เลี้ยงปลาช่อน เป็นงานสร้างเงิน ที่สุพรรณบุรี

ปลาช่อน เป็นปลาที่อาศัยแพร่กระจายทั่วไปตามแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ เป็นปลาที่มีเกล็ดลักษณะลำตัวกลม และเรียวยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร หางมีลักษณะแบนข้าง ปากกว้างซึ่งภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ลำตัวมีสีคล้ำอมน้ำตาลอ่อน

ปลาช่อนเป็นปลาที่มีความพิเศษคือ สามารถแถกไถตัวคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งเพื่อรอฝนได้เป็นแรมเดือน โดยการสะสมพลังงานไว้หรือที่เรียกว่า ปลาช่อนจำศีล

เนื้อปลาช่อนสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู หรือทำเป็นปลาเค็มใส่เกลือก็อร่อยไม่แพ้กัน จึงนับว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและในกระชัง

คุณกังวาล ชูแก้ว

คุณกังวาล ชูแก้ว อยู่บ้านเลขที่ 200 หมู่ที่ 1 ตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ลองเลี้ยงปลาช่อนจนประสบผลสำเร็จ จึงยึดเป็นอาชีพสร้างงานสร้างเงินได้แบบสบายๆ ในเวลานี้

คุณกังวาล เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีตนเองมีอาชีพค้าขายของชำทั่วไปกับภรรยา ต่อมาได้เห็นพี่ชายของภรรยาเลี้ยงปลาช่อน จึงเกิดความสนใจที่อยากจะทดลองเลี้ยงบ้าง เพราะสมัยก่อนนั้นต้นทุนเรื่องอาหารยังไม่แพงมากนัก และตลาดยังไปได้ดีอีกด้วย

ปลาทะเลสำหรับบดเป็นเหยื่อสด

“พอปี 2542 เราก็เลิกค้าขายของชำ มาเริ่มเลี้ยงปลาช่อน เพราะว่าช่วงนั้นพี่ชายภรรยาเลี้ยงแล้วได้ดีมาก เห็นเวลาที่เขาจับแล้วมันได้น้ำหนักปลาดี ซึ่งโชคดีที่เรามาเลี้ยงตอนนั้นไม่ต้องลองผิดลองถูกอะไรมาก เรามีต้นแบบที่เขาประสบผลสำเร็จอยู่แล้ว เรื่องการเลี้ยงจึงไม่ใช่ปัญหาในตอนนั้นสำหรับการเริ่มต้น” คุณกังวาล เล่าถึงที่มา

จากความโชคดีที่มีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ จึงทำให้การเลี้ยงปลาช่อนไม่เป็นอุปสรรค รวมทั้งเรื่องการตลาดอีกด้วย เขาจึงสามารถเลี้ยงได้แบบสบายๆ เลยทีเดียว

เหยื่อสดเหลวสำหรับให้ลูกปลาช่อน

การเลี้ยงปลาช่อนให้มีการเจริญเติบโตที่ดีนั้น คุณกังวาล บอกว่า ในขั้นตอนแรกจะนำลูกปลาช่อนมาอนุบาลในบ่อดินเสียก่อน เพื่อให้ลูกปลาเจริญเติบโตเป็นขนาดไซซ์นิ้ว ซึ่งอาหารที่ให้ลูกปลาช่อนในระยะนี้กิน จะเป็นปลาทะเลผสมอาหารเสริมที่ผ่านการบดให้ละเอียดมีความเหลวเหมือนโจ๊ก

“ลูกปลาช่อนส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติ พวกชาวบ้านเขาก็ไปหาช้อนมาขายให้ เราก็จะเอามาอนุบาลในบ่อดินก่อน อาหารที่ให้ก็จะให้ทั้งวัน ให้กินเรื่อยๆ ชนิดที่ว่าลูกปลาไม่กินกันเอง เราต้องมาฝึกอีกครั้งเพื่อให้กินอาหารให้เป็น เพราะธรรมชาติของปลาช่อนมันจะกินกันเอง แต่ถ้ามีให้กินตลอดมันก็จะไม่กินกันเอง ซึ่งใช้เวลาในระยะนี้ประมาณ 2 เดือน ลูกปลาช่อนก็จะใหญ่ขึ้น ก็จะคัดไซซ์แยกมาใส่ลงเลี้ยงในบ่อที่สำหรับเลี้ยงต่อไป” คุณกังวาล กล่าว

การให้อาหารลูกปลาช่อน

การเลี้ยงปลาช่อนในบ่อดิน เพื่อให้เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ตามที่ต้องการของตลาดนั้น คุณกังวาล เล่าว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงต้องหมุนเวียนตลอด และบ่อดินที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงต้องมีขนาด 20×40 เมตร ลึก 2 เมตร

“บ่อก่อนเลี้ยงเราก็ต้องเตรียมให้สะอาด ต้องมีการฉีดขี้เลน จากนั้นก็โรยด้วยปูนขาว เพราะบ่อที่สะอาด ทำให้ปลาที่เราเลี้ยงมาก็จะได้ดี ไม่เป็นเป็นจิ๋วหรือปลาดาบ เพราะไม่มีเชื้อโรค ปลาก็แข็งแรง เจริญเติบโตได้ดี ส่วนข้างบ่ออาจใช้หินใหญ่ๆ วางข้างทำเป็นเหมือนเขื่อน เพราะปลาช่อนชอบคดมุดดิน มันจะทำให้คันบ่อเราพังได้” คุณกังวาล บอก

