้าธุรกิจ อันนี้เราว่าตลาดกลาง ตลาดบนเราก็พยายามจับศูนย์การค้า แล้วก็กระจายเข้าสู่ผู้บริโภค วันนี้สินค้าในตลาดมีเยอะจริงๆ เยอะจนบางครั้งผู้บริโภคเลือกไม่ถูก แต่เราเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สามารถชี้นำให้ลูกค้าเลือกเราได้ ด้วยเรื่องราวของเรา เราไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องทำอะไรเกินตัว ไม่ต้องมีความเสี่ยง ก็ทำให้เรามีรายได้ได้”

“ไร่สุขพ่วง” สุขที่พอเพียง

ปัจจุบัน ไร่สุขพ่วง กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีไทยที่ช่วยขับเคลื่อนชุมชนที่เป็นบ้านเกิดให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

“อย่างแรกเลยครอบครัวเราอบอุ่น บัณฑิตจบใหม่อย่างเราก็ไม่ต้องออกนอกพื้นที่ วันนี้บัณฑิตจบใหม่ปีหนึ่งหลายแสนคนต้องละทิ้งบ้านเกิดเพื่อไปทำงาน แต่ว่าบัณฑิตจบใหม่อย่างผม ก็สามารถกลับมาพัฒนาท้องถิ่นได้ มันอยู่ที่ความรอบรู้ รอบรู้และเท่าทันสถานการณ์ ตัวเองมีทรัพยากรอะไรบ้างที่เหมาะสม และควรจะเอาความรู้อะไรมาประกอบ เอาความรู้ด้านใดมาประกอบเพื่อหนุนเสริม

สองคือ เราเป็นคนที่มีคุณธรรม เราทำอะไรด้วยใจ กาย และบริสุทธิ์ เราผลิตอาหาร ก็เป็นผู้ผลิตอาหารที่คำนึงความปลอดภัยสูงสุดกับผู้บริโภค ความตั้งใจ ความรู้ และคุณธรรมที่เราทำ ทำให้เรามีความยั่งยืนในธุรกิจ และทำให้เราอยู่ได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเห็นผลชัด เมื่อโลกเกิดวิกฤต ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็บอกแล้วว่าตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นเศรษฐกิจที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้”

จากเด็กอายุ 20 ต้นๆ ที่ปลูกผักกินและสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้ว อีกสิ่งที่เขาได้รับคือ การรู้จักหน้าที่ของตนเอง ที่ทำหน้าที่เป็นเกษตรกร ที่พร้อมแบ่ง “ความสุขพร้อม” ด้วยแนวคิดพื้นที่ความสุข ที่พร้อมแบ่งปัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563