บ่ออนุบาลลูกปลาช่อน

เมื่อเตรียมบ่อเสร็จ จากนั้นนำปลาช่อนที่ผ่านการอนุบาลแล้ว ลงมาปล่อยจำนวน 10,000-15,000 ตัว ต่อบ่อ ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมสำหรับบ่อขนาดที่กล่าวไปข้างต้น

อาหารที่ให้ปลาช่อนกินในระยะนี้เป็นเหยื่อสด ที่ได้จากปลาทะเลเช่นเคย แต่การผสมอาจแตกต่างกว่าการให้ลูกปลาช่อนกินคือ มีการใส่รำและอื่นๆ ลงไปด้วยเพื่ออาหารจะมีเนื้อที่หยาบขึ้น ให้ปลาช่อนกินดูตามความเหมาะสม

“ฟาร์มนี้จะให้กินวันละ 2 มื้อ คือ เช้ากับเย็น แต่ถ้าใครมีเวลาพอจะให้วันละ 3 มื้อก็ได้ ถ้าให้ 3 มื้อนี่ปลาจะโตดี ได้ขนาดใหญ่เร็ว แต่ที่นี่จะให้มากไปอีกนิด ต้องดูตามขนาดของตัวปลาด้วย ว่าจะให้มากให้น้อยขนาดไหน เราคนเลี้ยงจะกะได้เลย” คุณกังวาล อธิบายเรื่องการให้อาหาร

บ่อสำหรับเลี้ยงปลาช่อน

เรื่องโรคของปลาช่อนช่วงที่มีปัญหามากที่สุด คุณกังวาล บอกว่า จะเป็นช่วงฤดูหนาวจะทำให้ปลามีแผลเกิดตามลำตัว หากแผลถ้าเป็นมากๆ แล้ว ไม่สามารถทำให้หายได้ ซึ่งการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดขึ้น คือในช่วงนี้จะปิดทางไหลเวียนของน้ำทั้งหมด เพื่อไม่ให้น้ำจากข้างนอกเข้ามาภายในบ่อ และหากเจอปลาเป็นแผลก็จะต้องหยุดให้อาหารสักระยะจนกว่าปลาจะหายดี

เลี้ยงปลาช่อนไปอีกอย่างน้อย 9 เดือน ปลาช่อนก็จะมีขนาดไซซ์ 800 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ

คุณกังวาล เล่าให้ฟังในเรื่องของการตลาดว่า ในช่วงแรกๆ ไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากตนเองรู้จักกับคนในหลายจังหวัดจึงนำปลาไปส่งจำหน่ายได้ทั่ว ซึ่งปลาทั้งหมดก่อนที่จะนำไปส่งลูกค้า เขาจะต้องเป็นคนจับเอง ซึ่งผิดกับปลาอื่นๆ ที่มีคนมารับซื้อถึงหน้าบ่อ

ช่องสำหรับให้น้ำหมุนเวียนภายในบ่อ

“สมัยก่อนไปมาทั่ว ไม่ว่าจะภาคเหนือก็ไปส่ง ต่อมาพอคนเริ่มมาเลี้ยงกันมากขึ้น ส่วนแบ่งตลาดมันก็มีมากขึ้น เราก็จะส่งบริเวณใกล้เคียงนี้เอา อย่างในกรุงเทพฯ สิงห์บุรี และก็ในสุพรรณบุรี ราคาปลาช่อนช่วงนี้ก็ตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท ช่วงที่ถูกสุดก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 110 บาท ราคาก็เป็นไปตามฤดูกาล” คุณกังวาล เล่าถึงการตลาด

คุณกังวาล บอกว่า ปัญหาและอุปสรรคของการเลี้ยงปลาช่อนในช่วงหลังมานี้ จะเป็นเรื่องน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่กี่ปีมานี้ในพื้นที่บริเวณแถบนี้ค่อนข้างที่จะมีน้ำในปริมาณที่จำกัด ทำให้น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ

ปลาช่อนอายุ 9 เดือนขึ้น

“น้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะว่าภายในบ่อต้องให้มีน้ำหมุนเวียนตลอด หากเราทำเป็นบ่อปิด ไม่มีน้ำเข้าออกเลย ปลาก็จะหยุดกินอาหารไปเรื่อยๆ ต่อไปก็แทบไม่กินเลย ซึ่งที่นี่ก็จะมีขุดบ่อใหญ่ไว้ เพื่อให้ระบายน้ำออกจากบ่อเลี้ยงไปพัก แล้วก็เอาของที่พักเข้ามาสลับไปแบบนี้ ถ้าเราจะรอน้ำจากชลประทาน มันก็ไม่ไหว เราแย่แน่แบบนั้น เพราะช่วงนี้เขาจะปล่อยเป็นเวลา” คุณกังวาล กล่าวถึงปัญหา

ส่วนสำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ คุณกังวาล ฝากบอกว่า

“ปลาช่อนเป็นปลาที่เลี้ยงไม่ยาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือชอบความเงียบสงบ โดยพื้นที่เลี้ยงต้องไม่มีความวุ่นวาย หากมีเสียงดังจากรถที่วิ่งหรือแปลกกลิ่น ปลาช่อนก็จะหยุดกินอาหารอย่างน้อย 1-2 วัน และอีกอย่างที่สำคัญเรื่องตลาดควรศึกษาให้ดีเสียก่อน เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้วจึงค่อยตัดสินใจเลี้ยงได้เลย” คุณกังวาล กล่าว

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณกังวาล ชูแก้ว หมายเลขโทรศัพท์ (086) 344-1950

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ.2563